ริดสีดวงตา (Trachoma)


1,323 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ตามัว 

บทนำ

เมื่อปี ค.ศ. 2007 มีบทความเรื่อง “ภาวะตาบอดในโลก (World blindness)” พูดถึงสาเหตุต่างๆที่ทำให้ประชากรในโลกตาบอด และได้กล่าวถึงว่า ริดสีดวงตา (Trachoma) แต่เดิมเป็นสาเหตุที่สำคัญ แต่ในปัจจุบันการเกิดตาบอดจากสาเหตุนี้ลดลงไปมาก ลดลงตั้งแต่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ยังไม่ได้มีโครงการรักษาโรคนี้ด้วยซ้ำ

ในศตวรรษที่ 19 ริดสีดวงตาเป็นปัญหาสำคัญในภาคพื้นยุโรป กระจายในหมู่ทหารและกลาสีเรือที่ผ่านสงครามในต่างประเทศ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา แต่พอต้นศตวรรษที่ 20 จำนวนผู้ป่วยลดลงทั้งในยุโรปและในอเมริกา ทั้งๆที่ในช่วงนั้นยังไม่มีโครงการเฉพาะในการรักษา ไม่มียาปฏิชีวนะที่เฉพาะ มีเพียงการใช้ยาในกลุ่ม ซัลฟา (Sulfa drug) เมื่อสิ้นสงคราม โลกครั้งที่ 2 ในขณะที่โรคนี้หายไปจากยุโรปและอเมริกา ในอาฟริกาและในเอเชียยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ก็ลดลงเรื่อยๆ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ริดสีดวงตาเป็นสาเหตุประชากรโลกตาบอดถึง 15 % แต่เวลานี้คาดว่าคงเหลือเพียงประมาณ 2 % ในประเทศไทยเรา ริดสีดวงตาแทบจะไม่เป็นปัญหาอีก จะยังพอพบได้บ้างแถบอีสานในผู้สูงอายุ

แม้องค์การอนามัยโลกจะมีโครงการรักษาโรคนี้อย่างแข็งขัน แต่พบว่าโรคนี้ลดลงจากสาเหตุต่างๆ ที่สำคัญ 5 อย่าง

  1. สุขอนามัย (Hygiene) สุขอนามัยที่ดีขึ้นจากการมีน้ำใช้ที่เพียงพอ การใช้น้ำล้างหน้าให้สะอาดอยู่เสมอๆ ทำให้โอกาสเป็นโรคลดลง นอกจากน้ำ การมีส้วมใช้อย่างทั่วถึง ทำให้แมลงวัน ที่เชื่อว่าเป็นพาหะนำเชื้อจากคนหนึ่งไปอีกคน ตายไป ลดการกระจายเชื้อของโรคนี้ลง
  2. สังคมเมือง (Urbanization) ประชาชนย้ายมาอยู่เมืองใหญ่ มีสาธารณูปโภคที่ดี เมืองเล็กๆเจริญขึ้น นำมาซึ่งถนนหนทาง ไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้โรคนี้ลด ลง ทั้งไฟฟ้า การมีโทรศัพท์ การรู้จักใช้น้ำร้อน การใช้เตาหุงหาอาหารที่ไม่มีควัน การย้ายสัตว์เลี้ยงให้อยู่ไกลบ้าน การลดฝุ่นละออง มีตำราทางจักษุเก่าๆของ Duke – Elder จักษุแพทย์ชาวสกอตต์ ที่เป็นที่รู้จักของจักษุแพทย์ทั่วโลก เคยกล่าวไว้ว่า โรคริดสีดวงตาจะอยู่คู่กับความแห้งแล้งและฝุ่น (Dryness and dust) เชื่อกันว่าเพราะฝุ่นและความแห้งแล้ง ทำให้มีน้ำตาไหล ตามมาด้วยขี้ตาในหมู่ชาวชนบท ซึ่งเป็นสาเหตุให้แมลงวันตอมหน้า/ตาเด็กที่เป็นโรค จึงเป็นการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น แม้แต่การควบคุมประชากร การแยกห้องนอนไม่นอนรวมกันเป็นกลุ่ม ตลอดจนมีการ ศึกษาที่ดีขึ้น ก็ทำให้โรคนี้ลดลง
  3. ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ข้ามสายพันธุ์ (Cross immunity) มีการศึกษาพบว่าในกลุ่มของโรคที่เกิดจาก Chlamydia/เชื้อสาเหตุของโรคนี้ อาจทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานต่อโรคอื่นที่เกิดจากเชื้อในกลุ่มนี้ ดังเช่นผู้ที่ได้รับเชื้อ หรือเป็นวัณโรค ทำให้มีภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคเรื้อน (เชื้อที่ทำให้เกิดวัณโรคและโรคเรื้อนอยู่ในกลุ่ม Mycobacteria ด้วยกัน) ผู้ ป่วยโรคทางเดินปัสสาวะ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บางโรคเกิดจากเชื้อกลุ่มเดียวกับริดสีดวงตา เมื่อเป็นโรคดังกล่าวอาจทำให้เกิดภูมิต้านทานโรคริดสีดวงตาได้
  4. การใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคอื่นๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อโรคริดสีดวงถูกทำลายได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะหลายตัว การใช้ยาเหล่านี้รักษาโรคอื่นๆ จึงทำให้ฆ่าเชื้อริดสี ดวงตาไปด้วยโดยปริยาย

