โรคหอบหืด วิธีป้องกันและรักษา ขั้นสุดยอด


1,142 ผู้ชม


โรคหอบหืด วิธีป้องกันและรักษา ขั้นสุดยอด

    โรคหอบหืด


    โรคหอบหืด คืออะไร ? (สสส.)
              โรคหอบหืด ชื่อนี้เรียกตามอาการของคนไข้ โดยอาการหอบหืดเกิดจากการหดตัวหรือตีบตันของช่องทางเดินหายใจส่วนหลอดลม ทำให้อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดการตีบตันของหลอดลม คือ
               การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลม 
               การบวมอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม 
               เสมหะจำนวนมากที่คั่งค้างอยู่ภายในหลอดลม
              การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลม แท้จริงแล้วเป็นผลจากอักเสบของเยื่อบุหลอดลม การอักเสบส่วนใหญ่จะเป็นการอักเสบเรื้อรังเกิดจากภาวะที่มีการตอบสนองรุนแรงเกินเหตุ
              โรคหอบหืด ต่างกับโรคอื่น ๆ คนไข้บางคนเป็นน้อย บางคนเป็นมาก และอาจเสียชีวิตได้ ภาวะที่กระตุ้นให้โรคหอบหืด กำเริบก็ต่างกันในแต่ละคนไข้ ตัวอย่างของภาวะหรือสิ่งที่กระตุ้นให้ โรคหอบหืด กำเริบ คือ การหายใจเอาสารที่แพ้เข้าไปในหลอดลม ภาวะติดเชื้อ โพรงจมูกอักเสบ กลิ่นน้ำหอม ยาฆ่าแมลง กลิ่นอับ กลิ่นท่อไอเสีย กลิ่นบุหรี่ ภาวะอากาศเปลี่ยน การออกกำลังกาย โรคทางเดินอาหารบางโรค ภาวะแพ้ยา สารสี สารเคมีต่าง ๆ และภาวะเครียด
              ในเด็กที่เป็นโรคหอบหืดส่วนใหญ่ สองในสามจะมีภาวะภูมิแพ้ด้วย แต่ในผู้ใหญ่ต่างกันที่ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะภูมิแพ้ โดยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ โรคหอบหืด คือ คนมักเข้าใจว่า โรคหอบหืดเป็นผลจากภาวะภูมิแพ้เสมอไป
             โรคหอบหืด คนเป็นกันมาก ตามสถิติแล้วมีผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืด ประมาณ 10-13% ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กชายเป็น โรคหอบหืด มากกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย
              การวินิจฉัย โรคหอบหืด ในเด็กทั่วไปแล้วจะยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กจำนวนไม่น้อยมีอาการอื่นร่วมด้วย เด็กบางคนไม่มีอาการหอบเลยก็ได้ ส่วนใหญ่ประวัติการเจ็บป่วยของเด็กโรคหอบหืดจะไม่ค่อยสมบูรณ์ เพราะข้อมูลได้มาจากแม่เด็ก พี่เลี้ยง ครูที่โรงเรียน หรือตัวเด็กเอง
              อาการสำคัญของ โรคหอบหืด คือ ไอตอนเช้า กลางคืนตอนดึก ไอเวลาวิ่งเล่น หรือหลังวิ่งเล่น คัดจมูก น้ำมูกไหลร่วมด้วย ในเด็กเล็กที่หอบจากมีสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคหอบหืด เช่น โรคหัวใจ โรคติดเชื้อในปอด สารแปลกปลอม ถั่ว ข้าวโพดคั่วติดในหลอดลม หรือโรคทางเดินอาหารบางชนิด

              การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้โรคหอบหืด กำเริบ ส่วนใหญ่ของเชื้อจะเป็นไวรัสที่ติดมาจากโรงเรียน หรือที่ชุมชน เด็กจำนวนมากที่แพ้สารต่าง ๆ เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา แมลงสาบ และอื่น ๆ จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบให้แน่นอน

    โรคหอบหืด


              การรักษา โรคหอบหืด จะต่างกันในคนไข้แต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อายุคนไข้ และภาวะที่เกิดร่วมกับโรคหอบหืด เช่น ภาวะภูมิแพ้ หรือโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง โดยทั่ วๆ ไป แนวทางรักษาที่ยอมรับโดยผู้เชี่ยวชาญมีอยู่ 4 ข้อดังนี้

