บทนำ
มีแก๊สในท้อง (Gas in digestive tract) หมายถึง การมีแก๊สในกระเพาะอาหารและในลำ ไส้ซึ่งรวมทั้งในลำไส้เล็กและในลำไส้ใหญ่ เป็นอาการปกติในทุกคนตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่เมื่อมีแก๊สในท้องมากกว่าปกติ จะก่อให้เกิดอาการต่างๆได้ คือ แน่นอึดอัด (Bloat ing) เรอ (Belching) และท้องอืด/ท้องเฟ้อ/ผายลม (Flatulence) มากกว่าปกติ รวมทั้งปวดท้อง ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการเขียนบทความ บทความนี้จึงขอใช้คำว่า “แก๊ส” แทนอาการทั้งหมดที่เกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้/แก๊สในท้อง ซึ่งคือ “อาการมีแก๊สในลำไส้ แน่นอึดอัด ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ ผายลม”
โดยปกติในกระเพาะอาหารและลำไส้มีการสร้างแก๊สขึ้นเสมอเป็นประจำจากการทำงานของทั้งกระเพาะอาหารและลำไส้ แต่ทั้งนี้จะในปริมาณที่แตกต่างกันในแต่ละคน เฉลี่ยประมาณ 0.5-2 ลิตรต่อคนต่อ 1 วัน โดยแก๊สส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแก๊สผสมของ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน ไนโตรเจน แลไฮโดรเจน และในบางคนส่วนน้อยอาจสร้างแก๊ส มีเทน (Methane) ร่วมด้วย ซึ่งแก๊สทั้งหมดดังกล่าว ไม่มีสี และไม่มีกลิ่น แต่กลิ่นจะเกิดได้จากการสร้างแก๊สที่มีส่วนผสมของ ซัลเฟอร์ (Sulfur) จากแบคทีเรียปกติ/แบคทีเรียประจำถิ่นบางชนิดในลำไส้ใหญ่ ดังนั้นกลิ่นจากแก๊สจึงมักเป็นการผายลม
แก๊สที่สร้างขึ้นหรือมีอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ จะถูกระบายออกจากร่างกายทาง การเรอ เมื่อเป็นแก๊สในกระเพาะอาหาร ทางการผายลม เมื่อเป็นแก๊สในลำไส้ ซึ่งร่างกายระบายแก๊สออกจากทั้งสองช่องทางนี้ถึงวันละประมาณ 14-23 ครั้งโดยส่วนใหญ่เราไม่ได้สังเกต นอกจากนั้น อีกช่องทางของการระบาย คือแก๊สบางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต (เลือด) และถูกปล่อยออกจากร่างกายทางการหายใจ
การมีแก๊สในท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ ผายลม เป็นอาการพบบ่อยในทุกวัย แต่พบได้บ่อยขึ้นในวัยทำงาน และวัยสูงอายุ
แก๊สในท้องเกิดได้อย่างไร?
