อาการอักเสบ ช่องท้อง การแพทย์ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ Peritonitis


1,305 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ช่องท้อง  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ไข้  ปวดท้อง 

บทนำ

ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) คือ การที่เยื่อบุช่องท้องมีการอักเสบเกิดขึ้น ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ และการอักเสบอาจเกิดขึ้นเฉพาะที่ในบางตำแหน่งของช่องท้อง หรืออาจเกิดทั่วช่องท้องก็ได้ โดยไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด อาการก็จะคล้ายๆกัน คือ มีอาการปวดท้องเป็นหลัก อัตราการเสียชีวิตและการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น

ปัจจุบัน ไม่มีสถิติชัดเจนถึงอุบัติการณ์ของเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แต่เป็นโรคพบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยนัก พบได้ในทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้เท่ากัน

เยื่อบุช่องท้องคืออะไร?

เยื่อบุช่องท้อง (Peritoneum) เป็นเยื่อบางๆที่ประกอบด้วยเซลล์เยื่อบุ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เยื่อบุช่องท้องจะบุอยู่รอบๆช่องท้อง และช่องท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) และห่อหุ้มอวัยวะต่างๆภายในช่องท้อง และช่องท้องน้อย ซึ่งบางอวัยวะอาจถูกห่อหุ้มเอาไว้ทั้งหมด บางอวัยวะอาจถูกห่อหุ้มไว้เพียงส่วนหนึ่ง เช่น ตับอ่อน ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duo denum) กระเพาะปัสสาวะ ส่วนอวัยวะที่ไม่ได้ถูกห่อหุ้มโดยเยื่อบุช่องท้อง (อวัยวะในช่องท้อง แต่อยู่นอกเยื่อบุช่องท้อง) คือไต ท่อปัสสาวะ ต่อมหมวกไต และลำไส้ตรงส่วนปลาย ดังนั้นเมื่ออวัยวะอื่นๆในช่องท้อง (ยกเว้นอวัยวะนอกเยื่อบุช่องท้องเหล่านี้)เกิดการอักเสบ หรือฉีกขาด ก็จะทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบร่วมไปด้วย

ปกติในช่องท้องจะมีปริมาณน้ำอยู่เพียงเล็กน้อย พอให้อวัยวะภายในเคลื่อนไหวไปมาได้ และเยื่อบุช่องท้องก็จะทำหน้าที่เหมือนแผ่นกรองน้ำ ควบคุมปริมาณน้ำ และชนิดเกลือแร่ รวมทั้งควบคุมการเข้าออกช่องท้องของเซลล์เม็ดเลือดขาวในเลือดให้เหมาะสม ดังนั้นหากเยื่อบุช่องท้องมีการอักเสบ การทำหน้าที่เหล่านี้ก็จะเสียไป ผู้ป่วยก็จะมีน้ำ และมีเซลล์เม็ดเลือดขาวในช่องท้องมากขึ้น

เยื่อบุช่องท้องอักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

แบ่งสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงใหญ่ๆของเยื่อบุช่องท้องอักเสบออกได้เป็น การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และการอักเสบไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

