ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :
สมอง ระบบประสาทวิทยาอาการที่เกี่ยวข้อง :
บทนำ
โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep apnea หรือ Sleep-disordered breathing) ได้แก่ โรคที่เมื่อนอนหลับแล้ว ร่างกายจะเกิดความผิดปกติทางการหายใจ หายใจได้เพียงตื้นๆ หรือ เกิดการหยุดหายใจเป็นพักๆตลอดทั้งคืน ก่อให้ร่างกาย/อวัยวะต่างๆขาดออกซิเจน และเกิดการนอนไม่พอ จึงเกิดเป็นโรค หรือ มีอาการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้นตามมาได้หลายโรค/อาการ
นอนหลับแล้วหยุดหายใจ เป็นโรคพบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่พบได้ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิง โดยทั่วไปเป็นโรคพบในผู้ใหญ่ แต่สามารถพบในเด็กได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา ในวัยกลางคน พบโรคนี้ในผู้ชาย ประมาณ 24% และในผู้หญิงประมาณ 9%
โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจเกิดได้อย่างไร?
แบ่งโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจตามสาเหตุได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
- ชนิดเกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive sleep apnea หรือ เรียกย่อว่า โอเอสเอ/OSA)
- ชนิดเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง (Central sleep apnea หรือ เรียกย่อว่า ซีเอสเอ/CSA)
- และชนิดผสม โดยเป็นชนิดเกิดร่วมกันทั้งจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ และจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง เรียกว่า Complex sleep apnea หรือ Mixed sleep apnea
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจชนิดเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณ 85% ของโรคนี้ โดยเกิดจากเมื่อนอนหลับ จะมีการอุดกั้นทางเดินหายใจตอนบน (จมูก ช่องปาก และ/หรือลำคอ) จากสาเหตุต่างๆ ส่งผลให้ทางเดินลมหายใจตอนบนตีบแคบ จึงส่งผลให้ร่างกายขาดอากาศ สมองก็ขาดอากาศด้วย จึงทำงานลดลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหายใจลด หรือหยุดการทำงาน เกิดการหายใจได้เพียงตื้นๆ หรือ เกิดการหยุดหายใจ แต่เมื่อหยุดหายใจแล้ว จะเกิดภาวะคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย ซึ่งภาวะนี้จะย้อนกลับไปกระตุ้นสมองให้กลับมาสั่งงานอีก ผู้ป่วยจึงสะดุ้งตื่น และกลับมาหาย ใจอีก วนเวียนซ้ำๆ เป็นพักๆไปตลอดทั้งคืน ก่อให้เกิดการนอนหลับไม่สนิท มีการไอกระโชกตื่นเป็นระยะๆ ทั้งนี้ช่วงระยะเวลาในการหยุดหายใจอาจนานเป็นเพียงวินาที หรือ เป็นนาที รวมทั้งจำนวนครั้งที่เกิดการสะดุ้งตื่น จะถี่ หรือ ห่าง ขึ้นกับความรุนแรงของสาเหตุ โดยทั่วไปพบได้ ตั้งแต่ 5 ครั้ง ไปจนถึง 30 ครั้งหรือมากกว่า ต่อชั่วโมง
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจชนิดจากความผิดปกติของสมองส่วน กลางโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคเนื้องอก หรือโรคมะเร็งสมอง เป็นชนิดพบได้น้อยมาก ประมาณ 0.4% โดยเกิดจากโรคของสมองส่วน กลาง เช่น หรือจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่กดสมองส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ สมองจึงไม่สามารถสั่งงานได้ตามปกติโดยเฉพาะช่วงนอนหลับ รวมทั้งในการสั่งการทำงานของกล้ามเนื้อช่วยการหายใจ ดังนั้น จึงเกิดภาวะผิดปกติในการหายใจ หายใจได้ตื้นๆ หรือ หยุดหายใจเป็นพักๆในช่วงนอนหลับ และเนื่องจากพบโรคจากสาเหตุนี้ได้น้อยมาก บทความนี้จึงจะไม่กล่าวถึงโรคจากสาเหตุนี้
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจชนิดผสม พบได้ประมาณ 15% ของโรค ซึ่งอาการและการรักษาจะเป็นไปตามสาเหตุของโรคเช่นเดียวกับทั้งในชนิดโรคเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ และโรคเกิดจากสมองส่วนกลาง ซึ่งจะไม่กล่าว ถึงในรายละเอียดในบทความนี้เช่นกัน
โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจมีสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุ และ/หรือ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ได้แก่
