ภัยใกล้ตัว รังสี รังสีจากโทรศัพท์ มือถือ สมาร์โฟน Cell phone radiation


1,263 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ทั่วไป

ปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือ (Cell phone, Cellular telephone, Mobile phone) เป็นอีกสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะของคนเมือง และเช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ที่ต้องมีรังสีแผ่ออกมาขณะกำลังใช้เครื่อง เช่น ทีวี หลอดไฟฟ้า และเตาไมโครเวฟ แต่ความแตกต่าง ที่ก่อให้เกิดความกังวลกับองค์กรต่างๆด้านสุขภาพมาก เพราะโทรศัพท์มือถือ ขณะใช้ ต้องอยู่ติดกับ ผิวหนัง หู และสมองของเรา ซึ่งทำให้โอกาสได้รับรังสีของเนื้อเยื่อ/อวัยวะ เหล่านั้นสูงขึ้น ดังนั้น จึงกำลังมีการศึกษามากมายถึงผลกระทบของรังสีจากการใช้โทรศัพท์ มือถือ ทั้งในระยะสั้น และในระยะยาวเป็น 10 ปีขึ้นไป

มีรังสีจากโทรศัพท์มือถือจริงหรือ?

มีรังสีจากโทรศัพท์มือถือ จริง โทรศัพท์มือถือ เมื่อเปิดเครื่องฯ จะมีรังสีออกมาจากตัวเครื่องฯ และจะมีรังสีปริมาณสูงมากขึ้นขณะมีการใช้เครื่องฯ แต่จะไม่มีรังสีเมื่อปิดเครื่องฯ หรือเมื่อเครื่องฯปิด

รังสีจากโทรศัพท์มือถือ คือรังสีอะไร?

รังสีจากโทรศัพท์มือถือ เป็นรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic radiation) ประเภท นัน-ไอออนไนซ์ (Non-ionizing radiation) เรียกว่า รังสีเรดิโอฟรีเควนซี หรือ เรียกย่อว่า รังสี อาร์เอฟ (Radiofrequency radiation, RF radiation) รังสีชนิด/ประเภทนี้ อาจทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์ (DNA คือ สารพันธุ กรรมสำคัญในการเจริญเติบโตของเซลล์) เกิดบาดเจ็บเสียหาย โดยไม่มีการแตกตัวของดีเอ็นเอเป็นประจุลบ และประจุบวก ซึ่งเซลล์จะบาดเจ็บมากหรือน้อยขึ้น กับปริมาณรังสีที่เซลล์ได้รับ จัดเป็นรังสีอยู่ในประเภทเดียวกับรังสีคลื่นวิทยุ รังสีจากความร้อน รังสีจากแสงแดด และรังสีจากเตาไมโครเวฟ

รังสีจากโทรศัพท์มือถือ ต่างจากรังสีเอกซ์/รังสีโฟตอน (X-rays/Photon) ซึ่งใช้ตรวจและรักษาโรค โดยรังสีจากการตรวจ/รักษาโรค จะทำให้เซลล์เกิดบาดเจ็บเสียหาย และอาจตายได้ จากการทำให้ ดีเอ็นเอ แตกตัวเป็นประจุลบ และประจุบวก ซึ่งจัดเป็นรังสีประเภท ไอออนไนซ์ (Ionizing radiation) ซึ่งรังสีไอออนไนซ์ (ในปริมาณที่เท่ากับรังสีนัน-ไอออนไนซ์) สามารถทำให้เซลล์ บาดเจ็บเสียหายได้มากกว่า รังสีประเภทนัน-รังสีไอออนไนซ์มาก

เมื่อเซลล์ร่างกายได้รับรังสีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

เมื่อเซลล์ (ดีเอ็นเอ)ได้รับรังสีไม่ว่าจะเป็นรังสีประเภทใด (แต่ต้องเป็นในปริมาณที่มากพอ และได้รับรังสีอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน หลายๆเดือน หรือหลายๆปี) จะทำให้เซลล์เกิดบาดเจ็บเสียหาย ซึ่งถ้าร่างกายซ่อมแซมให้กลับเป็นปกติไม่ได้เซลล์ที่บาดเจ็บเหล่านี้ อาจเกิดการกลายพันธุ์เป็น เซลล์เนื้องอก หรือเซลล์มะเร็งได้

เมื่อเราได้รับรังสีจากโทรศัพท์มือถือแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

