ตรวจสุขภาพ (Medical checkup)


1,305 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

บทนำ

ตรวจสุขภาพ การตรวจสุขภาพ (Medical checkup, Check-up, General medical examination, Periodic health evaluation, Annual physical examination, Preventive health examination) จัดเป็นการแพทย์ในสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive medicine) ได้แก่ การตรวจ และการให้คำปรึกษาโรค ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หรือ ยังไม่พบโรค ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์มักแนะนำให้มีการตรวจ และให้การปรึกษาปีละครั้ง ดังนั้นเราจึงมักเรียกว่า “ตรวจสุขภาพ หรือการตรวจสุขภาพ ประจำปี”

การตรวจสุขภาพ ทำได้ในคนทุกเพศ และในทุกอายุ ปัจจุบันที่มีการให้ บริการในประเทศต่างๆทั่วโลกคล้ายคลึงกันรวมทั้งในประเทศไทย คือ การตรวจสุขภาพครรภ์มารดา การตรวจสุขภาพเด็กตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึงวัยเด็กเล็ก หรือ วัยเด็กโต และการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ

ความบ่อยของการตรวจสุขภาพ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพ พื้นฐานของแต่ละคน หรือ เป็นการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกัน หรือคัดกรองเฉพาะโรค เช่น โรคมะเร็ง หรือ โรคทางตา หรือเป็นการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน เช่นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นการตรวจสุขภาพตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล หรือ เป็นการตรวจสุขภาพตามความประสงค์ของแต่ละคน ดังนั้น จึงมีได้ตั้งแต่ ตรวจทุก 3 เดือน เช่น ในผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ตรวจทุก 6 เดือน เช่น การตรวจสุขภาพฟัน ตรวจทุก 1 ปี เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี และทุก 1-3 ปี เช่น การตรวจภาพรังสีเต้านม หรือ แมมโมแกรม (Mammogram) เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม หรือ ตรวจทุก 5 ปี เช่น การส่องกล้องตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพมีประโยชน์อย่างไร?

ในการป้องกันโรค แพทย์หวังประโยชน์ 3 ระดับ คือ ระดับปฐมภูมิ (Primary prevention) ระดับทุติยภูมิ (Secondary prevention) และระดับตติยภูมิ (Tertiary prevention) ซึ่งการตรวจสุขภาพสามารถให้ประโยชน์ได้ทั้ง 3 ระดับบ

นอกจากนั้น แพทย์หลายท่าน ยังให้ความเห็นว่า การตรวจสุขภาพสม่ำ เสมอ จะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับการตรวจ กับแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ผู้รับการตรวจจะคุ้นเคยกับขั้นตอนการตรวจต่างๆ ช่วยให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนวิธีตรวจรักษาดีขึ้น ช่วยลดปัญญาความไม่เข้าใจกันระหว่าง แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์กับผู้รับการตรวจ และครอบ ครัวได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการตรวจสุขภาพ คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การเสีย เวลา และบางครั้งอาจตรวจบางอย่างที่ไม่จำเป็น

จำเป็นต้องตรวจสุขภาพหรือไม่? ใครบ้างควรตรวจสุขภาพ? และควรตรวจเมื่อไร?

ในภาพรวมทั้งประเทศ การตรวจสุขภาพ จัดเป็นบริการที่มีค่าใช้จ่ายในภาพ รวมสูงมาก และยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์อย่างจริงจังที่สนับสนุนถึงการคุ้มทุนจากการตรวจสุขภาพ ดังนั้นการให้บริการของรัฐ จึงมักจำกัดเฉพาะ ”การตรวจสุขภาพทั่วไป หรือ การตรวจสุขภาพพื้นฐาน” ซึ่งสำหรับประเทศไทย คนไทยทุกคนสามารถขอรับการตรวจสุขภาพทั่วไปประจำปีได้กับทุกสถาน พยาบาล หรือ โรงพยาบาลของรัฐ ตามสิทธิ์ของแต่ละคน

การตรวจสุขภาพทั่วไป ได้แก่ การพูดคุยกับแพทย์ หรือ พยาบาล การตรวจชีพจร การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ การตรวจเม็ดเลือด (ตรวจซีบีซี/CBC) การตรวจปัสสาวะ การตรวจอุจจาระ และการตรวจเอกซเรย์ปอด ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ และการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กล่าวแล้วตามความประสงค์ของแต่ละคน อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม หรือ แมมโมแกรม(Mammogram) เป็นต้น

คนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยเริ่มตั้งแต่ ทารกในครรภ์ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ไปจนถึงผู้ สูงอายุ ควรมีการดูแลสุขภาพ และได้รับการตรวจสุขภาพทั่วไปสม่ำเสมอทุกๆปี และตามคำแนะนำของแพทย์ และพยาบาล แต่การตรวจสุขภาพอื่นๆเพิ่มเติมที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ควรขอคำแนะนำจากแพทย์จะได้ประโยชน์ที่สุด

ปัจจุบัน ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้ประชาชนเรียนรู้การดูแลตนเอง มีการตรวจสุขภาพ โดยจัดส่งแพทย์ พยาบาลเคลื่อนที่เข้าไปให้ความรู้ และให้ “การตรวจสุขภาพทั่ว” ไปให้กับประชาชนตามชุมชนต่างๆอย่างสมำเสมอ ต่อเนื่อง

การตรวจสุขภาพมีขั้นตอนอย่างไร? ต้องตรวจอะไรบ้าง? ตรวจได้ที่ไหน? ทำไมขั้นตอนตรวจเยอะเหลือเกิน ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเป็นครึ่งวัน?

“การตรวจสุขภาพทั่วไป” ตรวจได้ทุกโรงพยาบาล แต่การตรวจสุขภาพที่นอก เหนือจากนี้ ให้บริการได้เฉพาะบางโรงพยาบาลดังนั้นก่อนไปโรงพยาบาลจึงต้องศึกษาก่อนเสมอ เพื่อป้องกันการเสียเวลา

ขั้นตอน และระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจสุขภาพ ขึ้นอยู่กับว่า เป็นการตรวจอะไร ใช้บริการของโรงพยาบาลอะไร ปริมาณแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และปริมาณคนไข้ของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งการช่วยประหยัดเวลา และได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการตรวจสุขภาพ เราควรมีการเตรียมตัวล่วงหน้า โดยการเตรียมตัวทั่วไปที่สำคัญ คือ

  1. เตรียมเอกสารสิทธิต่างๆให้ครบ หรือ ประวัติการตรวจในอดีตต่างๆ เพื่อแพทย์ใช้ในการเปรียบเทียบ เมื่อเป็นการตรวจต่างโรงพยาบาลกัน
  2. เมื่อมีการนัดตรวจ อ่านเอกสารแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวในการตรวจต่างๆก่อนออกจากบ้านซ้ำอีกครั้ง ให้เข้าใจก่อน และเพื่อความถูกต้อง อนึ่งเอกสารคำ แนะนำการตรวจต่างๆ เมื่อได้รับแล้ว ควรต้องอ่านให้เข้าใจตั้งแต่ได้รับเอกสาร เมื่อไม่เข้าใจให้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่แนะนำเอกสารให้เข้าใจก่อนกลับบ้าน
  3. งดอาหาร และน้ำดื่มให้ถูกต้อง
  4. เตรียมคำถาม ข้อสงสัย ต่างๆที่อยากทราบ หรือ อยากปรึกษาแพทย์ จดบันทึกให้เรียบร้อย พร้อม สมุด ปากกา เพื่อการสอบถามแพทย์ พยาบาล และจดบันทึกความจำ เพื่อประหยัดเวลา ถ้าเป็นไปได้ ควรศึกษา อ่านจากหนังสือ หรือ อินเทอร์เนต ในข้อสงสัยเป็นพื้นฐานล่วงหน้า เพื่อเพิ่มความเข้าใจในการพูดคุย และในการถามแพทย์ได้ตรงเป้าหมายที่ตนเองต้องการ
  5. ไม่ควรมีการนัดหมายอื่นใดในวันตรวจ อย่างน้อยตลอดครึ่งวัน เพื่อจะได้ไม่หงุดหงิดเมื่อต้องใช้เวลาในการรอคอยการตรวจ
  6. ไปโรงพยาบาลตรงเวลาตามนัด
  7. แต่งตัว รวมทั้ง ถุงเท้า รองเท้า เสื้อชั้นใน ให้สะดวกกับการถอดและสวมใส่ เพื่อสะดวกในการตรวจ และบ่อยครั้ง มักต้องมีการเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อใช้เสื้อ ผ้าของโรงพยาบาล เพื่อความสะดวกในการตรวจของแพทย์
  8. มีเพื่อน หรือ ญาติไปด้วยเมื่อเป็นการตรวจที่ต้องมีหัตถการ หรือ การตรวจที่ใช้เทคโนโลยี เช่น การส่องกล้อง การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอ็มอาร์ไอ

มีค่าใช้จ่ายอย่างไร?

ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพทั่วไป อยู่ในการดูแลสุขภาพประชาชนของรัฐบาลอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อขอรับการตรวจจากหน่วยงานของรัฐต่างๆตามสิทธิของแต่ละคน จึงไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร ยกเว้นเมื่อประสงค์จะตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ดังนั้น จึงควรศึกษาสิทธิ์ต่างๆในด้านสุขภาพของท่านเสมอก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ

ส่วนการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลเอกชน จะมีหลากหลายรูปแบบ อาจอยู่ในรูปแพคเกจ (Package) ให้เลือกตามความต้องการของแต่ละคน ซึ่งค่าใช้ จ่ายในการตรวจจะขึ้นกับว่าเราต้องการตรวจอะไรบ้าง มาก หรือ น้อย เป็นการตรวจด้วยเทคโนโลยีระดับสูงหรือไม่ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเราต้องเป็นผู้รับผิด ชอบเอง ซึ่งถ้าสนใจ ควรสอบถามจากประชาสัมพันธ์ของแต่ละโรงพยาบาล หรือ สืบค้นจากเว็บไซต์ต่างๆจากอินเทอร์เน็ต

คำถามบ่อยในการตรวจสุขภาพ

  • ทำไมต้องอดอาหารและน้ำดื่มก่อนตรวจเลือด?

    ในการตรวจสุขภาพ หรือ ตรวจเลือด โดยทั่วไปที่ต้องงดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก็เพื่อให้ได้ค่าผลตรวจที่แน่นอน เป็นความจริง ไม่ได้ถูกรบกวนให้ผลผิดพลาดจากสารอาหารที่เรากิน นอกจากนั้น ยังเพื่อการเปรียบเทียบค่าผลการตรวจในแต่ละครั้งได้อย่างถูกต้องโดยไม่มีตัวแปรจากอาหารและน้ำดื่ม เช่น ค่าโปรตีน หรือ ค่าน้ำตาลในเลือดเป็นต้น แต่มีการตรวจเลือดหลายชนิดที่ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร และน้ำดื่ม เช่น การตรวจเลือด ซีบีซี/CBC แต่ทั้งนี้ เมื่อการตรวจแต่ละครั้ง มีการตรวจหลายชนิดร่วมกันในครั้งเดียว จึงทำให้เข้าใจผิดได้ว่า การตรวจเลือดทุกอย่างต้องงดอาหารและน้ำดื่ม

    ดังนั้น เมื่อต้องมีการตรวจเลือด จึงควรสอบถาม แพทย์ หรือพยาบาลทุกครั้งว่า จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำดื่มหรือไม่ และงดกี่ชั่วโมง

  • กินอาหารได้เมื่อไรหลังตรวจเลือดแล้ว

    โดยทั่วไป เมื่อเจาะเลือดเรียบร้อยแล้ว มักกินอาหาร และดื่มน้ำได้เลย ยก เว้น มีการตรวจอื่นๆต่อเนื่อง เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

    ดังนั้น จึงควรต้องสอบถามแพทย์ หรือ พยาบาลที่ให้การดูแลว่า กินอาหาร ดื่มน้ำได้เมื่อไหร่ อย่าถามเจ้าหน้าที่ที่เจาะเลือด เพราะเจ้าหน้าที่ฯจะให้คำตอบไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ดูแลเรา จึงไม่รู้ว่าเราต้องมีการตรวจ รักษาอะไร อย่างไร ต่อเนื่องเพิ่มเติมหรือไม่

  • ทำไมตรวจอัลตราซาวด์ต้องกินน้ำมากๆและกลั้นปัสสาวะ?

    การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง โดยมีหลักการว่า อวัยวะต่างๆกัน ให้การสะท้อนของคลื่นเสียงต่างกัน นอกจากนั้น หลายๆอวัยวะในร่างกายจะวางอยู่ทับซ้อนกัน เช่น ต่อมลูกหมากกับกระเพาะปัสสาวะ หรือมดลูกและรังไข่กับกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ดังนั้น การตรวจอวัยวะที่ทับซ้อนกันเหล่านี้ แพทย์ต้องใช้วิธีให้ความหนาแน่นของแต่อวัยวะต่างกัน เพื่อสะท้อนคลื่นเสียงได้ต่างกัน เพื่อทำให้แพทย์สามารถตรวจภาพอวัยวะเหล่านั้นได้ถูกต้องขึ้น เช่น การดื่มน้ำมากๆ และกลั้นปัสสาวะในการตรวจรังไข่ หรือ มดลูก หรือ ต่อมลูกหมาก ก็เพื่อทำให้กระเพาะปัสสาวะขยายจากมีน้ำ จึงแยกได้ง่ายจากอวัยวะอื่น และกระเพาะปัสสาวะที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกลั้นปัสสาวะ ยังช่วยดันลำไส้ต่างๆออกห่างจากอวัยวะที่ต้องการตรวจอีกด้วย

