เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ Endocarditis and Infective endocarditis


1,362 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

หัวใจ  ระบบหัวใจและหลอดเลือด 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

เหนื่อยง่าย 

บทนำ

เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) คือ การอักเสบที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุภายในหัวใจ (Endo cardium) โดยเฉพาะส่วนที่บุลิ้นหัวใจซึ่งการอักเสบนี้ เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อ (เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ Infective endocarditis หรือ Infectious endocarditis) และการอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ (Non bacterial thrombotic endocarditis หรือ non infectious endocarditis)

  • เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ (Infective endocarditis หรือ Infectious endocarditis) เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก ประมาณ 5-7.9 รายต่อประชากร 100,000 คน เป็นโรคที่พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้สูงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยประมาณ 50% ของผู้ป่วย พบเกิดในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ชายพบได้บ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่าโดยหาคำอธิบายไม่ได้ว่าทำไม
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ (Non bacterial thrombotic endocarditis หรือ non infectious endocarditis) เป็นโรคพบได้น้อย เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากมาก ดังนั้นการวินิจ ฉัยมักเป็นการตรวจพบจากการตรวจศพ (Autopsy) ภายหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ซึ่งพบได้ประ มาณ 0.3-9.3% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตและได้รับการตรวจศพ เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ แต่พบได้สูงกว่าในผู้ใหญ่ และจะสูงขึ้นในผู้สูงอายุ โดยพบในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน

เยื่อบุหัวใจอักเสบเกิดได้อย่างไร?

เยื่อบุหัวใจอักเสบเกิดได้กับทุกส่วนของหัวใจ แต่เกือบทั้งหมดมักเกิดที่ลิ้นหัวใจ โดย เฉพาะลิ้นหัวใจที่มีโรคอื่นๆอยู่หรือมีการบาดเจ็บ เช่น จากโรคไข้รูมาติก จากโรคลิ้นหัวใจแต่กำเนิด จากการผ่าตัดหัวใจ จากการผ่าตัดลิ้นหัวใจ หรือการใส่ลิ้นหัวใจเทียม โดยลิ้นหัวใจที่พบเกิดโรคได้บ่อย คือลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายกับห้องล่างซ้าย (Mitral valve) รองลงไป คือลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับท่อเลือดแดง (Aortic valve) (อ่านเพิ่มเติมในหัวใจ:กายวิภาคและสรีรวิทยา) และในการอักเสบ อาจเกิดขึ้นเพียงจุดใดจุดหนึ่ง หรือลิ้นใดลิ้นหนึ่งของหัวใจ หรือเกิดหลายๆจุด หรือหลายๆลิ้นหัวใจพร้อมกันก็ได้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค

กลไกการเกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบ จะเกิดจากการมีโรคหัวใจ จึงส่งผลให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ โดยเฉพาะบริเวณลิ้นหัวใจ ซึ่งการอักเสบต่างๆจะส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตในห้องต่างๆของหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเลือดเล็กๆ (Thrombus) ที่มักจะไปจับติดอยู่ที่ลิ้นของหัวใจ รองลงไปคือที่ผนังห้องหัวใจ ก้อนเลือดเล็กๆเหล่านี้จะจับตัวรวมกัน และอาจหลุดลอยเข้าไปในกระแสโลหิต ก่อให้เกิดการอุดตันหลอดเลือดต่างๆได้ทั่วร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะที่มีหลอดเลือดอุดตันเกิดการทำงานผิดปกติจากขาดเลือด ซึ่งถ้าเกิดกับอวัยวะสำคัญ จะเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการ และ/หรือ เสียชีวิตได้ เช่น หลอดเลือดหัวใจเอง หลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดปอด เป็นต้น

เมื่อก้อนเลือดที่เกิดขึ้นไม่มีการติดเชื้อ เรียกโรคที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุหัวใจในลักษณะนี้ว่า “โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดยไม่ติดเชื้อ (Non bacterial thrombotic endo carditis)” แต่ถ้าเกิดมีเชื้อโรคในกระแสโลหิตจากสาเหตุใดๆก็ตาม เช่น จากมีฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือร่างกายมีการติดเชื้อต่างๆ เชื้อนี้จะไปจับที่ก้อนเลือดเล็กๆเหล่านี้ ที่จับอยู่ตามลิ้นหัวใจหรือตามผนังหัวใจเรียกว่า “ก้อนเชื้อ (Vegetation)” ซึ่งก้อนเลือดเล็กๆที่ติดเชื้อเหล่านี้ เมื่อหลุดลอยเข้ากระแสโลหิต นอกจากจะก่อให้เกิดหลอดเลือดอุดตันแล้ว ยังก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ และเกิดฝีหนองขึ้นกับอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง ปอดและตับ จึงส่งผลให้อวัยวะต่างๆทั้งขาดเลือด และทั้งติดเชื้ออย่างรุนแรง จัดเป็นโรคที่รุนแรง และเป็นสาเหตุของความพิการ หรือการเสียชีวิตได้สูง เรียกโรคของเยื่อบุหัวใจที่เกิดในลักษณะนี้ว่า “โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ (Infective endocarditis หรือ Infectious endo carditis)”

