นอนกรน (Snoring)


1,215 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ช่องปาก  คอ  ระบบหูคอจมูก  ระบบทางเดินหายใจ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

บทนำ

นอนกรน (Snoring) คือภาวะ หรือ อาการ ที่เกิดมีเสียงดังผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการหายใจในขณะนอนหลับ ทั้งนี้ไอกรนเป็นอาการพบได้บ่อยอาการหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ ตั้ง แต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า อาการนี้พบได้ประมาณ 24-30% ในผู้ใหญ่ผู้ชาย และประมาณ 15% ในผู้ใหญ่ผู้หญิง และจะเพิ่มสูงเป็นประมาณ 60% ในผู้ชาย และประมาณ 40%ในผู้หญิง เมื่อมีอายุได้ 60-65 ปี

นอนกรนเกิดได้อย่างไร?

กลไกในการเกิดนอนกรน คือ เมื่อนอนหลับ ทางเดินลมหายใจตอนบน (จมูก ช่องปาก และลำคอ) ตีบแคบลงจากสาเหตุต่างๆ อากาศที่ผ่านเข้าในทางเดินลมหายใจจึงต้องมีแรงดันเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อต่างๆในช่องปากและช่องลำคอที่ไม่ได้มีกระดูกเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ เพดานอ่อน ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อต่อมทอนซิล เนื้อเยื่อรอบๆต่อมทอนซิลเนื้อเยื่อโคนลิ้น และเนื้อเยื่อในช่องลำคอ จึงส่งผลทำให้เกิดเป็นเสียงดังผิดปกติขึ้น

อะไรเป็นสาเหตุให้นอนกรน?

นอนกรนเกิดได้จากช่องทางเดินหายใจตอนบนตีบแคบลง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • มีกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆของลำคอหย่อนยาน เช่น จากสูงอายุ และจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • มีช่องทางเดินหายใจตอนบนแคบกว่าคนทั่วไป เช่น ผนังกั้นโพรงจมูกคด หรือมีลักษณะผิดปกติของขากรรไกร หรือมีเพดานอ่อน และ/หรือลิ้นไก่ยาวกว่าปกติ
  • มีการอุดกั้นช่องทางเดินหายใจจากก้อนเนื้อ เช่น มีก้อนเนื้องอกในโพรงจมูก หรือมีต่อมทอนซิล และ/หรือต่อมอะดีนอย (ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มหนึ่งในช่องคอ ซึ่งอยู่เหนือต่อมทอนซิล มักพบในวัยเด็ก) โตจากการอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง
  • คอสั้น หนา เช่น ในโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • การนอนหงาย เพราะเมื่อนอนหงายลิ้นจะตกลงไปในลำคอ จึงก่อการอุดกั้นช่องลำคอ
  • โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะนอนกรน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนอนกรน คือ

  • อายุ ยิ่งสูงอายุขึ้น การทำงานของเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจจะเสื่อมหย่อนยานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงนอนหลับที่การทำงานของสมองและประสาทลดลง
  • ผู้ชาย พบอาการนี้ได้สูงในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง อาจเพราะผู้ชายมักมีลำคอที่หนา สั้น ช่องลำคอจึงตีบแคบกว่าของผู้หญิง
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะมักมีไขมันในลำคอสูงขึ้น ช่องลำคอจึงแคบกว่าในคนทั่วไป
  • คนที่มีช่องลำคอเล็ก หรือมีความผิดปกติของช่องจมูก เช่น จมูกคด หรือมีช่องปาก หรือขากรรไกรผิดรูป จึงส่งผลให้เมื่อนอนหลับช่องทางเดินหายใจแคบลง
  • มีโรคต่างๆที่ก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจตอนบน เช่น มีก้อนเนื้อในโพรงจมูก มีต่อมทอนซิล และ/หรือต่อมอะดีนอยโต จากการอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะก่อนนอน เพราะแอลกอฮอล์มีผลให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะเมื่อนอนหลับ จึงส่งผลให้ช่องลำคอตีบแคบลง

นอนกรนมีอาการอย่างไร?

อาการที่มักเกิดร่วมกับการนอนกรน ได้แก่

  • นอนหลับไม่สนิท ตื่นกลางคืนบ่อย ไอกรรโชก บ่อยครั้งตื่นโดยไม่รู้สึกตัว คนนอนด้วยจะเป็นคนสังเกตเห็นอาการ
  • คอแห้ง เจ็บคอ เมื่อตื่นนอน เนื่องจากร่างกายมักช่วยการหายใจเพิ่มด้วยการอ้าปากหายใจ
  • นอนหลับกลางวันเพราะกลางคืนนอนไม่เต็มที่
  • สมาธิลดลง
  • หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • มีความดันโลหิตสูง (โรคความดันโลหิตสูง)