ริดสีดวงตาคืออะไร? เกิดจากอะไร?

โรคริดสีดวงตา (Trachoma) เป็นโรคตาที่มีผลต่อ เปลือกตา ขนตา เยื่อบุตา กระจกตา ตลอดจนทางเดินของน้ำตา และมักเกิดทั้งสองตา เคยเป็นสาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชากรโลกตาบอด แม้ในปัจจุบันจะลดบทบาทลงไปแล้ว เป็นโรคที่พบเกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ อายุที่พบโรคได้สูง คือ ช่วงอายุ 3-5 ปี พบโรคในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายประมาณ 2 เท่า อาจเพราะผู้หญิงมักคลุกคลีอยู่กับเด็ก

โรคริดสีดวงตาติดต่อกันโดยการสัมผัสใกล้ชิด จากการสัมผัสขี้ตา หรือสารคัดหลั่งจากตา ลำคอ และ/หรือจากจมูก ของผู้เป็นโรค รวมทั้งจากแมลงวันที่ตอมตา และจากการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว

โรคริดสีดวงตา เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Chlamydia trachomatis ซึ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์ย่อยในกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่ากลุ่ม Chlamydia ซึ่งที่ทำให้เกิดโรคมีด้วยกัน 3 กลุ่มย่อย

  1. กลุ่ม Trachomatis ซึ่งมีอีกหลายกลุ่มย่อย บางกลุ่มทำให้ปากมดลูกและอวัยวะภายในสตรีอักเสบ หรือท่อปัสสาวะตลอดจนต่อมลูกหมากอักเสบในชาย บางกลุ่มทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น Lymphogranulona venereun) กลุ่มที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงตา และยังมีกลุ่มที่เป็นสาเหตุเกิดการอักเสบของเยื่อบุตา (Inclusion conjunctivitis) ที่อาการคล้ายริดสีดวงตา แต่มักจะไม่เรื้อรังและมีผลกระทบต่อตาน้อยกว่าริดสีดวงตา
  2. กลุ่ม Pneumonial (ชื่อเต็ม คือ Chlamydia pneumoniae) ทำให้เกิดโรคต่อทางเดินหายใจ
  3. กลุ่ม Psittaci (Chlamydia psittaci) ทำให้เกิดโรคในสัตว์ เช่น แมว นกแก้ว มีบ้างทำให้เกิดโรคในคน จะเห็นว่ามีหลายโรคที่เกิดจากเชื้อกลุ่มนี้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะ Cross immunity ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง

โดยสรุปเชื้อ Chlamydia ต่างๆ ที่เป็นสาเหตุเกิดโรคทางดวงตาได้แก่

  1. Neonatal chlamydial conjunctivitis พบในเด็กแรกเกิด เกิดจากได้รับเชื้อจากช่องคลอดแม่ อาการคล้ายริดสีดวงตาแต่ไม่รุนแรง
  2. Adult Inclusion conjunctivitis มักเกิดในวัยหนุ่มสาว โรคติดต่อผ่านทางเพศ สัมพันธ์ หรือแม้แต่ใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาร่วมกัน
  3. Trachoma (ริดสีดวงตา)

ริดสีดวงตามีอาการอย่างไร?

