บทนำ
โรคมะเร็งผิวหนัง (Skin cancer หรือ Cutaneous carcinoma) เป็นโรคมะเร็งพบได้สูงในคนผิวขาว แต่พบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมากในคนไทย ซึ่งโรคมะเร็งผิวหนังไม่อยู่ใน 10 ลำ ดับมะเร็งพบบ่อยของทั้งหญิงและชายไทย
โรคมะเร็งผิวหนังเป็นโรคของผู้ใหญ่ และพบได้สูงขึ้นเมื่อสูงอายุขึ้น ทั้งนี้โอกาสเกิดในผู้หญิง และในผู้ชายใกล้เคียงกัน
โรคมะเร็งผิวหนังมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งผิวหนังมีได้หลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อย คือชนิดคาร์ซิโนมา (Carcinoma) ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer) และโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma หรือ Malignant melanoma) ส่วนโรคมะเร็งผิวหนังชนิดอื่นๆพบได้เพียงประปราย ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งผิวหนัง โดยทั่วไปจึงหมายถึง โรคมะเร็งผิวหนังทั้ง 2 กลุ่มนี้เท่านั้น ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อบุผิว (Epithe lium) ของผิวหนัง ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ ชนิด เบซาลเซลล์ หรือเรียกย่อว่า บีซีซี (Basal cell Carcinoma หรือ BCC) และชนิดสะความัส หรือเรียกย่อว่า เอสซีซี (Squamous cell carcino ma หรือ SCC)
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ เป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในอายุ 40-50 ปีขึ้นไป (แต่อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้) ผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย มักพบเกิดในบริเวณใบหน้า มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อสีคล้ำ เมื่อเป็นน้อยๆอาจมองดูคล้ายกระ แต่จะโตเร็ว และแตกเป็นแผลเรื้อรังได้ เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำ และมักไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต/เลือด ดังนั้นจึงมักไม่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต แต่อาจลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองได้
- โรงมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัส เป็นโรคมะเร็งผิวหนังพบบ่อยรองจากชนิดเบซาลเซลล์ มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (แต่อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้) ผู้หญิงและผู้ชายมีโอ กาสเกิดเท่ากัน เป็นมะเร็งที่รุนแรงกว่าชนิด เบซาลเซลล์เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงปานกลาง สามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้สูงกว่าชนิดเบซาลเซลล์เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือเมื่อเป็นเซลล์มะเร็งที่เซลล์มีการแบ่งตัวสูง ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายสู่ปอด
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนังที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ (Melanocyte) เป็นมะเร็งพบได้ทั้งในเด็กโต (ในคนอายุต่ำกว่า 20 ปีพบมะเร็งชนิดนี้ได้ประมาณ 1% ของมะเร็งชนิดนี้ทั้งหมด) และจะพบสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น จนพบได้สูงสุดในช่วงอายุ 45-65 ปี ต่อจากนั้นจะพบได้น้อยลง ผู้ชายพบได้สูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้สูง ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักไปยัง ปอด กระดูก และสมอง
มะเร็งผิวหนังเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ทั้ง 2 กลุ่มที่กล่าวแล้ว ยังไม่ทราบ แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้ คือ
- การได้รับแสงแดดเรื้อรัง โดยเฉพาะแสงแดดจัด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด
- คนที่มีผิวบาง
