บทนำ
โรคมะเร็งกระดูก (Bone cancer หรือ Malignant bone tumor) เป็นโรคของเด็กโต วัย รุ่น และวัยหนุ่มสาว ช่วงอายุประมาณ 10-20 ปี แต่อาจพบในช่วงอายุอื่นๆได้บ้างทั้งในเด็กเล็กจนถึงในผู้สูงอายุ ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกพบได้เพียงประมาณ 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยใหม่โรคนี้เพียงประมาณปีละ 650-700 ราย ทั้งนี้พบในเด็กชายได้บ่อยกว่าเด็กหญิงประมาณ 2-3 เท่า ส่วนในประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้ในเพศหญิง 0.8 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนต่อปี และพบในเพศชาย 1.1 รายต่อประชากรชาย 100,000 คนต่อปี
โรคมะเร็งกระดูกมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งกระดูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมิ (Primary bone cancer หรือ Primary bone tumor) และโรคมะเร็งกระดูกทุติยภูมิ (Secondary bone cancer หรือ Secondary bone tumor)
- โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary bone cancer หรือ Primary bone tu mor) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูกเอง ซึ่งเมื่อกล่าวถึง โรคมะเร็งกระดูก จะหมายถึงโรคมะเร็งปฐมภูมิเสมอ และจะกล่าวถึงในบทความนี้/b>
- โรคมะเร็งกระดูกทุติยภูมิ (Secondary bone cancer หรือ Secondary bone tumor) คือ โรคมะเร็งที่พบในกระดูกจากมีโรคมะเร็งชนิดอื่นๆแล้วแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก ที่พบได้บ่อย คือ แพร่กระจายมาจาก โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปอดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งโรคมะเร็งในกลุ่มนี้จะไม่เรียกว่า โรคมะเร็งกระดูก แต่เรียกว่า โรคมะเร็งแพร่กระจายมากระดูก หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก ดังนั้นบทความนี้จึงจะไม่กล่าว ถึงโรคมะเร็งในกลุ่มนี้
โรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมิ หรือโรคมะเร็งกระดูก มีหลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ ชนิด ออสตีโอซาร์โคมา(Osteosarcoma) และชนิด อีวิง บางคนเรียกว่า ยูวิง (Ewing’s sarcoma) โดยพบเป็นประมาณ 60% และ 35% ของโรคมะเร็งกระดูกทั้งหมด ตามลำดับ ดัง นั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งกระดูก จึงหมายถึงโรคมะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้ ซึ่งรวมทั้งในบท ความนี้ด้วย
โรคมะเร็งกระดูกเกิดกับกระดูกส่วนไหนบ้าง?
โรคมะเร็งกระดูกเกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นในร่างกาย แต่มักเกิดกับกระดูกเพียงชิ้นเดียว แต่สามารถแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) สู่กระดูกชิ้นอื่นๆได้ในลักษณะเดียวกับโรคมะ เร็งชนิดอื่นๆ ทั้งนี้โอกาสเกิดในด้านซ้าย และด้านขวาใกล้เคียงกัน
โรคมะเร็งออสตีโอซาร์โคมา มักเกิดกับกระดูกขาและแขน โดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆกับข้อกระดูก โดยพบเกิดกับ
- กระดูกต้นขาประมาณ 50%
- กระดูกขา (ส่วนล่าง) ประมาณ 30%
- กระดูกต้นแขนประมาณ 10%
- กระดูกลำตัว (สะโพก หรือกระดูกซี่โครง) ประมาณ 5%
- กระดูกใบหน้าและกะโหลกประมาณ 3%
- และกระดูกอื่นๆที่เหลือประมาณ 2%
โรคมะเร็งอีวิง พบเกิดกับกระดูกขา และแขนได้สูงกว่ากระดูกชิ้นอื่นๆเช่นเดียวกับโรคมะ เร็งออสติโอซาร์โคมา แต่มักเกิดตรงกลางของท่อนกระดูก นอกจากนั้น พบเกิดกับกระดูกของลำตัวได้สูง ทั้งนี้พบเกิดกับ
- กระดูกลำตัวได้ประมาณ 45%
- กระดูกต้นขาและกระดูกขา ประมาณ 30%
- กระดูกต้นแขน และกระดูกแขนประมาณ 15%
- กระดูกใบหน้าและกะโหลกประมาณ 3%
- และกระดูกอื่นๆที่เหลือประมาณ 5-10%
โรคมะเร็งกระดูกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคมะเร็งกระดูกที่ชัดเจน แต่พบมีปัจจัยเสี่ยง คือ
- พันธุกรรม เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในผู้มีพันธุกรรมผิดปกติบางชนิด
- เชื้อชาติ เพราะพบโรคได้สูงในคนผิวขาวและผิวดำเป็นประมาณ 2 เท่าของคนเอเชีย
- อาจจากการที่กระดูกเคยได้รับรังสีบางชนิดในปริมาณสูงในวัยเด็ก เช่น จากการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ
- เป็นโรคมะเร็งบางชนิดมาก่อน เช่น โรคมะเร็งตาในเด็ก ซึ่งเด็กที่เป็นโรคมะเร็งชนิดนี้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสติโอซาร์โคมาได้สูงกว่าคนทั่วไป
โรคมะเร็งกระดูกมีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญของโรคมะเร็งกระดูก คือ ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็น ต่อเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น จึงอาจคลำได้ก้อนเนื้อตรงกระดูกส่วนที่เกิดโรค หรือในบริเวณนั้นบวม อาจปวดเจ็บ และเป็นสา เหตุให้กระดูกหักได้ (กระดูกหัก เป็นผลสืบเนื่องจากโรค ไม่ใช่สาเหตุ แต่คนทั่วไปมักเชื่อว่า กระดูกหักเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งกระดูก)
ถ้าโรคเกิดใกล้บริเวณข้อ จะส่งผลให้เกิดการติดขัดของการใช้ข้อ หรือข้อยึดติด
เมื่อโรคลุกลาม อาจส่งผลให้ก้อนเนื้อแตกเป็นแผลเลือดออกเรื้อรัง หรือโรคแพร่กระจายเข้าไขกระดูก ก่อให้เกิดภาวะ ซีดและอ่อนเพลีย บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ
เมื่อโรคลุกลาม อีกอาการที่อาจตรวจพบได้ คือ คลำพบต่อมน้ำเหลืองตามข้อพับที่ใกล้กับกระดูกที่เกิดโรค โต คลำได้ ไม่เจ็บเช่น ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต เมื่อโรคเกิดกับกระดูกต้นขา เป็นต้น
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจกระดูกส่วนเกิดโรค และการตรวจภาพกระดูกด้วยเอกซเรย์ธรรมดา หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในกระดูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
นอกจากนั้น คือการตรวจเพื่อจัดระยะโรคมะเร็งและเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูการทำงานของไขกระดูก ตรวจปัสสาวะดูการทำงานของไต ตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไต ตรวจภาพปอด ด้วยเอกซเรย์เพื่อดูโรค ปอด หัวใจ และโรค มะเร็งแพร่กระจายสู่ปอด รวมทั้งอาจมีการตรวจไขกระดูก ภาพตับ และการสะแกนภาพกระดูกทั้งตัว (การสะแกนกระดูก) เพื่อหาการแพร่กระจายของโรคเข้าสู่อวัยวะต่างๆเหล่านั้น ทั้งนี้ขึ้น กับ ระยะโรค ชนิดของเซลล์มะเร็งและดุลพินิจของแพทย์
โรคมะเร็งกระดูกมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งกระดูกแบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และบางระยะยังแบ่งย่อยได้อีกเพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยในการรักษาและในการศึกษา แต่ที่แตกต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น คือ ระยะโรคยังขึ้นกับการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เซลล์มะเร็งแบ่ง ตัวต่ำ และเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง ซึ่งทั้ง 4 ระยะของโรค คือ
- ระยะที่ 1 ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามอยู่จุดเดียวในกระดูก และเป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ
- ระยะที่ 2 ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามจุดเดียวในกระดูก แต่เป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวสูง
- ระยะที่ 3 ก้อนแผลมะเร็งลุกลามหลายจุดในกระดูก หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้าง เคียงกระดูก
- ระยะที่ 4 โรคมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ซึ่งมักแพร่กระจายสู่ปอด ไขกระดูกและสู่กระดูกชิ้นอื่นๆ
โรคมะเร็งกระดูกรักษาอย่างไร?
การรักษาหลักของโรคมะเร็งกระดูก คือการผ่าตัดและยาเคมีบำบัด ส่วนรังสีรักษาจะใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือเมื่อมีโรคแพร่กระจายแล้ว และการใช้ยารักษาตรงเป้ายังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกระดูกอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกระดูก ขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อใช้วิธีรักษาหลายวิธีร่วมกัน ในเด็กเล็กผู้สูงอายุ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงและโรคที่ก่อการอักเสบของเนื้อ เยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมูน
- การผ่าตัด เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และเพิ่มโอกาสทำให้กระดูกในส่วนที่ได้รับรังสีหัก
- ยาเคมีบำบัด คือ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด ภาวะเลือดออกง่ายจากมีเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
- ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาด แผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้
โรคมะเร็งกระดูกรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งกระดูกจัดเป็นโรคมีความรุนแรง โอกาสรักษาได้หายนอกจากขึ้นกับระยะโรคแล้ว ยังขึ้นกับการผ่าตัด (ถ้าผ่าตัดไม่ได้ เช่น จากสุขภาพ หรือจากตำแหน่งของโรค ความรุน แรงโรคจะสูงขึ้น) การตอบสนองของโรคต่อยาเคมีบำบัด ชนิดของเซลล์มะเร็ง (ชนิดอีวิง มีอัตรารอดที่ 5 ปีต่ำกว่า) ขนาดของก้อนเนื้อ (ยิ่งก้อนโต ความรุนแรงโรคยิ่งสูง) อายุ และสุข ภาพของผู้ป่วย
ในโรคมะเร็งชนิดออสตีโอซาร์โคมา
- ระยะที่ 1 อัตรารอดที่ 5 ปี ประมาณ 75-80%
- ระยะที่ 2 ประมาณ 60-75%
- ระยะที่ 3 ประมาณ 30-50%
- ระยะที่ 4 อัตรารอดที่ 2 ปี ประมาณ 0-10%
ในโรคมะเร็งอีวิง
- ระยะที่ 1 อัตรารอดที่ 5 ปีประมาณ 70%
- ระยะที่ 2 ประมาณ 60-70%
- ระยะที่ 3 ประมาณ 20-40 %
- ระยะที่ 4 อัตรารอดที่ 2 ปีประมาณ 0-5%
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระดูกไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระดูกตั้งแต่ยังไม่มีอาการ และปัจจัยเสี่ยงต่อการการเกิดโรคมักเป็นปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นที่ดีที่สุด คือ การเอาใจใส่ของผู้ปกครองและในผู้ใหญ่ คือ การสังเกตตนเอง เมื่อพบมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคแต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งกระดูกอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งกระดูก ดังนั้นจึงเช่นเดียวกับในหัวข้อการตรวจคัดกรอง คือ การรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวแล้ว เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคแต่เนิ่นๆ
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมใน การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และบทความเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
ที่มา https://haamor.com/th/มะเร็งกระดูก/