ภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Hyperhidrosis)


1,084 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ผิวหนัง 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

เหงื่อออกมาก 

บทนำ

ต่อมเหงื่อ (Sweat gland) มี 2 ชนิด คือ

  • ชนิดที่สร้างเหงื่อ เรียกว่า ต่อม Eccrine (Eccrine sweat gland) ซึ่งกระจายอยู่มากมายทั่วทั้งร่างกาย ยกเว้นที่ริมฝีปาก ปลายอวัยวะเพศชาย และบริเวณปุ่มกระสัน (Clitoris) ของอวัยวะเพศหญิง โดยจะมีมากในบริเวณ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า
  • และชนิดสร้างกลิ่นเรียกว่า ต่อม Apocrine (Apocrine sweat gland) ซึ่งมีอยู่เฉพาะจุด คือ บริเวณรักแร้ อวัยวะเพศภายนอก และบริเวณรอบๆทวารหนัก ซึ่งต่อมชนิดนี้จะเริ่มทำงานใน ช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบต่อมเหงื่ออีกชนิดที่ เรียกว่า ต่อม Apoeccrine (Apoeccrine sweat gland) เป็นต่อมมีเฉพาะที่รักแร้ และเริ่มทำงานเมื่อเข้าสู่วัย รุ่น มีลักษณะคล้ายทั้ง 2 ต่อมที่ได้กล่าวแล้ว แต่จะสร้างเหงื่อได้คล้ายกับต่อม Eccrine แต่มีการหลั่งเหงื่อที่มากกว่าต่อม Eccrine ถึง 10 เท่า และพบจำนวนต่อมได้มากกว่าคนทั่วไปมากเมื่อมีภาวะหลั่งเหงื่อมากในบริเวณรักแร้

ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือเรียกว่า “ภาวะหลั่งเหงื่อมาก หรือภาวะเหงื่อท่วม (Hyperhidrosis)” ได้แก่ ภาวะที่ต่อมเหงื่อชนิด Eccrine สร้างเหงื่อมากผิดปกติจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำ เช่น การเข้าสังคม มีกลิ่นตัว และ/หรือต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย

ซึ่งเมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ พยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อใด แต่มักเกิดเฉพาะในช่วงกลางวัน ในช่วงกลางคืนจะปกติ เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากปฐมภูมิ (Primary hyperhidrosis หรือ Idiopathic hyperhidrosis หรือ Essential hyperhidrosis)

แต่เมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเกิดขึ้นโดยรู้สาเหตุ เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากทุติยภูมิ (Secondary hyperhidrosis)

เมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเป็นเพียงบางแห่งของร่างกาย เช่น รักแร้ ฝ่ามือ และ/หรือฝ่าเท้า ซึ่งมักออกในช่วงกลางวัน เรียกว่าภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด (Focal hyperhidro sis) และเมื่อออกมากผิดปกติทั่วทั้งตัว เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว (Generalized hyperhidrosis) ซึ่งเหงื่ออาจออกกลางวัน กลางคืน ทั้งกลางวันกลางคืน หรือเป็นเวลาช่วงไหนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ

ในภาวะปกติ สามารถพบช่วงมีเหงื่อออกมากกว่าปกติได้ เช่น ในการออกกำลังกาย อากาศร้อน อากาศอบอ้าว กินอาหารเผ็ดหรืออาหารร้อน ตื่นเต้น เครียด หรือมีไข้

ภาวะหลั่งเหงื่อมาก เป็นภาวะพบได้บ่อย แต่สถิติที่แท้จริงยังไม่ทราบ เพราะมีผู้ป่วยเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มาพบแพทย์ด้วยภาวะนี้ แต่ประมาณว่า ในประชากรทั้งหมดสามารถพบภาวะนี้ได้ประมาณ 0.6-1% โดยพบภาวะนี้ได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบในผู้หญิงได้บ่อยเท่ากับในผู้ชาย

ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด พบว่า

  • ประมาณ 50% เกิดที่รักแร้ โดยอาจเกิดที่รักแร้จุดเดียว หรือร่วมกับที่ฝ่ามือ และ/หรือฝ่าเท้า
  • ประมาณ 29%เกิดที่ฝ่าเท้าที่เดียวและ/หรือร่วมกับจุดอื่นๆ
  • และประมาณ 25% เกิดที่ฝ่ามือที่เดียวและ/หรือร่วมกับจุดอื่นๆ
 

