ปอกะบิด สมุนไพร สรรพคุณดีเลิศ


1,207 ผู้ชม


ปอกะบิด สมุนไพร สรรพคุณดีเลิศ

การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ และหากมีโรคมีโรคเข้ามาทำให้กังวลกาย กังวลใจแล้ว วิธีการรักษาที่ดีที่สุด คงจะเป็นการพบแพทย์ เพื่อรักษาให้หายทันค่ะ นอกเหนือจากการพบแพทย์แล้ว วิธีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตามแบบพื้นบ้าน คงจะหนีไม่พ้น รักษาด้วย "สมุนไพร" ใกล้ตัว

และสมุนไพรที่อยากแนะนำให้รู้จักสรรพคุณอันมากล้นในเวลานี้ก็คือ "ปอกะบิด" ค่ะ

"ปอกะบิด" เป็นสมุนไพรที่ชื่ออาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่บอกเลยว่าประโยชน์ และสรรพคุณมากล้นจริงๆ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกันค่ะ

ปอบิ หรือ ปอกะบิด ภาษาอังกฤษ East Indian screw tree มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helicteres isora L.จัดอยู่ในวงศ์ฝ้ายหรือวงศ์ชบา (Malvaceae) เช่นเดียวกันกับกระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเขียว ชบา ครอบฟันสี พลับพลา โพทะเล หญ้าขัด หญ้าขัดใบยาว หญ้าขัดใบป้อม และหญ้าขัดหลวง

สมุนไพรปอกะบิด ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีก เช่น ปอทับ (เชียงใหม่), มะบิด (ภาคเหนือ), ข้าวจี่ (ลาว), ปอบิด เป็นต้น ซึ่งในบ้านเราสามารถพบปอกะบิดได้ทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง หรือที่รกร้างว่างเปล่า

ปอกะบิด เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-2 เมตร ลักษณะของลำต้นดูกลมเรียวอ่อนดูคล้ายเถา เปลือกนอกมีสีเทา และมี ดอกปอกะบิด รวมไปถึง ฝักปอกะบิด หรือส่วนของผลปอกะบิดจะเป็นฝักกลมบิดเป็นเกลียว มีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่จะจะเป็นสีดำแห้งด้าน และยังถือว่าเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถรักษาโรคได้หลายชนิด

สรรพคุณปอกะบิด

จากข้อมูลในตำรายาไทย ใช้เปลือกต้นและราก บำรุงธาตุ ผล ใช้แก้บิด (สันนิษฐานว่าตามรูปร่างของผล) แก้ปวดเบ่ง(อันเนื่องมาจากบิด) ท้องเสีย ขับเสมหะ ตำพอกแก้ปวดเคล็ดบวม


ในประเทศอินเดียใช้ผลแก้ท้องเสียเช่น เดียวกัน และมีการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ที่ดีในการยับยั้งเชื้ออีโคไล ที่เป็นเชื้อสาเหตุของอาการท้องเสียทั่วไป และให้ผลดีกับเชื้อ Salmonella typhimurium ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลปานกลางต่อเชื้อไข้ไทฟอยด์ (Salmonella typhi)ซึ่งมีอาการไข้ร่วมกับท้องเสียอื่น4 และมีผลยับยั้งการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ5 ถึงแม้งานวิจัยนี้จะสอดคล้องการใช้ในโรคท้องเสีย ขนาดที่ใช้ในคนก็ยังระบุไม่ได้ชัดเจนนัก
การศึกษาวิจัยประสิทธิภาพ ของปอบิดในโรคอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน พบว่าสารสกัดน้ำจากผลปอบิดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ทำให้เป็นเบา หวาน และป้องกันไม่ให้ระดับไขมันสูงขึ้นซึ่งมักพบตามมาหลังจากการเป็นเบาหวาน ฤทธิ์ของสารสกัดคล้ายกับยาไกลเบนคลาไมด์6 การทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยงพบว่าเพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อ ของหนู7 และเพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อกระบังลมแต่มีประสิทธิภาพน้อย กว่ายาเมทฟอร์มิน8 อย่างไรก็ดีการทดลองเหล่านี้แม้จะสรุปได้ว่าสารสกัดน้ำจากผลปอบิด น่าจะมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะระบุขนาดที่ใช้ และยังไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนยารักษาเบาหวานได้จริง จำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมต่อไปทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความเป็นพิษ เนื่องจากปอบิดไม่ใช่พืชอาหาร การทดลองเพื่อหาความเป็นพิษเมื่อใช้ระยะยาวเป็นอีกงานวิจัยที่สำคัญ อนึ่งพบว่าสมุนไพรจำนวนไม่น้อยที่มีรายงานความเป็นพิษต่อตับและไต หากรูปแบบหรือขนาดที่ใช้ไม่ถูกต้อง ในกรณีที่ยังมีข้อมูลไม่ครบเช่นนี้ สำหรับ ผู้ที่ต้องการเลือกใช้ด้วยตนเอง หรือได้ทดลองใช้แล้ว ให้ตรวจภาวะการทำงานของตับไตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติ หรือแม้แต่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตับ หรือโรคไต
สำหรับโรคอื่นๆ ที่กล่าวอ้างถึงนั้น ยังไม่พบการวิจัยที่พิสูจน์ฤทธิ์ดังกล่าว อีกทั้งโรคเรื้อรังต่างๆที่กล่าวอ้างนั้น ไม่ได้มีข้อมูลการใช้แผนโบราณสนับสนุน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกใช้

ที่มา: women.sanook.com

อัพเดทล่าสุด