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุนอนกรนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุนอนกรนได้จาก ประวัติอาการ จากการบอกเล่าของผู้ป่วยเอง และจากคนที่นอนด้วย การตรวจร่างกาย การตรวจในระบบ หู คอ จมูก และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจลักษณะการนอนด้วยเครื่องตรวจจับการนอน เป็นต้น

นอนกรนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไปการนอนกรนไม่รุนแรง รักษาได้ แต่ถ้าไม่รักษา และเป็นอาการที่เกิดจากโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ความรุนแรงโรคสูงขึ้นมาก เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ นอกจากนั้น การนอนกรนยังเป็นสาเหตุให้นอนไม่พอ เกิดอาการง่วงซึมได้ในช่วงกลางวัน ซึ่งจะส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน และการเรียน และยังเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สำคัญอีกด้วยเมื่อง่วงแล้วขับ

ผลข้างเคียงที่พบได้จาก การนอนกรน คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ คุณภาพชีวิตลดลง จากการนอนกรนเป็นสาเหตุให้นอนไม่พอ เกิดอาการง่วงซึมในช่วงกลางวัน ส่ง ผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน และการเรียน และยังเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สำคัญเมื่อง่วงแล้วขับ ดังได้กล่าวแล้ว

นอกจากนั้น คือปัญหากับคนที่นอนด้วย ปัญหาในการทำงาน และปัญหาในครอบครัว เพราะคนนอนกรนมักหงุดหงิดง่าย และขาดสมาธิ

รักษานอนกรนได้อย่างไร?

แนวทางการรักษานอนกรน คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาโรคที่เกิดจากผลข้างเคียง

การรักษาสาเหตุ เช่น ผ่าตัดต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยเมื่อเกิดจากต่อมทอนซิล/ต่อมอะดีนอยโต การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นโพรงจมูก หรือกระดูกกรามเมื่อสาเหตุเกิดจากความผิดปกตของอวัยวะเหล่านั้น การใช้เครื่องช่วยหายใจช่วงนอนกลางคืนเมื่อเกิดจากโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ การเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดความอ้วน และการพยายามนอนตะแคง บางคนแนะนำให้เย็บลูกเทนนิสไว้ที่ด้านหลังเสื้อนอน เพื่อป้องกันไม่ให้นอนหงาย เป็นต้น

อาจมีการรักษาโดยใช้เครื่องช่วยหายใจในช่วงกลางคืน และเทคนิคเฉพาะต่างๆซึ่งมีได้หลายวิธีการ ตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ และตามดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

การรักษาผลข้างเคียง เช่น การรักษา ควบคุมโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์ เมื่อนอนกรน ได้แก่ เมื่อรู้ตัวว่านอนกรน หรือคนที่นอนด้วยพบว่าผู้ป่วยนอนกรน โดยเฉพาะเมื่อมีการสะดุ้งตื่นเป็นระยะ ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเสมอ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคและผลข้างเคียงต่างๆที่จะตามมาดัง กล่าวแล้ว ซึ่งหลังจากพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้การดู แลตนเองโดยทั่วไปนอกเหนือจากการพบแพทย์ ได้แก่

  • พยายามควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนัก
  • เลิก/งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเมื่อใกล้เวลานอน
  • พยายามนอนตะแคงเสมอ อาจใช้เทคนิคต่างๆ เช่น ติดลูกเทนนิสไว้หลังเสื้อนอนดังกล่าวแล้ว

คนที่นอนด้วยกันควรทำอย่างไร?

ที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่นอนด้วย คือ การบอกเล่าให้ผู้นอนกรนทราบถึงอาการที่เกิดขึ้น แนะนำ โน้มน้าวให้ผู้นอนกรนพบแพทย์ นอกจากนั้น คือพูดคุยถึงวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้คนที่นอนด้วยสามารถนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่

คนที่นอนด้วย อาจใช้การเข้านอนก่อนจนหลับ แล้วจึงให้คนนอนกรนเข้านอน หรือใส่หูฟังเพื่อลดการได้ยินเสียงกรน หรืออาจจำเป็นต้องแยกห้องนอน หรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งจะมีเทคนิคเฉพาะต่างๆในการดูแลทั้งผู้ป่วย และคนที่นอนด้วย ซึ่งได้แก่ แพทย์เฉพาะทางด้าน หู คอ จมูก และด้านทางเดินหายใจ (โรคปอด)

ป้องกันนอนกรนอย่างไร?

การป้องกันนอนกรน คือการหาสาเหตุ และให้การรักษาสาเหตุ นอกจากนั้นคือ

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญ คือ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะใกล้ช่วงเข้านอน และ
  • ฝึกนอนหลับในท่านอนตะแคง

ที่มา   https://haamor.com/th/นอนกรน/

อัพเดทล่าสุด