ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :
ทวารหนัก ระบบทางเดินอาหาร ระบบมะเร็งวิทยาอาการที่เกี่ยวข้อง :
อุจจาระเป็นเลือดบทนำ
โรคมะเร็งทวารหนัก (Anal cancer หรือ Anal carcinoma) เป็นโรคพบได้ไม่บ่อยนัก แต่กำลังพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันพบประมาณ 1-2%ของโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด (กระเพาะอาหารและลำไส้) โดยทั่วโลกในปี 2002 พบผู้ป่วยใหม่ที่เกิดโรคนี้ ประมาณ 30,400 คน ซึ่งประมาณ 90% มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV, Human papillomavirus, ไวรัสในกลุ่มเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก) จากเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย
โรคมะเร็งทวารหนัก เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ อายุที่พบโรคได้สูงสุด อยู่ในช่วง 60-65 ปี พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชาย ประมาณ 1.5-4 เท่า
ในประเทศไทย ช่วงพ.ศ. 2544-2546 พบมะเร็งทวารหนักในผู้หญิง 0.1 รายต่อประชา กรหญิง 100,000 คนต่อปี และในผู้ชาย 0.2 รายต่อประชากรชาย 100,000 คนต่อปี
โรคมะเร็งทวารหนักมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งทวารหนักมีได้หลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยเป็นประมาณ 90-95% คือ ชนิด สะความัส (Squamous cell carcinoma) และชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งทวารหนัก จะหมายถึงโรคมะเร็งทั้งสองชนิดนี้ ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย
โรคมะเร็งทวารหนักเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งทวารหนัก แต่พบปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- มีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหูด โรคเริม โดยเฉพาะการติดเชื้อไว รัสเอชพีวีดังกล่าวแล้วในตอนต้น และไวรัสเอชไอวี (HIV)
- มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- มีคู่นอนหลายคน โดยเฉพาะตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
- เคยเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งช่องคลอด หรือโรคมะเร็งอวัยวะเพศของผู้หญิง
- การใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
- การสูบบุหรี่
- อาจจากมีโรคอักเสบเรื้อรังของทวารหนัก เช่น โรคฝีคัณฑสูตร (แผลอักเสบติดเชื้อเรื้อรังระหว่างทวารหนักและผิวหนังรอบๆปากทวารหนัก)
โรคมะเร็งทวารหนักมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบได้บ่อยของโรคมะเร็งทวารหนัก คือ
- มีก้อนเนื้อผิดปกติบริเวณทวารหนัก
- มีแผลเรื้อรังบริเวณทวารหนัก
- มีสารคัดหลั่งเรื้อรังจากปากทวารหนัก และ/หรือคันเรื้อรังบริเวณปากทวารหนัก
- ปวด/เจ็บรอบทวารหนัก หรือในทวารหนัก หรือเมื่อถ่ายอุจจาระ
- อุจจาระเป็นเลือด
- อาจท้องผูก หรือท้องผูกสลับท้องเสียผิดปกติ
- เมื่อโรคลุกลามมาก อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต อาจเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้ อาจโตเพียงข้างเคียว หรือทั้งซ้ายและขวา
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งทวารหนักได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งทวารหนักได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ การตรวจทางทวารหนัก อาจมีการตรวจส่องกล้องทวารหนัก และ/หรือลำไส้ใหญ่ แต่ที่ให้ผลแน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/แผล เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งเมื่อทราบผลตรวจแน่นอนแล้ว จะมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อประเมินระยะของโรค เช่น ตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ดูโรคมะเร็งกระจายสู่ปอด ตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูการลุกลามแพร่กระจายของโรคยังต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ช่องท้อง ตับ และอวัยวะอื่นๆในช่องท้อง ตรวจเลือดต่างๆ และตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินสุขภาพผู้ป่วย
โรคมะเร็งทวารหนักมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งทวารหนักมี 4 ระยะ และบางระยะอาจแบ่งเป็นระยะย่อยได้อีก ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยในการให้การรักษาและใช้ในการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 ระยะหลัก ได้แก่
- ระยะที่ 1 ก้อน/แผลมะเร็งโตน้อยกว่า 2 เซนติเมตร (ซม.)
- ระยะที่ 2 ก้อน/แผลมะเร็งโตมากกว่า 2 ซม.
- ระยะที่ 3 โรคมะเร็งลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงทวารหนัก
- ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลทวารหนัก เช่น ในอุ้งเชิงกราน ในช่องท้อง และ/หรือเหนือกระดูกไหปลาร้า และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต (เลือด) ไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักเข้าสู่ปอด และตับ
โรคมะเร็งทวารหนักรักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งทวารหนัก มักเป็นการรักษาร่วมกันทั้ง 3 วิธี คือ การผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด ส่วนยารักษาตรงเป้ายังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและยายังมีรา คาแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทวารหนักอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทวารหนัก ขึ้นกับวิธีรักษา ดังนี้
- การผ่าตัด เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ ซึ่งบางครั้งอาจต้องมีการผ่าตัดทำทวารเทียม (ถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง) การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ
- รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีรักษา (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และ ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้องและ/หรืออุ้งเชิงกราน)
- ยาเคมีบำบัด คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
โรคมะเร็งทวารหนักรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งทวารหนักเป็นโรคมีความรุนแรงปานกลาง ทั้งนี้อัตรารอดชีวิตที่ 5 ปีภายหลังการรักษา
- ในโรคระยะที่ 1 ประมาณ 75-80%
- ระยะที่ 2 ประมาณ 70-80%
- ระยะที่ 3 ประมาณ 30-50%
- ระยะที่ 4 ประมาณ 0-10%
อย่างไรก็ตามนอกจากระยะของโรคแล้ว ความรุนแรงของโรคยังขึ้นกับ การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง การตอบสนองของโรคต่อรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทวารหนักไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทวารหนักให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวแล้วในหัวข้ออาการ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคได้แต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งทวารหนักอย่างไร?
การป้องกันโรคมะเร็งทวารหนักเต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่สามารถลดโอกาสเกิดลงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน การสูบบุหรี่
อนึ่ง การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก) เพื่อป้องกันโรคมะเร็งทวารหนักเนื่องจากสัมพันธ์กับไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อโรคมะเร็งปากมด ลูก ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งคาดว่าในไม่ช้านี้ อาจมีข้อมูลเพียงพอที่จะแนะนำต่อสาธารณ ชนได้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนตัวนี้ยังมีราคาแพง ดังนั้นการนำมาใช้คงมีอุปสรรคพอสมควร
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมใน การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในบทการดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
ที่มา https://haamor.com/th/มะเร็งทวารหนัก/