หนูไม่ใช่เด็กแว้ว??


1,268 ผู้ชม


หนูไม่ใช่เด็กแว้ว??

ลูกของเราเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วหรือ ? เด็ก ๆ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ไม่เพียงแต่เด็กที่ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูเช่นกัน     

วัยรุ่น วุ่นวาย น่าปวดหัวจริงหรือ

     ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงของวัยรุ่น จะทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุขที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าของลูก

     - วัยรุ่นตอนต้น อายุ 10-13 ปี เด็กผู้หญิงเริ่มมีหน้าอก ต่อมาก็มีขนที่อวัยวะเพศ มีกลิ่นตัว บางคนมีประจำเดือนในช่วงนี้ ส่วนเด็กผู้ชายมีการเพิ่มขนาดของอัณฑะและองคชาติ สามารถผลิตน้ำอสุจิรวมทั้งมีฝันเปียกเกิดขึ้นในช่วงท้ายของวัย จึงเกิดความไม่มั่นใจ ความกังวลใจ มีความกังวลว่าผิดปกติหรือเปล่า ช่วงนี้วัยรุ่นมีกิจกรรมกับพ่อแม่น้อยลง ต้องการความเป็นส่วนตัว มีความคิดเพ้อผัน มีความรู้สึกว่ามีคนจ้องมองและสนใจตลอดเวลา สนใจคบเพื่อนมากขึ้น และมักเป็นเพื่อนเพศเดียวกัน
     - วัยรุ่นตอนกลาง อายุ 14-16 ปี เริ่มยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระทั้งเพศชายและหญิง สนใจในเรื่องความสวยงาม การแต่งตัวให้น่าดึงดูด สนใจเพศตรงข้าม เริ่มมีการออกเดท และมีกิจกรรมทางเพศ วัยนี้มีความคิดว่าเรื่องร้ายแรงจะไม่เกิดขึ้นกับตน จึงทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี่ ติดยา ตั้งครรภ์ จะมีความขัดแย้งกับพ่อแม่สูง
      - วัยรุ่นตอนปลาย อายุ 17-21 ปี เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่เกิดขึ้นได้ดี วัยนี้จะมีความคิดเชิงนามธรรม ศีลธรรม จริยธรรม มองอนาคตบนพื้นฐานของความเป็นจริง และจะกลับมารับฟังคำแนะนำของพ่อแม่ รู้จักยืดหยุ่นและรู้จักเตือนสติตนเอง จะมีเวลาให้เพื่อน ๆ น้อยลง แต่จะมีเวลาและสนิทสนมกับเพื่อนต่างเพศมากขึ้น

ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า

     ความสำคัญของการดูแลวัยรุ่นคือ การมีเวลารับฟังโดยไม่ด่วนตัดสิน การรักษาความลับ เพราะเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่น เรื่องเกี่ยวกับเพศ เรื่องปัญหาความสัมพันธ์ ความไว้ใจเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่การเปิดใจเล่าเรื่อง และยอมรับฟังคำแนะนำ วัยรุ่นควรมีความรู้และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการป้องกันตนเอง และไม่เปิดโอกาสให้ตนเองต้องไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ

การให้บริการดูแลรักษาในคลินิกวัยรุ่น

บริการตรวจสุขภาพวัยรุ่น ซึ่งมักขาดความต่อเนื่องจากเมื่อครั้งยังเด็กที่มาพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนและได้รับการตรวจสุขภาพไปด้วย

        การตรวจสุขภาพประกอบด้วย
        - การแนะนำวัคซีนที่ควรได้รับ
        - ตรวจความสมบูรณ์ของร่างกายด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง มีการตรวจร่างกายเพื่อค้นหาโรคทางกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โรคที่พบได้ เช่น โรคเลือดจาง ต่อมธัยรอยด์โต ตัวเตี้ยจากการขาด Growth Hormone ภาวะเป็นหนุ่มสาวเร็วผิดปกติหรือช้ากว่าปกติ โรคอ้วน 
        - 
การพูดคุยกับวัยรุ่น เปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อให้วัยรุ่นได้รับข้อมูลและคลายความกังวล ช่วยกันค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง
        - การพูดคุยกับพ่อแม่และวัยรุ่นพร้อมเพรียงกัน โดยเน้นถึงความสัมพันธ์อันดี ช่วยลดความตึงเครียดในครอบครัว บนรากฐานของความรักและความเข้าใจ
        - การประเมินทักษะการเรียน โดยมีทีมงานของศูนย์ปัญหาการเรียนช่วยดูแล 
  

แหล่งที่มา: ku.ac.th

อัพเดทล่าสุด