ระวัง!! มะเร็งผิวหนัง BCC อันตรายที่ต้องระวังจากแสงแดดจัด


1,538 ผู้ชม


ระวัง!! มะเร็งผิวหนัง BCC อันตรายที่ต้องระวังจากแสงแดดจัด

    มะเร็งผิวหนัง

    เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
              มาทำความรู้จักกับมะเร็งผิวหนังชนิด BCC ที่เกิดขึ้นจากการตากแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ ให้มากขึ้น เพื่อหาทางป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงค่ะ
              ในปัจจุบันนี้มะเร็งผิวหนังเริ่มเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมากขึ้น สืบเนื่องมากจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และแสงแดดที่ดูเหมือนจะร้อนแรงขึ้นทุกวัน ๆ โดยมะเร็งผิวหนังถูกแบ่งออกเป็นหลายชนิด ซึ่งชนิดที่คนไทยสามารถพบได้บ่อยก็คือ Basal Cell Carcinoma (BCC) และ Squamous Cell Careinoma (SCC) แต่ในวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปรู้จักกับมะเร็งผิวหนังชนิด BCC หรือ Basal Cell Carcinoma กันให้มากขึ้น ว่ากันว่ามะเร็งผิวหนังชนิดนี้เกิดจากการตากแดดแรง ๆ เป็นเวลานาน ซึ่งคนที่อยู่เมืองร้อนอย่างประเทศไทยก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเลย 
    มะเร็งผิวหนัง

    มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma (BCC) คืออะไร
              มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma หรือที่มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า มะเร็งผิวหนังชนิด BCC เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถพบได้ในผู้ที่อายุน้อยกว่านี้เช่นเดียวกัน มะเร็งผิวหนังชนิดนี้จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้ 
     Nodular BCC
     Pigmented BCC
      Superficial BCC
     Morpheaform BCC
     Fibroepithelioma of Pinkus (FEP)
              มะเร็งผิวหนังชนิด BCC นี้เป็นโรคมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงต่ำและไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่ระบบโลหิต จึงไม่ทำให้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่อาจจะลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองได้ จึงไม่ควรจะชะล่าใจและรีบทำการรักษาก่อนจะลุกลามนะคะ
    สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง BCC
              มะเร็งผิวหนังชนิด BCC มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาจากการตากแสงแดดจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติผิวไหม้แดดในวัยเด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ คนที่มีผิวขาว คนที่มีผมสีแดงหรือมีกระ หรือผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่เคยมีประวัติเป็นโรคผิวหนัง แม้แต่ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีหรือได้รับสารหนูเป็นเวลานานก็ทำให้เสี่ยงได้เช่นกันค่ะ โดยโรคนี้เกิดจากการที่ Basal Cell ในชั้นล่างสุดของหนังกำพร้าเจริญเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ จนทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่บริเวณผิวหนัง 
    มะเร็งผิวหนัง

    กลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนัง BCC
              โรคนี้สามารถเกิดได้กับคนที่ต้องสัมผัสแสงแดดบ่อย ๆ แต่คนเอเชียที่มีผิวสีเข้มมีโอกาสเป็นน้อยกว่าคนยุโรปผิวสีอ่อน โดยที่มีรายงานว่า แม้โรคมะเร็งผิวหนังชนิดนี้จะไม่ค่อยพบในเด็ก แต่ก็สามารถพบได้บ้างในวัยรุ่น และคนไข้ในกลุ่มอายุ 20-30 ปี ก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมะเร็งชนิด BCC ก็มักจะเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนที่รับแสงแดดมาก โดยเฉพาะใบหน้า หู คอ หนังศีรษะ ไหล่ และหลัง แต่บางทีก็เกิดกับแผลเปิดที่เรื้อรัง หรือในบริเวณที่ผิวอักเสบเป็นเวลานานค่ะ
    อาการของโรค
              อาการของมะเร็งผิวหนังชนิด BCC โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการเกิดบริเวณใบหน้า มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อสีคล้ำ เริ่มแรกอาจจะมองดูเหมือนกระ แต่จะมีการเติบโตเร็วและแตกเป็นแผลเรื้อรังได้ นอกจากนี้ลักษณะของมะเร็งผิวหนัง BCC ยังมีแบ่งย่อยออกไปได้อีกดังนี้
     Nodular BCC เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบบ่อยที่สุด โดยแผลจะเป็นก้อนนูนขรุขระ มีขอบนูนม้วน ตรงกลางอาจแตกเป็นแผล 
     Pigmented BCC เป็นชนิดย่อยลงมาจาก nodular BCC แผลมีสีดำสนิทที่สุด เป็นก้อนนูนขรุขระ มีขอบนูน
     Superficial BCC มะเร็งชนิดนี้มักจะพบตามลำตัว มีแผลลักษณะเป็นผื่นแดงนูนหนาขอบเขตชัดเจน มองผิวเผินคล้ายผื่นผิวหนังอักเสบ 
     Morpheaform BCC เป็น มะเร็งผิวหนังชนิด BCC ที่ลุกลามและอันตรายที่สุด โดยแผลมองคล้ายแผลเป็นแบนๆ หรือนูนเล็กน้อย มีสีออกขาวคล้ายสีงาช้าง 
     Fibroepithelioma of Pinkus (FEP) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งสีออกชมพู ส่วนใหญ่มักพบที่หลัง ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากมะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสีที่ไม่มีสี
    มะเร็งผิวหนัง

