ผงเข้าตา (Dust in eye)


1,069 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

แสบตา 

ร่างกายมีกลไกป้องกันผงเข้าตาอย่างไร?

ในสภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน บรรยากาศเต็มไปด้วยมลภาวะ ขยะ ฝุ่นละออง ปลิวอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะสิงห์มอเตอร์ไซค์ และยังต้องเผชิญกับแมลงตัวเล็กๆที่บินสวนมา แม้แต่ชาวไร่ ชาวนาก็อาจมีเศษใบไม้ เกสรดอกไม้ปลิวเข้าตา อาจกล่าวได้ว่าเกือบทุกคนมีโอกาสที่เศษผงเข้าตาได้ แต่ที่เราไม่ค่อยพบผู้ป่วยมาหาแพทย์ด้วยผงเข้าตามากนัก เพราะร่างกายมีกลไกในการป้องกันมิให้ผงเข้าตาได้ง่ายๆ ได้หลายอย่าง อาทิเช่น คิ้ว ขนตา หนังตา และน้ำตา

คิ้ว (Eyebrow) อยู่เหนือหนังตาบน เป็นด่านป้องกันมิให้เหงื่อ หรือรังแค จากศีรษะหล่นลงมาเข้าตา

ขนตา (Eyelash) เป็นอีกด่านที่เป็นแผงกั้นมิให้ผงเข้าตา อีกทั้งขนตาไวต่อการสัมผัสมาก หากมีเศษผงถูกขนตา จะส่งผลให้ตากระพริบหรือหลับตาทันที เป็นการป้องกันไม่ให้ผงเข้าไปในตา

หนังตาหรือเปลือกตา (Eyelid) ทำหน้าที่ปิดเปิดตา หากเราผ่านไปที่มีฝุ่นละออง เราสามารถสั่งให้หนังตาปิดลงเพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นนั้นได้ อีกทั้งหนังตาอาจปิดได้โดยอัตโนมัติ หากมีสิ่งแปลกปลอมปลิวผ่าน ทั้งนี้ ในคนปกติจะมีการกระพริบตาเป็นระยะๆเพื่อเกลี่ยน้ำตาที่ผิวดวงตา ทำให้ผิวตาเรียบ ใส และขณะเดียวกันชะล้างสิ่งแปลกปลอมรวมทั้งฝุ่นผงออกได้

น้ำตา (Tear) ในภาวะปกติจะมีน้ำตามาหล่อลื่นผิวตาให้ชุ่มชื้น น้ำตาที่ฉาบอยู่บางๆทำให้เรามักไม่รู้สึกว่ามีน้ำตา ซึ่งหากมีสิ่งแปลกปลอม/ฝุ่นผง ต่อมน้ำตาจะเร่งสร้างน้ำตาออก มามากกว่าปกติ เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม/ฝุ่นผงนั้นๆ ทุกคนที่เคยมีผงเข้าตาจะรู้ดีว่าจะมีน้ำ ตาไหลมากกว่าปกติ

มีข้อควรปฏิบัติเมื่อมีผงเข้าตาอย่างไร?

ในบางครั้ง กระบวนการดังกล่าวในหัวข้อแรก เช่น คิ้ว และน้ำตา ไม่สามารถกั้นสิ่งแปลกปลอม/ฝุ่นผงได้ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อมีฝุ่นผงเข้าตา จึงควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. อย่าขยี้ตา เพราะนอกจากฝุ่นผงจะไม่ออกแล้ว อาจทำให้ฝุ่นผงนั้นไปเขี่ยผิวตาดำ (กระจกตา) ทำให้ตาดำเกิดแผลถลอก หรือมีแผลกว้างขึ้น หรืออาจทำให้ผงยิ่งฝังลึกลงไป ทำให้ยากแก่การเอาผงออกยิ่งขึ้น
  2. ส่องกระจก หรือให้ผู้อื่นช่วยดูว่ามีเศษฝุ่นผงติดอยู่ที่ใด ถ้าเป็นฝุ่นละออง เศษดิน ทราย อาจติดอยู่ที่เยื่อบุตาขาว หรือวางอยู่บนผิวตาดำ บางรายผงอาจอยู่ในซอกเยื่อบุตา หรืออาจติดอยู่ที่เยื่อบุตาที่บุหนังตาส่วนบน (กรณีนี้ต้องพลิกหนังตาบนขึ้นถึงจะเห็น) ตราบใดที่ผู้ป่วยมีอาการเคืองตา ก็น่าจะมองหาผงให้พบ บางครั้งผงอาจมีขนาดเล็ก หรือไม่มีสีที่ทำให้ยากแก่การมองเห็น การส่องไฟฉายในทิศทางต่างๆ บางมุม อาจช่วยทำให้เห็นเงาสะท้อนของเศษผงได้ โดยเฉพาะผงเล็กๆที่ติดที่ผิวตาดำ ถ้าพบผงที่เยื่อบุตาขาวอาจเอาออกได้ง่าย โดยวิธีล้างตาด้วยน้ำสะอาด หรือลืมตาและกลอกตาในน้ำสะอาด หรือแม้แต่ใช้ไม้พันสำลีหรือชายผ้าสะอาดเขี่ยออกได้ แต่ทุกขั้นตอน ต้องล้างมือให้สะอาดก่อน ถ้าพยายามแล้ว ผงไม่ออกแสดงว่าติดแน่น ควรพบแพทย์ หรือจักษุแพทย์
  3. ถ้าเป็นผงเหล็กจากการขัดหรือเคาะตีเหล็ก ผงเหล็กอาจติดอยู่ที่ผิวตาดำ ผงเหล็ก มักจะมีเหลี่ยมคมจึงฝังอยู่ค่อนข้างแน่น อีกทั้งตาดำเป็นส่วนที่ไวต่อความรู้สึกมาก ไม่อาจใช้ไม้พันสำลีเขี่ยได้ เพราะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด การพยายามเขี่ย ยิ่งจะทำให้เศษเหล็กฝังลึกลงไปอีก จึงไม่ควรพยายามไปเขี่ยเอง อาจลองใช้น้ำล้างตาดู ถ้าไม่ออก หรือยังเคืองตา ควรต้องรีบพบแพทย์ หรือจักษุแพทย์ฉุกเฉินเพื่อให้เอาผงเหล็กออกจะปลอดภัยกว่า เมื่อเอาผงเหล็กออกแล้ว มักมีสนิมติดค้างในตา แพทย์อาจต้องนัดมาเขี่ยออกทีหลังหากครั้งแรกเขี่ยออกไม่หมด เมื่อมีการเขี่ยผงออกจากตาดำมักมีรอยแผลถลอกของผิวตาดำเสมอ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยยาหยอดปฏิชีวนะอย่างน้อย 24–48 ชม. จนกว่าแน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อ (ไม่ควรซื้อยาใช้เอง อย่างน้อยควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ)