    จากที่กล่าวมาแล้ว การดื่มน้ำ และกลั้นปัสสาวะ จึงเป็นการตรวจอัลตราซาวด์ของอวัยวะในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานซึ่งมีกระเพาะปัสสาวะอยู่เท่านั้น ถ้าตรวจอัลตราซาวด์อวัยวะอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำ กลั้นปัสสาวะ เช่น อัลตราซาวด์ตับหรือ ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

  • ตรวจหัวใจทำไมผู้หญิงไม่ต้องตรวจเดินสายพาน?

    การตรวจหัวใจด้วยการเดินสายพาน หรือ Treadmill หรือ Exercise stress test เป็นการตรวจหัวใจเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมักเกิดในผู้ชาย ส่วนผู้หญิงวัยยังมีประจำเดือน/วัยเจริญพันธุ์มักไม่พบโรคนี้ เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ ดังนั้นจึงมักไม่พบการตรวจเดินสายพานในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์

    ส่วนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มีโอกาสเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นใกล้เคียงกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงวัยนี้ มักทนการเดินสายพานไม่ไหว ส่งผลให้การตรวจไม่ได้ผล

    ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าวแล้ว จึงมักไม่ค่อยมีการตรวจหัวใจด้วยการเดินสายพานในผู้หญิง

  • แพทย์รู้ได้อย่างไรว่าผลตรวจปกติ?

    แพทย์แปลผลการตรวจต่างๆได้จาก การสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆทั้งในอดีต ปัจจุบันของผู้รับการตรวจ และของครอบครัว การงาน และอาชีพ การตรวจร่างกาย ซึ่งรวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ (ชีพจร ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และอุณหภูมิร่างกายน้ำหนัก ส่วนสูง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจอุจจาระ (การแปลผลตรวจต่างๆ จะมีค่าปกติของแต่ละการตรวจกำกับอยู่ในใบรายงานผล) การตรวจทางรังสีวินิจฉัย(เอกซเรย์,จะมีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ อ่านรายงานผล) และการตรวจต่างๆอื่นๆ ซึ่งก็จะมีการบันทึกผลตรวจและการแปลผลจากแพทย์ผู้ให้การตรวจกำกับอยู่ในเวชระเบียน ซึ่งแพทย์ผู้ให้การตรวจจะนำผลเหล่านี้ มาประเมินร่วมกัน และชี้แจงกับผู้รับการตรวจ

  • ทำไมผลตรวจแต่ละครั้งไม่เหมือนกันแต่แพทย์ก็บอกว่าปกติ?

    โดยทั่วไป ผลปกติจากการตรวจต่างๆทางห้องปฏิบัติการ จะไม่ใช่ตัวเลขเดี่ยว แต่เป็นช่วงตัวเลขเสมอ เพราะการตรวจเลือดจะให้ผลไม่ตรงกันทุกๆครั้ง เพราะขึ้นกับความเข้มข้นของเลือดที่เจาะในแต่ละครั้ง และขึ้นกับปริมาณสารอาหาร และน้ำในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ค่าปกติของเม็ดเลือดขาวจากการตรวจ ซีบีซี อยู่ที่ช่วง 4,000-10,000 เซลล์ต่อเลือด 1 มิลลิลิตร เป็นต้น ดังนั้นค่าตัวเลขในช่วงดังกล่าว จึงถือเป็นค่าปกติทั้งหมด

    นอกจากนั้น ค่าปกติต่างๆยังขึ้นกับเทคนิคในการตรวจ ซึ่งมีได้หลายเทคนิค ชนิดน้ำยาที่ใช้ รุ่น และชนิดของเครื่องตรวจ และหน่วยที่ใช้ในการรายงานผล เช่น ค่าน้ำตาลในเลือดอาจรายงานผลเป็น มิลลิโมลต่อลิตร (mmol/l) หรือ เป็นมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dl) ดังนั้นในการดูค่าความแตกต่างในการตรวจแต่ละครั้ง จึงต้องรู้ปัจจัยต่างๆดังกล่าวด้วย

สรุป

ในความเห็นของแพทย์ส่วนใหญ่ ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ควรมี “การตรวจสุขภาพทั่วไป” ปีละครั้ง หรือ ตามคำแนะนำของแพทย์
ที่มา   https://haamor.com/th/ตรวจสุขภาพ/

อัพเดทล่าสุด