เยื่อบุหัวใจอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของเยื่อบุหัวใจอักเสบ

  • สาเหตุของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดยไม่ติดเชื้อ ที่พบได้บ่อย คือ
    • จากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะในโรคระยะรุนแรง ลุกลาม แพร่กระจาย และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด Adenocarcinoma เช่นโรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งปอดบางชนิด และโรคมะเร็งรังไข่
    • จากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
    • โรคปอดเรื้อรังที่ส่งผลให้ร่างกายมีภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย (Hypoxia)
    • และจากโรคเลือดชนิดที่เลือดมีการแข็งตัวได้ง่ายกว่าปกติมาก (Hypercoagulability)
  • สาเหตุของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ เกือบทั้งหมด มักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนน้อยพบติดเชื้อราได้บ้างซึ่งมักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อย คือ Staphylococcus aureus (พบได้บ่อยที่สุด) รองลงไปตามลำดับ คือ Varidans Streptococcus, Coagulase-negative staphylococcus, Enterococci, Streptococ cus bovis, และเชื้ออื่นๆที่พบได้บ้างประปราย

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบ

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลาม แพร่กระจาย และมีเซลล์มะเร็งเป็นชนิด Adenocarci noma
  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเกล็ดเลือด เช่นมีปริมาณเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติมาก เพราะเป็นสาเหตุให้เลือดแข็งตัวได้ง่าย ทั้งนี้เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย เช่น มีโรคปอดเรื้อรัง หรือสูบบุหรี่จัด
  • ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน ที่มีเกล็ดเลือดสูง
  • ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ คือ
    • ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ
    • ผู้ป่วยใส่ลิ้นหัวใจเทียม
    • ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด
    • มีสุขภาพเหงือก ฟัน และช่องปากไม่ดี เพราะเหงือก ฟัน และช่องปาก เป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อโรคหลากหลายชนิดที่มีจำนวนมหาศาล
    • ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
    • ผู้เสพติดโดยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
    • ผู้ป่วยที่ต้องใส่สายสวนต่างๆ เช่น สายสวนปัสสาวะ การให้อาหารทางหลอดเลือด เป็นต้น
    • ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบมาก่อน

เยื่อบุหัวใจอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของเยื่อบุหัวใจอักเสบ

  • อาการของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดยไม่ติดเชื้อ โดยทั่วไปมักไม่มีอาการที่ชัดเจน เพราะจะถูกบดบังด้วยอาการจากตัวโรคที่เป็นสาเหตุ จึงเป็นสาเหตุให้แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัย โรคนี้ได้ โดยการวินิจฉัยมักได้จากการตรวจศพภายหลังผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว
  • อาการของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ จะเช่นเดียวกับอาการที่พบได้ในโรคติดเชื้อทั่ว ไป ร่วมกับมีอาการทางโรคหัวใจซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ
    • มีไข้ มักมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซียลเซียส (Celsius) หนาวสั่น เหงื่อออกกลางคืน
    • อ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด/ผอมลง
    • ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
    • หายใจลำบาก ไอ
    • เสียงเต้นของหัวใจผิดปกติ
    • มีผื่นเลือดออกตามผิวหนัง ตามลำตัว แขน ขา คล้ายผื่นไข้เลือดออก
    • อาการอื่นๆจะขึ้นกับสาเหตุ และตามอวัยวะที่มีหลอดเลือดอุดตัน หรือที่เกิดฝีหนอง เช่น เจ็บม้าม ปวดหลัง(จากไตขาดเลือด และ/หรืออักเสบ) ปัสสาวะเป็นเลือด เมื่อเกิดไตอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยเยื่อบุหัวใจอักเสบได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรค

  • โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดยไม่ติดเชื้อ โดยทั่วไปแพทย์มักวินิจฉัยไม่ได้ การวินิจฉัยมักได้หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตและได้มีการตรวจศพ
  • แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อได้จาก 3 องค์ประกอบ ที่เรียกว่า Modified Duke criteria ได้แก่
    • ลักษณะทางคลินิก (อาการ ประวัติการเจ็บป่วย การใช้สารเสพติด และการตรวจร่างกาย)
    • การตรวจเพาะเชื้อจากเลือดซึ่งมักต้องตรวจซ้ำหลายครั้ง จึงจะวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น และการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ

รักษาเยื่อบุหัวใจอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษา

  • แนวทางรักษาโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดยไม่ติดเชื้อ คือ การรักษาสาเหตุ
  • แนวทางรักษาโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ คือ การรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยจำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือด ซึ่งขึ้นกับชนิดของการติดเชื้อ เช่น ยาปฏิชีวนะ กรณีติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

นอกจากนั้น คือ การรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคหัวใจ หรือ โรคมะเร็ง เป็นต้น และการรักษาตามอาการ เช่น ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินได้น้อย หรือการให้ออกซิเจนเมื่อมีอาการทางการหายใจ เป็นต้น

ในบางครั้ง เมื่อเป็นโรคลิ้นหัวใจ และ/หรือ เกิดภาวะเชื้อดื้อยา อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดลิ้นหัวใจเพื่อผ่าตัดเอาก้อนเชื้อออก

เยื่อบุหัวใจอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ความรุนแรงของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ

  • ความรุนแรงของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดยไม่ติดเชื้อ ขึ้นกับความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุ และดังกล่าวแล้วว่า แพทย์มักวินิจฉัยโรคได้ยาก ดังนั้นจึงไม่มีรายงานที่แน่นอนเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคนี้ ซึ่งรวมทั้งผลข้างเคียงจากโรคด้วย
  • ส่วนโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ จัดเป็นโรครุนแรง แต่ก็ยังสามารถรักษาหายได้ ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นกับหลายปัจจัย โดยความรุนแรงโรคจะสูงขึ้นเมื่อ
    • โรคเกิดในผู้สูงอายุ
    • ผู้ป่วยมีโรคเบาหวานร่วมด้วย
    • ผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม
    • ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย
    • มีผลข้างเคียงที่เกิดกับสมอง
    • และขึ้นกับชนิดของการติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุเสียชีวิตสูงสุด คือ ติดเชื้อรา (ประมาณ 50%) และเชื้อ Staphylococcus aureus (ประมาณ 30-40%)

โดยทั่วไป อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่ลิ้นหัวใจเทียมอยู่ที่ประมาณ 16-27% ส่วนผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม อัตราเสียชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 25-40%

ผลข้างเคียงที่เกิดจากโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ ที่สำคัญ คือ มีการอุดตันของหลอดเลือดสมอง (โรคหลอดเลือดสมอง) ของปอด หัวใจเอง ตับและไต รวมทั้งการเกิดฝีหนองในอวัยวะเหล่านี้ จากการอุดตันของก้อนเลือดเล็กๆที่ติดเชื้อ ส่งผลให้อวัยวะเหล่านี้ล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

ภาวะขาดไอโอดีนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เสมอ

ส่วนเมื่อวินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ เมื่ออยู่ในโรงพยาบาล จะอยู่ในการดูแลของแพทย์ พยาบาล ซึ่งเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อน
  • เลิกสารเสพติด ถ้าเสพอยู่
  • รักษาสุขภาพฟัน เหงือก และช่องปาก โดยแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน รู้จักใช้ไหมขัดฟัน หลีกเลี่ยงอาหารหวานที่เหนียวติดฟัน และพบทันตแพทย์เสมอ ทุก 6 เดือน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ เช่น โรค เบาหวาน โรคลิ้นหัวใจ โรคเลือดต่างๆ เป็นต้น
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อน
  • ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ
  • รีบพบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ และ/หรือ โรคหลอดเลือดสมอง

ป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบอย่างไร?

การป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบโดยเฉพาะโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ เช่นเดียวกับดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อการมีสุขภาพแข็งแรง ลดโอ กาสติดเชื้อ
  • รักษาสุขภาพ ฟัน เหงือก และช่องปาก และพบทันตแพทย์เสมอ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • เลิกใช้สารเสพติด เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อทุกชนิด
  • ระมัดระวังในเรื่องความสะอาด ในการสักผิวหนัง หรือการเจาะผิวหนังต่างๆ
  • เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค ต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ อย่างเคร่งครัด และถ้าแพทย์แนะนำให้กินยา (อาจจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อเมื่อเกิดแผล เช่น กรณีถอนฟัน เป็นต้น) ต้องกินให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • เมื่อมีการติดเชื้อต่างๆ เช่น มีบาดแผล หรือมีไข้สูง และไข้ไม่ลงหลังการดูแลตน เองภายใน 1-3 วัน ควรรีบไปโรงพยาบาล

ที่มา   https://haamor.com/th/เยื่อบุหัวใจอักเสบ/

อัพเดทล่าสุด