แนะนำ...พลาสติกกับไมโครเวฟ เลือกใช้ให้ปลอดภัย


1,087 ผู้ชม


แนะนำ...พลาสติกกับไมโครเวฟ เลือกใช้ให้ปลอดภัย



        พลาสติกที่ใช้ทำภาชนะ ถุง หีบห่อบรรจุอาหาร สามารถปล่อยสารพิษ โดยเฉพาะ BPA โดยเฉพาะเมื่อถูกความร้อน เช่น การต้ม นึ่ง นำเข้าไมโครเวฟ ทำให้ให้สารพิษปนเปื้อนอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปอาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ
BPA อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ ดังนี้
        มีผลต่อการสร้างฮอร์โมนของร่างกาย เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ และวัยเด็ก
        มะเร็ง จากการทดลองในสัตว์พบว่า สัตว์ที่ได้รับสาร BPA มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูงกว่า 
        มีผลต่อการสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท ความทรงจำ การเรียนรู้
        มีผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโต และการสืบพันธุ์ ทำให้เด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไป
        เด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน และไฮเปอร์แอคทีฟ
        ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ
        ยิ่งสะสมในร่างกายมากเท่าใด ก็จะยิ่งไปลดศักยภาพการทำงานของร่างกายมากขึ้น
        ที่สำคัญคือ เด็กทารก เมื่อได้รับสาร BPA ก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าในเด็กโต หรือผู้ใหญ่
ทำอย่างไร จึงจะปลอดภัย
       การหลีกเลี่ยงไม่ใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกคงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าทำได้ ควรหลีกเลี่ยงและใช้ภาชนะที่เป็นแก้ว หรือสิ่งของธรรมชาติ เช่น ใบตอง แทนได้ก็จะเป็นการดี
       ควรหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนกับพลาสติก การนำพลาสติกเข้าไมโครเวฟ อาหารแช่แข็งตามร้านสะดวกซื้อ ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยง พลาสติกบางชนิด เช่น ขวดน้ำพลาสติกใส ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
       อย่างไรก็ตาม ภาชนะพลาสติกมีหมายเลขสัญลักษณ์รีไซเคิลพลาสติกที่พอจะดูได้ว่า มีความปลอดภัยมาก-น้อยกว่ากันได้  ถ้าพลิกดูที่ก้นของภาชนะพลาสติก จะเห็นตัวเลข ในลูกศรสามเหลี่ยม ภายในมีตัวเลข 1-7 

       หมายเลข 1 : โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ใช้ทำขวดบรรจุน้ำดื่ม ขวดน้ำมันพืช เป็นต้น
       หมายเลข 2 : พอลิเอธิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) ใช้ทำขวดนม ขวดน้ำ และบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำยาทำความสะอาด ยาสระผม เป็นต้น
       หมายเลข 3 : พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) หรือที่รู้จักกันดีว่า พีวีซี (PVC) ใช้ทำท่อน้ำประปา สายยางใส แผ่นฟิล์มสำหรับห่ออาหาร แผ่นพลาสติกสำหรับทำประตู หน้าต่าง และหนังเทียม เป็นต้น
       หมายเลข 4 : พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene) เป็นพลาสติกที่มีความนิ่ม เหนียว ยืดตัวได้มาก ใส ทนทาน แต่ไม่ค่อยทนต่อความร้อน ใช้ทำฟิล์มห่ออาหารและห่อของ ถุงใส่ขนมปัง ถุงเย็นสำหรับบรรจุอาหาร เป็นต้น
       หมายเลข 5 : พอลิโพรพิลีน (Polypropylene) เรียกโดยย่อว่า พีพี (PP) เป็นพลาสติกที่มีความ ใส ทนทานต่อความร้อน คงรูป เหนียว และทนแรงกระแทกได้ดี นอกจากนี้ยังทนต่อสารเคมีและน้ำมัน ใช้ทำภาชนะบรรจุอาหาร เช่น กล่อง ชาม จาน ถัง ตะกร้ากระบอกใส่น้ำแช่เย็น ขวดซอส แก้วโยเกิร์ต ขวดบรรจุยา เป็นต้น
       หมายเลข 6 : พลาพอลิสไตรีน (Polystyrene) เป็นพลาสติกที่มีความใส แต่เปราะและแตกง่าย ใช้ทำภาชนะบรรจุของใช้ต่างๆ หรือโฟมใส่อาหาร เป็นต้น
       หมายเลข 7 : พลาสติกเลข 7 นั้นมิได้มีการระบุชื่อจำเพาะ แต่ไม่ใช่พลาสติกชนิดใดชนิดหนึ่งใน 6 ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น
       พลาสติกที่เชื่อกันว่าปลอดภัย และมีความเสี่ยงต่อการปล่อยสารพิษต่ำ ได้แก่หมายเลข 2, 4 และ 5 ส่วนหมายเลข 1 ซึ่งเป็นขวดบรรจุน้ำดื่มที่เราเรียกกันว่าขวดเพ็ด นั้น จัดเป็นพลาสติกที่ปลอดภัย แต่ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำ เพราะอาจจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้
      ต่อไปจะซื้อภาชนะบรรจุอาหาร ควรพลิกดูที่ก้นภาชนะว่ามีตัวเลข 2 หรือ 4 หรือ 5 หรือไม่ ถ้าไม่มีตัวเลขอะไรเลย จะทำอย่างไร
      ในขณะนี้ จริง ๆ ยังไม่มีใครฟันธงถึงผลเสียของพลาสติกที่มีต่อสุขภาพได้ชัดเจน ยังคงต้องอาศัยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบ แต่การตั้งข้อสังเกต และมีผลการวิจัยที่ทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงความไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของเราได้
       ปลอดภัยที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการใช้่ภาชนะที่เป็นพลาสติกให้มากที่สุด หรือไม่ใช้ภาชนะพลาสติกกับความร้อน เป็นดีที่สุด

ที่มา: women.thaiza.com

อัพเดทล่าสุด