อาการเริ่มแรกของโรคริดสีดวงตา ได้แก่ ตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตา บางคนอาจรู้สึกคล้ายมีผงอยู่ในตา ทำให้เคืองตา เป็นๆ หายๆ หากพลิกหนังตาบนดู จะพบเป็นตุ่มเล็กๆที่เยื่อบุตา (Follicle และ Papillae) ระยะแรกการมองเห็นยังปกติดี หากเป็นนานเข้าบริเวณที่เป็นตุ่มเล็กๆจะกลายเป็นเส้นพังผืด เกิดแผลเป็น ลักษณะเป็นเส้นขวางสลับกับตุ่ม ตามด้วยการมีแผลอักเสบเล็กๆ (Epithelial keratitis) ของตาดำ (กระจกตา) โดยเฉพาะส่วนบน นานเข้าการอักเสบลึกลงไปในเนื้อตาดำจนเห็นเป็นฝ้าขาว ร่วมกับมีหลอดเลือดจากตาขาว (เยื่อบุตา) เข้าสู่ตาดำ เรียกว่า Pannus (ในคนปกติจะไม่มีหลอดเลือดเข้าตาดำเลย)

เนื่องจากเชื้อริดสีดวงตาจะทำลายเซลล์เยื่อบุผิว (Epithelium) จึงทำลายเซลล์ผิวของเยื่อบุตาขาว ตลอดจนเซลล์บุผิวของต่อมน้ำตาและของทางเดินน้ำตา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาแห้งแสบตาบ่อยขึ้น ถ้าเซลล์บุผิวทางเดินน้ำตาถูกทำลายทำให้ท่อน้ำตาอุดตันเกิดอาการน้ำตาไหลตลอดเวลา ที่สำคัญทำให้เกิดแผลเป็นบริเวณขอบเปลือกตาเป็นต้นเหตุให้ขนตาเกเข้า (Trichiasis) ขนตาชี้ลงจนครูดบาดกระจกตา ชาวบ้านมักจะเรียกว่า “ขนตาน้ำ” เมื่อมีขนตาเกเข้า ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บตาเคืองตามากขึ้น ตามด้วยมีขี้ตามากขึ้น หากระยะแรกมีขนตาเกไม่กี่เส้น เมื่อถอนขนตาออก อาการจะหายไปได้ชั่วคราว แต่เมื่อขนตาขึ้น มาใหม่ หรือมีขนตาเกเพิ่มขึ้นจะยิ่งมีอาการมากขึ้น ขนตาเกเหล่านี้จะเขี่ย/ครูดตาดำให้มีการอักเสบ ตามมาด้วยการติดเชื้อจากแบคทีเรียซ้ำเติมทำให้ตาดำเป็นฝ้าขาว ระยะนี้สายตาจะมัวลงตามความหนาของฝ้าขาวที่เกิดขึ้น อันเป็นสาเหตุทำให้ตามัวถึงขั้นตาบอด ในถิ่นที่มีโรคนี้เรื้อรัง การจะเกิดภาวะขนตาเกเข้า มักเป็นในผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงเรื้อรัง เป็นแล้วหาย แล้วเป็นใหม่ซ้ำๆ

แพทย์วินิจฉัยโรคริดสีดวงตาอย่างไร?