  1. การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ
    1. การที่อวัยวะภายในช่องท้องอักเสบติดเชื้อ โดยหากอวัยวะที่ถูกหุ้มด้วยเยื่อบุช่องท้องเกิดการอักเสบติดเชื้อก็จะทำให้เยื่อบุช่องท้องบริเวณใกล้เคียงเกิดการอักเสบไปด้วย ซึ่งก็จะเป็นการอักเสบเฉพาะที่ ตัวอย่างที่พบบ่อยที่สุดคือ การเกิดไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการผ่าตัด ไส้ติ่งก็จะแตกและทำให้เกิดการอัก เสบของเยื่อบุช่องท้องทั่วช่องท้องได้ หรือการอักเสบของลำไส้ส่วนที่พองเป็นกระเปาะชนิดเป็นมาแต่กำเนิด เรียกว่า Meckel’s diverticulitis ก็เป็นสาเหตุที่พบบ่อยเช่นกัน (แต่โรคMeckel’s นี้เป็นโรคพบได้น้อย)
    2. การติดเชื้อที่เกิดจากการทะลุของช่องทางเดินอาหาร โดยช่องทาง เดินอาหารทุกตำแหน่งสามารถเกิดการทะลุได้ ซึ่งจะทำให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่เป็นปกติในช่องทางเดินอาหารเหล่านั้น (แบคทีเรียประจำถิ่น หรือ Normal flora) ออกมาอยู่ในช่องท้อง และแบคทีเรียเหล่านั้นก็ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องขึ้น
      • หลอดอาหารส่วนปลายซึ่งอยู่ในช่องท้อง (หลอดอาหารส่วนต้นอยู่ในลำคอ ส่วน กลางอยู่ในช่องอก) สามารถเกิดการทะลุได้จากการอาเจียนที่รุนแรง (เรียกว่า Boerhaave's syndrome) หรือเกิดจากกิน/ดื่มสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือเกิดจากแผลในหลอดอาหารทะลุ หรือเกิดจากการส่องกล้องเพื่อตรวจหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ชนิดของแบคทีเรียที่อยู่ในหลอดอาหารที่ทำให้เกิดโรค จะเป็นชนิดเดียวกับที่อาศัยอยู่ในช่องปาก โดยเป็นแบคทีเรียที่ต้องอาศัยออก ซิเจนซึ่งมีปริมาณถึง 107 (10 ล้าน) ตัวต่อ 1 มิลลิลิตร และเป็นแบคทีเรียชนิดที่ไม่อาศัยออกซิ เจนในการดำรงชีพในปริมาณที่เท่าๆกัน
      • กระเพาะอาหาร โดยส่วนใหญ่เกิดจากการทะลุของแผลในกระเพาะอาหาร หรืออาจเกิดจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ชนิดของแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะอาหารจะเป็นชนิดเดียวกับที่อาศัยอยู่ในช่องปาก แต่จะมีปริมาณน้อยกว่า หากกระเพาะอาหารเกิดการทะลุในช่วงที่ไม่ได้กินอาหาร จะมีแบคทีเรียออกมาก่อโรคในช่องท้องประมาณ 105 (100,000) ตัวต่อ 1 มิลลิลิตร แต่หากเกิดการทะลุในช่วงหลังจากกินอาหาร ซึ่งในกระเพาะอาหารจะมีความเป็นกรดสูงจากน้ำย่อย จะมีแบคทีเรียอออกมาเพียงประมาณ 103 (1,000) ตัวต่อ 1 มิลลิลิตร ซึ่งอาจถูกกรดทำลายหมดไปได้ แต่กรดนี้ก็จะทำให้เยื่อบุช่องท้องเกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อแทน
      • ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่เกิดจากไส้ติ่งอักเสบจนแตกทะลุ ส่วนสาเหตุอื่นๆ คือ ผนังลำไส้ส่วนที่พองเป็นกระเปาะ/ถุง (Diverticulum) มีการอักเสบและแตกออก หรือแผลจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีขนาดใหญ่จนกินทะลุผนังลำไส้ หรือจากภาวะลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยงจนเน่า และทะลุ หรือจากลำไส้พันกันจนอุดตัน ทำให้ลำ ไส้ตอนต้นของจุดที่อุดตันขยายตัวจนแตกออก หรือจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือจากกินของแหลมคมเข้าไป เช่น ก้างปลา เข็ม ไม้จิ้มฟัน เมล็ดผลไม้ที่คม เช่น เมล็ดกระ ท้อน หรือจากอุบัติเหตุ เช่น การถูกแทงด้วยมีดและของแหลมคมต่างๆ หรือจากถูกกระ แทกช่องท้องอย่างรุนแรงจนลำไส้แตกทะลุ หรือจากการส่องกล้องเพื่อวินิจฉัยโรคในลำไส้ นอกจากนี้ในการผ่าตัดต่อลำไส้ บางครั้งอาจมีรูรั่วตรงรอยต่อบริเวณที่เย็บได้ ทั้ง นี้เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคเป็นแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้นี้ ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่อาศัยออกซิเจนในการดำรงชีพโดยมีปริมาณถึง 1011 (100,000 ล้าน) ตัวต่อ 1 มิลลิลิตร ส่วนแบคทีเรียที่ต้องอาศัยออกซิเจนมีประมาณ 108 (100 ล้าน) ตัวต่อ 1 มิลลิลิตร
