บทนำ
ในคนปกติ ตาทั้ง 2 ข้างทำงานร่วมกันเสมอ ถ้าตาขวาจะมองไปทางขวา ตาซ้ายก็ต้องมองไปทางขวาด้วย หรือถ้าตาซ้ายมองขึ้นบน ตาขวาจะมองลงล่างหรือไปทางอื่นไม่ได้ ต้องมองขึ้นบนด้วย เรียกว่าไปไหนไปด้วยกันเป็นแนวขนานกันไป ยกเว้นเวลามองใกล้ตาทั้ง 2 ข้างจะหมุนเข้าหากันเพื่อจับภาพที่อยู่ใกล้
เวลามองตรงไปข้างหน้าในคนปกติ ตาทั้ง 2 ข้างจะต้องอยู่ตรงกลาง แต่เมื่อตาสองข้างเวลามองตรง ตาหนึ่งอยู่ตรงกลาง แต่อีกตาเฉออก ซึ่งอาจเฉออกด้านไหนก็ได้ เช่น เฉออกมาที่หัวตา หรือ เฉขึ้นบน เรียกภาวะ หรือ โรคนี้ว่า โรค/ภาวะ ตาเข หรือตาเหล่ (strabismus)
ในบางคนที่เวลามองไกล ตาข้างหนึ่งอยู่ตรงกลาง แต่ตาอีกข้างกลับหมุนเข้าใน เรียกภาวะนี้ว่า ตาเหล่เข้าใน (Esotropia) หรือตาหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีกข้างหนึ่งกลอกออกมาทางหางตาหรือออกนอก เรียกว่า ตาเหล่ออกนอก (Exotropia) รวมไปถึงตากลอกขึ้นบนเรียกว่า ตาเหล่ขึ้นบน (Hypertropia) หรือตาเหล่ลงล่าง (Hypotropia) เป็นต้น เรียกว่าแบ่งชนิดของตาเหล่ได้ตามลักษณะหรือตำแหน่งของตาที่ผิดปกติไป นอกจากนั้น ยังพบว่าตาเหล่บางชนิดเป็นตลอดเวลา (Constant strabismus) หรือเป็นบางเวลาเรียกว่า intermittent strabismus หรือบางรายผลัดกันเข บางครั้งเป็นตาขวา บางครั้งเป็นตาซ้ายเรียกว่า alternate strabismus
มีอีก 2 สภาวะที่คล้ายตาเหล่มาก ได้แก่ ตาเหล่ซ่อนเร้น (Phoria) และตาเหล่เทียม (Pseudostrabismus)
ตาเหล่ซ่อนเร้น บางคนเรียกว่า ตาส่อน เป็นภาวะที่ถ้าลืมสองตา ตาทั้ง 2 ข้างจะอยู่ตรงกลางดี เวลาที่ร่างกายอ่อนเพลียหรือเอาอะไรมาบังตาข้างหนึ่งเสีย ตาข้างที่ถูกบังจะเบนออกจากตรงกลาง แต่ถ้าเอาที่บังตาออก ตาข้างนั้นจะกลับมาตรงได้ใหม่ อาจเรียกว่า ความต้องการในการมองเห็นภาพเป็นภาพเดียวกันมีสูง สามารถบังคับให้ตาที่เขกลับมาตรงได้ ภาวะนี้มักจะไม่มีปัญหาอะไร อาจเป็นเหตุให้มีอาการเมื่อยตา ตาล้า ง่ายกว่าคนทั่วไปเวลาใช้สายตามากๆ ซึ่งแก้ไขได้โดยการฝึกกล้ามเนื้อตา
สำหรับตาเหล่เทียม พบในเด็กที่สันจมูกยังแบนราบกับผิวหนัง และบริเวณหัวตากว้าง (Epicanthus) จึงแลดูคล้ายตาเหล่เข้าใน เมื่อเด็กโตขึ้นสันจมูกมีดั้งสูงขึ้น ภาวะคล้ายตาเหล่นี้จะหายไป
ตาเหล่มีผลเสียอย่างไร?
