บทนำ
หู (Ear) เป็นอวัยวะมีหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน และช่วยในการทรงตัวของร่างกาย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หูชั้นนอก หูชั้นกลางและหูชั้นใน
หูชั้นนอก ประกอบด้วย ใบหู ช่องหูชั้นนอก และแก้วหู ซึ่งทั้งหมดมีหน้าที่นำคลื่นเสียงเพื่อผ่านไปยังหูชั้นกลาง และหูชั้นในตามลำดับ
ใบหูประกอบด้วย เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเนื้อเยื่อผิวหนัง และกระดูกอ่อน ท่อหูชั้นนอกประกอบด้วยเนื้อเยื่อบุผิวชนิดเดียวกับผิวหนังเช่นกัน กระดูก และแก้วหูซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อชนิดเดียวกับผิวหนังเช่นกัน เป็นเนื้อเยื่อบางๆที่มีหน้าที่แบ่งระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง ช่วยรับ และขยายคลื่นเสียง เพื่อส่งต่อไปยังกระดูกหูชั้นกลาง
หูชั้นกลางประกอบด้วยกระดูกหูเล็กๆ 3 ท่อน มีหน้าที่นำส่ง และขยายคลื่นเสียงจากหูชั้นนอกเข้าสู่หูชั้นใน
หูชั้นใน ประกอบด้วยเนื้อเยื่อประสาท 2 ชนิด ชนิดหนึ่งรับคลื่นเสียงจากหูชั้นกลาง นำส่งสมองใหญ่ส่วนขมับ (Temporal lobe) เพื่อแปลงเป็นเสียงให้เราได้ยิน อีกส่วนซึ่งเป็นของ เหลวอยู่ในอวัยวะมีรูปเป็นท่อครึ่งวงกลมเล็กๆ 3 ท่อ มีหน้าที่เพื่อการทรงตัวของร่างกาย
โรคมะเร็งหู (Ear cancer) เป็นโรคพบได้น้อยมากๆไม่ถึง 1%ของโรคมะเร็งทั้งหมด ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น มักเกิดกับเนื้อเยื่อหูชั้นนอกไม่ค่อยพบโรคมะเร็งของหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งของหู จึง หมายถึง “โรคมะเร็งของหูชั้นนอก” ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย
เนื้อเยื่อสำคัญของหูชั้นนอกที่เกิดโรคมะเร็ง เกือบทั้งหมดเกิดจากเนื้อเยื่อ บุผิว ซึ่งเนื้อ เยื่อบุผิวของหูชั้นนอก คือเนื้อเยื่อชนิดเดียวกับเนื้อเยื่อผิวหนัง ดังนั้นโรคมะเร็งของหูชั้นนอกจึงมีธรรมชาติของโรค สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ชนิดของเซลล์มะเร็ง วิธีวินิจฉัย และระยะโรค เช่น เดียวกับโรคมะเร็งผิวหนัง
โรคมะเร็งของหูชั้นนอกเกิดได้ทั้งกับใบหู และเนื้อเยื่อบุผิวในท่อหู เป็นโรคมะเร็งของผู้ ใหญ่ มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่พบในอายุน้อยกว่านี้ได้ โดยผู้หญิงและผู้ชายพบเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการเกิดในหูด้านซ้ายและหูด้านขวาก็ใกล้เคียงกัน และมักพบเกิดกับหูเพียงช้างเดียว
ทั้งนี้จากที่เป็นโรคพบได้น้อยมาก จึงยังไม่มีสถิติการเกิดโรคที่ชัดเจนทั้งทั่วโลก และทั้งในประเทศไทย
โรคมะเร็งหูมีกี่ชนิด?
ดังกล่าวแล้วว่า โรคมะเร็งของหูชั้นนอกเป็นโรคมะเร็งชนิดเดียวกับโรคมะเร็งผิวหนัง ดัง นั้นชนิดของโรคมะเร็งจึงเช่นเดียวกับของโรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งมีได้หลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อย คือชนิดคาร์ซิโนมา (Carcinoma) ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือโรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer) และโรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดเมลาโนมา (Melanoma หรือ Malignant melanoma)
- โรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer) ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ ชนิด เบซาลเซลล์ หรือเรียกย่อว่า บีซีซี (Basal cell Carcinoma หรือ BCC) และชนิดสะความัส หรือเรียกย่อว่า เอสซีซี (Squamous cell carcinoma หรือ SCC)
- โรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดเบซาลเซลล์ (Basal cell Carcinoma) มักพบในอายุ 50-60 ปีขึ้นไป (แต่อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้) ผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย มักพบเกิดในบริเวณใบหู มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อสีคล้ำ เมื่อเป็นน้อยๆอาจมองดูคล้ายกระ แต่จะโตเร็ว และแตกเป็นแผลเรื้อรังได้ เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำ และมักไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่กระ แสเลือด ดังนั้นจึงมักไม่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต แต่อาจลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองได้
- โรงมะเร็งหูชั้นนอกชนิดสะความัส (Squamous cell carcinoma) มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (แต่อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้) ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดเท่ากัน เป็นมะเร็งที่รุนแรงกว่าชนิด เบซาลเซลล์ เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงปานกลาง สามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้ากระแสหิตได้สูงกว่าชนิดเบซาลเซลล์เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือเมื่อเป็นเซลล์มะเร็งที่เซลล์มีการแบ่งตัวสูง ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายสู่ปอด
- โรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดเมลาโนมา (Melanoma หรือ Malignant melanoma ) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีของเนื้อเยื่อบุผิวที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ (Melano cyte) เป็นโรคมะเร็งพบได้ตั้งแต่ในเด็กโต ในคนอายุต่ำกว่า 20 ปีพบมะเร็งชนิดนี้ได้ประมาณ 1 % ของมะเร็งชนิดนี้ทั้งหมด และจะพบสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น จนพบได้สูงสุดในช่วงอายุ 45-65 ปี ต่อจากนั้นจะพบได้น้อยลง ผู้ชายพบได้สูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้สูง ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักไปยัง ปอด กระดูก และสมอง
โรคมะเร็งหูเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งหูชั้นนอก แต่อาจมีบางสาเหตุเป็นปัจ จัยเสี่ยงได้ คือ