    วิธีการรักษา
              มะเร็งผิวหนังชนิด BCC เป็นชนิดของมะเร็งที่อาการมักจะลุกลามลึกลงไปเฉพาะที่ แต่ไม่มีการแพร่กระจาย ซึ่งถ้าหากกลับมาเป็นซํ้าหลังการรักษา ก็อาจจะทําให้มะเร็งมีความรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นเป้าหมายการรักษาคือการกําจัดต้นตอของโรคให้ออกให้หมดตั้งแต่แรก ซึ่งวิธีรักษาก็มีหลายวิธีได้แก่ 
     การใช้ความเย็น (cryotherapy) 
     การขูดออกแล้วจี้ตามด้วยไฟฟ้า curettage, electrodesiccation, radiation therapy 
     การผ่าตัด (wide excision) 
     การผ่าตัดด้วยวิธี Mohs micrographic surgery (MMS) 
              โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งผู้ป่วย, ชนิดของ BCC และแพทย์ผู้รักษา โดยปัจจัยจากผู้ป่วย ก็ได้แก่ อายุ การวินิจฉัยร่วม เป็นต้น ส่วนปัจจัยจากแพทย์ ก็ขึ้นกับความชํานาญและความสามารถของแพทย์ของแต่ละท่าน ในการทําหัตถการแต่ละชนิด โดยมีการศึกษาพบว่า MMS มีอัตราการกลับซํ้าน้อยสุดเพียง 1% ส่วนการใช้ความเย็น การขูดออกแล้วจี้ตามด้วยไฟฟ้า เหมาะสําหรับรอยโรคขนาดเล็กขอบเขตชัดเจนและอยู่ตื้น ขณะที่การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักกรณีที่แนะนําให้ตัด ส่วนการฉายรังสีเหมาะสําหรับในรายที่ไม่สามารถทําการผ่าตัดได้เท่านั้น ส่วนการผ่าตัดโดยวิธี MMS เหมาะสําหรับ BCC ที่ร้ายแรง นอกจากนี้การติดตามผู้ป่วยหลังการรักษาเป็นสิ่งสําคัญเพื่อติดตามว่ามีการเกิดซํ้าหลังการรักษาหรือไม่ เนื่องจากมีโอกาสถึง 45% ที่จะเป็น Recurrent BCC ใหม่ภายใน 5 ปีหลังการรักษา
    วิธีการป้องกัน
              วิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และไม่ตากแดดเป็นเวลานาน แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานานก็ควรสวมหมวก กางร่ม ใส่แว่นกันแดด สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว โดยใส่เสื้อผ้าสีอ่อน และการทาครีมกันแดด ซึ่งจะต้องมีค่าป้องกันแสงแดด เอสพีเอฟ (SPF, Sun protection factor, ป้องกันแสงชนิด ยูวีบี/UVB เป็นส่วนใหญ่) ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป และค่าพีเอ (PA,Protection grade for UVA,ป้องกันแสงชนิดยูวีเอ/UVA เป็นส่วนใหญ่) +++ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาทิเช่น การสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ เรื้อรัง และการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือ โรคเอดส์ อีกด้วยค่ะ
    โรคมะเร็งผิวหนังชนิด BCC แม้จะไม่ใช่โรคที่เป็นอัตราย แต่ก็ไม่ควรที่จะประมาท เพราะเจ้าโรคนี้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถึงแม้รักษาหายแล้ว ทางที่ดีเราก็อย่านำพาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงเลยจะดีกว่าเนอะ เพราะถ้าหากเป็นแล้วไม่ใช่แค่เพียงเงินทองเท่านั้นที่เราจะเสีย แต่ยังเสียเวลา และเสียสุขภาพของเราอีกด้วย ฉะนั้นถ้าวันนี้จะออกไปไหนมาไหนกลางแดดละก็ หยิบหมวกหรือไม่ก็ร่มไปด้วยจะดีกว่านะคะ

ที่มา: health.kapook.com

อัพเดทล่าสุด