ทั่วไป
ยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) เป็นยาปฏิชีวนะที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้รักษาโรคในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีการใช้ยาตัวนี้ยาวนานเกือบ 70 ปี ในอดีตถูกนำไปใช้รักษาอหิวาตกโรค วงการแพทย์ยังนำยานี้มาใช้รักษาสิว หลอดลมอักเสบกามโรค เช่น ซิฟิลิส
ยาเตตราไซคลีน ยังใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนนิซิลลิน ทั้งนี้ รูปแบบของยาที่มีวางขายตามร้านขายยาและในสถานพยาบาล เช่น ยาขี้ผึ้ง ยาเม็ด ยาแคปซูล ยานี้จะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานในขณะที่ท้องว่าง จึงควรรับประทานก่อนอาหาร
อนึ่ง ได้มีการทดสอบการใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์ พบว่า ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อน จึงห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์หรือได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรเท่านั้น
ยาเตตราไซคลีน มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเตตราไซคลีน รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอัก เสบ และโรค/ภาวะติดเชื้ออื่นๆ เช่น สิวกามโรค อหิวาตกโรค
ยาเตตราไซคลีน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเตตราไซคลีน ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนและสารตั้งต้นทางพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เชื้อแบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต
ยาเตตราไซคลีน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายที่พบบ่อยๆในประเทศไทยของยาเตตราไซคลีน ได้แก่ ยาขี้ผึ้งทาผิวหนัง ยารับประทานที่เป็นยาเม็ด ยาแคปซูล ขนาด 100, 250, และ 500 มิลลิกรัม
ยาเตตราไซคลีน มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดของยาเตตราไซคลีนที่รับประทาน ในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมีขนาดรับประทาน 250-500 มิลลิกรัมต่อครั้งทุก 6 ชั่วโมง
สำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไป มีขนาดรับประทานอยู่ที่ 25-50 มิลลิกรัมต่อน้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้งทุก 6 ชั่วโมง
ในผู้ป่วยโรคไต ต้องมีการปรับขนาดรับประทานโดยเป็นคำแนะนำจากแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อรา หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแบบซ้ำ ซ้อน (Bacteria superinfection) นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำได้ด้วย
เมื่อมีการสั่งยาเตตราไซคลีน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาเตตราไซคลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ เกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยา หลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือผ่านรก และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาเตตราไซคลีน ควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาต่างๆ รวมทั้งยาเตตราไซคลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ และถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาเตตราไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง) ของยาเตตราไซคลีน คือ
- อาการทางผิวหนัง อาจก่อให้เกิดภาวะผื่นคันและผิวลอก
- อาจทำให้รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร โดยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน
- สามารถก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ การมองเห็นไม่ชัดเจน
- อาจทำให้มีไข้ หนาวสั่น คล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่
- อาจทำให้มีภาวะตัวเหลืองตาเหลือง รวมไปถึงเบื่ออาหาร
มีข้อควรระวังการใช้ยาเตตราไซคลีนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาเตตราไซคลีน คือ
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปี ด้วยก่อให้เกิดภาวะสีของฟันคล้ำขึ้น
- ห้ามรับประทานยาเตตราไซคลีนพร้อมกับนม ด้วยจะลดการดูดซึมของยา
- ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ
ยาเตตราไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเตตราไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น คือ
- การรับประทานยาเตตราไซคลีนร่วมกับกรดวิตามินบางตัว สามารถก่อให้เกิด ความดันเพิ่มขึ้นในสมอง และแสดงอาการเช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวควรต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษาและบำบัดอาการอย่างทันที ยากลุ่มกรดวิตามินดังกล่าว เช่น ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin, ยารักษาสิว)
- การรับประทานยาเตตราไซคลีน ร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด สามารถเพิ่มระ ดับของยารักษามะเร็งดังกล่าวในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดสีผิวซีด อ่อนแอ มีแผลในปาก คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระสีดำ หรือมีเลือดออกมากับอุจจาระปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ยารักษาโรคมะเร็งดังกล่าว เช่น เมโธเทรกเซท(Methotrexate)
- การรับประทานยาเตตราไซคลีน ร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร สามารถทำให้ฤทธิ์ของการรักษาของยาเตตราไซคลีน ลดประสิทธิภาพลง ยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารที่กล่าวถึง เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของ แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) และ แมก นีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)
ควรเก็บรักษายาเตตราไซคลีนอย่างไร?
ให้เก็บยาเตตร้าซัยคลีน ในที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส
ยาเตตราไซคลีน มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นๆและบริษัทผู้ผลิตยาเตตราไซคลีนในประเทศไทย เช่น
ชื่อการค้า | ผู้ผลิต |
Aureomycin (ออรีโอมัยซิน) | U.S. Summi |
Chlortetracycline Chew Brothers (คลอเตตร้าซัยคลิน จิวบราเทอร์) | Chew Brothers |
Lenocin (ลีโนซิน) | General Drugs House |
Tetracycline General drugs house (เตตร้าซัยคลิน เจเนอรัลดรักเฮ้า) | General Drugs House |
Tetracycline Osoth (เตตร้าซัยคลิน โอสถ) | Osoth Interlab |
Tetrana (เตตร้าน่า) | Atlantic Lab |
Tetrano (เตตร้าโน) ที่มา https://haamor.com/th/เตตราไซคลีน/ | Milano |