ทั่วไป
ปัญหาการขาดเอนไซม์ หรือน้ำย่อยแลคเตส (Lactase enzyme) พบได้บ่อย ผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเตสจะมีปัญหาเมื่อกินนม (นมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สำคัญ คือ นมวัว) เนื่อง จากนมมีส่วนประกอบสำคัญคือ น้ำตาลแลคโตส (Lactose) ต้องอาศัยเอนไซม์แลคเตสย่อยจึงจะดูดซึมเข้าไปในผนังลำไส้ได้ การขาดหรือพร่องเอนไซม์นี้ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ดังนั้นต้องหาสาเหตุเรื่องท้องเสียซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและท้องเสียมีสาเหตุได้หลายอย่าง
เอนไซม์แลคเตสมีหน้าที่อย่างไร?
แลคเตส เป็นเอนไซม์ในกลุ่ม Disaccharidase ซึ่งพบในผนังลำไส้เล็กส่วนที่หยักยื่นจากผนังลำไส้ที่เรียกว่า Brush border โดยเป็นเอนไซม์ที่ย่อยน้ำตาลในกลุ่ม Disaccharide ซึ่งรวมถึง น้ำตาลแลคโตส
Disaccharide เป็นน้ำตาลที่มี 2 โมเลกุลของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide) เชื่อมกันอยู่ เมื่อถูกย่อยด้วยเอนไซม์Disaccharidase จะได้น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งจะถูกดูดซึมที่ผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานที่สำคัญ
มีกลไกอย่างไรในการย่อยน้ำตาลแลคโตสและในการขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส?
แลคโตส เป็นน้ำตาลในกลุ่มน้ำตาล Disaccharide โดยประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส (Glucose) และของน้ำตาลกาแลคโตส (Galactose) พบในนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และในอาหารที่มีนมเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ การดูดซึมน้ำตาลแลคโตสเข้าสู่ผนังของลำไส้เล็กและเข้าสู่กระแสเลือด อาศัยเอนไซม์แลคเตส
ถ้าไม่มีเอนไซม์แลคเตส หรือมีเอนไซม์ลดลง น้ำตาลแลคโตสจะไม่ถูกย่อยและดูดซึม น้ำตาลที่ไม่ถูกดูดซึมนี้ จะผ่านลำไส้เล็กไปสู่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดการหมัก (Fermentation) ของน้ำตาลแลคโตส ยังผลให้เกิดก๊าซจำนวนมากในลำไส้ ได้แก่ ก๊าซ ไฮโดรเจน (Hydrogen) คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) และมีเทน (Methane) จึงทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา
นอกจากก๊าซจำนวนมาก น้ำตาลที่ไม่ถูกดูดซึมและส่วนที่เป็นผลจากการบูดเปรี้ยว (การหมัก) ทำให้เกิดความดันในลำไส้ใหญ่สูงขึ้น เรียกว่า ความดันออสโมติก (Osmotic pressure)
ตามหลักวิทยาศาสตร์ จากความดันออสโมติกที่สูงขึ้นนี้ น้ำจะถูกดึงจากที่ที่มีความดันออสโมติกต่ำ ไปยังบริเวณที่มีความดันออสโมติกสูง ดังนั้นจึงมีการดึงน้ำเข้ามาในลำไส้ใหญ่มากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีอาการท้องเสีย (Diarrhea) คือถ่ายเป็นน้ำออกมามาก
ผู้ที่มีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสมีอาการอย่างไร?
ผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเตส อาจไม่มีอาการหากได้รับนมที่มีแลคโตสปริมาณไม่มากนัก แต่เมื่อปริมาณของนมเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจึงจะมีอาการ ซึ่งได้แก่ อาการลมมากในท้อง ท้องลั่นโครก คราก มีการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน (ในเด็กโตมักมีอาการอาเจียน)
ผู้ที่ขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสเป็นโรคทางกรรมพันธุ์หรือเกิดภายหลัง?
ผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเตสนี้ มีหลายกลุ่ม ทั้งที่เป็นกรรมพันธุ์ และไม่เป็นกรรมพันธุ์
- ผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเตสตั้งแต่เกิด (Congenital lactase deficiency) กลุ่มนี้พบน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อได้รับน้ำตาลแลคโตสในนม มีรายงานทั่วโลกน้อยกว่า 50 ราย ผู้ป่วยมีความผิดปกติที่ยีน/จีน (Gene) โดยได้รับยีนผิดปกติจากพ่อและแม่ทั้งสองฝ่าย ดังนั้นสาเหตุนี้จึงเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
- ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส (Primary adult type-hypolactasia) เกิดจากการลดลงของเอนไซม์หลังจากการหย่านมในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ ซึ่งรวมทั้งในคน โดยปกติจะพบเอนไซม์แลคเตสในผนังของลำไส้เล็กในช่วงเด็กอยู่ในครรภ์ระยะแรกๆปริมาณน้อย ต่อมาเอนไซม์จะมากขึ้น และสูงสุดหลังคลอด จนถึงอายุ 3 ปี หลังจากนั้นเอนไซม์นี้จะลดลงตามอายุ การลดลงจะแตกต่างกันตามชาติพันธุ์ การขาดเอนไซม์ในลักษณะนี้พบได้ประมาณ 15% ในชนผิวขาว ประมาณ 40% ในผู้ใหญ่ชาวเอเชีย และประมาณ 85% ในคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งความผิดปกตินี้จะมีความผิดปกติในระดับยีนเช่นกัน จึงเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
- การขาดเอนไซม์แลคเตสตามหลังการติดเชื้อ หรือการอักเสบเรื้อรังของลำไส้เล็ก (Secondary lactose intolerance) เนื่องจากมีการทำลายผนังลำไส้เล็ก พบได้ในโรคซีลิแอก (Celiac disease) หรือการติดเชื้อไวรัสโรตา อาการของผู้ป่วยจะเป็นชั่วคราวและจะดีขึ้นเมื่อลำไส้เล็กกลับสู่สภาพปกติ สาเหตุนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่ามีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส?
เนื่องจากเมื่อมีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส จะทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนมากในร่างกาย และอุจจาระมีสภาพเป็นกรด การวินิจฉัยคือ การวัดค่าก๊าซไฮโดรเจนที่มากขึ้นในลมหายใจ (Lastose hydrogen breath test) เมื่อได้รับน้ำตาลแลคโตส หรือการตรวจอุจจาระ ว่าอุจจาระมีภาวะเป็นกรดหรือไม่ ซึ่งวิธีหลังทำได้ง่าย เป็นวิธีตรวจในเด็กเล็ก ที่ไม่ทำให้เด็กเกิดอันตราย
ประวัติอาการกินนมที่มีแลคโตสแล้วถ่ายท้องเสียไม่หยุด พอหยุดนมที่มีแลคโตสแล้วอาการดีขึ้นก็เป็นการช่วยวินิจฉัยได้
การตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงไม่จำเป็นต้องทำทุกราย แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม
การขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสเหมือนกับการแพ้นมวัวหรือไม่?
การขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส และการแพ้นมวัวโรค อาการ ภาวะ) นี้ไม่เหมือนกัน กลไกการเกิดคนละอย่าง การแพ้นมวัวอาจมีผื่นแพ้ หรือมีอาการทางระ บบหายใจร่วมด้วย ทั้งสองโรค/ภาวะ (
รักษาภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส ได้แก่
- ให้งดหรือลดนมที่มีน้ำตาลแลคโตส โดยให้ได้โปรตีนและแคลเซียมจากแหล่งอื่นแทน เช่น ให้นมที่ทำจากถั่วเหลือง นอกจากนั้น ควรทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่รับประทานมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบด้วยหรือไม่ หากมี มีมากน้อยเพียงใด โดยอ่านจากฉลากที่ติดไว้ เนื่องจากบางคนสามารถรับแลคโตสได้ปริมาณหนึ่งและไม่เกิดอาการ กลุ่มนี้ควรให้อาหารที่มีแลคโตสน้อยลง เช่น เนยแข็งบางชนิดมีปริมาณแลคโตสน้อย
- การเพิ่มเอนไซม์แลคเตส อาหารบางชนิด เช่น โยเกิร์ตที่ใส่แบคทีเรียลงไปทำให้มีการสร้างเอนไซม์แลคเตสได้ส่วนหนึ่ง เมื่อรับประทานโยเกิร์ตนี้ ก็อาจช่วยให้มีเอนไซม์ย่อยน้ำ ตาลแลคโตสมากขึ้น นอกจากนี้ บางโรงพยาบาล มีเอนไซม์แลคเตสขาย โดยให้ผู้ป่วยกินก่อนได้รับอาหารที่มีน้ำตาลแลคโตส
อาหารอะไรบ้างที่มีแลคโตสเป็นส่วนประกอบ?
นอกจากนมที่เห็นชัดเจนแล้ว มีอาหารมากมายที่มีแลคโตสเป็นส่วนประกอบ ที่เราคุ้นเคย เช่น ซีเรียล (Cereal) ไอศกรีมน้ำสลัด ช็อคโกแลต อาหารเสริมของเด็ก เค้ก และเบเกอรี่ต่างๆ เป็นต้น
เมื่อไรควรไปพบแพทย์?
