ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)


1,568 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ระบบมะเร็งวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ทั่วไป

ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของประเทศต่างๆ ในพ.ศ.2551 มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากกว่า 500,000 ราย

ข้อมูลของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2553 มะเร็งเป็นสาเหตุของการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

  • เป็นอันดับ 3 ในผู้ป่วยที่อายุระหว่าง 40-59 ปี (จำนวน171,436 ราย หรือประมาณ 11.5 %)
  • และเป็นอันดับ 4 ในผู้ป่วยอายุระหว่าง 60-69 ปี (75,332 ราย หรือประมาณ 10.1%)
  • เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลที่มีอายุระหว่าง 19-59 ปี (9,366 ราย หรือประมาณ 18.1%)
  • และเป็นอันดับ 3 ในผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป (11,355 ราย หรือประมาณ 15.4%) ซึ่งข้อมูลนี้คงต่ำกว่าความเป็นจริงพอสมควร เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายส่วนหนึ่งกลับไปเสียชีวิตที่บ้านในแวดล้อมของบุคคลใกล้ชิด

ปัจจุบันยาเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยมักเรียกว่า ยาคีโม (Chemotherapy) เป็นส่วนสำคัญ และเป็นวิธีการหลัก (การผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด) วิธีการหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นโรคในระยะแรกหรือในระยะสุดท้าย

เซลล์มะเร็งมีต้นกำเนิดจากเซลล์มะเร็งตั้งต้น (Tumors stem cells) ที่มีการเจริญเติบโตแบ่งตัวเป็นเซลล์จำนวนมากมายมหาศาล โดยเป็นการแบ่งตัวที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ และเซลล์เหล่านี้มีความสามารถแพร่กระจายไปอยู่ในอวัยวะต่างๆ ที่ห่างจากต้นกำเนิดของมัน ทำให้เห็นอาการของก้อนมะเร็ง และการกระจายของมะเร็งไปในที่ต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด ตับ ไขกระดูก และสมอง เป็นต้น

มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เพศ อายุ ชาติพันธุ์

สิ่งแวดล้อม และการได้รับรังสีไอออนไนซ์ (Ionizing radiation,รังสีจากการตรวจโรครังสีเอกซ์ รังสีแกมมา) เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Soft tissue sarcoma)

สารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น ในบุหรี่สี (Azo dyes) สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) แร่ใยหิน (Asbestos) สารเบนซีน และก๊าซเรดอน (Radon) ซึ่งเป็นสารที่มีหลักฐานว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งทั้งสิ้น

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี พบว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งตับ การติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV,Human papillomavirus) เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูกและการติดเชื้อไวรัส อีบีวี (EBV ,Ebstein-Barr virus) เกี่ยวข้องกับมะเร็งโพรงหลังจมูก (Nasopharyngeal cancer)

การรักษาโรคมะเร็งแบ่งได้เป็น 3 วิธี คือ

  1. การผ่าตัด
  2. การให้รังสีรักษา
  3. การให้ยาเคมีบำบัด

หนึ่งในสามของผู้ป่วยสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด หรือการให้รังสีรักษา เมื่อผู้ป่วยมีอาการของมะเร็งอยู่ที่ใดที่หนึ่งยังไม่แพร่กระจาย อย่างไรก็ตามในกลุ่มผู้ป่วยที่เหลือมักมีการแพร่กระจายของโรคไปแล้วซึ่งต้องให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมด้วย

ในปัจจุบัน ผู้ที่เป็นมะเร็งมักสามารถรักษาให้หายได้โดยการใช้วิธีการต่างๆร่วมกัน แต่หากให้ยาเคมีบำบัดอย่างเดียวจะมีโอกาสหายเพียงประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด

ยาเคมีบำบัดมีบทบาทในการรักษาโรคมะเร็งอย่างไร?

บทบาทของยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง คือ

  1. ใช้เป็นยาหลักในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งมักเป็นมะเร็งในระยะที่เป็นมากแล้ว และไม่สามารถรักษาโดยวิธีอื่นได้ เช่น การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งที่มีการกระจายไปแล้ว โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute lymphoblastic leukemia) ในเด็ก เป็นมะ เร็งที่มีผลการรักษาดีมาก ปัจจุบันจากการให้ยาเคมีบำบัดในชนิดความรุนแรงโรคต่ำ (Low risk หรือ Standard risk) ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคและมีอายุยืนยาวได้จนถึงเป็นผู้ใหญ่มากกว่า 70 % บางกลุ่มอาจได้ผลดีมากกว่า 90%
  2. ใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นๆ ได้แก่ การผ่าตัด และ/หรือการให้รังสีรักษา ซึ่งแบ่งเป็น
    1. ให้ยาเคมีบำบัดนำก่อนการรักษาวิธีอื่นๆ (Neoadjuvant chemotherapy) ใช้รักษามะเร็งที่เป็นก้อนเนื้อเฉพาะที่ โดยเฉพาะเมื่อก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเดียวมักได้ผลไม่ดี ดังนั้นจึงให้ยาเคมีบำบัดนำไปก่อนเพื่อให้ก้อนมะเร็งยุบเล็กลง ทำให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น และยังเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆด้วย

      นอกจากนั้น ในบางกรณี มีภาวะฉุกเฉินที่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ก้อนมะเร็งโตกดเบียดทับทางเดินหายใจ หรือเส้นประสาททำให้เป็นอัมพาต อุจจาระปัสสาวะไม่ได้ หรือกดเบียดทับประสาทตาทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาเรื่องการมองเห็น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างรีบด่วนนำไปก่อน จะช่วยให้อาการต่างๆที่กล่าว ดีขึ้น เนื่องจากก้อนเนื้อจะยุบเล็กลง จึงลดการกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆลดน้อยลง หลังจากนั้นเมื่ออาการผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว จึงดำ เนินการรักษาโรคขั้นต่อไปตามระยะของโรค เช่น ให้การผ่าตัดหากทำได้ หรือให้ยาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งชนิดนั้นๆต่อไป หรืออาจให้การรักษาด้วยรังสีรักษาร่วมด้วย เป็นต้น

    2. ให้ยาเคมีบำบัดตามหลังการรักษาวิธีการอื่นๆ (Adjuvant chemotherapy) เป็นการให้ยาตามหลังการผ่าตัด และ/หรือรังสีรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของโรคมะเร็ง การให้การรักษาร่วมระหว่างการให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัดและรังสีรักษา มักทำให้ผลการรักษาโรคมะเร็งดีขึ้นและทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้นในปัจจุบัน โรคมะเร็งหลายชนิดในระยะที่โรคลุกลาม จึงมักให้การรักษาร่วมกันทั้ง 3 วิธี เช่นโรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนลำไส้ตรง เป็นต้น
    3. ให้ยาเคมีบำบัดร่วม/พร้อมกันในขณะให้รังสีรักษา (Concomitant chemotherapy หรือ Concurrent chemotherapy หรือ Simultaneous chemotherapy) เพื่อเพิ่มการตอบ สนองของเซลล์มะเร็งต่อทั้งรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด ทั้งนี้มักใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดที่เซลล์ มะเร็งตอบสนองต่อรังสี และยาเคมีบำบัดในระดับปานกลางและระยะโรคอยู่ในระยะลุกลาม เช่น ระยะลุกลามของ โรคมะเร็งช่องปาก โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกมะเร็งปากมดลูก และโรค

ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์อย่างไร?

ก่อนพูดถึงการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัด ควรทราบว่าเซลล์ มีวงจรชีวิตของเซลล์ (Cell cycle) ซึ่งจะมีทั้งระยะพักอยู่นิ่ง ระยะแบ่งตัว และระยะเตรียมสร้างสารจำเป็นในเซลล์ ได้แก่ ดีเอ็นเอ (DNA,สารทางพันธุกรรม) เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อการเจริญและการแบ่งตัวของเซลล์

ยาเคมีบำบัดจะออกฤทธิ์ทำลาย/ฆ่าเซลล์ที่ระยะต่างๆในวงจรชีวิตของเซลล์ ยาบางชนิดอาจออกฤทธิ์จำเพาะที่ระยะใดระยะหนึ่งของวงจรฯ (เช่น ออกฤทธิ์เฉพาะต่อเซลล์ในระยะเตรียมสร้างสารดีเอ็นเอ) หรือบางชนิดอาจออกฤทธิ์ไม่จำเพาะต่อระยะใดระยะหนึ่งของวงจรฯก็ได้ แต่ทั้งนี้ เป้าหมายของการใช้ยาเคมีบำบัด คือ เพื่อทำลายให้เซลล์มะเร็งตาย

ทำไมต้องใช้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน?