- อายุ โรคนี้พบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิง จากการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ทั้งของสมอง และของทางเดินหายใจ จึงส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงเมื่อนอนหลับ
- เพศ พบโรคในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง อาจเพราะลำคอของผู้ชายหนา และสั้นกว่า เมื่อเกิดการหย่อนยานของผนังลำคอ ช่องลำคอจึงตีบแคบกว่า จึงอุดกั้นทางเดินหายใจได้มากกว่า
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะเกิดไขมันสะสมในผนังลำคอมากขึ้น ผนังลำคอจึงหนา และลำคอหดสั้นมากขึ้น ช่องลำคอจึงแคบลงเกิดการอุดกั้นช่องลำคอได้ง่ายขึ้น
- คนที่คอสั้น และมีผนังลำคอหนา
- มีความผิดปกติในรูปร่างของอวัยวะในช่องจมูก หรือ ในช่องปาก ที่ทำให้เกิดทางเดินหายใจตีบแคบผิดปกติ เช่น ผนังจมูกคด มีลิ้นขนาดใหญ่ มีรูปร่างและลักษณะขากรรไกร หรือ เพดานปากผิดปกติ
- โรคเรื้อรังของโพรงจมูก เช่น โรคภูมิแพ้ หรือ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง เพราะทำให้โพรงจมูกบวม จึงอุดกั้นทางเดินหายใจ
- มีต่อมทอนซิลโตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ จากโรคต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง
- นอนกรน
- การสูบบุหรี่ เพราะก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของลำคอ จึงมีเสมหะมาก เหนียวข้น โดยเฉพาะช่วงนอนหลับ จึงอุดกั้นทางเดินหายใจ
- การดื่มสุรา หรือ กินยาคลายเครียด/ยานอนหลับก่อนนอน เพราะเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อลำคอหย่อนยาน ช่องลำคอจึงตีบแคบลง
- อาจจากการนั่งทั้งวัน ขาดการเคลื่อนไหว จึงเกิดภาวะน้ำคั่งในบริเวณขา เมื่อนอนหลับ น้ำที่คั่งเหล่านี้จะซึมกลับเข้าร่างกาย ก่ออาการบวมของทางเดินหายใจ ส่งผลให้ช่องลำคอตีบแคบได้
- อาจจากโรค ความดันโลหิตสูง ซึ่งกลไกที่ทำให้เกิดโรคนี้จากการมีความดันโลหิตสูง ยังไม่ทราบชัดเจน
- จากพันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจมีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญของโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ คือ
- นอนกรนเสมอ และมักเป็นการกรนเสียงดัง (บางคนส่วนน้อยคนอาจไม่มีอาการนอนกรนได้)
- นอนสะดุ้งตื่นบ่อยๆ แต่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว แต่รู้ได้จากคนที่นอนด้วย
- กลางวันง่วงนอนมากโดยหาสาเหตุไม่ได้ หลับโดยไม่รู้ตัวได้เสมอ
อนึ่งอาการอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ ปวดศีรษะในตอนเช้าจากตอนกลางคืนขาดอากาศหายใจ ปากแห้งมากเมื่อตื่นนอนจากอ้าปากหายใจเพื่อช่วยการหายใจ อาจมีปัสสาวะรดที่นอน อาจมีความจำสั้น ขาดสมาธิ สมาธิสั้น สับสนง่าย อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดง่าย และซึมเศร้าง่าย
แพทย์วินิจฉัยโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจได้จาก ประวัติอาการ การบอกเล่าของคนที่นอนด้วย การตรวจร่างกาย และที่แน่นอน คือ การตรวจด้วยเครื่อง ตรวจเฉพาะการวินิจฉัยโรคนี้ ซึ่งคือการตรวจการทำงานของอวัยวะต่างๆที่เกี่ยว ข้องกับการหายใจในช่วงนอนหลับ เช่น การตรวจวัดลักษณะการหายใจ การทำงานของสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา การเต้นของหัวใจความดันโลหิต ปริมาณอากาศในการหายใจเข้าออก และปริมาณออกซิเจนในเลือด นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเอกซเรย์ดูโรคของไซนัส หรือของผนังกั้นโพรงจมูก
รักษาโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจขึ้นกับ สาเหตุ และความรุน แรงของโรค ในโรคระดับที่ไม่รุนแรง การรักษาอาจเพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการนอน เช่น การลดน้ำหนัก การฝึกนอนตะแคงแทนการนอนหงาย และการนอนในท่ากึ่งนอนกึ่งนั่ง (เอนตัว) เป็นต้น หรือ ผ่าตัดต่อมทอนซิล เมื่อโรคเกิดจากต่อมทอนซิลโต หรือ ผ่าตัดรักษาผนังกั้นจมูกคด เมื่อโรคเกิดจากผนังจมูกคด เป็นต้น