แก๊สในท้องเกิดได้จาก 2 กลไกหลัก คือ จากเรากลืนอากาศเข้าไป และจากการสร้างของกระเพาะอาหารและลำไส้
- จากการกลืนอากาศ เรามักกลืนอากาศร่วมไปกับการดื่ม การกิน/เคี้ยวอาหาร และการพูด ซึ่งการกิน/ดื่มเร็ว การใช้หลอดดูดเครื่องดื่ม/อาหาร การเคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกอม/ทอฟฟี่ การสูบบุหรี่ และการใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี เพิ่มการกลืนอากาศในปริมาณที่สูงขึ้น ซึ่งอากาศจากการกลืน จะก่อให้เกิดอาการท้องอืด/แน่นกระเพาะอาหาร และ/หรือหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการเรอ อย่างไรก็ตามแก๊สจากการกลืนบางส่วนอาจถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด และ/หรือเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ได้
- จากการสร้างของกระเพาะอาหาร และลำไส้ ในกระเพาะอาหารขณะย่อยอาหาร จะก่อให้เกิดแก๊สได้ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่ก่อปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร เช่น น้ำอัดลมต่างๆ ซึ่งดังกล่าวแล้ว ร่างกายจะกำจัดออกโดยการเรอ และบางส่วนผ่านเข้าสู่กระแสโลหิต และลำไส้
ส่วนแก๊สในลำไส้ใหญ่ซึ่งร่างกายขับออกโดยการผายลม เกิดจากกากอาหารที่เหลือจากการย่อยของลำไส้เล็ก เมื่อเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียปกติในลำไส้ใหญ่ซึ่งมีอยู่มากมายจะย่อยสลายกากอาหารเหล่านี้ต่อเนื่อง ยิ่งมีกากอาหารมากก็ยิ่งมีปริมาณแก๊สเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณแก๊ส และกลิ่นของแก๊สในลำไส้ใหญ่ นอกจากขึ้นกับปริมาณอาหารแล้ว ยังขึ้นกับประเภทอาหาร และแต่ละบุคคลซึ่งจะมีแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แตกต่างกันทั้งในปริมาณและในชนิด ดังนั้น อาหาร เครื่องดื่มชนิดเดียวกัน จึงก่ออาการได้แตกต่างกันในผู้บริโภคแต่ละคน แต่ละคนจึงต้องสังเกตเองว่า ตนเองกิน/ดื่มอะไร แล้วก่อให้เกิดอาการต่างๆอย่างไร มากหรือน้อย เพื่อการปรับให้เหมาะสมกับตนเอง
อาหารอะไรบ้างที่ทำให้เกิดแก๊ส?
อาหารหลักที่สร้างแก๊ส คือ อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) โดยเฉพาะประ เภทมีใยอาหารสูง ส่วนโปรตีน และไขมันสร้างแก๊สได้บ้างแต่ไม่มากเท่าคาร์โบไฮเดรต อย่างไรก็ตาม อาหารไขมันเป็นอาหารที่ย่อยยาก มักค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน ถ้ากินในปริมาณมากจึงมักก่ออาการท้องอืด/แน่นท้องได้
- น้ำตาล ชนิดที่ก่อแก๊สได้มาก เช่น
- น้ำตาล ราฟฟิโนส (Raffinose) พบมากในถั่วชนิดต่างๆ รวมทั้งถั่วกินทั้งฝัก ผักกะหล่ำ บรอคโคลิ หน่อไม้ฝรั่ง และธัญพืชเต็มเมล็ด
- น้ำตาลแลคโตส (Lactose) เป็นน้ำตาลในนม ดังนั้นในบางคนเมื่อดื่มนม จึงเกิดอาการท้องอืด แน่น เนื่องจากขาด หรือมีน้ำย่อยน้ำตาลชนิดนี้น้อย (ภาวะขาดหรือพร่องเอน ไซม์แลคเตส) ซึ่งมักพบในคนชาติเอเชีย
- น้ำตาลฟลุคโตส (Fluctose) ซึ่งมีมากในผลไม้ หัวหอม ลูกแพร์ และข้าวสาลี นอกจากนั้น เรายังใช้เป็นส่วนผสมในน้ำผลไม้กระป๋อง/กล่อง หรือในเครื่องดื่มต่างๆ
- น้ำตาลซอร์บิโทล (Sorbitol) ซึ่งใช้เป็นสารให้ความหวานในอาหาร และขนมต่างๆ เช่น หมากฝรั่ง ลูกอม และผลไม้ ที่พบในปริมาณมาก คือ แอปเปิล ลูกพีช ลูกแพร์ และลูกพรุน
- แป้ง ชนิดก่อแก๊สได้มาก เช่น แป้งจาก มันฝรั่ง ข้าวโพด ข้าวสาลี ยกเว้นข้าว ซึ่งให้แป้งที่ก่อแก๊สได้น้อยมาก
- ใยอาหาร (Dietary fiber) คือ อาหารที่ได้จากพืช และร่างกายไม่สามารถย่อยสลายและดูดซึมได้ จึงผ่านจากกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ โดยส่วนที่ละลายน้ำได้ของใยอาหาร แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะหมักและทำให้เกิดเป็นแก๊สขึ้น แต่ส่วนที่ละลายไม่ได้จะดูดซึมน้ำ และร่างกายจะขับออกเป็นอุจจาระ ซึ่งคุณสมบัตินี้ช่วยในการขับถ่าย และป้องกันอาการท้องผูก
อาหารที่มีใยอาหาร คือ ผัก และผลไม้ทุกชนิด แต่ที่มีใยอาหารสูง เช่น ถั่วต่างๆ ถั่วกินทั้งฝัก มันเทศ ธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าวโอต หัวหอม กล้วย พรุน ผลเบอรรี (Berries) ผลนัท (Nut) ต่างๆ (โดยเฉพาะอัลมอนด์) แอบเปิล แพร์ อะโวคาโด และเปลือกผลไม้
อะไรเป็นสาเหตุให้มีแก๊สในท้องมาก?