ผลเสียจากตาเหล่ คือ
- เห็นชัดๆ ทำให้เสียบุคลิก ไม่สวยงามเป็นปมด้อย คนตาเขจึงมักไม่สู้หน้าคน บั่นทอนสุขภาพจิต
- การมองเห็นด้อยกว่าคนปกติ เนื่องจากใช้ตาเดียวเป็นหลัก การมองเห็นของคนเราที่ดีที่สุด คือต้องมองเห็น 3 มิติ ในวัตถุขนาดเล็กๆได้ ซึ่งต้องอาศัยตาที่เห็นชัดทั้ง 2 ข้าง และทำงานร่วมกันได้ดี ผู้ที่มีตาเหล่ ตา 2 ข้างจะไม่ทำงานร่วมกัน เรียกว่าต่างคนต่างทำ จึงมองวัตถุเล็กๆไม่เป็น 3 มิติ ทำให้ทำงานที่ละเอียดไม่ได้ดี เช่น ช่างฝีมือต่างๆ
- ตาเขบางชนิดโดยเฉพาะเขแบบขึ้นบน หรือลงล่าง ผู้ป่วยบางคนจะหันหน้าหรือเอียงคอชดเชยความผิดปกติ ยิ่งจะทำให้บุคลิกผู้นั้นผิดไปจากคนทั่วไป
- เป็นที่ทราบกันดี ตาเขเป็นสาเหตุของตาขี้เกียจที่สำคัญ เนื่องจากตาที่เขไม่ค่อยได้ใช้งาน
- อาจเป็นอาการของโรคต่างๆได้ ดังจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ ตาเหล่มีสาเหตุจากอะไร?
ตาเหล่มีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของโรคตาเหล่ที่พบบ่อย คือ
- เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ การซักประวัติของบุคคลในครอบครัวจะช่วยวินิจฉัยได้
- เกิดจากมีสายตาที่ผิดปกติ ที่พบบ่อย คือ เด็กที่มีสายตายาวปานกลางจะมีตาเหล่เข้าใน เพราะเด็กต้องเพ่งเพื่อปรับสายตาให้เห็นชัด การเพ่งบ่อยๆ ทำให้ตาเหล่เข้าในได้ หากพบแต่แรกๆ การแก้ไขสายตายาวด้วยแว่นจะทำให้ภาวะตาเหล่หายไป และในเด็กที่มีสายตาสั้นหรือเอียงบางคน ทำให้กล้ามเนื้อตาขาดสมดุล เป็นเหตุให้เกิดตาเหล่ได้
- มีโรคในตาข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้สายตาข้างนั้นมัวลงมากกว่าอีกข้างกล้ามเนื้อตาจึงไม่สมดุล เกิดภาวะตาเหล่ได้
- นอกจากนี้ยังพบภาวะตาเหล่มากกว่าเด็กทั่วไปในเด็กที่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่นเด็กปัญญาอ่อน หรือเด็กที่มีพัฒนาการร่างกายช้า
- ตาเขในเด็กเล็ก อาจเป็นอาการของมะเร็งจอตา (โรคมะเร็งตาในเด็ก) หากไม่รีบรับการรักษา เด็กอาจถึงแก่ชีวิตจากมะเร็งได้
- ตาเหล่ในบางคน ไม่ได้เกิดแต่กำเนิด มาเกิดภายหลังโตขึ้นแล้ว หรือเกิดเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเกิดจากโรคทางกายอื่นๆ เช่น
- เนื้องอกในสมอง ทำให้เส้นประสาทเส้นที่ 6 เป็นอัมพาต เป็นเหตุให้เกิดตาเหล่
- มะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอที่ลุกลาม กดกล้ามเนื้อตา หรือ ลุกลามเข้าเส้นประสาท เกิดตาเหล่ขึ้นได้ เช่นมะเร็งไซนัส และมะเร็งโพรงหลังจมูก
- โรคเบาหวาน เมื่อเป็นนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาตได้
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ อาจทำให้เกิดภาวะตาเหล่ได้
- เป็นอาการสำคัญของโรคกล้ามเนื้อทั่วตัวอ่อนแรง (Myasthenia Gravis หรือ MG เป็นโรคพบได้บ้างประปราย โดยสาเหตุเกิดยังไม่ทราบชัดเจน) ซึ่งรวมทั้งกล้ามเนื้อตา
มีการตรวจและรักษาผู้ป่วยตาเหล่ สาเหตุจากโรคทางดวงตาอย่างไร?
