ภาวะขาดไอโอดีน (Iodine deficiency)


1,215 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ต่อมไทรอยด์  ระบบต่อมไร้ท่อ  โภชนาการ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ภาวะขาดไอโอดีน 

บทนำ

ภาวะขาดไอโอดีน (Iodine deficiency) คือ อาการ หรือภาวะผิดปกติที่เกิดจากร่างกายได้รับธาตุอาหารไอโอดีนไม่เพียงพอต่อมไทรอยด์ จึงไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน (มีไอ โอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญ) ได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ภาวะขาดไอโอดีน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในภูมิภาคที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล หรือห่าง ไกลจากทะเลมากๆ เนื่องจากในดินจะมีไอโอดีนอยู่น้อย ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2550 องค์การอนามัยโลก ประมาณว่าทั่วโลกมีคนที่ขาดไอโอดีนถึงประมาณ สองพันล้านคน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบที่สูงของประเทศกำลังพัฒนา เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการเติมเกลือไอโอดีนในเกลือแกง/เกลือที่ใช้บริโภค

ภาวะขาดไอโอดีนพบได้ในคนทุกอายุ ตั้งแต่ทารกในครรภ์ เด็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้โอกาสเกิดภาวะนี้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่มักพบ เกิดอาการในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย

ไอโอดีน เป็นธาตุอาหาร/เกลือแร่ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของเกลือโซเดียมไอโอดายด์ (Sodium iodide) หรือเกลือโปแตสเซียมไอโอดายด์ (Potassium iodide) เป็นธาตุอาหารที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร

อาหารที่มีไอโอดีนอุดมสมบูรณ์ คือ อาหารทะเล สาหร่ายทะเล อาหารที่ใช้เกลือทะเล/เกลือแกงเพื่อเพิ่มความเค็ม เช่น ขนมปังน้ำผลไม้กล่อง เนย โยเกิรต์ นม นมถั่วเหลือง และอาหารเช้าซีเรียล (Cereal) ที่เพิ่มเสริมอาหารด้วยธาตุอาหารไอโอดีน

ร่างกายดูดซึมไอโอดีนในกระเพาะอาหารและในลำไส้เล็กตอนบน หลังจากดูดซึมไอโอ ดีนจะเข้าสู่กระแสโลหิต เซลล์ต่อมไทรอยด์จะจับกินไอโอดีน เพื่อนำไปสร้างเป็นไทรอยด์ฮอร์ โมน โดยไอโอดีนส่วนเกินส่วนใหญ่จะถูกขับออกทางไตในน้ำปัสสาวะ และส่วนน้อยทางอุจจาระ และทางเหงื่อ

ร่างกายต้องการไอโอดีนวันละเท่าไร?

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไป ต่อปริมาณไอโอดีนที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutri tion Board, Institute of Medicine, National Academies) คือ

อายุ ปริมาณไอโอดีน (ไมโครกรัมต่อวัน)
0 ถึง 6 เดือน 110
7 ถึง 12 เดือน 130
1 ถึง 8 ปี 90
ผู้ชาย
9 ถึง 13 ปี 120
14 ถึงมากกว่า 70 ปี 150
ผู้หญิง
9 ถึง 13 ปี 120
14 ถึงมากกว่า 70 ปี 150
หญิงตั้งครรภ์
14 ถึง 50 ปี 220
หญิงให้นมบุตร
14 ถึง 50 ปี 290

ไอโอดีนมีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ไอโอดีนเป็นธาตุอาหารสำคัญ และจำเป็นต่อร่างกายในทุกๆช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิดในครรภ์ เด็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งร่างกายนำไอโอดีนไปใช้โดยผ่านทางต่อมไทรอยด์ ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญควบคุมการใช้พลังงานของร่างกาย ในการทำงานต่างๆของเซลล์ทุกชนิด โดยเฉพาะ สมอง หัวใจ และกล้ามเนื้อ ในการเจริญเติบโตของเซลล์ทุกชนิด โดยเฉพาะในช่วงเป็นทารกในครรภ์ (ต่อเซลล์สมอง เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และกระดูก) ควบ คุมอุณหภูมิ ความร้อนหนาวของร่างกาย และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย

นอกจากนั้น ในผู้หญิง ไอโอดีนยังอาจเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเต้านมอีกด้วย โดยมีรายงานการรักษาโรคก้อนในเต้านมชนิดที่เป็นพังผืดและถุงน้ำ (Fibro cystic breast disease) โดยการให้กินไอโอดีนเสริมอาหาร ซึ่งได้ผลในผู้ป่วยบางราย

เมื่อได้รับไอโอดีนสูงเกินความต้องการของร่างกายอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดโทษ/ผล ข้างเคียง หรืออาการ หรือภาวะหรือโรคต่างๆได้เช่นกัน ที่พบบ่อย คือ หลายคนจะแพ้ไอโอดีน เช่น เกิดผื่นคัน หรือบางคนอาจแพ้ถึงช็อกได้ บางคนอาจทำให้เป็นสิวมากขึ้น กล้ามเนื้อมือและเท้า ชา อ่อนแรง อาจมีสับสน อาจเกิดได้ทั้งโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (เพราะไอโอดีนที่มากเกินไปจะไปยับยั้งการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน) หรือภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (จากต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนมาสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มผิดปกติ) ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ และโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์นอกจากนั้นมีบางการศึกษา ตั้งข้อสังเกตว่า ในบางคน การได้รับไอโอดีนมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้

ภาวะขาดไอโอดีนมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ภาวะขาดไอโอดีน มักเกิดจากในอาหารที่บริโภคประจำทุกวันขาดหรือมีไอโอดีนต่ำ หรือร่างกายมีภาวะต้องการไอโอดีนสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย คือ

  • อาศัยอยู่ในที่สูง หรือที่ห่างไกลจากทะเล เพราะดังกล่าวแล้วว่า แหล่งอาหารสำ คัญของไอโอดีน คือ อาหารทะเล และเกลือทะเล ทั้งนี้เพราะในดินจะมีไอโอดีนต่ำ
  • คนที่ใช้เกลือสินเธาว์/เกลือจากดินเค็ม
  • การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร เป็นภาวะที่ร่างกายต้องการไอโอดีนสูงขึ้น เพื่อการเลี้ยงดูทารกในครรภ์ และช่วยในการสร้างน้ำนม

อนึ่ง ในบางครั้ง ร่างกายไม่ได้ขาดไอโอดีน แต่ต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนไปใช้ไม่ได้ เพราะอาหาร หรือยาบางชนิดที่บริโภคต่อเนื่อง มีคุณสมบัติต้านการจับกินไอโอดีนของเซลล์ต่อมไทรอยด์ จึงทำให้ต่อมไทรอยด์ขาดไอโอดีน จึงสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนลดลง จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการของการขาดไอโอดีน (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ได้ เรียกอาหารและยาที่มีคุณ สมบัตินี้ว่า Goitrogen

ยาที่มีผลข้างเคียงเป็น Goitrogen เช่น ยาต้านไทรอยด์ฮอร์โมน และยาบางชนิดที่ใช้รัก ษาโรคทางจิตเวช

อาหารที่มีสารมีคุณสมบัติเป็น Goitrogen เช่น กะหล่ำ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง หัวผัก กาด ข้าวฟ่าง ข้าวเดือย แต่การบริโภคอาหารเหล่านี้ด้วยการปรุงสุกจะทำลายสารตัวนี้ลงได้

แพทย์วินิจฉัยคอพอกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่ามีคอพอกได้จากการตรวจคลำต่อมไทรอยด์ และตรวจหาสาเหตุของคอพอกได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัย ลักษณะประ เภทอาหารที่บริโภคเป็นประจำ การเจ็บป่วยในปัจจุบันและในอดีต ประวัติในครอบครัว และประ วัติใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้อง และการตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือด้วยการกินน้ำยาแร่รังสี ซึ่งเป็นการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า ไทรอยด์สแกน (Thyroid scan) หรือบางครั้งอาจต้องเจาะ/ดูดเซลล์จากต่อมไทรอยด์เพื่อการวินิจฉัยโรคบางโรค เช่น โรคมะเร็ง หรือ โรคต่อมไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต

ภาวะขาดไอโอดีนมีอาการอย่างไร?

