ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด (Herpetic and Post-herpetic neuralgia)


1,133 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

เส้นประสาท  ระบบประสาทวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ปวดแปลบเมื่อเกิดและหลังเกิดงูสวัด 

บทนำ

หลายคนคงสงสัยว่าตนเองเป็นอะไร อยู่ดีๆก็มีการปวดแปล๊บๆ (แปลบ) บริเวณใบ หน้า หน้าอก หรือ ลำตัว พยายามดูก็ไม่มีแผลใดๆ ไปพบแพทย์ ตรวจก็ไม่พบความผิดปกติ จึงสงสัยว่าเป็นอะไรกันแน่ แต่ต่อมาพบว่ามีตุ่มน้ำใสๆขึ้นบริเวณที่มีอาการปวดแปล๊บ เสียว ไปพบแพทย์อีกครั้ง ครั้งนี้แพทย์บอกว่าเป็นงูสวัด ได้ยามาทานหลายชนิด อาการดีขึ้น แต่หมอบอกต่อมาอีกว่า ระวังไว้นะครับ อาจมีอาการปวดได้อีกถึงแม้แผลจะหายดีแล้ว ท่านอาจแปลกใจและงงว่า ทำไมแพทย์ถึงบอกล่วงหน้าได้ และอาการปวดมันทำไมถึงรุนแรงได้ขนาดนั้น ลองติดตามบทความนี้ แล้วท่านจะทราบว่า อาการดังกล่าว คืออะไร และมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร

อาการเจ็บแปล๊บๆ เสียว คืออาการอะไร?

อาการเจ็บแปล๊บๆ หรือเสียวขึ้นมาทันทีนั้น คือ อาการปวดที่มีสาเหตุจากความผิด ปกติของระบบประสาท ซึ่งจะแตกต่างจากการปวดของกล้ามเนื้อ หรือปวดแผล อาการปวดเหตุจากระบบประสาทที่เราคุ้นเคยมากที่สุด คือ อาการปวดฟัน เนื่องจากมีรอยโรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณฟันซีกนั้นๆ อาการปวดจะเป็นขึ้นมาทันที เป็นระยะเวลาไม่นาน เพียงแค่ไม่กี่วิ นาทีปวดแบบเจ็บแปล๊บหรือเสียวจนสะดุ้ง

อาการปวดเหตุเส้นประสาทคืออะไร?

อาการปวดเหตุประสาท หรือ ปวดเหตุเส้นประสาท (Neuralgia หรือ อาจเรียกว่า Neu ropathic pain) คือ อาการปวดเหตุจากเส้นประสาท ที่มีความผิดปกติ หรือมีรอยโรคของเส้น ประสาทเป็นจุดเริ่มต้น โดยอาการปวดนั้น อาจเกิดจากกลไกเส้นประสาท รากประสาท หรือจากสมองส่วนกลาง ที่มีการปรับการตอบสนองต่อสิ่งเร้า (ตัว/สิ่งกระตุ้น) ต่างๆที่ไวผิดปกติไป

อาการปวดเหตุเส้นประสาทที่พบร่วมกับตุ่มน้ำใสคืออะไร?

อาการปวดที่เกิดในตำแหน่งผิวหนังที่มีตุ่มน้ำใสๆขึ้นเป็นกระจุก คือ อาการปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด (Herpetic และ Post–herpetic neuralgia)

อาการปวดเหตุเส้นประสาทที่เกิดจากเชื้อไวรัสงูสวัด มี 2 กลุ่มอาการหลัก คือ

  • กลุ่มแรก อาการปวด/เจ็บ เกิดขณะที่ยังมีแผลของงูสวัด เรียกว่า Herpetic neuralgia หรืออา การปวดที่นำมาก่อนจะมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้น ก็เรียกว่า Herpetic neuralgia เช่นกัน
  • กลุ่มที่ 2 คือ แผล/ตุ่มจากโรคงูสวดหายดีแล้วตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ถึงหลายปี แต่ยังมีอาการปวดบริเวณที่เคยเป็นแผลงูสวัดนั้น หรืออาการปวดช่วงแรกหายไปนานแล้ว แต่กลับมามีอาการปวดแบบเดิมอีกบริเวณที่เคยเป็นงูสวัดนั้น เรียกว่า Post-herpetic neuralgia

ทำไมจึงเกิดปวดฯหลังเกิดงูสวัด?