สาเหตุที่ทำให้มีแก๊สในท้องมากที่พบบ่อย ได้แก่
- กินอาหารปริมาณมาก
- กิน ดื่ม อาหารประเภทผลิตแก๊สสูงดังกล่าวแล้ว
- กลืนอากาศมากกว่าปกติ เช่น สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง กิน/เคี้ยวเร็ว อมลูกอม/ทอฟฟี่ ใช้หลอดดูดน้ำ/อาหาร และใส่ฟันปลอมที่หลวมไม่พอดี
- ขาดน้ำย่อยอาหารบางชนิด เช่น ขาดน้ำย่อยนม
- อาหารไขมัน ถึงแม้ไม่ได้สร้างแก๊สมาก แต่เป็นอาหารที่ย่อยยาก จึงคั่งค้างนานในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ จึงก่ออาการท้องอืด แน่นท้องได้
- ท้องผูก
- เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น ช่วงก่อน หรือมีประจำเดือน
- โรคกรดไหลย้อน (ไหลกลับ)
- โรคบางชนิดของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน และโรคของเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ส่งผลให้ขับแก๊สออกได้น้อย
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มยาเสพติด และในกลุ่มยาต้านการอักเสบเอ็นเสดส์ (NSAIDs) ส่งผลให้ขับแก๊สออกได้น้อย
- ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ เช่น ความเครียด ซึ่งส่งผลต่อการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร และการเคลื่อนไหว บีบตัวของลำไส้
- บางคนปริมาณแก๊สในท้องปกติ แต่เป็นคนที่ไวต่อแก๊สมากกว่าคนทั่วไป จึงมีอา การเหมือนกับคนมีแก๊สในท้องมากได้
แก๊สในท้องมีอาการอย่างไร?
อาการจากการมีแก๊สในท้องมาก ที่พบบ่อย คือ ท้องอืด/แน่นท้อง เรอ/ท้องเฟ้อ และผายลม มากกว่าปกติ
- ท้องอืด/แน่นท้อง คืออาการที่มีท้องป่อง มักเกิดหลังการกิน/ดื่ม ส่งผลให้รู้สึกแน่นอึดอัด แต่อาจเกิดเมื่อไรก็ได้เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว เช่น สูบบุหรี่ หรือ เคี้ยวหมากฝรั่ง อาการร่วม คือบางคนอาจมีอาการปวดท้องได้แต่อาการปวดไม่มาก โดยตำแหน่งปวดท้องมักเคลื่อนที่ได้ตามการเคลื่อนที่ของแก๊ส และอาการมักดีขึ้นเมื่อ เรอ หรือ ผายลม อย่างไรก็ตาม บางคนปวดท้องได้มาก เช่น
- เมื่อปวดด้านซ้ายตอนบน อาจต้องแยกจากการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ถ้าปวดท้องในส่วนช่องท้องด้านขวาตอนบน อาจต้องแยกจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- หรือถ้าปวดในส่วนช่องท้องล่างขวา หรือรอบสะดืออาจต้องแยกจากโรคไส้ติ่งอักเสบ
- เรอ/ท้องเฟ้อ คืออาการจากมีแก๊สมากในกระเพาะอาหาร และ/หรือหลอดอาหาร ร่างกายจึงกำจัดออกด้วยการเรอ ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการแสบร้อนกลางอก (โรคกรดไหลย้อน) อาการจุกเสียด แน่นท้อง และอาการต่างๆเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในอาการท้องอืด แน่นท้อง
- ผายลม ทั้งนี้ ทั้งปริมาณและกลิ่น ขึ้นกับประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร และชนิดแบคทีเรียประจำถิ่นที่แตกต่างกันในแต่ละคน ซึ่งอาการผายลมมาก/บ่อยกว่าปกติ มักเกิดร่วมกับอา การท้องอืด/แน่นท้อง และเรอ/ท้องเฟ้อดังได้กล่าวแล้ว
