10 สัญญาณที่บ่งบอกว่า 'ทารกรักคุณ'


1,227 ผู้ชม



10 สัญญาณที่บ่งบอกว่า 'ทารกรักคุณ'

ลูกน้อยในวัยแรกเกิด ไปจนถึงหนึ่งขวบโดยประมาณ เป็นช่วงที่ยังพูดสื่อสารความต้องการหรือความรู้สึกไม่ได้ แล้วคุณแม่ๆ จะรู้ได้ยังไงว่าลูกน้อยนั้นมีความรู้สึกอยากบอกและแสดงออกว่ารักคุณผ่านทางไหน วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ

1. สบตา 

ลูกเคยมองตาคุณ เหมือนพยายามจะมองให้ทะลุลงไปถึงข้างในหรือเปล่า? นั่นเป็นหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าเขารู้สึกดึงดูดเข้าหาคุณ และเขากำลังพยายามจะรู้จักคุณมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเด็กแรกเกิดจะมองเห็นไม่ชัดนัก แต่พวกเขาจะพยายามเบนเข้าหาใบหน้าของคุณ และเมื่อคุณอุ้มเขา เขาสามารถเห็นองค์ประกอบหลักๆ ของใบหน้า เช่น ตา จมูก ปาก ของคุณได้ เด็กทารกจะพยายามเลียนแบบสีหน้าของคุณ ถ้าคุณเห็นเด็กกำลังจ้องหน้าคุณอยู่ ลองแลบลิ้นดู เด็กจะพยายามเลียนแบบ การทำหน้าทำตาต่างๆ ให้เด็กเลียนแบบจะทำให้เด็กรู้สึกใกล้ชิดกับคุณ

 

2. หันหาคุณ 

รู้หรือไม่ว่าทารกสามารถได้ยินเสียงตั้งแต่อายุ 20 สัปดาห์ในครรภ์ และหัวใจของเด็กที่อยู่ในครรภ์จะเต้นช้าลงเมื่อได้ยินเสียงคุณแม่พูด เพราะแม้ว่าเด็กจะอยู่ในท้อง แต่เสียงของคุณก็สามารถทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กจึงมักหันหาเสียงที่คุ้นเคย เช่น ถ้าคุณและคุณแม่ของคุณกำลังคุยกันขณะที่คุณแม่ของคุณกำลังอุ้มเขาอยู่ เขาก็จะหันหาคุณ แม้ว่าคุณยายจะกำลังอุ้มเขาอยู่ก็ตาม

 

3. เปิดปาก

รู้หรือไม่ว่าทารกมักคิดว่าคุณตัวหอม (แม้ว่าคุณจะยังไม่ได้อาบน้ำก็ตาม) งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าเด็กทารกสามารถจำมารดาของตัวเองได้เพียงแค่ได้กลิ่น ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งนักวิจัยได้ให้เด็กทารกดมกลิ่นแผ่นตัวอย่างที่แช่ไว้ในน้ำนมมนุษย์ และเด็กจะขยับปากเป็นพิเศษเมื่อได้กลิ่นแผ่นน้ำนมของมารดาของตัวเอง กลิ่นของคุณซึ่งต่างจากกลิ่นของผู้หญิงคนอื่นๆ จะทำให้ทารกรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

 

4. ละลายในอ้อมแขน

ต่อให้คุณไม่รู้ว่าลูกชอบได้ยินเสียง ได้กลิ่น หรือมองคุณ คุณก็จะรู้ได้ทันทีว่าเขารักคุณจากท่าทางที่เขานอนสบายอยู่ในอ้อมกอดคุณ แต่เด็กบางคนก็อาจไม่ได้กล่อมง่ายเหมือนเด็กคนอื่นๆ อย่าวิตกไป แม้ว่าลูกน้อยอาจจะไม่ได้ผ่อนคลายทันทีที่คุณอุ้มเขา นั่นไม่ได้แปลว่าเขาเกลียดคุณ แต่หมายควาวมว่าคุณยังไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไรกันแน่ ให้เวลาตัวเองได้ลองผิดลองถูก เชื่อหรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว ทารกรู้สึกดีที่คุณพยายามเอาใจใส่เขาต่างหาก

 

