การแพทย์ โรค การรักษาโรคบิด บิด โรคบิด Dysentery


1,006 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ลำไส้ใหญ่  ระบบทางเดินอาหาร 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

อุจจาระเป็นเลือด 

บทนำ

โรคบิด (Dysentery) หมายถึง อาการท้องเสียโดยอุจจาระแต่ละครั้งจะออกไม่มาก ร่วม กับมีมูกเลือดปนมาในอุจจาระ และมักร่วมกับอาการ ปวดบิด เบ่ง เมื่อถ่ายอุจจาระ

โรคบิดเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อชนิดต่างๆ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส สัตว์เซลล์เดียว (ปรสิต หรือ Parasite) และจากการกิน/ดื่มสารพิษ แต่โดยรวมมักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มที่เรียกว่า ชิเกลลา (Shigella) ซึ่งเรียกโรคนี้ว่า “โรคบิดไม่มีตัว” หรือ “โรคบิดชิเกลลา ” (Shigellosis, Shigella infection, หรือ Bacillary dysentery) และจากติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวชนิด อะมีบา (Enta moeba histolytica) ซึ่งเรียกโรคบิดจากติดเชื้อนี้ว่า “โรคบิดมีตัว” หรือ “โรคบิดอะมีบา” (Amoebiasis, Amebiasis หรือ Amoebic dysentery) ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคบิดซึ่งเกิดจากการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้เท่านั้น โดยเรียกรวมว่า “โรคบิด”

โรคบิดพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสพบโรคได้ใกล้เคียงกัน

โรคบิดเป็นโรคพบได้บ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้วมักพบในผู้อพยพ หรือในผู้ที่ไปท่องเที่ยวในประเทศที่กำลังพัฒนา ในประเทศไทย พ.ศ. 2553 มีราย งานโรคบิดทั้งหมดประมาณ 14,760 ราย โดยไม่มีผู้ เสียชีวิต ส่วนองค์การอนามัยโลกได้ราย งานว่า ทั่วโลกพบโรคบิดชิเกลลาได้ประมาณ 80 ล้านคนต่อปี ในการนี้เสียชีวิตประมาณ 7 แสนคนต่อปี และพบโรคบิดอะมีบาได้ประมาณ 50 ล้านคนต่อปี ในการนี้เสียชีวิตประมาณ 5 หมื่นคนต่อปี

โรคบิดเกิดได้อย่างไร?

โรคบิด

โรคบิด เป็นโรคติดต่อโดยการกิน/ดื่ม อาหาร/น้ำซึ่งปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านี้ที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย หรือในอุจจาระของคนที่เป็นพาหะโรค ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าสู่กระเพาะอาหาร จะผ่านเข้าสู่ลำไส้ แล้วก่อให้เกิดการอักเสบของผนังลำไส้โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ ต่อจากนั้น ผนังลำไส้จะเกิดอาการบวมอักเสบ ดูดซึมอาหาร และน้ำได้น้อย และเชื้อยังอาจสร้างสารกระตุ้นให้น้ำในร่างกายซึมเข้าสู่ลำไส้ จึงเกิดอาการท้องเสียขึ้น โดยเฉพาะท้องเสียซึ่งลักษณะอุจจาระเป็นมูก และเมื่อเกิดการอักเสบมักทำให้ลำไส้ใหญ่เกิดแผลร่วมด้วย จึงมีเลือดปนออกมากับอุจจาระด้วย

โรคบิดมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบบ่อยของโรคบิด คือ

  • โรคบิดชิเกลลา (โรคบิดไม่มีตัว) อาการจะเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 1-7 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) และจะมีอาการอยู่ประมาณ 3-10 วันหลังการรักษา ซึ่งในช่วงมีอาการจะเป็นช่วงที่เกิดการติดต่อของโรคได้จากการปนเปื้อนของเชื้อในอุจจาระ ซึ่งถ้าได้รับเชื้อไม่มาก และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ผู้ป่วยอาจหายได้เองจากการดูแลตนเอง

    อาการที่พบได้บ่อยในโรคบิดชิเกลลา คือ

    • มีไข้ ส่วนใหญ่เป็นไข้สูงร่วมกับท้องเสียเป็นน้ำ (ประมาณ 1-2 วัน) ต่อจาก นั้น ปริมาณอุจจาระในแต่ละครั้งจะลดลง แต่ยังถ่ายบ่อย โดยอุจจาระเปลี่ยนเป็นมูกเลือด
    • ปวดท้อง ปวดเบ่งเมื่อถ่ายอุจจาระ
    • คลื่นไส้ อาเจียน
     
