บทนำ
โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease หรือ Heart valve disease) คือ โรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจ (Heart valve) ทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนโลหิต เกิดปัญหาต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งในรายที่รุนแรง จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (หัวใจวาย) และเสียชีวิตได้
ลิ้นหัวใจ (Heart valve) มีทั้งหมด 4 ลิ้น (หัวใจ:กายวิภาคและสรีรวิทยา) โดยเป็นลิ้นกั้นอยู่ระหว่างห้องต่างๆของหัวใจ และระหว่างห้องหัวใจกับหลอดเลือดแดงที่ออกจากหัวใจ
ลิ้นหัวใจ มีหน้าที่กำกับการไหลเวียนของโลหิต/เลือดให้เป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้องเมื่อมีการเต้น (การบีบตัวและการคลายตัว) ของกล้ามเนื้อหัวใจ คือ จากห้องบนขวา เข้าสู่ห้องล่างขวา เข้าสู่หลอดเลือดปอด ซึ่งเมื่อปอดฟอกเลือดเสร็จแล้ว จะส่งเลือดไหลเวียนกลับเข้าหัวใจห้องซ้ายบน เข้าสู่ห้องซ้ายล่าง และเข้าสู่ท่อเลือดแดงเอออร์ตา (Aorta) เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย และกลับมาเป็นเลือดดำ เข้าสู่หัวใจห้องบนขวา เป็นวงจรการไหลเวียนโลหิตปกติ
ลิ้นหัวใจจะมีหน้าที่ควบคุมไม่ให้เลือดในหัวใจไหลย้อนกลับผิดทางเมื่อมีการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งถ้าลิ้นหัวใจชำรุดเสียหาย หรือมีโรคของลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจจะไม่สามารถควบคุมวงจรการไหลเวียนโลหิตให้เป็นปกติได้ จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะหัวใจโต ภาวะเลือดคั่งในหัวใจ เลือดคั่งในปอด และเมื่อเป็นมาก จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
โรคลิ้นหัวใจพบได้ในคนทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ เพศชายและเพศหญิงมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน
ปัจจุบัน พบโรคลิ้นหัวใจได้สูงขึ้น เนื่องจากคนมีอายุยืนขึ้น ซึ่งในผู้สูงอายุ มักมีโอกาสเกิดโรคลิ้นหัวใจได้สูงขึ้น จากลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ ดังนั้นอายุ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคลิ้นหัวใจ ส่วนในเด็กแรกเกิด โรคลิ้นหัวใจมักเป็นความพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งยังไม่ทราบว่า อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุ
โรคลิ้นหัวใจมีกี่แบบ?
โรคลิ้นหัวใจ เกิดได้เป็น 3 แบบ คือ โรคลิ้นหัวใจเสื่อมแบบทำให้เลือดวนไหลสวนกลับ (Regurgitation) โรคลิ้นหัวใจตีบ (Stenosis) และโรคลิ้นหัวใจฝ่อ ไม่เจริญ (Atresia)
- โรคลิ้นหัวใจเสื่อมแบบทำให้เลือดวนไหลสวนกลับ (Regurgitation)ภาวะหัวใจล้มเหลวโรคไข้รูมาติก เกิดจากการที่ลิ้นหัวใจเสื่อม ทำให้ไม่สามารถปิดได้แน่นในช่วงหัวใจบีบตัว จึงส่งผลให้เมื่อหัวใจบีบตัว จะมีเลือดไหลสวนกลับ ไม่ไปในทิศทางเดียว จึงส่งผลให้เกิดเลือดคั่งในหัวใจ หัวใจจึงต้องเพิ่มแรงบีบตัวเพื่อให้คงการไหลเวียนโลหิตปกติ จึงก่อให้เกิดภาวะหัวใจโต และในที่สุดได้ โรคของลิ้นหัวใจเสื่อมชนิดนี้ มักเกิดกับลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย (Mitral valve) ซึ่งมักมีสาเหตุจาก สูงอายุ และ จาก
- โรคลิ้นหัวใจตีบ (Stenosis)
- ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย ซึ่งมักมีสาเหตุเกิดจากโรคไข้รูมาติค
- และที่ลิ้นหัวใจซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับท่อเลือดแดงเอออร์ตา (Aortic valve) ซึ่งมักเกิดจากโรคไข้รูมาติค และในผู้สูงอายุ (จากมีภาวะท่อเลือดแดงเอออร์ตาแข็ง และ/หรือมีหินปูนไปจับที่ลิ้นหัวใจนี้)
