ยาปฏิชีวนะคือยาอะไร?
ในวงการแพทย์มักเรียกยาปฏิชีวนะว่า แอนไทไบโอติก หรือ บางคนออกเสียงว่า แอนติไบโอติก (Antibiotics) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก หมายถึง ยาต้านสิ่งมีชีวิต (Anti หมายถึง ต่อต้าน Bios หมายถึง ชีวิต) ซึ่งสิ่งมีชีวิตในที่นี้ คือ จุลชีพ หรือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ซึ่งคือ เชื้อโรคนั่นเอง ดังนั้น ยาปฏิชีวนะ ก็คือ ยายับยั้ง ฆ่า และ/หรือ ต้าน ทานจุลชีพซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นเชื้อแบคทีเรีย บางคนจึงเรียกว่า ยาต้านแบคทีเรีย (แอนติแบคทีเรียล/Antibacterial) แต่ยังอาจครอบคลุมถึงเชื้อไวรัสบางชนิด และเชื้อราบางชนิดได้ด้วย
ในร่างกายของมนุษย์จะมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น เม็ดเลือดขาวที่ใช้ป้อง กันการบุกรุกของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย อาทิ เชื้อวัณโรค เป็นต้น ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เชื้อโรคมีมากจนภูมิต้านทานหรือเม็ดเลือดขาวสู้ไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องหาผู้ช่วย เช่น ยาปฏิชีวนะ เข้ามาเป็นกำลังเสริม ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดในการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นอย่างมาก ใช้ผิดวิธีโดยมิได้ตั้งใจและก่อให้เกิดผลเสียตามมา ซึ่งบางครั้งอาจถึงกับเสียชีวิตได้ ทั้งจาก การแพ้ยา และ/หรือ เชื้อดื้อยา
ยาปฏิชีวนะมีกี่ชนิด อะไรบ้าง?
ยาปฏิชีวนะ กลุ่มแรกเป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ซึ่งสังเคราะห์ได้จากเชื้อรา แต่ในยุคปัจจุบัน ได้กำเนิดยาต้านเชื้อโรค โดยเฉพาะ เชื้อแบคทีเรีย รุ่นลูกหลานออกมามากมายจนนับไม่ถ้วน ดังขอยกตัว อย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้ในบ้านเรา ดังนี้
- เพนิซิลลิน เป็นยาใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ในหลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะ เช่น คออักเสบ เป็นต้น เป็นกลุ่มยาที่ไม่ทนกับกรดในกระเพาะอาหาร จึงต้องกินยาก่อนอาหาร และถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไต แต่ยาบางตัวในกลุ่มนี้ก็ถูกขับออกโดยผ่านกระบวนการที่ตับก่อน
ตัวอย่างยาในกลุ่มเพนิซิลลิน เช่น อะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) แอมพิซิลลิน (Ampicillin) คาร์เบนิซิลลิน (Carbenicillin) คลอกซาซิลลิน (Cloxacillin) และ ฟลูคลอซาซิลลิน (Flucloxacillin) - อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) เป็นยาปฏิชีวนะใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่กระดูก ข้อ การติดเชื้อที่ผิวหนัง การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อหลังผ่าตัด ยากลุ่มนี้ไม่ค่อยดูดซึมทางลำไส้ ต้องใช้วิธีฉีดเข้ากล้ามหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือด มีความเป็นพิษต่อไตและหูชั้นใน
ตัวอย่างยากลุ่มอะมีโนไกลโคไซด์ เช่น เจนตามัยซิน (Gentamycin) โทบรามัยซิน (Tobramycin) อะมิคาซิน(Amikacin) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) สเปคทิโนมัยซิน (Spectinomycin) กานามัยซิน (Kanamycin) และนีโอมัยซิน (Neomycin) - เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) จัดเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น ชนิดก่อการอักเสบของทางเดินหายใจ และของทางเดินอาหาร ยากลุ่มนี้ไม่ทนกรดเช่นเดียวกับกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) และดูดซึมในทาง เดินอาหารได้ไม่ดี จึงต้องใช้การฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือด แต่ก็พบว่า ยาเซฟาโลสปอรินบางตัวมีคุณสมบัติทนกรดได้ดี ทั้งยังสามารถให้ยาโดยการรับประทานได้
ยาเซฟาโลสปอรินขับออกจากร่างกายโดยผ่านทางไตออกมากับปัสสาวะ บาง ส่วนถูกทำลาย และผ่านออกมาทางตับแต่เป็นส่วนน้อย ตัวอย่างยาในกลุ่ม เซฟาโลสปอริน เช่น เซฟาโซลิน (Cefazolin) เซฟาคลอร์ (Cefaclor) เซฟูรอกซีม (Cefuroxime) เซโฟแทคซีม (Cefotaxime) และ เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) - แมคโครไลด์ (Macrolide) จัดเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้แพร่หลายอีกกลุ่มหนึ่ง สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียโดยการก่อกวนที่สารพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า อาร์เอนเอ (RNA)