- มีแผลเรื้อรัง เช่น แผลเรื้อรังจากสารเคมี เพราะการอักเสบเรื้อรัง อาจเป็นสาเหตุให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
- ผิวหนังสัมผัสสารพิษเรื้อรัง เช่น สารอาร์ซีนิค/สารหนู (Arsenic เป็นสารพิษ ที่เมื่อร่างกายได้รับต่อเนื่อง จะก่อให้เซลล์เกิดการบาดเจ็บ จนอาจกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็ง หรือ เซลล์ถูกทำลายจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ ) เป็นต้น
- ผิวหนังสัมผัสรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิด ไอออนไนซ์ (Ionizing radiation/ รังสีที่ทำให้เซลล์บาดเจ็บ เสียหาย และตายจากการแตกตัวของโมเลกุลในเซลล์เป็นประจุบวก และประจุลบ เช่น รังสีเอกซ์ หรือ รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค) ในปริ มาณสูงเรื้อรัง
- จากมีโรคที่ส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายบกพร่อง เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์
- จากการกลายพันธุ์ ของไฝ ซึ่งสังเกตได้จาก ไฝจะเจริญเติบโตลงลึกในเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง อาจแตกเป็นแผล อาจมีเลือดออก และมักโตเร็ว
- จากมีพันธุกรรมผิดปกติบางชนิด เช่น โรค Xeroderma pigmentosum (โรคที่เซลล์ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากผิดปกติ จึงเกิดมะเร็งผิวหนังได้ง่าย) อย่างไรก็ตามพบโรคทางพันธุกรรมเหล่านี้ได้น้อยมากๆ
โรคมะเร็งผิวหนังมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบบ่อยของโรคผิวหนัง คือ การมีตุ่ม หรือ ก้อนเนื้อ หรือแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง พบได้ในทุกบริเวณ รวมทั้ง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหนังศีรษะ หรือไฝต่างๆที่โตเร็ว อาจเจ็บ แตกเป็นแผล มีเลือดออกเรื้อรัง อาจพบเพียงก้อนเนื้อเดียว หรือหลายๆก้อนเนื้อพร้อมๆกัน และเมื่อโรคลุกลาม อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงกับผิวหนังส่วนที่เกิดโรค โต คลำได้ เช่น ที่หน้าหูหรือลำคอ เมื่อมีแผล/ก้อนเนื้อที่หนังศีรษะ หรือใบหน้า ที่รักแร้ เมื่อมีก้อนเนื้อ/แผลที่มือ หรือแขน หรือที่ขาหนีบเมื่อมีก้อนเนื้อ/แผลที่เท้า หรือ ขา
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังได้จาก ประวัติการได้รับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การตรวจลักษณะก้อนเนื้อ แผล หรือไฝ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ แผล หรือไฝเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
นอกจากนั้นจะมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อจัดระยะโรค และประเมินสุขภาพผู้ป่วย เช่น การถ่ายเอกซเรย์ภาพปอดดูการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด การตรวจเลือดต่างๆ เพื่อดูการทำ งานของไขกระดูก (ตรวจซีบีซี/CBC) ตับ และของไต เป็นต้น การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ตับ แต่ทั้งนี้ การตรวจเพิ่มเติมต่างๆจะขึ้นกับ ชนิดของเซลล์มะเร็ง ขนาดของก้อนมะเร็ง การมีต่อมน้ำเหลืองโต และดุลพินิจของแพทย์
โรคมะเร็งผิวหนังมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งผิวหนังมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ แต่แบ่งตามชนิดของเซลล์มะเร็งด้วย ดังนี้
- ระยะโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา
- ระยะที่ 1 ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร (ซม.)
- ระยะที่ 2 ก้อนหรือแผลมะเร็งโตเกิน 2 ซม. หรือขนาดใดก็ได้ แต่เป็นเซลล์มะ เร็งชนิดมีการแบ่งตัวสูง หรือลุกลามลงลึกใต้ผิวหนัง
- ระยะที่ 3 ก้อนหรือแผลมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่ออื่นที่อยู่ติดผิวหนัง หรือ ลุก ลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงเพียงต่อมเดียวและต่อมมีขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.