- โรคลิ้นหัวใจฝ่อ ไม่เจริญ (Atresia) มักเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของลิ้นหัวใจ มักเกิดกับลิ้นหัวใจระหว่างห้องล่างขวากับหลอดเลือดปอด (Pulmonary valve) และกับลิ้นหัว ใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับท่อเลือดแดงเอออร์ตา ซึ่งดังกล่าวแล้วว่า ยังไม่ทราบสา เหตุของการเกิด นอกจากนี้ การเกิดลิ้นหัวใจฝ่อ มักเกิดร่วมกับการผิดปกติแต่กำเนิดของหัวใจส่วนต่างๆด้วย เช่น ผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจมีรูรั่วทะลุ หรือ หลอดเลือดต่างๆทั้งที่เข้า และออกจากหัวใจเกิดผิดที่ ดังนั้น โรคลิ้นหัวใจแบบนี้ จึงมักจะรุนแรง และรุนแรงมากกว่าอีกทั้งสองแบบที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว
โรคลิ้นหัวใจมีปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุจากอะไร?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ้นหัวใจ ที่พบได้บ่อย คือ
- อายุ เพราะเมื่อสูงอายุ เนื้อเยื่อต่างๆทุกชนิดของร่างกายจะเสื่อมตามวัย ซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจ จึงส่งผลให้ลดประสิทธิภาพในการทำงานลง ส่งผลให้ลิ้นหัว ใจปิดไม่สนิทในช่วงหัวใจบีบตัว
- การติดเชื้อต่างๆที่ลุกลามถึงการติดเชื้อของลิ้นหัวใจและ/หรือเยื่อบุหัวใจ ซึ่งการติดเชื้อจะก่อให้เกิดการอักเสบและพังผืดเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ จึงก่อให้เกิดได้ทั้ง โรคลิ้นหัวใจแบบเลือดไหลสวนกลับ และโรคลิ้นหัวใจแบบลิ้นหัวใจตีบ การติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคลิ้นหัวใจได้บ่อย คือ โรคไข้รูมาติค
- โรคหัวใจจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- โรคความดันโลหิตสูง เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เพราะเป็นโรคที่ก่อการอักเสบให้เกิดขึ้นกับเนื้อ เยื่อทุกชนิดในร่างกาย รวมทั้งเนื้อเยื่อหัวใจและลิ้นหัวใจ
- ผลข้างเคียงจากยาลดน้ำหนัก/ยาไม่ให้อยากอาหารบางชนิด
- โรคต่างๆ หรือสิ่งต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น การสูบบุ หรี่ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน
โรคลิ้นหัวใจมีอาการอย่างไร?
อาการที่เฉพาะของโรคลิ้นหัวใจ คือ การมีเสียงเต้นของหัวใจผิดปกติ ที่เรียกว่า เสียงฟู่ (Murmur) ซึ่งเกิดจากการที่เลือดไหลผ่านลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ จึงทำให้เกิดเสียงขึ้นนั่นเอง โดยแพทย์จะตรวจพบได้จากการใช้หูฟัง ฟังเสียงการเต้นของหัวใจ
โรคลิ้นหัวใจที่เกิดขึ้นในระยะแรก ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด ถ้าลิ้นหัวใจยังเสื่อมไม่มาก ผู้ป่วยอาจยังไม่มีอาการถึงแม้การเต้นของหัวใจจะมีเสียงฟู่ก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลิ้นหัวใจเสื่อมมากขึ้น ผู้ป่วยจึงจะค่อยๆมีอาการซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ
- เหนื่อยง่าย
- หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อมีการออกแรง
- อาจมีอาการเจ็บหน้าอกได้ โดยเฉพาะเมื่อออกแรง
- บวมตามตัว โดยเฉพาะ ขา และเท้า
- หลอดเลือดที่ลำคอสองข้างโป่งพอง
- เมื่อมีอาการมากขึ้น จะมีอาการเขียวคล้ำ คือ มือ เท้า ริมฝากเขียวคล้ำ
- อาจมีหัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น มึนงง วิงเวียน เป็นลมได้ง่าย
- เมื่อเป็นมากจะมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว และมักจะนอนราบไม่ได้ นอนราบแล้วจะเหนื่อยมาก หายใจลำบาก ต้องนอนเอนตัวเสมอ
แพทย์วินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีต และในปัจจุบัน การตรวจร่างกาย การฟังเสียงเต้นของหัวใจ การตรวจวัดความดันโลหิต การจับชีพจร เอกซเรย์ภาพปอดและหัวใจ ตรวจหัวใจด้วยอัลตราซาวด์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาจมีการตรวจเฉพาะอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การสวนหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ เป็นต้น
รักษาโรคลิ้นหัวใจได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคลิ้นหัวใจ คือ การรักษาด้านการผ่าตัด และการรักษาประคับ ประคองตามอาการ
การรักษาด้านการผ่าตัด มีหลายเทคนิควิธี ขึ้นกับเป็นโรคของลิ้นหัวใจตำแหน่งใด มีความรุนแรงอย่างไร มีความผิดปกติอื่นๆของหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น การสวนขยายลิ้นหัวใจ การใส่ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น
การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวบวม การกินอาหารจืด ลดอาหารเค็ม เพื่อลดบวม การให้ยาลดความดันโลหิต หรือยาลดไข มันในเลือด และการให้ยาลดการแข็งตัวของเลือด เพราะโรคลิ้นหัวใจมักก่อให้เกิดมีภาวะก้อนเลือดขนาดเล็กๆที่ลิ้นหัวใจ ซึ่งมักหลุดไปอุดยังหลอดเลือดต่างๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดของปอดซึ่งเป็นอีกสาเหตุนอกเหนือจากภาวะหัวใจล้มเหลว ที่ทำให้เสียชีวิตได้ และ/หรืออุดหลอดเลือดของสมอง เป็นสาเหตุให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง) ได้ การให้ยาขับน้ำลด
โรคลิ้นหัวใจรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
ความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความเสียหายของลิ้นหัวใจ การมีความผิดปกติอื่นๆของหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ (เช่น ของผนังกั้นห้องหัวใจ) โรคหัวใจจากสาเหตุอื่นๆ (เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ) การมีหลอดเลือดแดงแข็ง โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม โรคลิ้นหัวใจเป็นโรครุนแรง จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเสมอ เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เพื่อชะลอไม่ให้ลิ้นหัวใจเสื่อมเร็วกว่าที่ควร และเพื่อคงคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ช่วยเหลือดูแลตนเอง และสามารถทำงานได้ อย่างน้อยใกล้เคียงกับภาวะปกติที่สุด
ผลข้างเคียงจากโรคลิ้นหัวใจ คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว และภาวะมีก้อนเลือดเล็กๆที่อาจหลุดไปก่อการอุดตันในหลอดเลือดต่างๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดปอด และหลอดเลือดสมอง ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การรักษา
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบแพทย์ หลังจากพบแพทย์แล้ว ควรปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ ซึ่งการดูแลตนเองโดยทั่วไปในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ คือ
- กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- ออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำ
- กินอาหารจืด ไม่กินเค็ม เพื่อป้องกัน/ลดการบวม และลดความดันโลหิต
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน จำกัดอาหารไขมัน แป้ง และน้ำตาล เพิ่มผัก และผลไม้ให้มากๆ
- ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
- เลิก และไม่สูบบุหรี่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ อันอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อของลิ้นหัวใจ
- รีบพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการต่างๆเลวลง หรือ กังวลในอาการ
- ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน
- เมื่อมีอาการ เจ็บหน้าอก ใจสั่น เป็นลม เพราะเป็นอาการของ โรคหลอดเลือดหัวใจ
- หรือเมื่อมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
- หรือเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ร่วมกับหายใจลำบาก และมีเสมหะเป็นเลือด เพราะเป็นอาการของหลอดเลือดปอดอุดตัน
ป้องกันโรคลิ้นหัวใจได้อย่างไร?
การป้องกันโรคลิ้นหัวใจ คือ การป้องกัน และ/หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ ซึ่งการป้องกันโรคลิ้นหัวใจที่สำคัญ คือ
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน จำกัด อาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล เค็ม เพิ่มผักและผลไม้
- ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- เลิก/ไม่สูบบุหรี่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ควรมีการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี รวมทั้งสุขภาพหัวใจเพื่อ เมื่อพบโรคจะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และเพื่อชะลอโรคไม่ให้ลิ้นหัวใจเสื่อมเร็วกว่าที่ควร
ที่มา https://haamor.com/th/โรคลิ้นหัวใจ/