    3. การติดเชื้อที่เกิดจากเยื่อบุช่องท้องฉีกขาด โดยที่ทางเดินอาหารไม่ ได้ฉีกขาด เช่น การถูกแทงด้วยมีดและของแหลมคมต่างๆ ทะลุผ่านหน้าท้อง เชื้อโรคจากสิ่งของภายนอกนั้นๆ และจากผิวหนังจะผ่านเข้าสู่ช่องท้อง และทำให้เยื่อบุช่องท้องเกิดการอักเสบขึ้นมา ทั้งนี้การผ่าตัดหน้าท้องที่ไม่สะอาด ก็อาจนำเชื้อโรคเข้าสู่ช่องท้องได้เช่นกัน
    4. การติดเชื้อที่เกิดจากการมีน้ำในช่องท้อง เรียกว่า Spontaneous bacterial peritonitis หรือเรียกว่า Primary peritonitis โดยส่วนใหญ่จะพบในคนที่เป็นโรคตับแข็ง ซึ่งจะทำให้มีน้ำในช่องท้อง โดยช่องทางที่เชื้อแบคทีเรียเข้ามาและทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบนั้นไม่ชัดเจน สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะตับที่เป็นโรคนี้ สูญเสียหน้าที่การกรองเชื้อโรคในเลือดจากหลอดเลือดที่เดินทางมาจากลำไส้เพื่อเข้าสู่ตับ ร่วม กับน้ำในช่องท้องที่มีอยู่ในผู้ป่วยเหล่านี้ เป็นแหล่งอาหารที่ดีสำหรับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่การมีน้ำในช่องท้องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคหัวใจวาย หรือโรคไตชนิดที่เรียกว่า Nephrotic syndrome ก็สามารถทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้เช่น กัน เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของ Spontaneous bacterial peritonitis มักจะเกิดจากเชื้อเพียงชนิดเดียวเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากการทะลุของช่อง ทางเดินอาหารที่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายๆชนิดร่วมกัน
    5. การติดเชื้อที่เกิดจากการฟอกไตด้วยวิธีผ่านทางช่องท้อง โดยผู้ป่วยโรคไตวายที่ต้องฟอกเลือดผ่านการเจาะสายเข้าช่องท้อง เชื้อโรคจากผิวหนังอาจเข้าช่องท้องผ่านมากับสายท่อที่ใช้เจาะ หรือเชื้อโรคอาจปนเปื้อนมากับน้ำยาที่ใช้ในการฟอกไตก็ได้
    6. การติดเชื้อที่เกิดจากร่างกายมีการติดเชื้อบางอย่างที่ทำให้เกิดการอักเสบในหลายๆอวัยวะ เช่น เชื้อที่ทำให้เกิดวัณโรค สามารถทำให้เกิดการอักเสบได้เกือบทุกอวัยวะ รวมทั้งเยื่อบุช่องท้องด้วย
  2. การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ของเหลวต่างๆที่ไม่ได้อยู่ในช่องท้องหากเกิดการรั่วไหลเข้าช่องท้อง องค์ประกอบทางเคมีของของเหลวเหล่านั้น จะทำให้เกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อขึ้นได้ เช่น
    • เลือด อาจมาจากการเกิดอุบัติเหตุกระแทกช่องท้องรุนแรงที่ทำให้ตับ หรือม้ามแตก เลือดจึงไหลเข้าช่องท้อง และทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบได้ หรืออาจเกิดจากมีช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) ของรังไข่ (เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่) หรือเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในช่องท้องน้อย เมื่อเกิดการแตกของซีสต์ หรือเยื่อบุ จะทำให้เลือดออกมาอยู่ในช่องท้องน้อยและเกิดการอักเสบตามมาได้
    • น้ำย่อยที่เป็นกรดจากกระเพาะอาหาร ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้างต้น หากกระเพาะอาหารเกิดการทะลุในช่วงที่มีปริมาณน้ำย่อยมาก ความเป็นกรดของน้ำย่อยจะทำลายเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารได้ แต่ความเป็นกรดของน้ำย่อยเองจะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุได้
    • น้ำย่อยจากตับอ่อน ในกรณีตับอ่อนเกิดการอักเสบ หรือเกิดอุบัติเหตุกระแทกช่องท้องที่รุนแรงจนตับอ่อนแตกน้ำย่อยก็จะไหลเข้าสู่ช่องท้องและทำให้เยื่อบุช่องท้องอัก เสบได้
    • น้ำดี โดยถุงน้ำดีอาจเกิดแตกทะลุจาก มีนิ่วในถุงน้ำดี จากโรคถุงน้ำดีอักเสบ หรือจากโรคมะเร็งถุงน้ำดี โดยปกติน้ำดีจะไม่มีแบคทีเรีย แต่องค์ประกอบของน้ำดีสามารถทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบได้
    • ปัสสาวะ โดยการเกิดอุบัติเหตุกระแทกบริเวณท้องน้อยที่รุนแรงจนทำให้กระเพาะปัสสาวะฉีกขาดน้ำปัสสาวะจึงไหลเข้าสู่ท้องน้อย และทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุท้องน้อยได้