ตัวอย่างยากลุ่มแมคโครไลด์ เช่น อีรีโทรมัยซิน (Erythromycin) อาซิโทรมัยซิน (Azithromycin) คลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) และรอซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) ทำให้เชื้อไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนในการดำรงชีวิตได้ มักใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง - เตตราไซคลีน (Tetracyclines) ใช้รักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการติดเชื้อในลำไส้ รักษาหลอดลมอักเสบแผล ฝี หนอง มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ก่อ กวนการทำงานของสารพันธุกรรม หรือ อาร์ เอน เอ ของเชื้อแบคทีเรียทำให้เชื้อไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนได้ และทำให้เชื้อหยุดการเจริญเติบโต
- ห้ามใช้ยาในเด็กอ่อน และหญิงมีครรภ์ เพราะอาจส่งผลถึงการเจริญเติบโตของกระดูกของเด็กและของทารกในครรภ์ได้
- หากใช้ร่วมกับยาคุมกำเนิด จะลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด จึงอาจตั้งท้องได้
- ห้ามใช้ร่วมกับยาลดกรด และ/หรือ ยากลุ่มวิตามินที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ เพราะจะลดการดูดซึมยาเตตราไซคลีนได้
- ควิโนโลน (Quinolones) ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ทางไต และต่อมลูกหมาก แต่ไม่ค่อยนำไปใช้รักษาการติดเชื้อในโพรงไซนัส(Sinusitis/ไซนูไซติส) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดย รบกวนการสร้างโปรตีนในสารพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย ที่เรียกว่า ดี เอน เอ(DNA)
ข้อควรระวังและห้ามใช้ยากลุ่มควิโนโลน คือ ในผู้ที่เป็นโรคลมชัก เพราะอาจกระตุ้นสมอง เป็นสาเหตุให้ชักได้บ่อยขึ้น ตัวอย่างยากลุ่มควิโนโลน เช่น ไซโปรฟลอซาซิน หรือ ซิโปรฟลอซาซิน (Ciprofloxacin) เลโวฟลอซาซิน(Levofloxacin) นอร์ฟลอซาซิน(Norfloxacin) และ โอฟลอซาซิน(Ofloxacin)
ยาปฏิชีวนะรักษาโรคได้อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ มีกระบวนการทำลายและยับยั้งการเจริญ เติบโตของเชื้อแบคทีเรียโดย
- ทำลายเยื้อหุ้มเซลล์ ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า เซลล์ เมมเบรน (Cell membrane) ซึ่งเป็นเยื่อบางๆที่หุ้มตัวเชื้อแบคทีเรีย (มีหน้าที่แลกเปลี่ยนสารต่างๆระหว่างภายในและภายนอกเซลล์) ส่งผลให้สมดุลในการดำรงชีวิตของเชื้อโรคเสียไปและตายในที่สุด
- ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า เซลล์วอลล์ (Cell Wall) ซึ่งเป็นผนังภายนอกสุดของเซลล์ ที่ห่อหุ้มเยื่อหุ้มเซลล์อีกที (มีหน้าที่ปกป้อง และคงรูปร่างของเซลล์ มักพบกับเซลล์แบคทีเรีย และเซลล์พืช ไม่พบในเซลล์สัตว์) ด้วยกลไกนี้จะทำให้เชื้อแบคทีเรียต่างๆไม่สามารถแพร่พันธุ์ จึงหยุดการเจริญเติบโต
- ก่อกวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมในตัวของเชื้อแบคทีเรีย สารพันธุกรรมที่เรามักคุ้นเคยกัน เรียกว่า ดีเอนเอ และ อาร์เอนเอ กลไกดังกล่าวจะทำให้เชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถผลิตลูกหลานออกมาทำอันตรายต่อร่างกายคนเราได้อีกต่อไป
- กระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรีย ปลดปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยตัวเองและตายลงในที่สุด
อนึ่ง ความสามารถในการทำลายเชื้อแบคทีเรียของยาปฏิชีวนะ ไม่ได้ขึ้นกับวิธีการ หรือกลไกทำลายเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับความสามารถในการนำ หรือพายาปฏิชีวนะไปยังอวัยวะที่มีการติดเชื้อ หากร่างกายไม่สามารถนำยาไปยังอวัยวะที่มีการติดเชื้อได้ ก็ไม่สามารถทำลายเชื้อโรคได้ ซึ่งการนำยาไปยังอวัยวะเป้าหมาย มีหลายช่องทาง เช่น การกิน การฉีดใต้ผิวหนัง การฉีดเข้ากล้าม(กล้ามเนื้อ) การฉีดเข้าหลอดเลือด (มักเป็นหลอดเลือดดำ) และ การทาที่ผิวหนัง
ใช้ยาปฏิชีวนะนานๆ หรือ พร่ำเพรื่อ ส่งผลเสียอะไรบ้าง?
การใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องใช้ให้เหมาะสม และตรงกับชนิดของโรคที่จะรักษา การได้รับยาไม่ครบตามปริมาณ และในขนาดที่เหมาะสม ส่งผลเสียโดยตรง คือ อาการของโรคไม่ดีขึ้น แต่การใช้ยาปฏิชีวนะนานเกินไป หรือใช้มากเกินไปก็มีผลเสีย ดังนั้นการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะควรต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ หรือขอคำ แนะนำจากเภสัชกรก่อนใช้เสมอ
ผลเสียจากใช้ยาปฏิชีวนะนานๆ หรือ พร่ำเพรื่อ ที่พบบ่อย คือ
- เชื้อโรคมีพัฒนาการต่อต้านยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้เกิดภาวะดื้อยา (เชื้อดื้อยา)
- เกิดการกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่มีตามธรรมชาติ ทำให้ร่าง กายอ่อนแอลง ไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ด้วยภูมิคุ้มกันของตัวเอง ซึ่งมักพบภาวะกดภูมิคุ้มกันกับการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปในเด็ก
- เกิดการทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ซึ่งอาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร ส่งผลให้การสร้าง และ/หรือ การดูดซึม วิตามินบางกลุ่มสูญเสียไป เช่น วิตามิน เค เป็นต้น
- ได้รับผลอันไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของการใช้ยา เช่น ท้องเสีย ผื่นคัน ลมพิษ และ หอบหืด
- รบกวนการทำงานของยากลุ่มอื่น (ปฏิกิริยาระหว่างยา) เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มพร้อมกับยาคุมกำเนิด จะทำให้ฤทธิ์ในการคุมกำเนิดลดลง จนอาจเกิดการตั้งครรภ์ตามมาได้
ยาปฏิชีวนะมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไรบ้าง?
ยาปฏิชีวนะที่มีจำหน่ายในร้านยา และสถานพยาบาลมีหลายรูปแบบ อาทิเช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีดชนิดผงแห้ง (ต้องนำมาละลายน้ำก่อนฉีด) ยาฉีดในรูปสาร ละลาย ยาครีม ยาเจล ยาขี้ผึ้ง และ ยังมีการนำยาปฏิชีวนะมาผสมรวมกัน หรือ ผสมกับยาตัวอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคได้มากยิ่งขึ้น เช่น ยาออกเมนติน (Augmentin)
มีคำแนะนำการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะไหม? อย่างไร?
ด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะใช้เอง หรือใช้ตามคำบอกเล่า มักส่งผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ควรได้รับ เช่น
- สูญเสียความสามารถในการรักษาโรค ด้วยเลือกใช้ยาปฏิชีวนะไม่ตรงกับโรค
- ก่อให้เกิดพิษหรือการแพ้ยา ปฏิชีวนะ บางรายอาจถึงขั้นรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด
- สูญเสียทางเศรษฐกิจ ด้วยค่าใช้จ่ายในการซื้อยาและไม่ได้รับประสิทธิผลของยาที่ใช้ในการรักษา
- เป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยา ซึ่งต่อไปเมื่อเกิดติดเชื้อ มักจะรุนแรง รักษาได้ยาก มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงขึ้น
ดังนั้น คำแนะนำสำคัญในการใช้ยาปฏิชีวนะ คือ ควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เสมอ หรือ อย่างน้อยควรต้องปรึกษาเภสัชกร(มักประจำอยู่ตามร้านขายยาที่ขายยาปฏิชีวนะ) หรือ พยาบาล ก่อนซื้อยากินเองเสมอ เพราะนอกจากอันตรายดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยที่ต้องใช้ประกอบในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะอีกมากมาย เช่น ภาวะหอบหืด ภาวะตับ และ/หรือไตทำงานผิดปกติหรือไม่ วัยของผู้ป่วย ซึ่งต้องคำนวณการใช้ยาที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ การแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร ให้ทราบว่าตนเองแพ้ยา (การแพ้ยา)ปฏิชีวนะกลุ่มใด หรือ ตัวใด จะเป็นการปลอดภัยกับตัวผู้บริโภคเอง จากการได้รับยาที่ผู้ป่วยเคยแพ้มาก่อน ถึงแม้โดยทั่วไป แพทย์ พยาบาล เภสัชกรมักสอบถามผู้ป่วยเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ก็ยิ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยาให้ยิ่งสูงขึ้น
ที่มา https://haamor.com/th/ยาปฏิชีวนะ/