5. ยิ้ม

เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 6-12 สัปดาห์ อาจจะมีบางจังหวะที่เขายิ้มให้คุณแบบเต็มๆ ซึ่งจะทำให้แม้แต่คุณแม่ที่เฮี้ยบที่สุดต้องละลาย แพทย์เรียกการยิ้มแบบนี้ว่า "ยิ้มเข้าสังคม" ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองหรือเป็นการยิ้มที่ต้องการให้ผู้อื่นเกิดปฏิกิริยาตอบสนอง พูดอีกนัยหนึ่งคือทารกพยายามจะสื่อสารกับคุณ เมื่อคุณยิ้ม และเด็กยิ้มตอบ เด็กจะรู้สึกผูกพันกับคุณยิ่งขึ้น

 

6. พูดอ้อแอ้

ประมาณ 2 เดือนหลังจากที่ทารกยิ้มได้ เขาจะเริ่มคุยกับคุณ แม้จะไม่เป็นภาษา แต่ก็จะทำให้คุณรู้สึกมีความสุขเหมือนคุยกับเพื่อนสนิท ทารก "คุย" โดยการออกเสียงอ้อแอ้คล้ายเสียงสระต่างๆ ที่ฟังไม่เป็นคำ แต่ถ้าคุณทำเสียงโต้ตอบกับเขา คุณก็เริ่มคุยกับเขารู้เรื่องแล้วล่ะ การพูดสื่อสารกับทารกจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการพูดและการฟังที่ดี เพราะเขาจะฟังและเลียนแบบคำที่คุณพูด เขาแค่อยากแสดงออกให้คุณรู้ว่าเขารักคุณมากแค่ไหน

 

7. ออกอาการ ดีใจ” เมื่อเจอคุณ

เมื่อทารกอายุได้ 6 เดือน เขาจะสามารถบอกความแตกต่างระหว่างคนดีกับคนที่ดีที่สุด (คุณและสามีของคุณ) ได้ ลูกของคุณอาจจะร่างเริงปกติ เมื่อเพื่อนสนิทของคุณอุ้ม แต่เขาจะแสดงท่าทางดีใจทันทีที่เห็นคุณเข้ามาในห้อง เพราะเด็กสามารถแยกแยะคนที่เขาใกล้ชิด กับคนที่เขาชอบทั่วไป แต่อาจจะไม่ได้ใกล้ชิด อีกนัยหนึ่งคือนั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเขาอาจจะชอบคนอื่น แต่เขารักคุณและเห็นคุณเป็นคนที่สำคัญที่สุด

8. หัวเราะ

ไม่มีอะไรยอดเยี่ยมไปกว่าเสียงหัวเราะของทารก แม้ว่าคนอื่นๆ อาจจะทำให้คุณลูกหัวเราะได้ แต่ไม่มีใครรู้จักเขาดีไปกว่าคุณ คุณรู้ว่าเขาชอบถูกจั๊กกะจี้เท้ายังไง เขาอาจจะเริ่มหัวเราะตั้งแต่คุณตั้งท่าเลยด้วยซ้ำ นั่นคือความผูกพันที่แท้จริง

9. งอแงเมื่อถูกแยกห่าง

เมื่อเด็กอายุประมาณ 9 เดือน ถึง 1 ปี เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มร้องไห้เมื่อต้องถูกทิ้งไว้กับพี่เลี้ยง (ต่อให้พี่เลี้ยงคือคุณย่าคุณยายก็ตาม) แม้ว่าคุณจะทำใจลำบากเมื่อต้องเห็นลูกร้องไห้ แต่ขอให้รู้ว่านั่นเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าเขารักคุณ ตอนแรกๆ ทารกจะกังกลว่าคุณอาจจะไม่กลับมาหาเขา แต่คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด หรือกังวล เพราะสุดท้ายเขาก็จะรู้ว่าคุณจะกลับมาหาเขาทุกครั้ง สักพักเด็กก็จะหยุดร้องไปเอง

 

10. รายงานตัว

เมื่อทารกเริ่มโตขึ้นถึงวัยคลาน เขาอาจจะคลานไปทั่วบ้านด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่คุณเคยสังเกตุไหมว่า เขามักกลับมาอยู่ข้างๆ คุณบ่อยๆ หรือเขาพยายามมองมาที่คุณเมื่อต้องเจอกับสิ่งของหรือสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย การ "รายงานตัว" ดังกล่าวคืออาการปกติของเด็กที่บ่งบอกถึงความไม่หวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ และต้องการเข้าหาสิ่งที่จะปกป้องเขาได้ นั่นก็คือคุณนั่นเอง

แหล่งที่มา: women.sanook.com

อัพเดทล่าสุด