               แนะนำให้ใช้การตรวจสอบสมรรถภาพของปอด เพื่อบ่งชี้ความรุนแรงของโรค และเพื่อติดตามวัดผลการรักษา
               การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ หรือป้องกันการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมร่วมกับการใช้ยา เพื่อคลายกล้ามเนื้อรอบหลอดลมที่หดตัว
               การควบคุมภาวะแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีภาวะภูมิแพ้ร่วมด้วย รวมถึงการรักษาเฉพาะเจาะจงในภาวะภูมิแพ้
               ต้องให้ความรู้คนไข้ และครอบครัวเกี่ยวกับ โรคหอบหืด และการปฏิบัติตน เช่น เลิกสูบบุหรี่ วิธีการออกกำลังกาย และวิธีใช้ยาที่ถูกต้อง
              การรักษาอย่างต่อเนื่องสำคัญที่สุดในโรคหอบหืดคนไข้ส่วนใหญ่ หรือแพทย์ส่วนใหญ่จะมองข้ามจุดสำคัญนี้ ทำให้ผลการรักษาไม่เป็นที่พึงพอใจของทั้งสองฝ่าย คนไข้ก็ว่าไม่หายสักที หมอก็ว่าคนไข้ไม่รู้เรื่องไม่ทำตามสั่ง
    ผลการรักษา โรคหอบหืด ที่ควรเกิดขึ้นมีดังนี้

               สมรรถภาพปอดดีขึ้น 
               คนไข้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ หรือเกือบปกติ รวมทั้งการออกกำลังกาย
               อาการเรื้อรังที่น่าเบื่อหน่วยสำหรับคนไข้สิ้นสลายไปอาการ เช่น ไอ หายใจขัด แน่นหน้าอก
               ป้องกันการกำเริบของโรคได้ 
               ผลข้างเคียงจากยาควรจะไม่มี หรือมีน้อยที่สุด
              ความเข้าใจที่สำคัญมาก คือ การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมในโรคหอบหืด นี้เป็นการอักเสบอย่างเรื้อรัง ต่อเนื่องที่กำเริบได้เป็นระยะ แม้เวลาที่คนไข้รู้สึกดี ไม่มีอาการไอ หรือหอบ ภาวะการอักเสบนี้ยังคงอยู่ตลอดเวลา

    โรคหอบหืด


    ยาหลักที่ใช้ในการรักษา โรคหอบหืด

     ยาต้านการอักเสบ
              ยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรคหอบหืด สำหรับผู้ป่วยเด็ก และผู้ใหญ่ ยานี้มีทั้งรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน และรูปแบบพ่นเข้าสู่หลอดลมโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยาในรูปแบบพ่นถือได้ว่าเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาของคนไข้หอบหืดเรื้อรัง และมีความปลอดภัยสูง เพราะปริมาณยาที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงใด ๆ จากการใช้ยานี้ 
              ส่วนยาในรูปแบบรับประทานจะใช้รับประทาน เมื่อมีอาการกำเริบอย่างรุนแรงหรือไม่สามารถจะพ่นยาได้ และจะใช้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น คือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วยโรคหอบหืด รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจพบผลข้างเคียงขึ้นได้เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม ความดันโลหิตสูง ตาเป็นต้อ กระดูกผุ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และบวมตามที่ต่าง ๆ
              โครโมลิน และนิโดโครมิล เป็นยาพ่นที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน และลดการอักเสบที่จะเกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย หรืออากาศเปลี่ยน 
     ยาขยายหลอดลม
              ยาประเภทนี้จะช่วยขยาย หรือคลายกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลมที่หดเกร็งตัว
              ยากลุ่มเบต้าอะโกนิส ที่ใช้แพร่หลายคือยาพ่นแบบน้ำ และแบบผง อีกทั้งยังมียาเม็ด และยาน้ำในรูปแบบรับประทาน รวมทั้งรูปแบบที่ใช้กับเครื่องปั๊ม ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการขยายหลอดลมสูง นิยมใช้ในคนไข้ โรคหอบหืด ที่มีอาการกำเริบเฉียบพลัน แต่ไม่ควรใช้ติดต่อเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงในภายหลัง เพราะไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของ โรคหอบหืด 
              ยากลุ่มแซนทีน ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และขยายหลอดลม สำหรับใช้ในคนไข้โรคหอบหืดเรื้อรัง ในปัจจุบันจะพบได้ทั้งยาฉีดยาน้ำ และยาเม็ด ทั้งรูปแบบธรรมดา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับประทาน ผลข้างเคียงพบได้น้อย มีความปลอดภัยสูง 

ที่มา: health.kapook.com

อัพเดทล่าสุด