เนื่องจากอาการของโรคริดสีดวงตา คล้ายๆกับอาการของเยื่อบุตาอักเสบจากสาเหตุอื่นทั่วๆไป การวินิจฉัยนอกจากอาศัยประวัติว่าผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของโรคนี้ ทั่วๆไปแล้ว ควรต้องมีลักษณะอื่นที่ต้องตรวจพบด้วยอย่างน้อย 2 ใน 4 ลักษณะ คือ

  1. มีตุ่มที่เยื่อบุตาที่ใต้หนังตาบน
  2. มีตุ่มเล็กๆ ที่ขอบตาดำบน
  3. มีรอยแผลเป็นระหว่างตุ่มในข้อ 1
  4. มีหลอดเลือดจากตาขาวเข้ามาสู่ตาดำ (กระจกตา)

อนึ่ง องค์การอนามัยโลกได้แบ่งแยกให้รู้ถึงระดับความรุนแรงของโรคออกเป็น 5 ระดับ (Grade) คือ

ระดับแรก มีตุ่มที่เยื่อบุตาที่ใต้หนังตาบน

ระดับ 2 เยื่อบุตาทั่วๆไป แดง อักเสบ

ระดับ 3 มีแผลเป็นที่เยื่อบุตาใต้หนังตาบน

ระดับ 4 มีขนตาเกเข้า คือเกเข้าตาไปครูดเยื่อบุตาและกระจกตา (Trichiasis)

ระดับ 5 มีฝ้าขาวที่ตาดำ

โดยที่ ระดับ 4-5 ทำให้ตาบอดได้ ต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัด

รักษาริดสีดวงตาอย่างไร?

การรักษาโรคริดสีดวงตา ให้ผลดีด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ด้วยวิธีรับประทานและหยอดตา เป็นยาในกลุ่ม Tetracycline โดยเป็นยารับประทาน 1.5–2 กรัมต่อวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และเป็นยาขี้ผึ้งป้ายตาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน หรือใช้ยา Erythromycin หากผู้ป่วยแพ้ยา Tetracycline ปัจจุบันมีแพทย์บางท่านแนะนำใช้ Agithromycine เพียงครั้งเดียวก็ได้ หรือบางครั้งแม้แต่ยา Sulfa drug ก็ใช้ได้

สำหรับภาวะตาแห้งให้ใช้น้ำตาเทียม ส่วนภาวะขนตาเกเข้า และฝ้าขาวในตาดำต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด

ริดสีดวงตารุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ดังกล่าวแล้วว่าโรคริดสีดวงตาตอบสนองได้ดีต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด ดังนั้นเมื่อพบแพทย์ตั้งแต่แรกเริ่มมีอาการก่อนการเกิดผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน โรคสามารถรักษาให้หายได้ แต่เมื่อรักษาล่าช้า จนเกิดผลข้างเคียงแล้ว อาจเป็นสาเหตุให้ตาบอดได้

ผลข้างเคียงที่พบได้จากริดสีดวงตา คือ หนังตาเกิดเป็นพังผืด จึงเกิดการผิดรูป เกิดเป็นภาวะขอบตาม้วนเข้า (Entropion) และขนตาเกเข้า (Trichiasis) ซึ่งทั้งสองกรณี จะส่ง ผลให้เกิดการครูดต่อเยื่อบุตาและต่อกระจกตา ส่งผลให้กระจกตาเกิดแผลเรื้อรัง จนเกิดขุ่นมัวและส่งผลให้ตาบอดในที่สุด ซึ่งโรคนี้มักเกิดกับดวงตาทั้งสองข้าง ดังนั้น ตาบอดจึงเป็นตาบอดทั้งสองตา

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการทางดวงตาดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะเมื่ออยู่อาศัยในถิ่นของโรค หรือเมื่อกลับจากการท่องเที่ยวในถิ่นที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น ควรรีบพบแพทย์ หรือจักษุแพทย์เสมอ ไม่ควรดูแลตนเอง และเมื่อได้พบแพทย์แล้ว ให้ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ

ป้องกันริดสีดวงตาได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคริดสีดวงตา ดังนั้นวิธีป้องกันโรคริดสีดวงตา คือ

  1. รักษาความสะอาดของใบหน้าเสมอ โดยเฉพาะในเด็กๆเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงตอมตา ซึ่งเป็นทางติดต่อและแพร่กระจายโรคได้ทางหนึ่ง
  2. กำจัดแมลงวัน โดยการกำจัดขยะให้ถูกวิธี และไม่ทิ้งขยะใกล้บ้าน
  3. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว
  4. ใช้น้ำสะอาด และมีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอในกิจวัตรส่วนตัว

ที่มา   https://haamor.com/th/ริดสีดวงตา/

อัพเดทล่าสุด