บทนำ
โรคปอดอักเสบและโรคปอดบวม (Pneumonitis or Pneumonia) มีความหมายคล้ายคลึงกันมากจนใช้เรียกแทนกันได้ แต่นิยมเรียกโรคปอดอักเสบมากกว่าเพราะตรงความหมายมากกว่า โรคปอดอักเสบเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่สำคัญ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเป็นสาเหตุการตายในเด็กที่สูงถึง 1.6 ล้านคนต่อปีจากจำนวนผู้ป่วย 156 ล้านคนต่อปีทั่วโลกโดย 95% ของเด็กเหล่านี้อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปอดอักเสบสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับประเทศไทยพบโรคปอดอักเสบ 1,418 คน ต่อประชากรไทย 100,000 คน
โรคปอดอักเสบ ปอดบวม ในเด็กเกิดได้อย่างไร?
โรคปอดอักเสบ ปอดบวม เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากเชื้อโรคทั้งสิ้น โดยพบดังนี้
- เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัส โรคหัด ไวรัสอาร์เอสวี ฯลฯ ซึ่งกลุ่มนี้พบบ่อยที่สุด
- เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) เชื้อฮีโมฟิลุส อินพลูเอนเซ (Haemophilus influenzae) เชื้อมัยโคพลาสม่า (Mycoplasma) ฯลฯ พบได้พอสมควร โดยปกติเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้จะอยู่ที่คอหอยของคนเรา รอจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการก่อโรคปอดอักเสบหรือโรคอื่นๆ
- เชื้อรา เช่น เชื้อราแคนดิดา (Candida) เชื้อราเพนิซิเลี่ยม (Peni cillium) ฯลฯ มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น กินยาสเตียรอยด์ โรคเอดส์ เป็นต้น
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคปอดอักเสบ ปอดบวมในเด็ก?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอักเสบ ปอดบวมในเด็ก คือ
- ตัวเด็กเอง:
- อายุน้อย ตั้งแต่แรกคลอด – 5 ปี
- มีความผิดปกติทางเดินหายใจ
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเอดส์ กินยาสเตียรอยด์
- ไม่ได้กินนมแม่
- ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ เช่น วัคซีนโรคไอกรน วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคฮิบ (HIB, Haemophillus influenzae type B, โรคติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ ฮีโมฟิลุส อินพลูเอนเซ ซึ่งทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้) วัคซีนโรคไอพีดี (IPD, Invasive pneumococcal disease, โรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มักรุนแรง) วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
- มีภาวะทุพโภชนาการ
- สิ่งแวดล้อม:
- อยู่อย่างแออัด (การถ่ายเทอากาศไม่ดี)
- ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ภายในบ้าน เป็นต้น
- เชื้อโรค:
- มีการระบาดของเชื้อโรค เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 2009
- เชื้อโรคดื้อยา (เชื้อดื้อยา)
โรคปอดอักเสบ ปอดบวม ในเด็กมีอาการอย่างไร?
อาการจากโรคปอดอักเสบ ปอดบวมในเด็ก คือ
- อาการเริ่มต้น: เป็นไข้ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไอ
- อาการระยะปอดอักเสบ: ไข้สูง ไอมากขึ้น เริ่มหอบเหนื่อย เพลีย ซึม ไม่ค่อยทานน้ำ และอาหาร (ระยะนี้ต้องรีบพบแพทย์)
แพทย์วินิจฉัยโรคปอดอักเสบ ปอดบวม ในเด็กอย่างไร?
การวินิจฉัยแบ่งเป็น 2 แบบ
- จากอาการ:
- จากห้องปฏิบัติการ:
รักษาโรคปอดอักเสบ ปอดบวม ในเด็กอย่างไร? ดูแลเด็กอย่างไร?
การรักษาโรคปอดอักเสบ ปอดบวมในเด็ก เนื่องจากโรคปอดอักเสบ ปอดบวมมักมีอาการรุนแรง และอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ จึงต้องดูแลรักษาโดยแพทย์เท่านั้น โดยเมื่อเด็กมีอาการดังกล่าว ไม่ควรดูแลเอง ควรรีบนำเด็กพบแพทย์ ทั้งนี้การรักษามี 2 ส่วน คือ
- การรักษาตามอาการและประคับประคอง เช่น ยาแก้ไข้ ยาแก้ไอ หากมีอาการหอบเหนื่อยต้องให้ออกซิเจน หากอาการรุนแรงมาก อาจต้องใช้เครื่อง ช่วยหายใจ
- การรักษาจำเพาะต่อเชื้อโรค เช่น ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ (ยาทามิฟลู/Tamiflu) หรือ ยาปฏิชีวนะ ตามความเหมาะสมต่อเชื้อโรคต้นเหตุของโรคปอดอักเสบ ปอดบวมนั้นๆ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาชนิดของ ยาต่างๆ รวมทั้งชนิดของยาปฏิชีวนะ ขนาดยา วิธีการให้ยา (เช่น กิน หรือ ฉีดเข้าเส้น) และระยะเวลาของการใช้ยาอย่างเหมาะสม และไม่ควรซื้อยากินเอง
เมื่อไรจึงควรพาเด็กที่สงสัยโรคปอดอักเสบ ปอดบวม มาพบแพทย์?
อาการปอดอักเสบ มักเริ่มต้นด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ประมาณ 2-4 วัน แล้วจึงเริ่มหอบเหนื่อย เพลีย ซึ่งเป็นอาการของปอดอักเสบ ปอดบวม ดังนั้นหากเด็กที่เริ่มเป็นไข้หวัด ไม่ว่าจะรักษาโดยแพทย์หรือรักษาเองก็ตาม ถ้า 24-48 ชั่วโมงหลังการรักษาไข้หวัดนั้นๆแล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น ไข้สูงตลอด หอบเหนื่อย เพลีย ไอมาก อาเจียนมาก ฯลฯ ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคปอดอักเสบ ปอดบวม ซึ่งรุนแรงและอันตรายได้ ควรรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลด่วน เพื่อการรักษาที่ถูก ต้องและเหมาะสมต่อไป
การป้องกันโรคปอดอักเสบ ปอดบวม ในเด็กทำอย่างไร?
การป้องกันโรคปอดอักเสบ ปอดบวมในเด็ก มีหลายวิธี ได้แก่
- กินนมแม่ให้นานที่สุด
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันธูป ฯลฯ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนโรคไอกรน วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคฮิบ วัคซีนโรคไอพีดี เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีคนอยู่อย่างแออัด
ที่มา https://haamor.com/th/ปอดบวมในเด็ก-ปอดอักเสบในเด็ก/