ทั้งนี้ ประมาณ 80% ของเหงื่อออกมากผิดปกติที่ ฝ่ามือ และ/หรือรักแร้ จะพบอาการได้ตั้งแต่เป็นเด็ก โดย 75% เกิดในช่วงวัยรุ่น และมีการศึกษาพบว่า ในคนที่มีภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดนี้ ประมาณ 62% มีอาการมานานแล้ว โดยจำไม่ได้ว่าเริ่มมีอาการเมื่ออายุเท่าไร ประมาณ 33% มีอาการเมื่อเริ่มเป็นวัยรุ่น และเพียงประมาณ 5% ที่อาการเริ่มเกิดหลังเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ภาวะหลั่งเหงื่อมากเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ภาวะหลั่งเหงื่อมาก

ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด: สาเหตุที่ชัดเจนของภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด ยังไม่ทราบ ดังนั้นภาวะนี้ จึงเป็น ภาวะหลั่งเหงื่อมากปฐมภูมิ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากการทำงานเพิ่มมากขึ้นของต่อมเหงื่อเฉพาะจุดจากการทำงานผิดปกติของประสาทอัต โนมัติ (Autonomic nervous system) ที่ควบคุมต่อมเหงื่อที่จุดนั้นๆ ซึ่งประสาทอัตโนมัตินี้ ทำ งานสัมพันธ์กับสมองส่วนลึกในสมองใหญ่ ที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งควบ คุมการหลั่งฮอร์โมนต่างๆของร่างกายรวมทั้งเป็นสมองส่วนที่สัมพันธ์กับภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ดังนั้นภาวะหลั่งเหงื่อมากจึงสัมพันธ์กับอารมณ์/จิตใจได้

ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด พบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม โดยพบว่ามีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้สูงถึงประมาณ 30-65% และในกลุ่มคนที่มีความผิดปกติของจีน/ยีน (Gene) บางชนิดจะพบภาวะนี้ได้ประมาณ 25% แต่ในคนที่มีจีน/ยีนนั้นๆปกติ พบภาวะนี้ได้เพียงประ มาณ 1%

ภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว เป็นภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติที่ทราบสาเหตุ จึงจัดเป็น ภาวะหลั่งเหงื่อมากทุติยภูมิ ทั้งนี้สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ

 

ภาวะหลั่งเหงื่อมากมีอาการอย่างไร?

อาการของภาวะหลั่งเหงื่อมาก เมื่อเกิดเฉพาะที่โดยไม่รู้สาเหตุ มักมีเพียงอาการเดียว คือ มีเหงื่อออกมากผิดปกติ เฉพาะจุด ที่พบได้บ่อย คือ ที่รักแร้ รองลงมาตามลำดับ คือ ฝ่าเท้า และฝ่ามือ แต่อาจพบที่ตำแหน่งอื่นได้ แต่น้อยมาก เช่น หลัง หู หรือ หนังศีรษะ ทั้งนี้อาการเกิดขึ้นโดยไม่มีตัวกระตุ้น จะเกิดเวลาใดก็ได้ แต่เกิดเฉพาะเวลากลางวัน ไม่เกิดช่วงกลางคืน ทั้งนี้จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะนี้ได้ ผู้นั้นต้องมีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติโดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยอย่างน้อยนาน 6 เดือน และต้องเกิดร่วมกับอีก 2 ใน 6 ลักษณะ ดังนี้

  1. ต้องมีเหงื่อออกผิดปกติเหมือนๆกันทั้งสองข้างของร่างกาย (คือทั้ง ซ้ายและขวา)
  2. เหงื่อออกมากจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  3. เหงื่อออกมาก เกิดบ่อยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  4. อาการเกิดก่อนอายุ 25 ปี
  5. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะนี้
  6. เหงื่อออกช่วงกลางคืนปกติ

อาการภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว จะเกิดเวลากลางวัน หรือกลางคืนก็ได้ หรือเกิดทั้งวัน หรือ เกิดเป็นเวลา ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ มักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆเสมอ เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร ผอมลงโดยไม่รู้สาเหตุ ไอเรื้อรัง หรือ ปัสสาวะมากและบ่อย เป็นต้น ทั้งนี้อาการร่วมจะเป็นไปตาอาการของแต่ละสาเหตุ ดังนั้นจึงแตกต่างกันไปโดยไม่มีอาการเฉพาะจากภาวะนี้

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุภาวะหลั่งเหงื่อมากได้อย่างไร?