อาการขาดการขาดไอโอดีน สำหรับทารกในครรภ์ คือ ร่างกายและสมองเจริญเติบโตช้า ซึ่งจะก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิด และภาวะปัญญาอ่อนไปตลอดชีวิต

อาการจากการขาดไอโอดีนตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ เรียกว่าภาวะ Cretinism คือเด็กจะแคระแกรน ปัญญาอ่อน ตาเข หูหนวกเป็นใบ้ และกล้ามเนื้อชักกระตุก

แต่ถ้าขาดไอโอดีนในเด็กหลังคลอดแล้ว จะพบว่า เด็กเติบโตช้า มีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ และอาจมีต่อมไทรอยด์โต (คอพอกอาการจากการขาดไอโอดีนในผู้ใหญ่ที่สำคัญ คือ ต่อมไทรอยด์โต (คอพอก) และอาจมีอาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น อ้วนฉุ เชื่องช้า หัวใจเต้นผิดปกติ บวมเท้า

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดไอโอดีนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดไอโอดีน ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติกินอาหารไอโอดีนต่ำ ประ วัติถิ่นที่อยู่อาศัย ประวัติการกินยาต่างๆ การตรวจร่างกาย และการตรวจปริมาณไอโอดีนในน้ำปัสสาวะด้วยการเก็บปัสสาวะนาน 24 ชั่วโมง

รักษาภาวะขาดไอโอดีนอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดไอโอดีน คือ การเสริมอาหารด้วยธาตุไอโอดีนเพื่อเพิ่มไอโอ ดีนในอาหารที่บริโภค เช่น ในเกลือ หรือในน้ำปลา และในอาหารต่างๆ เช่น นม นมถั่วเหลือง อาหารเช้าซีเรียล (Cereal) และบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ไทรอยด์ฮอร์โมนชดเชย

อนึ่งในเด็ก หรือในคนที่เริ่มขาดไอโอดีน ต่อมไทรอยด์ที่โต (คอพอก) อาจยุบขนาดกลับเป็นปกติได้ภายหลังได้อาหารเสริมไอโอดีน แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ที่โตอยู่นานแล้ว หรือต่อมมีขนาดโตมาก ต่อมจะยุบลงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ภาวะขาดไอโอดีนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

การขาดไอโอดีนในช่วงเป็นทารกในครรภ์ และในวัยเด็ก ถือว่าสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และต่อภาวะเชาว์ปัญญา ดังได้กล่าวแล้ว แต่การขาดไอโอดีนในผู้ใหญ่ มักเป็นภาวะที่รักษาได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความ เรื่อง โรคของต่อมไทรอยด์)

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการขาดไอโอดีนจากอาหาร โดยการกินอาหารทะเล และใช้เกลือจากทะเล หรือเกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหาร แต่ไม่ควรกินยาไอโอดีนเสริมอาหาร เพราะมีผลข้างเคียง/โทษได้หลายอย่าง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ประ โยชน์และโทษของไอโอดีน

และเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ หรือเมื่อเด็กโตช้า ควรพบแพทย์เสมอเพื่อหาสาเหตุ เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันภาวะขาดไอโอดีนอย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะขาดไอโอดีนได้โดยการกินอาหารที่มีไอโอดีนสมบูรณ์ การเลือกใช้เกลือ และน้ำปลาที่ทำจากเกลือทะเล หรือเกลือที่เสริมไอโอดีน โดยเฉพาะในเด็ก วัยรุ่น ภาวะตั้งครรภ์ และภาวะให้นมบุตร

เมื่อวางแผนตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์ เพื่อการดูแล และควรเพิ่มอาหารที่สม บูรณ์ด้วยไอโอดีนตามคำแนะนำของแพทย์

อนึ่ง เนื่องจากร่างกายต้องการไอโอดีนในปริมาณไม่มากนัก และการกินไอโอดีนเสริมอาหารปริมาณสูงๆต่อเนื่อง อาจมีโทษได้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ประโยชน์และโทษ ดังนั้นจึงไม่ควรกินไอโอดีนในรูปแบบของยาเกลือไอโอดีนเสริมอาหารโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
ที่มา   https://haamor.com/th/ภาวะขาดไอโอดีน/

อัพเดทล่าสุด