เมื่อเราได้รับรังสีจากโทรศัพท์มือถือ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆปี โดย การใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยมาก และใช้แต่ละครั้งพูดคุยเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก หรือ มะเร็งกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะด้านที่ติดกับการใช้โทรศัพท์ฯ เช่นเนื้องอกของ ประสาทห (Acoustic neuroma) ประสาทตา (Optic neuroma) สมอง (Brain tumor) ลูกตา (Melanoma) และของต่อมน้ำลายบริเวณหน้าหู (ต่อมน้ำลาย พาโรติด, Parotid gland เกิดเป็น Parotid tumor) หรือ ลูกตาเกิด ต้อกระจก

ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษายืนยันแน่ชัดไปในทิศทางเดียวกันว่า มีโอกาสเกิดเนื้องอก/มะเร็ง/ต้อกระจกได้จริงหรือไม่ มาก หรือน้อยอย่างไร และโอกาสเกิดมีเมื่อไร การศึกษาต่างๆยังโต้แย้งกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องขององค์กรต่างๆเพื่อให้ได้คำตอบที่แน่ชัดในเรื่องเหล่านี้

นอกจากนั้น มีรายงานว่า ในบางคน เมื่อใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยๆ นานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ เพลีย นอนไม่หลับ หรือบางคนอาจมีใจสั่น ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้ การศึกษายังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นอาการเกิดจากรังสีจากโทรศัพท์มือถือ หรือ จากภาวะด้านจิตใจ ความกลัว ความกังวล หรือ เครียดจากการใช้มือถือ

อย่างไรก็ตาม องค์กรระหว่างชาติด้านโรคมะเร็งที่เรียกย่อว่า ไออาร์ค หรือ ไอเออาร์ซี (IARC หรือ International Agency for Research on Cancer) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้การกำกับของ องค์การอนามัยโลก ได้ประชุมหารือ และประกาศในวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 ให้รังสีอาร์เอฟ (รังสีชนิดเดียวกับที่เกิดจากโทรศัพท์มือถือ) จัดอยู่ในกลุ่มสารที่อาจก่อให้มนุษย์เกิดมะเร็งได้

เด็กใช้โทรศัพท์มือถือแล้วปลอดภัยไหม?

เด็กใช้โทรศัพท์มือถือได้ แต่ควรใช้เฉพาะ เมื่อมีความจำเป็น องค์การอนามัยโลก ประเทศออสเตรเลีย และองค์กรต่างๆ ได้เตือนถึงการใช้โทรศัพท์ มือถือในเด็ก หรือในคนอายุต่ำกว่า 18 ปี และแนะนำว่า ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อลดปริมาณรังสีสะสมตลอดชีวิตที่เด็กจะได้รับ ควรใช้ต่อเมื่อมีความจำเป็น หรือ ในภาวะฉุกเฉิน และใช้เวลาพูดในแต่ละครั้งให้สั้นที่สุด เท่านั้น ที่เตือนในอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะในเด็ก/คนอายุต่ำกว่า 18 ปี เซลล์ของร่างกาย ยังเจริญ เติบโตไม่เต็มที่ จึงมีความไวต่อรังสีทุกชนิด ทุกประเภท สูงกว่าในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป และ มีอายุขัยยาวนานกว่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสได้รับรังสีสะสมตลอดชีวิตสูง ดังนั้น โอกาสเกิดอันตรายจากรังสีทุกชนิด และโอกาสเกิดเซลล์กลายพันธุ์ ของคนอายุต่ำกว่า 18 ปีจึงสูงกว่า

ป้องกันรังสีจากโทรศัพท์มือถือได้ไหม?

ถึงแม้การศึกษาเรื่องโทษของรังสีจากโทรศัพท์มือถือ ยังไม่ชัดเจน ยังโต้แย้งกันอยู่ แต่โดยทฤษฎี มีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดอันตรายจากรังสี จากโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น จึงควรป้องกันไว้ก่อน ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่า และไม่มีข้อเสียหาย

คำแนะนำจากองค์กรต่างๆในการใช้โทรศัพท์มือถือ แนะนำทั้งในเด็ก และในผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการลดปริมาณรังสีที่จะได้รับจากใช้โทรศัพท์มือถือ สรุปที่สำคัญได้ดังนี้