อนึ่งการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องที่เกิดจากของเหลวต่างๆ เหล่านี้ เมื่อผ่านไป 24-48 ชั่วโมง เชื้อแบคทีเรียจะเข้ามาสู่ช่องท้องได้ในที่สุด และทำให้เกิดการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยต่อไป

เยื่อบุช่องท้องอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการที่เป็นต้นเหตุของเยื่อบุช่องท้องอักเสบมีความแตกต่างกันไป แต่อาการของตัวเยื่อบุช่องท้องอักเสบเองจะเหมือนกัน

อาการหลักของเยื่อบุช่องท้องอักเสบ คือ ปวดท้องแบบเฉียบพลัน โดยจะปวดมากขึ้นเวลาที่เยื่อบุช่องท้องเกิดการเคลื่อนไหว เช่น การไอ การจาม ซึ่งเวลาที่แพทย์ตรวจร่างกายก็จะทดสอบโดยการจับต้นขาผู้ป่วยงอขึ้น ผู้ป่วยก็จะมีอาการปวดท้องมากขึ้นทันที หรือหากแพทย์กดหน้าท้องลงไปช้าๆ แล้วปล่อยขึ้นเร็วๆ ผู้ป่วยก็จะเกิดอาการปวดท้องขณะปล่อยมือมากกว่าตอนที่กด (เรียกว่า Blumberg sign) เนื่องจากเยื่อบุช่องท้องเกิดการเด้งตัวกลับสู่ตำแหน่งเดิมขณะที่ปล่อยมือ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเยื่อบุช่องท้องอย่างรวดเร็ว จึงเกิดอาการปวดขณะปล่อยมือมากกว่าตอนกด อาการปวดท้อง และ Blumberg sign นี้อาจเป็นเฉพาะที่ หรือเป็นทั่วๆช่องท้องก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะนี้ เช่น เป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็จะปวดท้องด้านขวาล่าง แต่ถ้าไส้ติ่งแตกทะลุ ซึ่งจะทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบทั่วช่องท้อง ผู้ป่วยก็จะมีอาการปวดท้องทั่วช่องท้อง เป็นต้น

อาการอื่นๆที่อาจพบได้ คือ เวลาจับหน้าท้องจะแข็ง ซึ่งโดยปกติจะนิ่มกดลงได้ง่าย การที่หน้าท้องแข็ง เนื่องจากกล้ามเนื้อที่หน้าท้องมีการหดตัวแบบที่ควบคุมไม่ได้เพื่อลดการเคลื่อนไหวของเยื่อบุในช่องท้อง นอกจากนี้จะมีไข้ หัวใจเต้นเร็ว และมีอาการท้องอืด หรือคลื่นไส้อาเจียน ไม่ถ่ายอุจจาระ/ ท้องผูก เนื่องจากลำไส้หยุดการเคลื่อนไหว

วินิจฉัยเยื่อบุช่องท้องอักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้จาก อาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจช่องท้องดังกล่าวข้างต้นเป็นหลัก การตรวจด้วยวิธีอื่นๆจะเป็นไปเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ได้แก่

  • การเอกซเรย์ช่องท้อง สามารถดูได้ว่ามีอากาศในช่องท้องหรือไม่ ถ้ามีอากาศอยู่ แปลว่าอาจเกิดจากกระเพาะอาหารทะลุ หรือสามารถใช้ดูสิ่งแปลกปลอมบางชนิดที่อยู่ในลำไส้ หรืออยู่ในช่องท้องได้ เช่น เข็ม เป็นต้น
  • การตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้อง อาจช่วยวินิจฉัย โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคถุงน้ำดีอักเสบเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่) ได้ หรือช็อกโกแลตซีสต์ (โรค
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง สามารถช่วยวินิจฉัยหาสาเหตุได้
  • หากการตรวจด้วยวิธีต่างๆแล้วยังให้การวินิจฉัยสาเหตุไม่ได้ แพทย์อาจต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือใช้กล้องส่องตรวจในช่องท้อง
  • ในกรณีที่เป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบแบบ Spontaneous bacterial peritonitis การตรวจร่างกายอาจไม่ชัดเจนเนื่องจากผู้ป่วยมีน้ำในช่องท้องอยู่ด้วย การเจาะเอาน้ำในช่องท้องไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้ โดยจะพบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophil) มากกว่า 300 ตัวต่อ 1 มิลลิลิตร นอกจากนี้ การนำน้ำในช่องท้อง และการเจาะเลือดเพื่อนำไปเพาะเชื้อ จะช่วยบอกชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ เพื่อการเลือกชนิดของยาปฏิชีวนะที่จะใช้รักษาให้เหมาะสม

