พังผืดที่จอตา (Epiretinal membrane)


1,585 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ตามัว 

นิยาม

พังผืดที่จอตา (Epiretinal membrane หรือ Macular pucker) เป็นภาวะที่มีพังผืดชนิดที่ปราศจากหลอดเลือดเกิดขึ้นบนชั้นผิวของจอตา พังผืดนี้อาจมีการขยายตัวดึงรั้งจอตาใกล้เคียง โดยเฉพาะบริเวณจอตาส่วนกลางหรือจุดภาพชัด (Macula) จึงทำให้การมองเห็นผิดปกติไป

ลักษณะของพังผืดเป็นแผ่นค่อนข้างใสหรือขุ่นมัวเล็กน้อย อาจไม่มีสีหรือมีสีจางๆอยู่บนผิวจอตา โดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆ Macula

มักจะพบภาวะนี้ร่วมกับมีการหลุดลอกของน้ำวุ้นตาส่วนหลัง (Posterior vitreous detachment) กล่าวคือในคนปกติ น้ำวุ้นตาซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำใส หนืดๆ คล้ายไข่ขาวจะวางติดแนบอยู่กับผิวจอตา เมื่อเวลาผ่านไป สูงอายุขึ้น ส่วนหลังของน้ำวุ้นจะหลุดจากผิวจอตาเกิดเป็นช่องว่าง ก่อให้เกิดการสร้างเซลล์ที่เป็นพังผืดยื่นมาจากผิวจอตา จึงเกิดเป็นพังผืดขึ้น เซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ มีลักษณะยืดหยุ่นได้ ถ้าเกิดมีการหดตัว จะทำให้ผิวจอตาบริเวณใกล้ เคียงไม่เรียบ เกิดเป็นรอยย่นหรือเป็นจีบขึ้น เป็นเหตุให้การมองเห็นภาพผิดเพี้ยนไป

พังผืดที่จอตามีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรเลยในรายที่เป็นพังผืดที่จอตาน้อยๆ แต่แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญ ถ้าขนาดพังผืดใหญ่ขึ้น อาการที่เด่นชัด คือ มองเห็นภาพไม่ชัด โดยเฉพาะตรงกลางภาพ อาจมีหรือไม่มีการมองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือรูปร่างภาพผิดไป เช่น เห็นเส้นตาราง คด บิดเบี้ยว เป็นเส้นโค้งหรือเป็นขยุ้มตรงกลาง ในขณะที่ภาพด้านข้างปกติดี

บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยมีแสงแฟลช (Flash) ในตาเกิดเป็นบางครั้ง

บางรายอาจมีอาการจอตาหลุดลอกไปบางส่วน (Retinal detachment) บริเวณที่หลุดลอกจะส่งผลให้เห็นภาพบางจุดดูมืดไป

บางรายอาจมาด้วยมีเลือดออกที่ผิวจอตา ตลอดจนเลือดออกเข้ามาในน้ำวุ้นตา หรืออาจมาด้วยจอตาส่วนกลางขาดเป็นรู (Macular hole) ทำให้ตามัวลงอย่างฉับพลัน

พังผืดที่จอตาเกิดกับใครได้บ้าง?

พังผืดที่จอตา อาจพบได้แม้ในคนปกติทั่วไป (Idiopathic) ที่ไม่เคยมีโรคตามาก่อน หรืออาจเกิดตามหลังบางภาวะ เช่น ในผู้ป่วยที่มีจอตาฉีกขาด จอตาหลุดลอก มีโรคหลอดเลือดจอตาอักเสบ (Vasculitis) เช่น จากโรคเอสแอลอี (SLE, Systemic lupus erythema tosus) ได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตาทั้งมีแผลและไม่มีแผล ตลอดจนมีการอักเสบของน้ำวุ้นตา และจอตามาก่อน เป็นต้น ซึ่งภาวะโรคตาต่างๆนี้ ก่อให้เกิดการอักเสบ จึงทำให้มีเซลล์การอักเสบเจริญเติบโตจนก่อให้เกิดเป็นพังผืดขึ้น

มักจะพบภาวะนี้ในคนอายุ 50 ปี ขึ้นไป โดยพบได้ประมาณ 6% ของผู้ที่มีอายุมาก กว่า 50 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าในชาย (อาจเป็นเพราะหญิงอายุยืนกว่า) แต่บางการศึกษารายงานว่า โอกาสทั้งหญิงและชายพบได้พอๆกัน อาจเกิดกับตาเพียงข้างเดียว โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งตาซ้ายและตาขวา แต่พบเกิดทั้ง 2 ตาได้ประมาณ 20–30%