  • ในเด็ก และคนอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรใช้มือถือ ต่อเมื่อมีความจำเป็น หรือในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น และควรใช้เวลาในการพูดแต่ละครั้งให้สั้นที่สุด
  • ทุกๆคน ทุกๆวัย ควรใช้มือถือให้น้อยที่สุด หรือใช้มือถือสื่อสารด้วยวิธีการอื่นแทน เช่น การส่งข้อความ เป็นต้น
  • เมื่ออยู่บ้านควรใช้โทรศัพท์บ้าน
  • ลดการสัมผัสโดยตรงกับโทรศัพท์มือถือในขณะเปิดเครื่องฯ (โดยเฉพาะในเด็ก) โดยการใช้เครื่องช่วยฟังชนิดต่างๆ จะช่วยลดปริมาณรังสีที่ได้รับลงมาก เพราะความเข็มของรังสีจะแปรผกผันเป็นกำลังสองกับระยะทาง ดังนั้น ยิ่งอยู่ห่างจากต้นกำเนิดรังสี (ตัวเครื่องฯ ในขณะเปิดเครื่องฯใช้งาน) ยิ่งได้รับรังสีน้อยลง
  • อย่าเปิดเครื่องฯไว้ใกล้ตัว เพราะเมื่อเปิดเครื่อง จะมีรังสี ถึงแม้จะมีน้อยกว่าในขณะพูดก็ตาม
  • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือในรถ เพราะในรถมีเนื้อที่จำกัด และมีส่วน ประกอบของโลหะจึงทำให้เกิดการสะท้อนของรังสีได้สูง เป็นการเพิ่มปริมาณรังสีให้ร่างกายได้รับ สูงขึ้น
  • เลือกซื้อมือถือยี่ห้อได้มาตรฐาน เพราะในกระบวนการผลิต เครื่องฯที่ได้มาตรฐานจะอยู่ในการควบคุมความปลอดภัยด้านการแผ่รังสีขณะใช้งาน จากหน่วยงานของประเทศผู้ผลิต

สำหรับประเทศไทย ควรเลือกซื้อมือถือที่มี ค่ากำหนดระดับการดูดกลืนพลังงาน อยู่ในมาตรฐานที่ กทช. (คณะกรรมการกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ) กำหนด หมายความง่ายๆว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ยังไม่มีรายงานว่า ก่อให้เกิดอันตรายในมนุษย์ ค่านี้เรียกว่าค่าดูดกลืนพลังงานจำเพาะ (Specific Absorption Rate ตัวย่อ คือ SAR/เอส เอ อาร์) กล่าวคือ มือถือที่ใช้ควรมีค่า เอสเออาร์ ซึ่งอาจเขียนไว้บนกล่อง หรือ ในเอกสารคู่มือการใช้เครื่องฯ สำหรับทั่วร่างกาย ไม่เกิน 0.08 W/kg (วัตต์ ต่อกิโลกรัม) เฉพาะส่วนศีรษะและลำตัว ไม่เกิน 2 W/kg และเฉพาะส่วนแขน/ขาไม่เกิน 4 W/kg

มีข้อจำกัดในการใช้ค่ากำหนดระดับการดูดกลืนพลังงานอย่างไร?

ค่าเอสเออาร์ เป็นตัวบอกเพียงว่า โทรศัพท์เครื่องนี้มีค่าดูดกลืนพลังงานของเนื้อเยื่อไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ ไม่ได้บอกว่าปลอดภัยจากการใช้เต็มร้อย แต่ขณะนี้ มีเพียงค่านี้เท่านั้น ที่พอบอกเราได้ว่าเราได้รับรังสีอยู่ในระดับที่ยังไม่มีรายงานในขณะนี้ (เดือน พฤษภาคม 2554) ว่าก่ออันตรายต่อเรา

ซึ่งต้องระลึกอยู่เสมอว่า โทรศัพท์มือถือพึ่งเริ่มใช้อย่างกว้างขวางในระยะ เวลาเพียงประมาณ 10 ปีมานี้เอง ดังนั้น การศึกษาทุกการศึกษาจึงมีข้อจำกัดในเรื่องของช่วงเวลา ซึ่งในระยาวกว่านี้ คือ มากกว่า 10 ปีขึ้นไป ยังไม่มีใครรู้ว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร?

ดังนั้น การดูแลตนเองในการใช้โทรศัพท์มือถือ จึงควรต้องขึ้นกับทั้งค่า เอสเออาร์ การประกาศของไออาร์ค และคำแนะนำจากองค์กรต่างๆดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น
ที่มา   https://haamor.com/th/รังสีจากโทรศัพท์มือถือ/

อัพเดทล่าสุด