โรคปัสสาวะรดที่นอน: อาการ สาเหตุ และการรักษา ปัสสาวะรดที่นอน (Bedwetting หรือ Enuresis หรือ Nocturnal enuresis) เป็นภาวะ หรือ อาการ ผิดปกติที่เกิดจากการควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ ส่งผลให้เกิดการปัสสาวะรดที่นอนในช่วงนอนหลับตอนกลางคืน (Nocturnal enuresis) หรืออาจปัสสาวะรดเสื้อผ้าในช่วงกลางวัน (Diurnal enuresis) หรือเกิดขึ้นทั้งช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน (Mixed enure sis) ทั้งนี้ปัสสาวะรดที่นอนจะถือเป็นภาวะปกติ เมื่อเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 4 ปี เพราะเป็นช่วงอวัยวะต่างๆในร่างกาย รวมทั้งระบบสมองและระบบประสาทซึ่งควบคุมการปัสสาวะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เด็กวัยก่อน 5 ปีจึงไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ นิยาม: นิยามของปัสสาวะรดที่นอน คือ เด็กตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไปและยังคงปัสสาวะรดที่นอนอยู่ โดยถ้าอายุช่วง 5-6 ปี การปัสสาวะรดที่นอนหมายถึงปัสสาวะรดที่นอนตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปต่อเดือน และเมื่ออายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป การปัสสาวะรดที่นอนหมายถึงการปัสสาวะรดที่นอนตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไปต่อเดือน ส่วนคำจำกัดความของปัสสาวะรดเสื้อผ้า ยังไม่มีการกำหนดจำนวนครั้ง เพราะพบได้น้อยกว่าการปัสสาวะรดที่นอนมาก จึงหมายความกว้างๆว่า เด็กปัสสาวะรดเสื้อผ้าบ่อยจนผู้ปกครอง หรือคุณครูคิดว่าเป็นปัญหา ทั้งนี้ เมื่อเด็กปัสสาวะรดที่นอนตั้งแต่เกิด และยังคงปัสสาวะรดที่นอนต่อเนื่องจนถึงอายุ 5 ปีขึ้นไป ไม่เคยมีช่วงที่ปัสสาวะปกติเลย เรียกว่า ปัสสาวะรดที่นอนปฐมภูมิ (Primary enuresis) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยประมาณ 75-85% ของภาวะนี้ทั้งหมด แต่ถ้าเมื่อช่วงเด็กเล็กปัสสาวะรดที่นอน แต่อาการหายไปจนสามารถควบคุมการปัสสาวะได้เป็นปกติติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนแล้วกลับมามี อาการซ้ำใหม่อีก เรียกว่า ปัสสาวะรดที่นอนทุติยภูมิ (Secondary enuresis) ซึ่งพบได้ประมาณ 15-25% ปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะพบได้บ่อย การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่าภาวะนี้พบในเด็กชายบ่อยกว่าในเด็กหญิงประมาณ 2 เท่า และพบภาวะนี้ได้ถึงประมาณ 15-25%ในเด็กอายุ 5-6 ปี แต่ทุกๆ 1 ปีที่เด็กโตขึ้นอัตราการเกิดภาวะนี้จะลดลงประมาณ 15% เมื่อเด็กอายุได้ 7 ปี พบภาวะนี้ในเด็กชายประมาณ 9% ในเด็กหญิงประมาณ 6% เมื่ออายุได้ 10-12 ปี พบภาวะนี้ได้ 7-8%ในเด็กชาย และ 3-4%ในเด็กหญิง และเมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่นยังคงพบภาวะนี้ได้ ประมาณ 1-3%ทั้งในเด็กชายและในเด็กหญิง การรักษา: กดจุดที่หูและร่างกายทำสลับวัน นวดนานครั้งละ 5-10 นาที นวดในเวลาก่อนนอน ถ้าแพทย์ให้การรักษาเด็กของคุณด้วยยานอนหลับ (Sedative) หรือยาแก้ซึมเศร้า (antidepressant) คุณสามารถกดจุดร่วมกับการรักษาของแพทย์ได้ และในที่สุดเด็กของคุณก็สามารถลดขนาดของยาได้จนไม่ต้องใช้ยาอีกต่อไป แต่การลดขนาดของยาต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเองเท่านั้น เพียงแต่คุณอาจจะปรึกษากับแพทย์ที่รักษาเด็กดูได้ การกดจุดควรจะสอนให้เด็กทำด้วยตัวเองได้ แต่ต้องคอยควบคุมดูแลให้เด็กทำได้อย่างถูกต้องก่อนในระยะแรกๆ เมื่อทำได้แล้วจึงปล่อยให้เขาทำเองต่อไป ตำแหน่งที่กดจุด จุดที่อยู่บนร่างกาย 1. จุด “ไป่หุ้ย” (pai-hui) วิธีหาจุด : จุดอยู่บนศีรษะกึ่งกลางใบหูทั้งสองข้าง วิธีนวด : นวดไปข้างหน้า (ดังรูป) 2. จุด “ซานยินเจียว” (San-yin-chiao) วิธีหาจุด : อยู่เหนือข้อเท้า (ตาตุ่ม) ด้านในประมาณ 4-5 นิ้วมือเด็ก อยู่ใกล้กับหน้าแข้ง วิธีนวด : นวดขึ้นบน (ดังรูป) 3. จุด “จู๋ซานหลี่” (tsu-san-li) วิธีหาจุด : วางฝ่ามือของผู้ถูกกดจุดลงบนหัวเข่า กางนิ้วออกเล็กน้อย จุดจะอยู่ปลายสุดของนิ้วนาง วิธีนวด : นวดลงล่าง 4. จุด “จื้อยิน” (chih-yin) จุดนี้กระตุ้นการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ วิธีหาจุด : จุดอยู่ด้านนอกข้อสุดท้ายของนิ้วเท้าอันสุดท้าย วิธีนวด : นวดลงใต้นิ้วเท้า ในทิศทางเข้าหานิ้วหัวแม่เท้า(ดังรูป) 5. จุด “จงจี๋” (Chung-chi) วิธีหาจุด : อยู่ระหว่างสะดือกับท้องน้อย (กระเพาะปัสสาวะ) วิธีนวด : นวดขึ้นบน (ดังรูป) กดจุดที่ใบหู หูขวา 1. จุดสำหรับกระเพาะปัสสาวะ วิธีหาจุด : อยู่ที่ช่องเล็กเหนือแอ่งหู วิธีนวด : นวดไปด้านหน้า 2. จุดสำหรับลดความตึงเครียดด้านจิตใจ วิธีหาจุด : อยู่ที่ขอบนอกของใบหูส่วนที่ติดกับหน้า วิธีนวด : นวดขึ้นบน (ดังรูป) หูซ้าย นวดเช่นเดียวกับหูขวา แต่ทิศทางนวดตรงข้าม (ดังรูป) |