ในปัจจุบันการรักษาโรคติดเชื้อหลายๆชนิด มักจะใช้ยาหลายๆชนิดร่วมกัน เพื่อหวังผลให้การรักษาโรคหรือการทำลายเชื้อโรคได้มากที่สุด มีพิษหรือผลข้างเคียงที่เกิดจากยาน้อยที่ สุด (เพราะไม่ต้องให้ยาชนิดเดียวที่ขนาดสูงมากเกินไป ที่อาจเป็นพิษต่อ ตับ ไต หรืออวัยวะอื่นๆได้) และลดปัญหาเชื้อดื้อยาด้วย เช่น การรักษาวัณโรค และการรักษาโรคเอดส์

ในการรักษาโรคมะเร็งก็เช่นเดียวกัน การใช้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกันเพื่อลดจำนวนเซลล์มะเร็ง (ฆ่า) ให้ได้มากที่สุด มีพิษ/ผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยพอทนได้ และป้องกันไม่ให้เซลล์ มะเร็งดื้อต่อยาเคมีบำบัด

ในการรักษามะเร็งชนิดต่างๆ มีการใช้สูตรยาเคมีบำบัดต่างๆกัน และมีการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมากในโรคมะเร็งแต่ละชนิด ทำให้ได้สูตรยาที่ให้ผลการรักษาได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ โดย เฉพาะ มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก มะเร็งไตในเด็กชนิดวิมส์ (Wilms’ tumor) ที่มีผลการรักษาดีมากจากการรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดหลายๆชนิดร่วมกัน

ดังนั้นหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ โปรดคุยกับแพทย์ผู้รักษา ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษา หรือมีการส่งต่อเพื่อการรักษาที่เหมาะสม อย่าปล่อยให้นาทีทองผ่านไปโดยไม่ได้รับการรักษา ซึ่งธรรมชาติของเซลล์มะเร็งจะมีการเจริญเติบโต แบ่ง ตัว และแพร่กระจายมากขึ้นไปเรื่อยๆตามระยะเวลาที่ผ่านไป ดังนั้นเมื่อปล่อยโรคไว้นาน จะทำให้การรักษายากขึ้น

แต่วิธีรักษามะเร็งที่ดีที่สุด คือ การตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก (การตรวจคัดกรอง หรือ Screening/การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้น ซึ่งผลการรักษาจะดีกว่าไปพบแพทย์เมื่อโรคแพร่กระจายไปแล้ว ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง โดย เฉพาะโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนเป็นโรคมะเร็ง เช่น

การลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจัยบางอย่างสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การสูบบุหรี่ การกินอาหารที่มีอะฟลาทอกซิน และการกินปลาน้ำจืดดิบซ้ำ ซาก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ ชนิดเกิดจากท่อน้ำดีในตับ (พบมากในคนภาคตะ วันออกเฉียงเหนือของเรา)

เซลล์มะเร็งดื้อต่อยาเคมีบำบัดได้อย่างไร?

มะเร็งหลายชนิดดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีการปรับตัวเองให้ดื้อต่อตัวยา ทำให้การรักษายากมากขึ้น เช่น มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) มะเร็งไต (Renal cell cancer) และมะเร็งสมองบางชนิด

ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าการดื้อต่อยาเคมีบำบัด ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งเป็นเรื่องของพันธุกรรมในระดับจีน/ยีน (Gene) ของผู้ป่วย

อาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัดมีอะไรบ้าง?

การให้ยาเคมีบำบัดทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้หลายอย่าง ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากรับประทานอาหาร การกดการสร้างเซลล์ของไขกระดูกทำให้เกิด ภาวะซีด ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง) ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

เมื่อผู้ป่วยมีภาวะซีด จะทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และหากรับประทานอาหารไม่ได้ และมีอาเจียนร่วมด้วย จะยิ่งมีอาการทุกข์ทรมานมากขึ้น

การมีเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นสาเหตุนำ ทำให้มีการติดเชื้อได้บ่อย เพราะเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกนิวโทรฟิล (Neutrophil) ทำหน้าที่เก็บกินเชื้อโรค ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดปัญหาส่วนใหญ่เป็นเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายของผู้ป่วยเอง เช่น อยู่ในทางเดินอาหาร และที่ฟัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อ จะทำให้ต้องเลื่อนการรับยาเคมีบำบัดออกไป จึงไม่ได้ยาตามที่ควรจะเป็น ทำให้การรักษาโรคมะเร็งไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บางคนติดเชื้อมากจนมีการกระจายของเชื้อไปทั่วร่างกาย ( ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) ผู้ป่วยอาจมีอาการมากถึงเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้

หากมีเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น และเมื่อมีเลือดออกแล้วมักหยุดได้ยาก จึงอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากภาวะเลือดออกไม่หยุดได้

นอกจากนี้อาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ยังทำให้ผมร่วง ปากเปื่อยเป็นแผล หรือมีอาการท้องร่วง/ท้องเสีย

ยาเคมีบำบัดบางชนิด หากมีการซึมออกมาจากเข็มในขณะให้ยาในบริเวณที่ฉีดยา อาจทำให้เกิดการอักเสบ และการตายของผิวหนังและเนื้อเยื่อรอบบริเวณนั้นได้

ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจมีผลต่อ หัวใจ ระบบประสาท ตับ ไต และต่อความสมดุลของเกลือแร่/อิเล็กโทรลัยต์ (Electrolyte เช่น โซเดียม/Sodium โปแตสเซียม/Potassium และแคลเซียม) เกลือแร่บางชนิดอาจสูงเกินไป บางชนิดอาจต่ำเกินไป ทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา เช่น มึนงง สับสน และหมดสติได้

แต่อาการข้างเคียงทั้งหลายเหล่านี้ แพทย์มีวิธีรักษาให้หาย หรือบรรเทาให้มีอาการน้อย ลง อาการผมร่วงก็เช่นกัน จะเป็นอยู่สักพัก ภายใน 3-6 เดือน ผมจะขึ้นมาใหม่อย่างสวยงาม แต่ช่วงที่ผมร่วงอย่าลืมหาผ้าสวยๆ หรือหมวกสวยๆมาคาด มาสวม หรือหาวิกผมมาใส่ รับรองว่าดูงามอย่างเก๋ไก๋ทีเดียว

บางคนพอรู้ว่าอาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัดมีหลายอย่าง ก็ไม่อยากรับยาแล้ว แต่จริง ๆบางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งก่อนรับการรักษา ผู้ป่วยควรได้รับรู้ว่า อาจเกิดอาการข้างเคียงใดตามมาได้บ้าง จะได้เข้าใจหาทางป้องกันรักษา และไม่ตกใจ

แพทย์มีกระบวนการป้องกันความผิดพลาดและอันตรายในการให้ยาแก่ผู้ป่วยอย่างไร?

แม้ว่ายาเคมีบำบัดจะมีผลดีอย่างมากต่อการรักษาผู้ป่วย แต่ยานั้นอาจมีอันตรายหากมีข้อ ผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะผิดพลาดในเรื่องของ ขนาด (Dose) ชนิดของยา วิธีการให้เข้าสู่ร่าง กายว่า ให้ทางกิน หรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้าทางน้ำไขสันหลัง ซึ่งยาบางชนิดหากต้องฉีดเข้าหลอดเลือดดำแต่กลับไปฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง เช่น ยาชื่อ Vincristine ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ (มีเอกสารทางการแพทย์รายงานหลายราย)

ที่สำคัญอีกอย่างคือการให้ยาผิดคน เนื่องจากแพทย์และพยาบาลต้องให้การรักษาผู้ป่วยพร้อมๆกันทีละหลายคน จึงอาจเกิดข้อผิดพลาดได้

การป้องกันการผิดพลาดและอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยนั้นมีทั้งมาตรการที่เป็นข้อปฏิบัติเป็นมาตรฐาน ร่วมกับการกำหนดเป็นการปฏิบัติในหน่วยปฏิบัติงาน ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้แก่

  1. ตรวจสอบสูตรยาที่จะให้ผู้ป่วย ชนิดของยาที่จะให้ ขนาดของยา วันที่จะให้ยาแต่ละชนิด เพราะการให้ยาส่วนใหญ่จะให้ร่วมกันหลายชนิด ยาแต่ละชนิดมีรายละเอียดแตกต่างกัน เช่น ขนาดยา (Dose) การผสมยาจะผสมกับน้ำเกลือชนิดใดที่ความเข้มข้นเท่าใด เป็นต้น
  2. ปัจจุบันในโรงพยาบาลที่ต้องมีการให้ยาเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วยจำนวนมาก จะมีห้องผสมยาเคมีบำบัดตามมาตรฐานสากล และผู้ผสมยาจะปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคในยาที่จะให้ผู้ป่วย ขณะเดียวกันป้องกันคนทำงานไม่ให้ต้องสัมผัสกับสาร เคมีจากยา และการกำจัดยาหรือสิ่งบรรจุยาที่เหลือ จะเป็นไปตามมาตรฐาน
  3. ก่อนให้ยาผู้ป่วย จะมีการตรวจสอบความถูกต้องว่าให้ถูกคน เช่น ตรวจสอบชื่อ นาม สกุลโดยให้ผู้ป่วยหรือพ่อแม่ผู้ปกครองบอกทั้งชื่อและนามสกุลก่อนรับยา และ ตรวจสอบลำดับของยาที่จะให้ก่อนหลัง เช่น การให้ยาเคมีบำบัดบางอย่างที่จะทำให้มีอาเจียนมาก แพทย์จะให้ยาแก้อาเจียนล่วงหน้าก่อนให้ยาเคมีบำบัด หรือยาบางอย่างต้องให้น้ำเกลือนำก่อนให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น