ควรพบแพทย์เมื่อ
- ดื่มนมแล้ว มีอาการ ท้องเสีย อาเจียน มีลมแน่นท้อง ปวดท้อง
- เมื่อมีอาการท้องเสียโดยไม่แน่ใจว่าเป็นอาการของการขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส หรือแพ้นมวัว หรือจากการติดเชื้อ ทั้งนี้เพราะ อาการท้องเสียเกิดได้จากหลายสาเหตุ และที่สำคัญคือ ผลตามมาจากการท้องเสียทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส คือ กรรมพันธุ์ และอาการท้องเสีย ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ผู้ที่ขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสเป็นโรคทางกรรมพันธุ์หรือเกิดภายหลัง
เนื่องจากผู้ที่ขาดเอนไซม์จากความผิดปกติของยีน/จีน (Gene) ตั้งแต่กำเนิดพบน้อย ภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสที่พบได้บ่อยๆ มักเป็นผลตามจากการท้องเสียที่นำมาก่อน ดังนั้นภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสจึงมักเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ส่วนผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่เอนไซม์แลคเตสลดลง บางคนสามารถดื่มนมได้ปริมาณหนึ่ง เช่น วันละ 1 แก้ว โดยไม่เกิดอาการอะไร แต่ถ้าดื่มมากกว่านั้นแล้วเกิดอาการท้องเสีย ก็ควรจำ กัดปริมาณนมไว้ในขนาดที่รับได้ ขนาดที่ไม่ทำให้เกิดอาการ (ต้องค่อยๆทดสอบหาปริมาณที่เหมาะสมเอง เพราะจะแตกต่างกันในแต่ละคน) เพราะนมเป็นแหล่งโปรตีน แคลเซียม และวิตา มินหลายอย่างที่หาง่ายและสะดวก
ดูแลเด็กที่มีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสอย่างไร?
การดูแลเด็กที่มีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส คือ ให้ดื่มนมที่ไม่มีแลคโตส เช่น นมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นนมที่แนะนำให้ใช้แทนนมวัวได้ หรือนมที่ทำจากข้าว (Rice milk) แต่นมจากข้าว ควรมีการเติมธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินดีด้วย
ป้องกันการขาดแคลเซียมจากการดื่มนมไม่ได้ในเด็กและในผู้ใหญ่ได้อย่างไร?
แคลเซียมมีมากในพืชที่เติบโตจากดิน ซึ่งพืชดูดแคลเซียมมาจากดิน พบมากในงาดำ (มีแคลเซียมสุงกว่าในนมวัว) นอกจากนี้ยังพบมากใน ถั่วเหลือง ถั่วแดงหลวง เม็ดบัว และผลิต ภัณฑ์จากเมล็ดพืชเหล่านี้ เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว ซีอิ้ว
รายชื่อพืชที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงสุด
รายชื่อพืชที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูง 10 อันดับแรก จากรายงานของสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คือ
- ใบยอ (จ.ปัตตานี) 841 มิลลิกรัม/100กรัม
- ใบชะพลู 601 มิลลิกรัม/100 กรัม
- ผักแพว (จ.อุบลฯ) 573 มิลลิกรัม/100 กรัม
- เห็ดลม 541 มิลลิกรัม/100 กรัม
- ใบยอ 469 มิลลิกรัม/100 กรัม
- มะขามสด 429 มิลลิกรัม/100 กรัม
- แค (ยอด) 395 มิลลิกรัม/100 กรัม
- ผักกะเฉด 387 มิลลิกรัม/100กรัม
- สะเดา (ยอด) 354 มิลลิกรัม/100 กรัม
- สะแล 349 มิลลิกรัม/100กรัม
ป้องกันการขาดวิตามินดีจากการดื่มนมไม่ได้ในเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างไร?
ร่างกายต้องการวิตามินดีวันละ 400-800 ยูนิต/หน่วย (Unit) เพื่อดึงแคลเซียมเข้ามาในกระดูกทำให้กระดูกแข็งแรง และช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง แหล่งของวิตามินดี ได้แก่ น้ำ มันตับปลา เนื้อปลา และวิตามินดีเม็ด (อาหารเสริม)
นอกจากนี้ แสงแดดเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวิตามินดีที่ประหยัดและทำให้ร่างกายแข็ง แรง การออกกำลังกายโดยเปิดผิวหนังให้ได้รับแสงแดด ในช่วงที่แสงแดดไม่แรงมากจนทำอัน ตรายต่อผิวหนัง (เวลา 8.00-10.00 และ 15.00-17.00น) เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ร่างกายจะสามารถสร้างวิตามินดีได้ประมาณ 200 ยูนิต
ที่มา https://haamor.com/th/ภาวะขาดเอนไซม์แลคเตส/