อาการปวด Post-herpetic neuralgia นั้นยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่ชัดเจน สมมุติ ฐานในปัจจุบันคือ เกิดการทำลายเส้นประสาทจากเชื้อไวรัส ทำให้การนำสัญญาณประสาทเข้าสู่ไขสันหลังและสมองไม่เป็นไปตามปกติ ประกอบกับเกิดภาวะการตอบสนองของระบบประสาทส่วนกลางมีการตอบสนองที่ผิดปกติไปจากเดิม

ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัดมีอาการอย่างไรบ้าง?

อาการปวดเหตุเส้นประสาทเหตุงูสวัดนั้น อาจมีอาการปวดออกแสบร้อน หรือปวดเสียว ปวดแปล๊บ เหมือนเข็มหรือมีดแทง ออกร้อนเหมือนถูกไฟไหม้หรือพริกทา เป็นอาการนำ ก่อนที่จะมีตุ่มน้ำใสขึ้นได้หลายวัน ตำแหน่งที่ปวดคือ ปวดตามแนวของเส้นประสาท เช่น

  • บริเวณหน้าผากด้านใดด้านหนึ่ง (ตามแขนงเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5)
  • บริเวณหน้าอกด้านใดด้านหนึ่ง (ตามแขนงของเส้นประสาทบริเวณหน้าอก)
  • หรือบริเวณหลังและก้นกบ (ตามแขนงของเส้นประสาทบริเวณหลังและก้นกบ)

เมื่อมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นก็จะเกิดไปตามแขนงของเส้นประสาทที่มีความผิดปกตินั้นๆ รอยโรคที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นเพียงด้านหนึ่งด้านใดของร่างกาย จะไม่เป็นสองข้างหรือทั้งตัว ยก เว้นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานร่างกายที่ต่ำมากๆ ก็อาจเป็นทั้ง 2 ข้างได้ แต่พบได้น้อยมากๆ

โดยทั่วไป ตุ่มน้ำใสจะค่อยๆยุบไป และหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ อาการปวดก็จะค่อยๆดีขึ้น แต่ในผู้ป่วยบางรายอาการปวดก็ไม่หาย และพบอาการปวดรุนแรงมากขึ้น หลังจากตุ่มน้ำใสหายดีแล้วหลายเดือนหรือหลายปี กรณีนี้เรียกว่า Post-herpetic neuralgia

ใครมีโอกาสเกิดอาการปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด?

จากหลายการศึกษาพบว่า

  1. ผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากถ้าเป็นงูสวัด ก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดอาการปวดนี้
  2. ตำแหน่งที่เป็นงูสวัด โดยพบว่าตำแหน่งบริเวณตาและหน้าอก มีโอกาสปวดฯได้สูงกว่าตำแหน่งอื่นๆ
  3. การได้รับการรักษางูสวดช้า จะมีโอกาสเกิดอาการปวดเหตุงูสวัดได้สูงกว่ารีบรัก ษาตั้งแต่ต้น
  4. ผู้หญิงมีโอกาสเกิดอาการปวดเหตุงูสวัดสูงกว่าผู้ชาย

ปวดฯหลังเกิดงูสวัดพบบ่อยไหม? ใครมีโอกาสเกิดปวดฯหลังเกิดงูสวัด?