- ระยะที่ 4 ก้อนหรือแผลมะเร็งลุกลามเข้ากระดูก หรือเส้นประสาท หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1 ต่อม หรือ ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 3 ซม. หรือ โรคแพร่กระจายเข้ากระ แสโลหิต ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักเข้าสู่ปอด
- ระยะโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ซึ่งบางระยะของโรคแบ่งย่อยได้อีก แต่มักใช้สำหรับแพทย์โรคมะเร็งเพื่อใช้ช่วยในการพิจารณาวิธีรักษา และเพื่อการศึกษา
โรคมะเร็งผิวหนังรักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังทุกชนิดคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ การรักษาหลัก ได้แก่ การผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็ง และผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่มีโรคลุกลามแล้ว หลังจากนั้นจะมีการประ เมินระยะโรค และการลุกลามของเซลล์มะเร็งจากก้อนเนื้อและจากต่อมน้ำเหลืองจากการผ่าตัดโดยการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค ซึ่งถ้าพบว่า โรคเป็นชนิดรุนแรง เช่น ลุกลามเข้าเส้นประสาท แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาต่อเนื่องด้วย การฉายรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัดส่วนยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษา ขึ้นกับวิธีรักษา
- การผ่าตัด เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริ เวณฉายรังสีรักษา) และอาการบวมแขน หรือ ขา เมื่อมีการฉายรังสีบริเวณต่อมน้ำเหลือง รักแร้ หรือขาหนีบ จากการเกิดพังผืดหลังฉายรังสี จึงส่งผลให้ท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือขาหนีบอุดตัน จึงเกิดภาวะน้ำเหลืองคั่งในบริเวณ แขน หรือขา
- ยาเคมีบำบัด คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
โรคมะเร็งผิวหนังรุนแรงไหม?
ความรุนแรงของโรคมะเร็งผิวหนังขึ้นกับ ชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรค ตำแหน่งที่เกิดโรค อายุและสุขภาพผู้ป่วย
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง เรียงตามลำดับความรุนแรงโรคจากน้อยไปหามาก คือ ชนิดเบซาลเซลล์ ชนิดสะความัส และชนิดเมลาโนมา
- ระยะของโรค
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา อัตรารอดที่ 5 ปีภายหลังการรักษา
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา อัตรารอดที่ 5 ปีภายหลังการรักษาใน
- ระยะที่ 1 ประมาณ 75-80 %
- ระยะที่ 2 ประมาณ 40-70%
- ระยะที่ 3 ประมาณ 30-40%
- และระยะที่ 4 ประมาณ 0-10 %
- ตำแหน่งที่เกิดโรค โรคมะเร็งที่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้หมด ความรุนแรงโรคน้อยกว่า เมื่อผ่าตัดได้ไม่หมด หรือผ่าตัดไม่ได้
- อายุและสุขภาพผู้ป่วย ดังกล่าวแล้ว ถ้าผ่าตัดไม่ได้ จากอายุ และ/หรือจากสุขภาพ ความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้น
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนังไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนังทุกชนิดให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ หมั่นสังเกตผิวหนังทุกส่วนของตนเองเสมอ เมื่อพบก้อนเนื้อ หรือ ไฝ ที่โตเร็ว หรือมีลักษณะผิดปกติดังกล่าวในหัวข้ออาการ หรือมีความกังวลเมื่อพบมีก้อนเนื้อ หรือมีไฝ ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัย และเพื่อการรักษาที่เหมาะ สมแต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังอย่างไร?
วิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด โดยการไม่ตากแดด แต่ถ้าจำเป็น ควรสวมหมวก กางร่ม ใส่แว่นกันแดด สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใช้เสื้อผ้าสีอ่อน และการทายากันแดด ซึ่งมีค่าป้องกันแสงแดด เอสพีเอฟ (SPF,Sun protection factor, ป้องกันแสงชนิด ยูวีบี/UVB เป็นส่วนใหญ่) ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป และค่า พีเอ (PA,Protection grade for UVA,ป้องกันแสงชนิดยูวีเอ/UVA เป็นส่วนใหญ่) +++
นอกจากนั้น คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การสัมผัสสารเคมีต่างๆเรื้อรัง และการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือ โรคเอดส์
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
ที่มา https://haamor.com/th/มะเร็งผิวหนัง/