มีผู้ศึกษาพบว่า เกิดภาวะนี้ได้ 4-8% ในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขจอตาลอก และ 1-2% ในผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ในรายที่มีจอตาฉีกขาด โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำ ให้เกิดภาวะนี้ ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดและได้รับแสงเลเซอร์ ดังนี้

  1. อายุที่มากขึ้น
  2. มีเลือดออกในน้ำวุ้นตาตั้งแต่แรกเกิดอาการ
  3. มีจอตาหลุดลอกครอบคลุมถึงบริเวณจุดภาพชัด Macula
  4. การมีจอตาฉีกขาดที่มีขนาดใหญ่
  5. การผ่าตัดที่ใช้เวลานาน
  6. การใช้ความเย็นจี้รักษาโรคในจอตา (Cryotherapy)

รักษาพังผืดที่จอตาอย่างไร? พังผืดที่จอตารุนแรงไหม?

ในภาวะเกิดพังผืดที่จอตา หากไม่มีอาการ หรือมีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อย ไม่จำ เป็นต้องรักษา ควรใช้วิธีเฝ้าติดตามโดยรับการตรวจตาเป็นระยะๆ และให้การรักษาต่อเมื่อมีอาการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประมาณ 70%ของผู้ป่วย สายตาจะคงที่ ไม่เลวลง

หากมีสายตามัวมากขึ้น มีการเห็นผิดรูปไปมากขึ้น การรักษาจะโดยวิธีผ่าตัดน้ำวุ้นตา ร่วมกับการค่อยๆลอกพังผืดออกด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยภายใต้กล้องจุลทรรศน์ช่วยการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดมักได้ผลดี ในบางรายสายตาอาจดีขึ้น หรืออย่างน้อยขจัดปัญหาที่พังผืดอาจดึงรั้งให้จอตาหลุดลอกจนอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่สายตาแม้ดีขึ้นบ้าง แต่จะไม่กลับมาปกติ

ประการสำคัญในผู้ที่รู้สาเหตุของการเกิด ต้องให้การรักษาต้นเหตุควบคู่กันไปด้วยเสมอ เช่น การรักษาควบคุมโรคเอสแอลอีเป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีพังผืดที่จอตา?

เมื่อมีปัญหาในการมองเห็น ควรรีบพบจักษุแพทย์ (หมอตา) เสมอ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยการควบคุมโรคได้ดีขึ้น และสามารถลดโอกาสเกิดโรคลุกลามมากจนถึงขั้นตาบอดได้ ทั้งนี้เพราะปัญหาในการมองเห็นมีสาเหตุได้มากมาย จึงไม่ควรดูแลตนเองโดยไม่พบจักษุแพทย์

เมื่อได้พบจักษุแพทย์แล้ว ควรต้องปฏิบัติตามจักษุแพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง เคร่ง ครัด ถ้ามียากิน หรือยาหยอดตา ควรต้องใช้ยาให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา ควรต้องพบจักษุแพทย์ตรงตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ

ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุว่า ส่วนใหญ่โรคนี้ เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ดวงตาตามวัย ดังนั้นการรักษาสุขภาพจิต สุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตามวัย อาจช่วยชะลอการลุก ลามของภาวะนี้ได้ เช่น กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน ในปริมาณเหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ รักษาควบ คุมโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นอยู่ให้ได้ และเลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทั้ง 2 สิ่ง มีสารพิษที่เร่งให้เซลล์ต่างๆของร่างกายเสื่อมเร็วขึ้น รวมทั้งเซลล์ของดวงตาด้วย

ป้องกันพังผืดที่จอตาได้อย่างไร?

ดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุว่า โรคพังผืดที่จอตามักเกิดตามวัยที่สูงขึ้น จากการเสื่อมตามธรรมชาติของเซลล์ต่างๆของร่างกาย ดังนั้นการดูแลร่างกายให้มีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่แข็งแรง อาจช่วยชะลอการเกิดภาวะนี้ และเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นแล้ว อาจช่วยไม่ให้อาการลุก ลามรวดเร็ว โดยที่สำคัญ คือ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ทุกวัน ป้องกันโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน รักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นอยู่ให้ได้ งด/เลิกบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับดวงตา รวมทั้งการตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปีกับจักษุแพทย์เพื่อ เมื่อพบสิ่งผิดปกติจะได้พบตั้งแต่ยังเป็นน้อยๆ ยังไม่มีอาการ การรักษาจึงมักได้ผลดีกว่าการรักษาเมื่อมีอาการมากแล้ว
ที่มา   https://haamor.com/th/พังผืดที่จอตา/

อัพเดทล่าสุด