อาการปวดหลังเกิดงูสวัดพบว่า โอกาสการเกิดอยู่ประมาณ 5-7% การเกิดนั้นยังไม่ทราบชัดเจนว่าใครมีโอกาสเกิดมากกว่า จากหลายการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด และมีอา การปวดที่รุนแรง รักษางูสวัดช้า หรือไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส สูงอายุ ผู้หญิง และตำ แหน่งที่ ตา หน้าอกมีโอกาสเกิดได้สูงกว่า

เมื่อปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด จำเป็นต้องพบแพทย์ไหม? ดูแลตนเองโดยไม่พบแพทย์ได้ไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัดแล้ว ถ้าอาการไม่รุนแรง ทนได้ ไม่รบกวนการดำเนินชีวิต ก็อาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ สามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน แต่ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดอาการดังกล่าว มักมีความรุนแรงสูง จนผู้ป่วยตกใจว่าเป็นอะไร เพราะอาการรุนแรงมาก จึงรีบไปพบแพทย์ แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาการก็มักจะไม่ดีขึ้น หรือบางรายได้รับยากันชัก (ใช้รักษาอาการปวดเส้นประสาท) ขนาดสูงมาทานตั้งแต่ต้น โดยไม่มีการค่อยๆปรับขนาดยา ผู้ป่วยก็จะได้รับผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษา เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน ตาเห็นภาพไม่ชัด ท้องผูก หรือ ท้องเสีย

รักษาปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัดอย่างไร? หายดีหรือไม่?

การรักษาอาการปวดฯ ประกอบด้วย การรักษางูสวัด และรักษาอาการปวดเส้นประสาท

  • การรักษางูสวัดนั้น แพทย์ก็จะให้ยาทาน ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสนี้ ชื่อ Acyclovir (อะไซ โคลเวียร์) เม็ดละ 800 มิลลิกรัม ทานวันละ 5 ครั้ง นาน 7-10 วัน พบว่ายิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ ตุ่มน้ำใส และอาการปวดก็หายเร็วกว่าผู้ป่วยที่รับการรักษาช้า

    ส่วนยารักษางูสวัดชนิดทานั้นไม่ได้ประโยชน์ นอกจากนั้น ไม่ควรนำสมุนไพรมาปิดแผล หรือพ่นด้วยเหล้าขาว ตามความเชื่อว่าอาการจะดีขึ้นเร็ว เพราะยิ่งจะทำให้ติดเชื้อแบคที เรียซ้ำเติมแผลจากเชื้อไวรัสงูสวัด

  • ส่วนการรักษาอาการปวดฯ แพทย์ก็จะใช้ยาแก้ปวด ที่ต่างจากการรักษาอาการปวดทั่วไป เช่น คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) อะมีทิพทีลีน (Amitriptyline) กาบาเพ็นติน (Gabapentin) ทรามอล (Tramal) เพื่อรักษาอาการปวดโดยแพทย์จะพิจารณาว่าจะใช้ยาอะ ไร ปริมาณเท่าไร ระยะเวลานานเท่าไร จากความรุนแรงของอาการ และจากประเมินการตอบ สนองต่อยาที่ใช้รักษา

    โดยทั่วไปแล้ว เมื่อแผลหายดี อาการปวดก็จะค่อยๆลดลง หรือหายเป็นปกติ แต่ผู้ป่วยส่วนน้อยเกิดอาการ Post-herpetic neuralgia แพทย์ก็จะให้การรักษาอาการปวดเช่นเดียวกับตอนที่มีตุ่มน้ำใส ยกเว้นจะไม่มีการให้ยา Acyclovir เพราะไม่มีตุ่มน้ำใสแล้ว ระยะเวลาที่ได้ยา ก็ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัดต้องรักษานานเท่าไหร่?

การรักษาอาการปวด ขึ้นกับความรุนแรงและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย กรณีที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดีมากอาการปวดลดลงมาก หรือหายไปเลย แพทย์ก็จะค่อยๆลดขนาดยาที่ทานลงอย่างช้าๆ และหยุดยาภายหลัง แพทย์จะพยายามหลีกเลี่ยงการหยุดยาทันที เพราะมีโอกาสที่จะมีอาการปวดกลับมาได้สูง แต่ในบางรายตอบสนองต่อการรักษาไม่ค่อยดี แพทย์ก็จะปรับการรักษาตาอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

ผู้ป่วยต้องทานยาสม่ำเสมอหรือไม่?