เมื่ออาการมีระดับความรุนแรงปานกลาง อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องเฉพาะเพื่อช่วยเพิ่มความดันอากาศช่วงนอนหลับ เพื่อช่วยให้หายใจเอาอากาศเข้าได้ในปริมาณสูงขึ้น ซึ่งลักษณะเครื่องคล้ายกับการสวมหน้ากากป้องกันควันพิษ ซึ่งอาจเป็นที่ครอบจมูกและปาก หรือ สวมเข้าในโพรงจมูกโดยตรง
เมื่ออาการรุนแรง หรือ ใช้วิธีดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล การรักษาอาจเป็นการผ่า ตัดเพดานแข็งและเพดานอ่อน หรือผ่าตัดกระดูกกราม หรือ การเจาะคอเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ
อนึ่ง การจะเลือกวิธีรักษาอย่างไร ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะประเมินจากสาเหตุ ความรุนแรงของอาการ การล้มเหลวจากการใช้วิธีการรักษาต่างๆ และความร่วมมือของผู้ป่วยในการรักษาที่ผ่านมา
โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจมีผลข้างเคียงอย่างไร? เป็นโรครุนแรงไหม?
โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ จัดเป็นโรครุนแรง ถ้าช่วงระยะเวลาที่หยุดหายใจนาน อาจทำให้เสียชีวิตได้ และการง่วงนอนมากจนนอนหลับไม่รู้ตัวในช่วงกลางวัน เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ เมื่อกำลังขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักรต่างๆ
นอกจากนั้น ยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) ที่เป็นโรคเรื้อรังได้หลายโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง (เป็นได้ทั้งปัจจัยเสี่ยงและผลข้างเคียง) โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์/อัมพาต) ทั้งนี้เกิดจาก เมื่อร่างกายขาดออกซิเจน ร่างกายจะเกิดภาวะเครียด(Stress) ซึ่งจะกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนกลุ่มที่เรียกว่า ฮอร์โมนสนองต่อความเครียด (Stress hormones) เช่น คอร์ติโซล (Cortisol) และ นอร์เอปิเนฟรีน (Norepinephrine) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดหลอดเลือดบีบตัว เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจอาจเกิดการเต้นผิดปกติ อาจกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติในการใช้น้ำตาล (เกิดโรคเบาหวาน) อาจกระตุ้นการทำงานของสมองผิดปกติ (เกิดอาการซึมเศร้า) และอาจส่งผลต่อรังไข่ หรือ อัณฑะให้สร้างฮอร์โมนเพศลดลง(ความรู้สึกทางเพศลดลง รวมทั้งมีประจำเดือนผิดปกติในผู้หญิง)
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง คือ เมื่อมีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อง่วงนอนมากตอนกลางวัน ควรรีบพบแพทย์เสมอ โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่สังเกตเห็นการนอนหลับผิดปกติของผู้ป่วย ควรรีบแจ้งผู้ป่วยและช่วยแนะนำผู้ป่วยรีบพบแพทย์
หลังจากพบแพทย์แล้ว ควรปฏิบัติตามแพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ รวมทั้งในการพบแพทย์ตามนัดและในการดูแลตนเอง โดยการควบคุมน้ำหนัก และการปรับเปลี่ยนท่านอนดังกล่าวแล้ว รวมทั้ง เมื่อยังควบคุมโรคไม่ได้ ยังนอนหลับกลางวันโดยไม่รู้ตัว จึงไม่ควรขับรถ และถ้าทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรปรับ เปลี่ยนงาน
ป้องกันโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจอย่างไร?
การป้องกันโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดัง กล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะในเรื่องการควบคุมน้ำหนัก เพื่อป้องกันน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน
ที่สำคัญอีกประการ เมื่อทราบว่าเป็นโรคนี้แล้ว ควรต้องระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงแทรกซ้อน โดยการปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกาย การลดอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งคือ อาหารหวาน อาหารเค็ม และไขมัน
ที่มา https://haamor.com/th/โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ/