บทนำ
ปวดหัว หรือ ปวดศีรษะ (Headache) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค (โรค อาการ ภาวะ) เป็นอาการที่พบบ่อยมาก ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดย 2 ใน 3 ของเด็กทั้ง หมด และ 9 ใน 10 ของผู้ใหญ่เคยมีอาการปวดหัว ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้เท่าๆกัน
องค์การอนามัยโลก มีความเห็นตรงกับสมาคมปวดหัวนานาชาติ (The International Headache Society) กล่าวคือ แบ่งการปวดหัวตามสาเหตุออก เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ อาการปวดหัวปฐมภูมิ (Primary headache) อาการปวดหัวทุติยภูมิ (Secondary headache) และอาการปวดหัวจากประสาท และอื่นๆ (Neuralgias and other headache)
- อาการปวดหัวปฐมภูมิ (Primary headache) คือ อาการปวดหัว ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้เกิดจากโรค ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหัวปฐมภูมิยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากกระบวนการที่เกี่ยวพันกันระหว่าง หลอดเลือด และประสาทสมอง (Cranial nerve) ส่วนศีรษะ รวมทั้งสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวขึ้น อาการปวดหัวในกลุ่มนี้ ที่พบบ่อย คือ โรคปวดหัวไมเกรน(Migraine) โรคปวดหัวจากความเครียด (Tension-type headache ได้แก่ การปวดหัวทั้งสองข้าง โดยอาการปวดมักไม่รุนแรง เป็นอาการปวดหัวที่พบบ่อยที่สุดถึงประมาณ 90% ของการปวดหัวทั้งหมด เพราะเป็นอาการปวดหัวที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น จากนอนไม่หลับ หิว เครียด ใช้สายตา ขาดน้ำ หรือ อดกาแฟ ทั้งนี้จัดเป็นอาการปวดหัวที่รุนแรงน้อย ถึงปานกลาง) และโรคปวดหัวคลัสเตอร์ (Cluster headache ได้แก่การปวดหัวด้านเดียว ร่วมกับปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล และคัดจมูก มักเป็นอาการปวดรุนแรง แต่เป็นโรคพบได้น้อย ประมาณ 0.1% ของอาการปวดหัวในผู้ใหญ่)
- อาการปวดหัวทุติยภูมิ (Secondary headache) ได้แก่ อาการปวดหัวที่มีสาเหตุจากโรคต่างๆ เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย เป็นอาการปวดหัวที่รุนแรงปานกลาง ถึงรุนแรงมาก โดยความรุนแรงของอาการขึ้นกับสาเหตุ เช่น ปวดหัวจากการติดเชื้อทั้งจากภายนอก และภายในสมอง จากมีไข้ จากหลอดเลือดอักเสบ จากดื่มสุรา จากความดันในสมองสูง เช่น จากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) โรคเนื้องอกสมอง และโรคมะเร็งสมอง จากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น จาก โรคต้อหิน โรคทางจิตเวช หรือ จากอุบัติเหตุต่อศีรษะและสมอง
- อาการปวดหัวจากประสาท และอื่นๆ (Neuralgias and other headache) เช่น อาการปวดหัวที่เกิดจากประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่กำกับดูแลใบหน้า (Trigeminal neuralgia) มักเป็นอาการปวดหัวปานกลาง เรื้อรัง และมีการปวดใบหน้าร่วมกับอาการปวดหัวด้วย ส่วนใหญ่มักเกิดด้านเดียว แต่ประมาณ 10% พบเกิดทั้งสองข้าง ทั้งนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือ จากมีหลอดเลือดกดทับประสาทเส้นนี้
อาการปวดหัวเกิดได้อย่างไร?
อาการปวดหัว เกิดจากประสาทที่รับความเจ็บปวดในบริเวณศีรษะและลำคอถูกกระตุ้นจากสาเหตุต่างๆ จึงส่งความรู้สึกนี้ไปยังสมองส่วนกลาง ส่งผลให้สมองตอบสนองเป็นอาการปวดหัว
การกระตุ้นประสาทรับความเจ็บปวดในส่วนศีรษะ และลำคอ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- จากหลอดเลือดในส่วนศีรษะ ลำคอ ถูกดึงรั้ง และ/หรือ มีการขยายของหลอดเลือด เช่น จากการเพิ่มอุณหภูมิร่างกายเมื่อมีไข้
- จากการอักเสบของประสาทส่วนรับความเจ็บปวดในส่วนศีรษะ และลำคอ ถูกกด หรือ ถูกดึงรั้ง เช่น จากการอักเสบ หรือ จากการบวม
- จากการอักเสบ การดึงรั้ง และ/หรือการหดเกร็งของกล้ามเนื้อส่วนศีรษะ และลำคอ เช่น ความเครียด หรือ อุบัติเหตุ
- จากการอักเสบ และ/หรือ การระคายเคืองต่อเยื่อหุ้มสมอง และ/หรือ ก้านสมอง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
แพทย์วินิจฉัยสาเหตุปวดหัวได้อย่างไร?