การรักษาที่ดีนั้น ควรทานยาให้สม่ำเสมอ ไม่ควรทานยาเฉพาะช่วงที่มีอาการและไม่ทานยาเมื่ออาการปวดหายไป เนื่องจากยาที่ใช้รักษานั้น ไม่ใช่ยาแก้ปวดโดยตรงเหมือนกับยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์/เอ็นเสด (NSAID, Non-steroidal anti-inflammatory drug) ที่เป็นยารักษาตามอาการเท่านั้น แต่ยาที่ใช้รักษาอาการปวดเหตุประสาท เป็นยากลุ่มกันชัก หรือยาต้านการเศร้าเป็นส่วนใหญ่ การรักษาที่ได้ผลนั้น ยาจะต้องได้ระดับยาในเลือดที่สูงพอ และจำเป็นต้องคงระดับยานั้นไว้ได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงระดับได้ง่ายถ้าไม่ได้รับยาเข้าไปอีก และยาดังกล่าวไม่สามารถเพิ่มขนาดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ดังได้กล่าวแล้วได้มากขึ้นถ้าเพิ่มขนาดยาอย่างรวดเร็ว

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  1. อาการปวดนั้นรุนแรงมากขึ้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  2. กรณีที่เกิดผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากยาที่ใช้รักษา เช่น ผื่นขึ้น ไข้สูง เดินเซ ซึม อาเจียน อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยมีข้อสงสัยในอาการหรือไม่มั่นใจว่าเกิดผลเสียจากยาที่ทานหรือไม่ ก็สามารถไปพบแพทย์ก่อนนัดได้ หรือถ้าไม่สะดวก ก็สามารถโทรศัพท์สอบถามจากแพทย์ พยาบาลที่ให้การดูแลรักษาได้
  3. อาการต่างๆเลวลง หรือกังวลในอาการ

โรคนี้อันตรายถึงชีวิตหรือไม่? เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตไหม?

โรคนี้ไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้ารักษาไม่เหมาะสมตั้งแต่ต้น เช่น ใช้สมุนไพรมาปิดแผล และรักษาด้วยการเป่า พ่นน้ำมนตร์ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) และเสียชีวิตได้

อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การแพ้ยา หรือ ผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากยา โดยเฉพาะการแพ้ยา ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยาไปทานนั้น ต้องคอยสังเกตว่าหลังทานยาไปแล้วมีอาการผิดปกติใดๆเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะ ผื่น ไข้ ตาแดง เจ็บปาก ให้รีบหยุดยาและพบแพทย์ทันที

อาการปวดฯดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการ อัมพฤกษ์ อัมพาต แต่มีผู้ป่วยส่วนน้อยมากๆที่เป็นงูสวัดบริเวณหน้าอก และเชื้อมีการลุกลามเข้าไขสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการอัก เสบของไขสันหลังจากงูสวัดได้ ก็จะมีอาการขาอ่อนแรงสองข้าง ร่วมกับอาการชาขาสองข้าง ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่ออกต้องสวนปัสสาวะ

สรุป โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่อาจสร้างความทุกข์ทรมานได้ถ้าได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม

ป้องกันโรคงูสวัดได้ไหม? ป้องกันปวดฯหลังเกิดงูสวดได้ไหม?

งูสวัดสามารถป้องกันได้ในปัจจุบัน โดยการฉีดวัคซีนถึงแม้ประสิทธิภาพจะไม่สูง 100 % แต่ก็พบว่าได้ประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดอาการงูสวัดได้สูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น

ส่วนการป้องกันอาการปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัดนั้น พบว่าการรีบรักษาด้วยยาต้านไว รัส Acyclovir ก็สามารถลดโอกาสการเกิดอาการได้มาก ทั้งนี้รวมถึงอาการปวดที่เกิดหลังเกิดงูสวัดด้วย
ที่มา   https://haamor.com/th/ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด/

อัพเดทล่าสุด