  • โรคบิดอะมีบา (โรคบิดมีตัว) ในคนที่ได้รับเชื้อน้อยและมีสุขภาพแข็งแรงอาจไม่มีอา การได้ ส่วนในผู้ป่วยมักมีอาการหลังได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) ประมาณ 7-10 วัน ซึ่งอา การอาจมีอยู่เพียงประมาณ 3-4 วัน หรือเป็นหลายๆสัปดาห์ ซึ่งระหว่างมีอาการ เชื้อจะติดต่อสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางอุจจาระของผู้ป่วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบิดอะมีบาอาจเป็นพาหะโรคได้นานถึงเป็นหลายเดือน หรือเป็นปี

    อาการที่พบได้ของโรคบิดอะมีบา เช่นเดียวกับในโรคบิดชิเกลลา แต่ที่พบเพิ่มเติม คือ อาจพบมูกเลือดได้มากกว่า และอาจมีอาการเบื่ออาหาร และผอมลง

    นอกจากนั้น ในผู้ป่วยบางคน (พบได้น้อย) เชื้ออะมีบาอาจหลุดเข้าสู่กระแสโลหิต (เลือด) ก่อให้เกิดฝีในอวัยวะต่างๆได้ ที่พบบ่อย คือ ฝีตับ (เจ็บบริเวณตับ/ใต้ชายโครงขวา ตับโตคลำได้ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูง)

 

แพทย์วินิจฉัยโรคบิดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคบิดได้จาก ประวัติอาการ ประวัติกิน/ดื่ม อาหาร/น้ำ การท่องเที่ยว การมีผู้ป่วยในบ้านหรือในชุมชน ตรวจร่างกาย ตรวจอุจจาระดูเชื้อ การเพาะเชื้อจากอุจจาระ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) และตรวจเลือดดูค่าเกลือแร่ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคบิดได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคบิด คือ การให้ยาปฏิชีวนะในโรคบิดชิเกลลา และยาฆ่าเชื้ออะมีบาในโรคบิดอะมีบา นอกจากนั้นคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาบรรเทาอาการปวดท้อง หรืออาการปวดบิดเวลาถ่ายอุจจาระ การให้เกลือแร่ อาจโดยการดื่มยาผงเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือแร่ทางหลอดเลือด ขึ้นกับความรุนแรงของการขาดน้ำ และของเกลือแร่

โรคบิดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคบิด โดยทั่วไปเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้หาย แต่ความรุนแรงสูงขึ้น และอาจเสียชีวิตได้ เมื่อได้รับเชื้อในปริมาณมาก ในเด็ก ในผู้สูงอายุ ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน และในผู้ที่เชื้อดื้อยา

ผลข้างเคียงจากโรคบิด ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ/เกลือแร่เมื่อท้องเสียมาก ภาวะซีดเมื่อเลือด ออกมาก และการเป็นฝีในอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะฝีบิดในตับจากเชื้ออะมีบา

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์ เมื่อเป็นโรคบิด ได้แก่

  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดความรุนแรงของโรค และลดการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่น
  • กินยาตามแพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากท้องเสีย
  • ดื่มน้ำผงเกลือแร่ อย่างน้อยวันละ 1-3 ซองขึ้นกับความรุนแรงของอาการท้องเสีย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ/เกลือแร่
  • กินอาหารอ่อน (ประเภทอาหารทางการแพทย์)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควรรีบพบแพทย์ เมื่อ
    • ท้องเสีย ร่วมกับมีไข้สูง
    • อุจจาระเป็นเลือดมากขึ้น
    • อ่อนเพลีย กิน/ดื่มได้น้อย
    • ปวดท้องมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ
 

ป้องกันโรคบิดได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคบิดทั้ง 2 ชนิด ดังนั้น การป้องกันโรคบิด คือ การป้อง กันโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หรือเรียกอีกชื่อว่า ติดเชื้อทางอุจจาระ-ปาก (Fecal-oral trans mission) ซึ่งที่สำคัญ คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) นอกจากนั้น ได้แก่

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และเมื่อสัม ผัสผู้ป่วย
  • รักษาความสะอาดในการปรุงอาหาร และในทุกขั้นตอนการปรุงอาหาร รวมทั้งในครัว
  • ไม่ใช้ ช้อน แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
  • กินอาหารสุกใหม่ๆเสมอ
  • ระมัดระวังการกิน ผัก และผลไม้ สด ต้องล้างให้สะอาด หรือ ต้องปอกเปลือกผลไม้ก่อนบริโภคเสมอ
  • ดื่มแต่น้ำสะอาด ระวังการกินน้ำแข็ง

ที่มา   https://haamor.com/th/โรคบิด/

อัพเดทล่าสุด