เนื่องจากอาการปวดหัวพบได้บ่อยมาก และมักเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ร่วมกับอาการไข้จากโรคต่างๆ ดังนั้น แพทย์มักให้การวินิจฉัยและให้การรักษาโรคเหล่านั้น จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย อาจร่วมกับการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ แต่แพทย์จะวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดหัวเพิ่มเติม ต่อเมื่อ ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวรุนแรง มีอาการปวดหัวเรื้อรังและทวีความรุน แรงเพิ่มต่อเนื่อง และ/หรือ ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือ แขน/ขาอ่อนแรง
โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดหัวจาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจดวงตา การตรวจระบบประสาทและการตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ คลื่นแม่เหล็กเอ็มอาร์ไอ นอกจากนั้น อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเจาะหลัง เพื่อตรวจน้ำไขสันหลัง เมื่อสงสัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นต้น
รักษาอาการปวดหัวได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาอาการปวดหัว ได้แก่
- เมื่อเป็นการปวดหัวในกลุ่มปฐมภูมิ การรักษา คือ บรรเทาอาการปวดขณะปวดหัว โดยการกินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และรักษาเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวด ซึ่งการรักษามักเป็นการกินยาซึ่งมีหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของอาการ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น ในการรักษาโรคปวดหัวไมเกรน เป็นต้น
- การรักษาอาการปวดหัวในกลุ่มทุติยภูมิ คือ การรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะรักษาโรคเนื้องอกสมองด้วยการผ่าตัด และ/หรือร่วมกับรังสีรักษา รักษาอาการปวดหัวจากสายตาสั้น หรือ สายตาเอียงด้วยการใส่แว่นตา และการเลิกสุรา เป็นต้น
- การรักษาอาการปวดหัวจากประสาท และอื่นๆ เช่น การผ่าตัดเมื่อมีหลอดเลือดกดประสาทสมองเส้นที่ 5 เป็นต้น
- การรักษาประคับประคองตามอาการ คือ การให้ยาแก้ปวด ขณะมีอาการปวดหัว ซึ่งมียาแก้ปวดหลากหลายชนิด แต่ที่เป็นยาประจำบ้าน ผู้ป่วยซื้อยากินได้เอง คือ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ส่วนยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร
ปวดหัวเป็นอาการรุนแรงไหม?
ความรุนแรงของอาการปวดหัว ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่ง มีได้ตั้งแต่ ไม่รุนแรง หายได้เองด้วยการพักผ่อน เช่น ปวดหัวจากการนอนไม่หลับ หรือปวดหัวปานกลางจากการมีไข้สูง หรือในโรคปวดหัวไมเกรน ซึ่งใช้รักษาด้วยการกินยา หรือ ปวดหัวรุนแรงจากโรคเนื้องอกสมอง ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และอาจร่วมกับรังสีรักษา
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ดังกล่าวแล้วว่า อาการปวดหัวเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ไม่รุน แรง และสาเหตุที่รุนแรง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหัว ควรสังเกตตนเองเสมอ เพื่อการพบแพทย์แต่เนิ่นๆ
- อาการปวดหัวที่ควรรีบพบแพทย์ ได้แก่
- ปวดหัวจนต้องตื่นขึ้นจากการนอน
- อาการปวดหัวยังคงอยู่ต่อเนื่องอย่างน้อยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป และไม่ดีขึ้น หรือ เลวลง หลังดูแลตนเอง หรือ หลังกินยาแก้ปวด
- มีอาการปวดหัวบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น กว่าเดิมมาก
- ลักษณะของอาการปวดหัวผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปวดมากขึ้นต่อเนื่อง ไม่หายไปเมื่อกินยาแก้ปวดทั้งๆที่เคยกินยาแล้วดีขึ้น
- เมื่อกังวลในอาการปวดหัว
- อาการปวดหัวที่ควรพบแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่
- ปวดหัวมากอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับคอแข็ง และ/หรือ มีไข้สูง เพราะเป็นอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ปวดหัวมาก ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน และ/หรือ แขน/ขา อ่อนแรง เพราะเป็นอาการของความดันในสมองเพิ่ม อาจจากเนื้องอก หรือ มะเร็งสมอง
- ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเกิดมีอาการปวดหัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นอาการของมะเร็งแพร่กระจายสู่สมอง
- ปวดหัวมากทันที ร่วมกับ พูดไม่ชัด ชาและแขน/ขาอ่อนแรง หรือ ทรงตัวไม่ได้ เพราะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
- ปวดหัวภายหลังอุบัติเหตุต่อสมอง หรือ ในบริเวณศีรษะ เพราะเป็นอาการของการมีเลือดออกในสมอง
- ปวดหัวมากร่วมกับปวดตามาก ตาแดง และเห็นภาพไม่ชัด เพราะเป็นอาการของโรคต้อหิน
ป้องกันปวดหัวได้อย่างไร?
การป้องกันอาการปวดหัว คือ การป้องกันสาเหตุดังกล่าวแล้วที่ป้องกันได้ เช่น ป้องกันอาการไข้จากการติดเชื้อด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) รักษาสุขภาพจิต และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อลดการเกิดอาการปวดหัวจากความเครียด ตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกัน รักษาโรค และรักษาอาการทางสายตาแต่เนิ่นๆก่อนก่ออาการปวดหัวเรื้อรัง และเลิกสุรา เป็นต้น
ที่มา https://haamor.com/th/ปวดหัว/