ฟันคุด (Impacted tooth)


1,217 ผู้ชม


ฟันคุดคึออะไร?

คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดคิดว่า ฟันคุด (Impacted tooth) คือฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตาม ปกติในช่องปากเท่านั้น แต่ที่ถูกต้อง ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้เรียกว่า Un-erupted tooth ซึ่งสามารถแยกได้เป็น ฟันคุด (Impacted tooth) กับ ฟันที่ฝังตัวในกระดูกขากรรไกรใต้เหงือก (Embedded tooth) ซึ่งฟันที่ฝังตัว (Embedded tooth) นี้จะอยู่นิ่ง อาจไม่ปวด ยกเว้นกดทับแนวเส้นประสาท ไม่มีแรงที่งอกขึ้นในช่องปาก (without eruptive force) ซึ่งตรงข้ามกับฟันคุด (Impacted tooth) ที่จะพยายามงอกขึ้น แต่ไม่สามารถขึ้นได้ เพราะฟันเอียงมีการชนกระทบ (Impact) กับฟันข้างเคียง และมีพื้นที่กระดูกขากรรไกรไม่เพียงพอให้ฟันงอกขึ้นได้ ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่ที่สาม (Lower third molar) ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง บางทีจะเรียกว่า ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย เป็นฟันที่งอกหลังสุด โดยปกติแล้วฟันซี่นี้จะขึ้นในช่วงอายุประมาณ 16-25 ปี ฝรั่งจะเรียกฟันกรามล่างซี่ที่สาม (Lower third molar) ว่า “Wisdom tooth” แปลว่า ฟันของคนที่มีปัญญา ไม่ใช่ฟันที่มีปัญญา เพราะฟันซี่นี้จะขึ้นในช่วงอายุที่คนนั้นเริ่มเป็นผู้ใหญ่ มีปัญญาดีที่จะเข้าใจเรื่องต่างๆ แต่ฟันซี่นี้มักสร้างปัญหาเพราะเป็นฟันคุด คนที่ไม่เคยรู้จักความทุกข์เป็นอย่างไรก็จะรับรู้ได้ในครั้งนี้ เพราะการปวดฟันเป็นความทุกข์ ฟันซี่อื่นก็อาจพบเป็นฟันคุดได้ แต่พบน้อย

อะไรเป็นสาเหตุทำให้ฟันคุด?

สาเหตุของฟันคุด เกิดเพราะกระดูกขากรรไกรมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ฟันงอกขึ้น ทำให้ฟันเอียง มีการชนกระทบ (Impact) กับฟันข้างเคียงที่อยู่ติดกัน คือฟันกรามล่างซี่ที่สอง (Lower second molar) มีแรงชนที่มาจากฟันงอก (Eruptive force) แต่ขึ้นไม่ได้จึงกลายเป็นฟันคุด เกิดการอักเสบ ทำให้ปวด บวม อ้าปากไม่ได้กว้าง ถ้าติดเชื้อมักมีไข้ร่วมด้วย คนสมัยนี้ที่สวยหรือหล่อมักมีฟันคุด ซื่งไม่ได้ผิดปกติ คนที่มีกระดูกขากรรไกรล่างกว้างแบบคางเหลี่ยมๆหรือคางล่างยาวยึ่น คนกลุ่มนี้ฟันกรามล่างซี่ที่สามมักไม่คุด ดังนั้นฟันคุดจึงอยู่คู่กับคนสวยคนหล่อ

ทันตแพทย์ทราบได้อย่างไรว่ามีฟันคุด?

ทันตแพทย์ทราบว่ามีฟันคุด โดยการตรวจในช่องปากบริเวณฟันกรามล่างซี่ที่สาม (Lower third molar) ถ้าพบว่าฟันไม่โผล่ขึ้นมา หรีอขื้นได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ก็ให้สงสัยว่าอาจจะมีฟันคุดอยู่ แต่เพื่อให้แน่ใจ ต้องถ่ายภาพรังสี (X-ray) ก็จะทำให้ทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งไหนบ้าง เห็นลักษณะการเอียงของฟันคุด รวมถึงพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในกระดูกขากรรไกร

รักษาฟันคุดอย่างไร?

ฟันคุดนี้ต้องให้ทันตแพทย์ถอนออกเท่านั้น ความจริงคือการผ่าตัด โดยก่อนผ่าตัด จำ เป็นต้องถ่ายภาพรังสี เพื่อดูลักษณะการคุดของฟันและพยาธิสภาพก่อนถอน การถอนฟันคุดออกจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากปล่อยทิ้งไว้ จะปวด บวมรุนแรงมาก แต่พอมีวิธีที่ทำให้บรรเทาอา การปวดฟันคุดลงบ้าง โดยการรับประทานยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ กลุ่ม Non Steroid Anti-Inflammatory Drug (NSAID หรือ เอนเสดส์) เช่น Ibuprofen ซึ่งการใช้ยาแก้ปวด และ ยาปฎิชีวนะ ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันคุดได้ แต่ไม่หายขาด พอหายปวดต้องไปถอนออก อย่าปล่อยทิ้งไว้ ถ้าปวดตอนสอบจะทำให้พาลสอบได้คะแนนไม่ดีไปด้วย คนที่มีปัญญาอย่าปล่อยให้ ฟันของคนมีปัญญา (Wisdom tooth) สร้างปัญหาทีหลัง

ป้องกันไม่ให้ฟันคุดปวดทำได้อย่างไร?