- การอักเสบเรื้อรังของหูชั้นนอก และ/หรือของหูชั้นกลาง เช่น หูติดเชื้อ (หูน้ำ หนวก)
- ได้รับแสงแดดสูง ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวกับของโรคมะเร็งผิวหนัง
- อาจจากโรคเรื้อรังของผิวหนัง เช่น โรคผื่นคันเรื้อรัง
โรคมะเร็งหูมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคมะเร็งหูชั้นนอก คือ
- มีของเหลวออกจากหูเรื้อรัง คล้ายหูน้ำหนวก มีกลิ่น อาจมีเลือดปน
- หูด้านเกิดโรค มีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง เพราะมีก้อนเนื้ออุดตันในช่องหู
- มีก้อนเนื้อ หรือแผลเรื้อรัง
- เมื่อโรคลุกลามอาจมีอาการปวดหูด้านเกิดโรค
- เมื่อโรคลุกลาม อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหู หรือลำคอด้านเดียวกับโรค มักไม่เจ็บ
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งหูได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งหูชั้นนอกได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจหู การคลำต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูและลำคอแต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/แผล เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพหูด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กเอ็มอาร์ไอ
นอกจากนั้น คือ การตรวจเพื่อจัดระยะโรค และประเมินสุขภาพผู้ป่วย เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อดูโรคของปอด หัวใจและดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่ปอด และการตรวจเลือดต่างๆ เพื่อดูการทำงานของ ไขกระดูก (ตรวจซีบีซี/CBC) ไตและของตับ
โรคมะเร็งหูมีกี่ระยะ?
ดังกล่าวแล้วว่าโรคมะเร็งหูชั้นนอก เป็นโรคมะเร็งชนิดเดียวกับโรคมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นระยะโรคมะเร็งจึงเช่นเดียวกับของโรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะ และยังขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็งด้วยเช่นกัน ซึ่งได้แก่
- ระยะโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา
- ระยะที่ 1 ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร (ซม.)
- ระยะที่ 2 ก้อนหรือแผลมะเร็งโตเกิน 2 ซม. หรือขนาดใดก็ได้ แต่เป็นเซลล์มะเร็งชนิดมีการแบ่งตัวสูง หรือลุกลามลงลึกใต้ผิวหนัง
- ระยะที่ 3 ก้อนหรือแผลมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่ออื่นที่อยู่ติดผิวหนัง หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงเพียงต่อมเดียวและต่อมมีขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.
- ระยะที่ 4 ก้อนหรือแผลมะเร็งลุกลามเข้ากระดูก หรือเส้นประสาท หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1 ต่อม หรือ ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 3 ซม. หรือ โรคแพร่กระจายเข้ากระ แสโลหิต (เลือด) ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักกระจายเข้าสู่ปอด
- ระยะโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ซึ่งบางระยะของโรคแบ่งย่อยได้อีก แต่มักใช้สำหรับแพทย์โรคมะเร็งเพื่อใช้ช่วยในการพิจารณาวิธีรักษา และเพื่อการศึกษา
โรคมะเร็งหูรักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งหูชั้นนอก เช่นเดียวกับในการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเพราะเป็นโรคมะเร็งชนิดเดียวกัน กล่าวคือ การรักษาหลัก ได้แก่ การผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็ง และผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่มีโรคลุกลามแล้ว หลังจากนั้นจะมีการประเมินระยะโรค และการลุกลามของเซลล์มะเร็งจากก้อนเนื้อและต่อมน้ำเหลืองจากการผ่าตัดโดยการตรวจทางพยาธิวิทยา ซ้ำอีกครั้ง เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค ซึ่งถ้าพบว่าโรคเป็นชนิดรุนแรง เช่น ลุกลามเข้าเส้นประ สาท แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาต่อเนื่องด้วย การฉายรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด ส่วนยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งหูอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งหู ขึ้นกับวิธีรักษา
- การผ่าตัด เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
- ยาเคมีบำบัด คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา : การดูแลตนเอง)
โรคมะเร็งหูรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งหู เป็นโรคมะเร็งมีความรุนแรงปานกลาง มีโอกาสรักษาได้หาย ทั้งนี้โอกาสรักษาหายขึ้นกับ ระยะโรค ชนิดเซลล์มะเร็ง การสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย แต่เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก จึงไม่มีสถิติโดยรวมในอัตรารอดที่ 5 ปีของโรคในแต่ละระยะ ทั้งนี้แพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยและกับครอบครัวผู้ป่วยเป็นรายๆไป
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหูไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหูชั้นนอกให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดัง นั้นที่ดีที่สุด คือ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆของตนเอง เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้ว ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อการวินิจฉัยโรค และการรักษาแต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งหูอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งหูชั้นนอก แต่อาจลดปัจจัยเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดต่อเนื่อง และการป้องกันหูติดเชื้อเรื้อรัง
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมใน บทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
ที่มา https://haamor.com/th/มะเร็งหู/