การวินิจฉัยหาสาเหตุ ขึ้นกับประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ (เช่น การเจ็บป่วยในอดีตและในปัจจุบัน และการใช้ยาต่างๆ) และการตรวจร่างกาย ซึ่งสามารถให้การวินิจฉัยได้เลย โดยไม่ต้องมีการตรวจอื่นๆทางห้องปฏิบัติการเมื่อเป็นเหงื่อออกมากผิดปกติเฉพาะที่

แต่เมื่อเหงื่อออกทั้งตัว ต้องมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการร่วมอื่นๆ ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) การตรวจเลือดหาเชื้อโรคมาลาเรีย การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือด และการเอกซเรย์ปอดเพื่อช่วยวินิจฉัยวัณโรค

รักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมาก ได้แก่

  • การรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดโดยไม่รู้สาเหตุ (ภาวะปฐมภูมิ) มีหลายวิธีอาจใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือร่วมกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อแต่ละวิธีการ และดุล พินิจของแพทย์
    • โดยทั่วไปจะเริ่มด้วย ยาทาเฉพาะที่ที่เรียกว่า Antiperspirants ทายาตรงตำ แหน่งที่เกิดอาการ โดยทาหลังอาบน้ำหลังเช็ดบริเวณนั้นให้แห้ง ซึ่งยามีคุณสมบัติก่อให้เกิดการอุดตันของท่อเหงื่อและเกิดการฝ่อตัวของต่อมเหงื่อ โดยทายาติดต่อกันทุกคืนจนกว่าเหงื่อจะออกน้อยลง ต่อจากนั้นจะทยอยทายาห่างออกไป เช่น เป็นทุกสัปดาห์ หรือ ทุก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งยามักได้ผลภายใน 2 วันถึง 4 สัปดาห์ เมื่อหยุดใช้ยาอาการมักกลับเป็นใหม่ได้อีก
    • ยาลดการทำงานของประสาทอัตโนมัติ ซึ่งมีทั้งชนิดทาเฉพาะที่ และชนิดกิน
    • การรักษาโดยวิธีที่เรียกว่า ไอออนโตฟอรีสิส (Iontophoresis) คือการใช้กระ แสไฟฟ้าพลังงานต่ำเป็นตัวนำโมเลกุลของน้ำธรรมดา หรือของตัวยา เพื่อให้เข้าสู่ผิวหนังเฉพาะที่มีต่อมเหงื่อที่เกิดอาการโดยตรง ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมเหงื่อในบริเวณที่ได้รับกระแสไฟ ฟ้าลดการทำงานลง การรักษาอาจต้องทำอย่างน้อย 2-3 ครั้งจึงจะเห็นผล และอาจต้องให้การรักษาซ้ำทุกๆ 1 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับคืนมาอีก
    • การฉีดยาโบทอก (Botox หรือ Botulinum toxin) ซึ่งจะลดการทำงานของประ สาทอัตโนมัติ จึงลดอาการเหงื่อออก ซึ่งก็ต้องฉีดซ้ำเมื่ออาการกลับคืนมาอีก โดยแต่ละครั้งของการใช้ยา จะเห็นผลภายในประมาณ 1-4 สัปดาห์ และจะควบคุมอาการได้นานประมาณ 3-5 เดือน
    • การผ่าตัด หรือการจี้ปมประสาท (Ganglion) ของประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมต่อมเหงื่อในตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งมักเห็นผลทันทีภายหลังรักษา โดยพบอาการย้อนกลับเป็นซ้ำได้ประมาณ 1%ใน 1 ปี และประมาณ 2-5%ในปีต่อๆมา
  • การรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัวที่ทราบสาเหตุ (ภาวะทุติยภูมิ) คือการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น การรักษาโรคมะเร็ง โรคมาลาเรีย โรคเบาหวาน หรือการปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
 

