ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง


1,240 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ไขกระดูก  ระบบโลหิตวิทยา  ระบบมะเร็งวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

บทนำ

เม็ดเลือดขาว คือ เม็ดเลือดที่มีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ดังนั้น เมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ร่างกายจึงติดเชื้อได้ง่าย มักรุนแรง และอาจถึงเสียชีวิตได้

ดังนั้น ในการรักษาโรคมะเร็ง เมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ จึงเป็นสาเหตุให้แพทย์ต้องพักการรักษาทั้งเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษารอจนกว่าเม็ดเลือดขาวจะกลับสู่ภาวะปกติ จึงจะให้การรักษามะเร็งต่อ เพราะการให้การรักษาช่วงเม็ดเลือดขาวต่ำ อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ดังกล่าวแล้ว

นอกจากนั้น การมีเม็ดเลือดขาวต่ำ อาจเป็นสาเหตุให้เซลล์มะเร็งดื้อต่อยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษาได้ และการที่ต้องชะลอการรักษาออกไป จะส่งผลให้เซลล์มะเร็งปรับตัวดื้อต่อการรักษาได้อีก เช่นกัน

ดังนั้น ภาวะเม็ดเลือดขาวปกติ จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการรักษาโรคมะเร็งให้ได้ผลดี

ทำไมยาเคมีบำบัด และการฉายรังสีจึงทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ?

เม็ดเลือดขาว เป็นเซลลไขกระดูกที่อยู่ในกระแสเลือด และในไขกระดูก เป็นเซลล์ที่ไวต่อยาเคมีบำบัด และรังสีรักษามาก มากกว่าเซลล์ชนิดอื่นๆ ดังนั้นเมื่อได้รับยาสารเคมี หรือ การฉายรังสี จึงกระทบถึงเม็ดเลือดขาวในกระแสโลหิต เป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดขาวตาย เม็ดเลือดขาวในเลือดจึงต่ำลง

นอกจากนั้น ยาสารเคมี และรังสี เมื่อเข้าไปในร่างกายจะมีผลต่อไขกระดูก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ไวต่อรังสีเช่นกัน ทั้งยาเคมีบำบัดและรังสี จึงเป็นสาเหตุให้เซลล์ไขกระดูกบาดเจ็บเสียหาย ลดการสร้างเม็ดเลือดขาวลง เม็ดเลือดขาวจึงลดต่ำลง

จะทราบได้อย่างไรว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำ ?

เม็ดเลือดขาวต่ำไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติแต่อย่างไร ดังนั้น แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยสามารถทราบได้ว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำจากการเจาะเลือดตรวจค่าเม็ดเลือด ที่เรียกว่า ซีบีซ (CBC, complete blood count) ซึ่งในการรักษาโรคมะเร็ง แพทย์จะมีการตรวจซีบีซี อย่างน้อยทุกสัปดาห์ และอาจบ่อยขึ้นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือ เมื่อเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยเริ่มลดลง

ดังนั้น การจะทราบว่า มีเม็ดเลือดขาวต่ำ คือ การตรวจเลือดซีบีซี เป็นระยะๆในระหว่างรักษา

เม็ดเลือดขาวต่ำมีอาการอย่างไร?

เมื่อเม็ดเลือดขาวต่ำ อาการแสดงทางร่างกายเบื้องต้นไม่มี ยกเว้น อาจอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แต่โดยทั่วไป ตรวจพบเมื่อผู้ป่วยพบแพทย์ด้วยการแสดงการติดเชื้อแล้วซึ่ง อาจประกอบด้วย ไข้ (มีได้ทั้งไข้สูง และไข้ต่ำ) และอาการจากการติดเชื้อในระบบต่างๆของร่างกาย ที่พบบ่อย ได้แก่ ไอ มีเสมหะเมื่อมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ปัสสาวะสีขุ่น ปวดแสบเวลาปัสสาวะ เมื่อมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และท้องเสีย อาจร่วมกับปวดท้อง เมื่อมีการติดเชื้อในทางเดินอาหาร

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ?

  • การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ที่สำคัญ คือ
      1. ควรมีปรอทวัดไข้ทางปาก (เรียนรู้วิธีวัดปรอทจากพยาบาล) วัดปรอทเช้า–เย็น และจดบันทึกอุณหภูมิทุกวัน เมื่อพบมีไข้ ควรรีบแจ้ง พยาบาล/แพทย์/เจ้าหน้าที่ห้องฉายแสง
      2. ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อแพทย์ไม่สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม เพื่อให้ร่างกายขับของเสียออกทางปัสสาวะ จะช่วยฟื้นฟูไขกระดูกได้วิธีหนึ่ง
      3. รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ พยายามให้ครบห้าหมู่ในทุกมื้ออาหาร และในทุกๆวัน โดยเฉพาะอาหารหมู่โปรตีนเพราะ เป็นอาหารสำคัญมากในการเสริมสร้างไขกระดูก 4.พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายได้ดี และฟื้นกลับมามีภูมิต้านทานคุ้มกันโรคที่ดี
      4. สังเกตอาการแสดงว่าร่างกายได้รับเชื้อโรค เช่น ท้องเสีย ไอ เจ็บคอ หนาวสะท้าน เหนื่อยหอบ
      5. รับประทานยาลดไข้เมื่อวัดปรอทได้สูงตั้งแต่ 38°C (เซลเซียส) และใช้น้ำอุณหภูมิปกติช่วยเช็ดตัว โดยเฉพาะตามข้อพับต่างๆ (เพราะมีเส้นเลือดอยู่ การเช็ดตัวในส่วนนี้ จึงลดอุณหภูมิร่างกายได้ดี) หลังจากนั้นถ้ายังมีไข้สูง หรือ ไข้ไม่ลง (ภายใน 24 ชั่วโมง) ให้รีบพบแพทย์ หรือ พบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
      6. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • การดูแลตนเองเมื่อทราบแล้วว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำ: ข้อควรปฏิบัติ
    1. ดูแลความสะอาดร่างกาย ผม เล็บ เช่น สระผมทุกวัน อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตัดเล็บมือ เล็บเท้าให้สั้น ล้างมือบ่อยๆให้สะอาดอยู่เสมอ
    2. เสื้อผ้า ของใช้ ควรทำความสะอาด และแยกไม่ปะปนกับผู้อื่น
    3. รักษาความสะอาดที่พักอาศัย ควรให้อากาศถ่ายเทได้ดี เครื่องนอนควรซักให้สะอาด ในห้องพักไม่ควรมีดอกไม้สด หรืออาหารวางค้างไว้
    4. แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง พบทันตแพทย์ตามนัด หรือ อย่างน้อยทุก 6 เดือน
    5. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ควรเป็นอาหารที่ทำเอง หรือจากร้านที่สะอาดถูกสุขอนามัย ไว้ใจได้
    6. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร (ประมาณวันละ 8-10 แก้ว) เมื่อแพทย์ไม่สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม
    7. นอนหลับวันละ 6-8 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้อาจไปพักผ่อนต่างจังหวัด (ในวันที่ไม่มีการรักษา) ที่มีธรรมชาติบริสุทธิ์ เช่น ชายทะเล ภูเขา เพื่อให้จิตใจเบิกบาน แจ่มใส ซึ่งอาจช่วยให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น
    8. รับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อให้ครบตามแพทย์สั่ง
    9. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง 
  • การดูแลตนเองเมื่อทราบแล้วว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำ: ข้อควรหลีกเลี่ยง (งดปฏิบัติ)
      1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในชุมชนที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น ตลาด โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ถ้าจำเป็นต้องไป ควรใช้หน้ากากอนามัย ปิดปาก–จมูก และไปในช่วงไม่แออัด เช่น เมื่อห้างเริ่มเปิด เมื่อเสร็จธุระให้รีบกลับบ้าน
      2. งดรับประทานผักสด หรือ ถ้าอยากรับประทานมีข้อควรพิจารณาดังนี้
        • ผักสด ถ้าอยากรับประทานควรล้างให้สะอาดแล้วต้มให้สุก
        • ผลไม้ ควรล้างให้สะอาดแล้วปลอกเปลือกและรับประทาน ให้หมดไม่วางทิ้งไว้นาน
        • น้ำผลไม้ ควรคั้นเองโดยเน้นล้างให้สะอาดก่อนคั้นหรือ เมื่อดื่มชนิดพร้อมดื่ม (ผลไม้กระป๋อง หรือ น้ำผลไม้กล่อง) ควรเลือกชนิดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว (ดูกรรมวิธีผลิตจากข้างกระป๋อง/กล่อง หรือ จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน)
      3. ห้ามวัดปรอททางทวารหนักเด็ดขาดเพราะอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นฉีกขาดและนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงได้
      4. งดการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะมักมีเชื้อโรคอยู่มากมาย ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะในภาวะมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่ำ
      5. หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับผู้ที่ไม่สบาย ผู้ป่วย หรือเป็นโรคติดต่อ เช่น เป็นหวัด อีสุกอีใส หรือคน/เด็กที่เพิ่งได้รับวัคซีนเชื้อเป็น (เช่น วัคซีนโปลิโอ)
      6. ไม่กินโยเกิร์ต หรือ นมเปรี้ยว เพราะมีเชื้อที่มีชีวิต ซึ่งอาจแข็งแรงจนก่อโรคในยามเรามีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
      7. งดอยู่ใกล้สัตว์เลี้ยง เพราะมักมีเชื้อโรคอยู่ตามร่างกาย ขน หรือ สารคัดหลั่งของสัตว์เหล่านั้น
  • กรณีที่ต้องการดูแลเพิ่มเป็นพิเศษ
  1. มีภาวะอักเสบของเยื่อบุต่างๆจากการรักษา เช่น การอักเสบในช่องปาก เพราะอาจส่งผลกระทบหลายประการทั้งปัญหาการพูด หรือกลืนอาหาร เกิดความเจ็บปวดจากบาดแผล และก่อการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
    • รักษาความสะอาดในช่องปากโดยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเลือกแปรงสีฟันชนิดขนอ่อนนุ่มที่สุด และยาสีฟันชนิดไม่เผ็ด (ยาสีฟันเด็ก)
    • อมบ้วนปากบ่อยๆ หลังอาหาร และหลังเครื่องดื่มทุกครั้ง สูตรที่แนะนำคือ น้ำสะอาด 1 ลิตร ผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ทำวันต่อวัน
    • เลือกรับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม รสไม่จัด (ไม่เปรี้ยว ไม่เผ็ด) ไม่ร้อนจัด
    • ระวังอย่าให้ท้องเสีย เพราะเพิ่มโอกาสติดเชื้อสูงขึ้นมาก
  2. ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อ และได้รับยาปฏิชีวนะแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง หนาวสั่น ซึมลง ท้องเสียรุนแรง เจ็บปาก–คอมาก ควรรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน

ดูแลตนเองอย่างไรเพื่อป้องกันเม็ดเลือดขาวต่ำ?

การป้องกันภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เมื่อรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา ที่สำคัญ ได้แก่

  1. กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ในทุกมื้อ และทุกวัน เน้น อาหารโปรตีนสูง เช่น ไข่ (เมื่อกินอาหารได้น้อย ไม่ต้องกังวลเรื่องกินไข่แดง กินได้ทั้งไข่ขาวและไข่แดง วันละ 2 ฟอง) เนื้อสัตว์ ปลา นม(เมื่อกินแล้วไม่ท้องเสีย) ตับ และนมถั่วเหลือง และ เมื่อมีปัญหา หรือ ความกังวลเรื่องกินอาหารควรปรึกษา แพทย์/พยาบาลเสมอ
  2. ทำจิตให้แจ่มใส เข้าใจในโรค และในชีวิต เพราะจิตใจ อารมณ์ที่แจ่มใสเบิกบานมีความสุข กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวให้มีภูมิคุ้มกันอยู่เสมอ
  3. ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อแพทย์ไม่สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม เพราะน้ำจะช่วยขับเศษยาเคมีบำบัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ไขกระดูกจึงฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ จะช่วยความแข็งแรงของทั้งร่างกายและจิตใจ
  5. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อร่างกายได้ซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายสึกหรอ และเพื่อสุขภาพจิต อารมณ์ที่แจ่มใส
  6. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ควรรีบพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงเสมอเมื่อ มีไข้ (ทั้งไข้สูง และไข้ต่ำ) โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ร่วมกับท้องเสีย หรือ ปวดท้อง หรือ กินอาหาร ดื่มน้ำไม่ได้ หรือ ได้น้อย
ที่มา   https://haamor.com/th/ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด-รังสีรักษา/

อัพเดทล่าสุด