แพทย์วินิจฉัยภาวะมีแก๊สในท้องได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะมีแก๊สในท้อง ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน การใช้ยาต่างๆ ปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ และการตรวจร่างกาย และโดยการให้ยาตามอาการไปก่อน เช่น ยาช่วยย่อยอาหาร ยาลดกรด ยาดูดซึมแก๊ส หรือยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ซึ่งถ้าอาการดีขึ้นก็เป็นการช่วยวินิจฉัยภาวะนี้ แต่ถ้าอาการยังเกิดอย่างต่อเนื่อง หรืออาการเลวลงหลังการรักษา อาจมีการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมในกรณีแพทย์ต้องการแยกจากโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคไส้ติ่งอักเสบ เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์
ภาวะมีแก๊สในท้องรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
การมีแก๊สในท้อง โดยทั่วไปไม่รุนแรง ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่คุณภาพชีวิตอาจลดลงได้ และโดยทั่วไปไม่ก่อผลข้างเคียงแทรกซ้อน
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีแก๊สมาก ท้องอืด/แน่นท้อง เรอ/ท้องเฟ้อ และผายลมมากผิดปกติ ได้แก่
- ปรับพฤติกรรมการกิน/ดื่ม กินอาหารในแต่ละมื้อลดปริมาณลง และสังเกต/ปรับชนิดของประเภทอาหาร/เครื่องดื่ม
- จำกัดอาหารไขมัน
- หลังกินอาหารควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยการเคลื่อนไหวลำไส้ กำจัดแก๊สออกจากกระเพาะอาหาร-ลำไส้
- ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น
- กินอาหาร ดื่มเครื่องดื่มช้าๆ
- เลิกบุหรี่ หมากฝรั่ง อมลูกอม
- ปรึกษาทันตแพทย์เรื่องฟันปลอม
- รักษาสุขภาพจิต
- ในเบื้องต้น ปรึกษาเภสัชกรร้านขายยา ซื้อยาบรรเทาอาการต่างๆ
- พบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้น หรือเมื่ออาการเลวลงหลังการดูแลตนเองประมาณ 2 สัปดาห์ หรือเมื่อกังวลในอาการ
- ควรรีบพบแพทย์ฉุกเฉิน หรือภายใน 24 ชั่วโมงขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ
- มีไข้ ปวดท้องรอบๆสะดือ หรือ ตำแหน่งด้านขวาตอนล่าง เพราะอาจเป็นอาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ
- เจ็บร้าวลงไหล่ แขน หรือขึ้นขากรรไกรซ้าย เหนื่อย เหงื่อออกผิดปกติ ใจสั่น จะเป็นลม เพราะอาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ
- มีไข้ และปวดท้องบริเวณด้านขวาตอนบน เพราะอาจเกิดจากถุงน้ำดีอักเสบจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี
ป้องกันภาวะมีแก๊สในท้องอย่างไร?
การป้องกันการมีแก๊สมากในท้องรวมทั้งป้องกันอาการ ท้องอืด/แน่นท้อง เรอ/ท้องเฟ้อ และผายลมมากกว่าปกติ เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเองและการพบแพทย์ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น) ซึ่งที่สำคัญคือ
- สังเกตความสัมพันธ์ระหว่าง ชนิด และปริมาณอาหารที่บริโภค ปรับอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง และปรับ/หลีกเลี่ยงอาหารชนิดที่ทำให้เกิดอาการ ซึ่งในแต่ละคนจะแตกต่างกันได้
ที่มา https://haamor.com/th/มีแก๊สในท้อง-แน่นอึดอัด-ท้องอืด-ท้องเฟ้อ-เรอ-ผายลม/