อนึ่ง ในผู้ป่วยเด็ก (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่) บางครั้งเพียงแค่เห็นสีของยายังไม่ได้รับยาเข้าไปก็อาเจียนเสียก่อนแล้ว หรือนอนในโรงพยาบาลเห็นเตียงของผู้ป่วยอื่นที่อยู่ใกล้กันมีขวดยาเคมีบำบัด ทั้งที่ตนเองไม่ได้รับก็อาเจียน ซึ่งเป็นอาการทางจิตใจ คุณพยาบาลในโรงพยาบาลที่ผู้เขียนทำงานได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหานี้โดยใช้ผ้าลายการ์ตูนห่อหุ้มขวดยาทำให้ผู้ป่วยเลิกอาเจียนเป็นปลิดทิ้ง

หลังให้ยาเคมีบำบัด ในบางกรณีแพทย์ต้องตรวจวัดเกลือแร่อิเล็กโทรลัยต์บ่อยในวันแรก ๆ (อาจทุก 6-8 ชั่วโมง) โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ หรือผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีปริมาณเซลล์มะเร็งสูง เพราะในการตายของเซลล์มะเร็งจากยาเคมีบำบัด อาจมีผลต่อสมดุลของเกลือแร่อิเล็กโทรลัยต์ในร่างกาย หากโปแตสเซียมสูงมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ หรือหากแคลเซียมต่ำมากอาจเกิดอาการชักได้ ผู้ป่วยจึงควรเข้าใจ และจำเป็นต้องอดทน หากแพทย์/พยาบาลขอเจาะเลือดบ่อยๆ

จะตัดสินใจให้ยาเคมีบำบัดหรือไม่ให้ดี?

หลายครั้งที่ผู้ป่วยหรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นโรคมะเร็งแล้วไม่ทราบว่าจะรัก ษาหรือไม่รักษาดี ผู้เขียนอยากให้ชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีกับผลเสียของการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยและพ่อแม่ผู้ปกครองควรคุยกับแพทย์ให้เข้าใจถ่องแท้เกี่ยวกับตัวโรค ระยะของโรค การพยา กรณ์โรค/ความรุนแรงของโรค และโอกาสรักษาหาย นั่นคือควรทราบเป้าหมายของการรักษาว่ารักษาเพื่อมุ่งหวังให้โรคหาย หรือเพียงแต่รักษาเพื่อลดความทุกข์ทรมานกรณีเป้าหมายให้โรคหายเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าโอกาสหมายความว่าอย่างไร เพราะบางคนอาจโทษหมอว่า ไหนบอกว่าลูกฉันมีโอกาสหายสูงแต่ทำไมไม่เป็นตามนั้น เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการรักษา

ผู้เขียนชอบบอกอย่างนี้ว่า หากเราเลือกได้เราคงไม่เลือกที่จะเป็นมะเร็ง หรือให้ลูกหลานของเราเป็นมะเร็ง แต่หากโรคมีโอกาสหายมากด้วยการรักษา จะไม่เลือกทางนั้นหรือ เหมือนการยืนที่ทางสองแพร่ง หากเลือกทางที่ไม่รักษา โรคก็จะดำเนินไปตามวิถีของมันจนถึงที่สุด แต่หากเลือกรักษา อาจได้ผลสองทางคือ ทางหนึ่งโรคอาจหาย ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตดี แต่อีกทางหนึ่งผลการรักษาอาจไม่ดีก็ได้ ดังนั้นการเลือกรักษาจึงมีโอกาสที่ดีกว่า ถึงแม้อาจเพิ่มอาการข้างเคียงบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักขอใช้โอกาส คือ การรักษา

อีกกลุ่มหนึ่งมีอาการของโรคอยู่ในระยะสุดท้ายที่เป้าหมายรักษาให้โรคหายเป็นไปไม่ได้ แต่การรักษาคือ ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยสุขสบายที่สุด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์อาจไม่ให้ยาเคมีบำบัด หรือให้เท่าที่จำเป็นเพื่อบรรเทาอาการทรมานของผู้ป่วย เช่นอาการจากการกดเบียดทับเนื้อ เยื่อ/อวัยวะต่างๆจากก้อนมะเร็ง หรือมีอาการปวดมากและให้ยาแก้ปวดอย่างเดียวอาการไม่ดีขึ้น แต่หากให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยแล้วอาการจะดีขึ้น เป็นต้น

มีข้อควรปฏิบัติมื่อได้รับยาเคมีบำบัดอย่างไร?