การป้องกันฟันคุดปวดมีทางเดียวคือ การถ่ายภาพรังสี (X-ray) เมื่ออายุได้ประมาณ 16 ปี เพื่อดูฟันกรามล่างซี่ที่สาม (Lower third molar) และ ฟันกรามบนซี่ที่สาม (Upper third molar) รวมทั้งหมด 4 ซี่ (ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา) ดูลักษณะการคุดของฟันและพยาธิสภาพ ถ้าพบว่าเป็นฟันคุดก็ให้นัดทันตแพทย์ถอนออกก่อนที่จะปวด การถอนหรือผ่าตัดในช่วงที่อายุยังน้อย สามารถทำได้ง่าย แผลหายเร็วและผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต่ำ แน่นอนว่าฟันคุดทำให้ปวดรุนแรง บวม ติดเชื้อได้ ขนาดบวมแก้มโย้เลยทีเดียว การถอนออกก่อนจึงดีที่สุด

ทำไมถึงต้องถอนฟันคุดออกด้วยการผ่าตัด?

การต้องผ่าตัดถอนฟันคุด เพราะฟันยังฝังอยู่ในกระดูก และเอียงชนฟันข้างเคียง จึงต้องถอนโดยการผ่าตัดฟันคุด เหตุผลการผ่าตัดฟันคุดออก คือ

  • เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก ไม่สา มารถทำความสะอาดได้ดี ทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายได้ง่าย
  • เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงซี่ที่ถูกชน และฟันกรามซี่ที่สอง (Second molar) ผุ
  • เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูกรอบๆฟันคุด จากแรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา จะทำลายกระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียง
  • ฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดอาจขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ ในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบๆบริเวณนั้น
  • เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ ทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย
  • ช่วยลดการเกิดฟันเก ฟันซ้อนกัน

ขั้นตอนการผ่าฟันคุดเป็นอย่างไร?

วิธีการเอาฟันคุดออกจะต่างจากการถอนฟัน เพราะฟันคุดส่วนใหญ่จะล้มเอียงตัดกับฟันข้างเคียง การดึงฟัน ถอนฟันแบบธรรมดาไม่สามารถดึงออกได้ จึงต้องใช้วิธีการผ่าตัด ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นจะเปิดเหงือกให้เห็นฟัน แล้วใช้เครื่องมือกรอกระดูกออก ตัดฟัน แซะฟันออกมา ล้างทำความสะอาดแผลและเย็บแผล สามารถกลับบ้านได้ ใช้เวลาทำไม่นาน สักครึ่งชั่วโมงแล้วแต่ระดับความยากง่ายของฟันคุด เครื่องมือของแพทย์และวิธีการได้ปรับพัฒนาขึ้นมาก การผ่าฟันคุดจึงไม่ใช่เป็นเรื่องน่ากลัว อย่าปล่อยฟันคุดไว้สร้างปัญหา

การผ่าตัดฟันคุดมีอันตรายหรือผลแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง?

อาการที่พบได้หลังการผ่าตัดฟันคุดคือ จะมีอาการปวดและบวมบริเวณแก้มด้านที่ทำผ่า ตัดสัก 4-6 วัน อ้าปากได้น้อยลง แต่ยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะที่ทันตแพทย์จ่ายให้จะบรรเทาอาการลงได้

ผลข้างเคียงแทรกซ้อนของการผ่าตัดฟันคุดมีน้อย ที่พบได้ เช่น เลือดไหลจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ มีอาการชาของริมฝีปากล่างนานผิดปกติ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ทันที แต่ผลข้างเคียงแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก

หลังผ่าตัดฟันคุดจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง?

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดฟันคุด คือ

  • กัดผ้าก๊อซตรงแผลผ่าตัดนานประมาณ 1 ชั่วโมง
  • ห้ามบ้วนปากด้วยยาบ้วนปากในวันแรก เพราะอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด
  • ประคบน้ำแข็งบริเวณแก้ม เฉพาะวันที่ทำผ่าตัด จะช่วยลดการปวด การบวม
  • รับประทานยาให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่ง
  • งดออกกำลังกาย หรือ เล่นกีฬาหนักๆในวันที่ถอนฟัน
  • กลับมาตัดไหมหลังผ่าตัดตามนัด ถ้าใช้ไหมละลายก็ไม่ต้องตัดไหมหลังผ่าตัด
  • หากมีปัญหาหรือผลข้างเคียงแทรกซ้อนเกิดขึ้น กลับมาพบทันตแพทย์ได้ก่อนวันนัด

ถ้าตรวจพบฟันคุดโดยบังเอิญและยังไม่มีอาการ ควรดูแลอย่างไร? ไม่ผ่าตัดได้ไหม?

ต้องพยายามรักษาความสะอาดบริเวณที่มีฟันคุดอยู่ให้ดีที่สุด แต่ทำได้ยากมาก จะมีเศษอาหารตกค้างเสมอ โอกาสที่จะสร้างปัญหากับฟันข้างเคียงและเนื้อเยื่อในปากจึงมีแน่นอน จริงอยู่ถ้าพบโดยบังเอิญจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่อยากถอนเพราะกลัวเจ็บ ฟันคุดเมื่องอกขึ้นไม่ได้จึงไม่มีค่าที่จะเก็บไว้ เมื่อปล่อยไว้จนปวดแล้วค่อยมาถอนอาจสายเกินไป เช่น ฟันข้างเคียงจะผุจนต้องสูญเสียฟันไปอีกซี่ ถ้าเข้าใจในเหตุผลการผ่าตัดฟันคุดออก สามารถสรุปว่า ต้องถอนดีกว่าปล่อยไว้ให้เป็นปัญหาภายหลัง
ที่มา   https://haamor.com/th/ฟันคุด/

อัพเดทล่าสุด