ผลข้างเคียงจากเยื่อบุช่องท้องอักเสบมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากเยื่อบุช่องท้องอักเสบ คือ

  1. น้ำและเกลือแร่จากหลอดเลือดจะซึมออกมาอยู่ในช่องท้อง ทำให้ร่างกายขาดน้ำ และเกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล ผู้ป่วยจะช็อกจากการขาดน้ำ และมีอาการจากเกลือแร่ที่ผิดปกติ (เช่น มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียนตัวสั่น เป็นตะคริว) นอกจากนี้น้ำในช่องท้องที่มากขึ้น อาจเบียดดันกระบังลมขึ้นไปเบียดดันปอด ทำให้หายใจลำบากได้
  2. เยื่อบุช่องท้องที่อักเสบอาจพัฒนากลายเป็นหนองในช่องท้อง โดยกลุ่มหนองมักจะเกิดอยู่ใต้กะบังลมเหนือตับ หรืออยู่ใต้ตับ
  3. เชื้อโรคจากช่องท้องอาจกระจายเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis)

เยื่อบุช่องท้องอักเสบเป็นโรครุนแรงไหม?

ความรุนแรงของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และอัตราการเสียชีวิตจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ อายุโรคประจำตัวของผู้ป่วย และการให้การรักษา เช่น ในกรณีกระเพาะอาหารทะลุ หรือไส้ติ่งแตก ถ้าผู้ป่วยอายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่า 10% แต่หากเป็นผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และ/หรือได้รับการรักษาล่าช้า จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงประมาณ 40%

รักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบจะถูกรับไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยการรักษาแบ่งออกเป็น การรักษาสาเหตุ การรักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และการรักษาแบบประคับประคอง

  1. การรักษาสาเหตุ เช่น กรณีช่องทางเดินอาหารแตกทะลุ อวัยวะภาย ในที่ฉีกขาด หรือมีซีสต์แตก ก็ต้องรักษาโดยการผ่าตัด หากฟอกไตทางหน้าท้องอยู่ก็ต้องถอดสายที่ต่อเข้าช่องท้องออก เป็นต้น
  2. การรักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ การรักษาหลัก คือการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ โดยให้ยาผ่านเข้าทางหลอดเลือด โดยยาจะต้องครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุ
  3. ส่วนการรักษาแบบประคับประคองก็จะทำร่วมไปด้วยกัน เช่น การให้ยาลดไข้ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน การให้สารน้ำ และเกลือแร่

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ควรรีบพบแพทย์เสมอ อาจภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อมีอาการปวดท้องแบบเฉียบพลันและอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่อาการอื่นๆอาจมีร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด เป็นต้น

หากกลืนของแหลมคม เช่น ก้างปลาขนาดใหญ่ ไม้จิ้มฟัน เข็ม เศษมีด เศษแก้ว หรือเมล็ดผลไม้โดยเฉพาะเมล็ดกระท้อน ก็ให้รีบพบแพทย์ฉุกเฉินโดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการ เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ลำไส้ทะลุได้

ป้องกันเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันเยื่อบุช่องท้องอักเสบ คือการป้องกันสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง แต่เป็นเรื่องยากมาก เพราะสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของเยื่อบุช่องท้องอักเสบ มักเป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ยาก ยกเว้นกรณีโรคเกิดจากการล้างไตทางหน้าท้อง ซึ่งการป้องกัน คือ การรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัดตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ ในทุกกระบวนการของการล้างไต รวมทั้งของเครื่องมือเครื่องใช้ในการล้างไตด้วย
ที่มา   https://haamor.com/th/เยื่อบุช่องท้องอักเสบ/

อัพเดทล่าสุด