ข้อที่ควรปฏิบัติเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด คือ

  1. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดหลังจากเข้าห้องน้ำ/หลังการขับถ่ายทุกครั้ง
  2. ก่อนรับประทานอาหารล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  3. ไม่ไปในที่ๆ มีคนแออัดมากๆ เช่น โรงหนัง ศูนย์การค้า หากจำเป็นควรใส่ผ้าปิดปาก ปิดจมูก (หน้ากากอนามัย) เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อโรคจากผู้อื่น
  4. ควรกินอาหารที่ปรุง สุก สะอาด และร้อน
  5. ตัดเล็บให้สั้นจะได้ไม่มีสิ่งสกปรกอยู่ตามซอกเล็บ ซึ่งเมื่อเผลอเกาที่ผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบติดเชื้อง่าย
  6. ไม่ควรไว้ผมยาว เนื่องจากเมื่อให้ยาเคมีบำบัดแล้วผมร่วง ผู้ป่วยจะรู้สึกเศร้า หากผมสั้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าผมร่วงควรหาวิกผม หมวก หรือผ้าสวมศีรษะ
  7. ในระหว่างที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำไม่ควรนำดอกไม้สด หรือผลไม้สดที่มีเปลือกมาไว้ในห้อง เพราะอาจมีเชื้อราจากดอกไม้และจากผลไม้ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำจะมีปัญหาติดเชื้อได้ง่าย
  8. ระวังอย่าให้ท้องผูก เนื่องจากอุจจาระแข็งอาจทำให้เกิดแผลที่ก้น และเกิดการติดเชื้อที่แผลตามมา หากมีเม็ดเลือดขาวต่ำ อาจมีการกระจายการติดเชื้อไปทั่วร่างกายได้ง่าย (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยเพื่อไม่ให้ท้องผูก แต่อย่าลืมเน้นเรื่องปรุง สุก สะอาด
  9. หากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรติดต่อแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล หรือรีบไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเสมอ
  10. ในผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในวัยที่ต้องได้รับวัคซีนโปรดปรึกษาแพทย์ในเรื่องวัคซีน
  11. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ หรืออาการต่างๆเลวลง ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ เพื่อจะได้รับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมทันการ อาการที่ต้องรีบพบแพทย์ เช่น

  1. อาการไข้
  2. มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่ง
  3. ปวดศีรษะมาก
  4. มีอาการของโรคมากขึ้น เช่น ก้อนเนื้อโตขึ้น
  5. มีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย หรือท้องเสียติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง หรืออาเจียนมาก หรือกิน/ดื่มน้ำได้น้อย
  6. มีอาการ ตาเหลือง ตัวเหลือง (ดีซ่าน)
  7. มีปัสสาวะ อุจจาระผิดปกติ หรือมีอาการปวดท้อง
  8. มีอาการหอบ หรือไอมาก
  9. มีตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนองตามร่างกาย
    • หากมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใสตามตัวอาจเป็นอาการของโรคอีสุกอีใส (Chic kenpox) ซึ่งจะติดต่อไปยังผู้อื่นได้ง่าย เมื่อไปโรงพยาบาลควรหลบเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในคนหมู่มาก เพราะจะเป็นการนำเชื้อไปแพร่กระจายให้ผู้อื่นซึ่งบางคนอาจเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคต่ำ จะติดเชื้อได้ง่ายและอาจมีอาการมากจนถึงเสียชีวิตได้ ควรนั่งอยู่ห่างๆจากผู้อื่น และให้ญาติเข้าไปบอกแพทย์ หรือบอกพยาบาลก่อนว่ามีตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง ซึ่งแพทย์และพยา บาลจะออกมาตรวจดูก่อนว่าเป็นอีสุกอีใสหรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

ที่มา  https://haamor.com/th/ยาเคมีบำบัด/

อัพเดทล่าสุด