มีผลแทรกซ้อนอะไรบ้างเมื่อฝุ่นผงเข้าตา?

ฝุ่นผงเข้าตาอาจเป็นเรื่องขี้ผง เพราะผงหลุดไปเองหรือเขี่ยออกได้ง่ายเป็นส่วนใหญ่ ในบางครั้ง ผงที่เข้าตานั้นสกปรกมีเชื้อโรคก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาขาว หรือแม้แต่ตาดำ (กระจกตา)ได้ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่เยื่อบุตา ทำให้เจ็บตาเคืองตา มีขี้ตา รักษาได้ไม่ยาก

แต่หากมีการติดเชื้อที่กระจกตา มักทำให้มีอาการปวดตา ตามัวร่วมด้วย นานเข้าเกิดเป็นแผลที่กระจกตาซึ่งยุ่งยากแก่การรักษา ต้องไม่ลืมว่าแผลอักเสบที่กระจกตา เป็นสาเหตุทำให้สูญเสียการมองเห็น ซึ่งที่สำคัญ มักเริ่มมาจากผงเข้าตาก่อนเป็นส่วนใหญ่ แผลอักเสบที่กระจกตาต้องใช้เวลารักษา ยากง่ายขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ บางครั้งรักษาได้หาย แต่ก็อาจทำให้กระจกตาบางส่วนเป็นแผลเป็น เห็นเป็นฝ้าขาวร่วมกับสูญเสียการมอง เห็นบางส่วน บางครั้งเมื่อเชื้อโรคเป็นชนิดรุนแรง หรือมารักษาช้าเกินไป กระจกตาอาจอักเสบรุนแรง จนต้องรักษาโดยการเปลี่ยนกระจกตา หรือบางรายรุนแรงมากโดยเชื้อโรคลุกลามเข้าภายในดวงตา การรักษาอาจถึงขั้นต้องผ่าตัดเอาตาออกเพื่อขจัดเชื้อโรคนั้น จึงเกิดการสูญเสียสายตาและดวงตาไปข้างหนึ่งจากเจ้าเศษผงเล็กๆนี้ได้

เมื่อฝุ่นผงเข้าตาควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีฝุ่นผงเข้าตาควรพบจักษุแพทย์ หรือแพทย์ เมื่อ

แพทย์วินิจฉัยฝุ่นผงเข้าตาอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยฝุ่นผงเข้าตาได้จาก ประวัติการได้รับฝุ่นผง อาการทางดวงตา การมอง เห็น และการตรวจดวงตา โดยทั่วไปมักไม่มีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อนำฝุ่นผงออกจากตาด้วยวิธีการและเครื่องมือทางการแพทย์แล้ว แพทย์มักให้การดูแลรักษาตาอาการ และตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น ให้น้ำตาเทียม ให้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ แนะนำการพักสายตา และ/หรือการปิดตาด้านนั้นจนกว่าจะหายระคายเคือง และอาจนัดตรวจติดตามผลใน 1-2 วัน หรือตามดุลพินิจของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นฝุ่นผงที่บาดลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อดวงตา แพทย์มักต้องมีการตรวจเฉพาะต่างๆเพิ่มเติม และการดูแลรักษามักยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ การบาดเจ็บของดวงตาที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์

ป้องกันฝุ่นผงเข้าตาอย่างไร?

วิธีป้องกันฝุ่นผงเข้าตา คือ

  • สวมใส่แว่นตากันแดดเสมอเมื่ออยู่ในที่มีฝุ่นละอองมาก หลับตา หรือหลบเข้าที่กำบัง
  • สวมใส่แว่นตาป้องกันดวงตาให้เหมาะสมกับงานที่ทำ
  • ดูแลคอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส (Contact lens) อย่างถูกต้องเมื่อใส่คอนแทคเลนส์ เพราะอาจมีฝุ่นผงติดได้ง่าย

ที่มา   https://haamor.com/th/ผงเข้าตา/

อัพเดทล่าสุด