มีการตรวจและรักษาผู้ป่วยตาเหล่ สาเหตุจากโรคดวงตา ดังนี้
- วัดสายตาทั้ง 2 ข้างว่ามีการเห็นปกติหรือไม่ ถ้ามีสายตาสั้น เอียง หรือยาว ต้องรับการแก้ไข (รักษา) ก่อน ในบางรายสายตาที่ผิดปกติเป็นต้นเหตุของตาเหล่ เมื่อแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ ตาอาจหายเขได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีอื่น
- ตรวจดูภายในลูกตาอย่างละเอียด ดูว่ามีโรคตาอื่นเป็นสาเหตุของตาเหล่หรือไม่
- วัดดูว่าความเข มากน้อยแค่ไหน เพื่อประเมินการรักษาต่อไป
- ตรวจดูว่ามีภาวะ ตาขี้เกียจ หรือไม่ ถ้ามีต้องรีบรักษาไปพร้อมกันไป
- หากตาเหล่ไม่มาก อาจรักษาโดยการฝึกกล้ามเนื้อตา หรือใช้แว่นแก้วปริซึม (Prism) แก้ไข หรือบางรายใช้วิธีฉีดน้ำยาโบทอก/Botox (ยาชนิดหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว)เข้ากล้ามเนื้อตาที่เป็นสาเหตุให้ตาเหล่
- การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา อาจทำในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ขึ้นอยู่กับว่าเขมากน้อยแค่ไหน
โดยสรุป ตาเขที่เกิดจากโรคทางดวงตาซึ่งมักเกิดแต่กำเนิด แม้จะไม่ทำให้เสียชีวิต หากรักษาแต่ต้นทำให้เด็กมีพัฒนาการเห็นที่ปกติ มีการใช้ตา 2 ข้างร่วมกัน มีคุณภาพการมอง เห็นที่ดีเช่นคนปกติได้
- อนึ่ง เมื่อ
- เขเกิดจาก
- อื่นๆ การรักษาคือการรักษา
- ที่เป็นสาเหตุ เช่น รักษา
- มะ เร็ง เมื่อมีสาเหตุจาก
- เป็นต้น
ควรทำอย่างไรเมื่อเด็กตาเหล่?
เมื่อพบว่าเด็กตาเข ควรพาเด็กปรึกษาจักษุแพทย์ (หมอตา) ทันที ความเข้าใจที่ว่าโตจะหายเอง เป็นการเข้าใจที่ผิด ที่หายได้เป็นเฉพาะผู้ที่มีตาเขเทียมเท่านั้น อีกทั้งความคิดที่ว่าเด็กเล็กเกินไปอาจไม่ให้ความร่วมมือนั้น เป็นความคิดที่ผิดอีกเช่นกัน ทั้งนี้ตาเขในเด็กบางคนอาจซ่อนโรคที่ร้ายแรงไว้ ถ้ามัวรอเด็กโตอาจจะได้ผลไม่ดีในการรักษา เช่น โรคมะเร็งตา อีกทั้งการรักษาตาเขที่ไม่ทราบสาเหตุในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะรักษาในเด็กเล็กยิ่งขึ้น การผ่าตัดก็นิยมทำในเด็กเล็กลง เนื่องจากการดมยาสลบในเด็กเล็กมีความปลอดภัยสูงขึ้น ผลการผ่าตัด นอก จากทำให้เด็กตาตรงดี เด็กยังจะมีการพัฒนาการมองเห็นสมบูรณ์เหมือนคนปกติได้ดีกว่ารอเด็กโตค่อยมารับการรักษา
ควรทำอย่างไรเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วตาเหล่?
ตาเขที่พบในผู้ใหญ่ แต่เป็นมาตั้งแต่เด็ก และผู้ป่วยใช้ชีวิตได้เป็นปกติสุข ถ้าไม่อยากแก้ไข ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเป็นคำแนะนำจากแพทย์ แพทย์แนะนำว่า ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์เสมอ เพื่อหาทางแก้ไขให้กลับปกติ หรือ อย่างน้อยเพื่อตรวจดูว่า ตาเขเริ่มก่อโรคอะไรต่อดวงตาบ้าง เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ
ส่วนในคนที่ไม่เคยมีตาเขเลยตั้งแต่เกิด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เพิ่งมาเกิดเอาเมื่อโตขึ้น หรือ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ควรรีบพบแพทย์ หรือ จักษุแพทย์เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ และ/หรือ เดินเซ เพราะสาเหตุอาจมาจากโรคอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นโรคร้ายแรงได้ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ตาเขมีสาเหตุจากอะไร?
ที่มา https://haamor.com/th/ตาเหล่/