ภาวะหลั่งเหงื่อมากรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ภาวะหลั่งเหงื่อมากที่เกิดเฉพาะจุดชนิดปฐมภูมิ มักเป็นภาวะไม่รุนแรง ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง โดยเฉพาะในการเข้าสังคม จากการอับชื้น และมีกลิ่น เช่น กลิ่นตัวเมื่อเกิดในบริเวณรักแร้ และกลิ่นเท้าเมื่อเกิดที่ฝ่าเท้า เป็นต้น นอกจากนั้น ผิวหนังซึ่งเปียกชื้นเสมอ จะติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย และเกิดอาการผื่นคันง่าย

ส่วนความรุนแรงของภาวะนี้เมื่อเกิดทั่วตัวโดยรู้สาเหตุ (ชนิดทุติยภูมิ) ขึ้นกับสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละโรค เช่น เมื่อเกิดจากโรคเบาหวาน ความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลาง แต่เมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง ความรุนแรงโรคอยู่ในระดับสูง เป็นต้น ส่วนผลข้างเคียงจากอาการเหงื่อออกมาก เช่นเดียวกับในการมีเหงื่อออกเฉพาะที่ แต่เกิดขึ้นทั่วตัว เช่น ขึ้นผื่น การติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย และการมีกลิ่นตัว

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง และการพบแพทย์เมื่อมีภาวะหลั่งเหงื่อมาก ได้แก่

  • เมื่อมีภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดและไม่ทราบสาเหตุ (ภาวะชนิดปฐมภูมิ)
    • สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบาย เหงื่อระบายได้ดี เช่น เป็นผ้าฝ้าย 100%
    • มีเสื้อผ้าสำรอง โดยเฉพาะถุงเท้าสำรอง ติดตัวเสมอ
    • อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือมากกว่านี้ ตามความสะดวก และการมีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะบริเวณรักแร้
    • รักษาเท้าให้แห้งเสมอ เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา
    • มีรองเท้าสำรอง ใส่รองเท้าสลับคู่ทุกวันโดยมั่นใจว่ารองเท้าต้องแห้ง และสะอาด หรือใส่รองเท้าหัวเปิดในผู้หญิง และถอดรองเท้าบ่อยๆเมื่อมีโอกาส
    • เลือกประเภทอาหารที่ไม่เพิ่มเหงื่อ เช่น ไม่กินเผ็ดจัด และจำกัดประเภทอาหารที่ให้กลิ่นทางเหงื่อ เช่น กระเทียม หัวหอม ต้นหอม
    • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงเพื่อชดเชยเหงื่อที่เสียไป เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ
    • ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายพอควร เพื่อควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
    • เรียนรู้ที่จะอยู่กับอาการนี้ และปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
    • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัด เมื่อเหงื่ออกมากขึ้น เมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติกลางคืนต่อเนื่อง มีอาการผิดปกติต่างๆร่วมด้วย (เช่น มีไข้ต่ำๆ) หรือ เมื่อกังวลในอาการ
  • เมื่อมีภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว (ชนิดทุติยภูมิ) ควรรีบพบแพทย์ภายใน 2 สัปดาห์เสมอเพื่อหาสาเหตุ และเพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ ยกเว้นเมื่อมีไข้สูง และไข้ไม่ลงหลังกินยาลดไข้ ควรพบแพทย์ภายใน 2-3 วัน หรือ 1-2 วันในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ คนมีโรคเรื้อรังประจำตัว)
 

ป้องกันภาวะหลั่งเหงื่อมากอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดชนิดไม่ทราบสาเหตุ(ชนิดปฐมภูมิ) เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุนั่นเอง ดังนั้นเมื่อมีอาการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ประจำวัน จึงควรพบแพทย์

ส่วนการป้องกันภาวะชนิดทุติยภูมิ คือ การรักษาสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตให้แข็ง แรง ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดและได้ผลที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณเหมาะสม ไม่ให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน จำกัดอาหารแป้ง น้ำตาล ไขมัน หวาน และเค็ม เพิ่ม ผัก และผลไม้ นอกจากนั้น คือการรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ
ที่มา   https://haamor.com/th/ภาวะหลั่งเหงื่อมาก/

อัพเดทล่าสุด