บทนำ
ไตวาย หรือ ไตล้มเหลว (Renal failure หรือ Kidney failure) คือ ภาวะที่ไตทั้งสองข้างสูญเสียการทำงาน จนไม่สามารถขับของเสียในร่างกายออกนอกร่างกายทางปัสสาวะได้ ไม่สามารถควบคุมสมดุลของน้ำ และสมดุลของเกลื่อแร่ต่างๆ โดยเฉพาะ โซเดียม (Sodium) โปแตสเซียม (Potassium) แคลเซียม และ ฟอสฟอรัส (Phosphorus) ได้ รวมทั้งไม่สามารถสร้างฮอร์โมนช่วยการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูกได้ ผู้ป่วยที่มีไตวายจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไต หรือการปลูกถ่ายไต
ไตวาย มีสองแบบ (Type) ตามสาเหตุและระยะเวลาที่เกิดไตวาย แต่อาการเมื่อเกิดไตวายจะเหมือนกัน ซึ่งทั้งสองลักษณะ คือไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง
ไตวายเฉียบพลัน คือ ไตวายที่เกิดจากไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็วภายในระยะ เวลาเป็นชั่วโมง หรือ 1-2 วัน ทั้งนี้โดยไม่เคยมีโรคของไตมาก่อน และโดยทั่วไปเมื่อได้รับการล้างไต และรักษาสาเหตุทันท่วงที ไตมักกลับฟื้นเป็นปกติ แต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดไตวายซ้ำได้อีก แต่ในบางคน ไตจะค่อยๆเสื่อมลง กลายเป็นไตวายเรื้อรังได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ และ/หรือการรักษาที่ล่าช้า
ไตวายเรื้อรัง คือ ไตวายที่มีสาเหตุเกิดจากโรคไตเรื้อรัง โดยเป็นระยะสุดท้ายของโรคไตเรื้อรัง (End stage renal disease) โดยไตจะค่อยๆสูญเสียการทำงานไปเรื่อยๆในระยะเวลานานหลายเดือน หรือหลายปี ขึ้นกับพยาธิสภาพของไตที่ได้เสียไปแล้ว สาเหตุ และการดูแลตนเองของผู้ป่วย ทั้งนี้ไตวายเรื้อรัง มักมีขนาดของไตเล็กลงจากมีพังผืดเกิดแทนที่เซลล์ไตปกติ และไม่มีโอกาสที่ไตจะฟื้นตัวกลับมาปกติได้ นอกจากนั้น ยังมีโอกาสที่จะเกิดไตวายเฉียบพลันซ้ำซ้อน ได้
ไตวายเกิดได้อย่างไร? มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- ไตวายเฉียบพลัน อาจเกิดจากเซลล์ไตสูญเสียการทำงาน จากไตขาดเลือด หรือจากเกิดโรคต่อเซลล์ของไตโดยตรง หรือเกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ จึงส่งผลให้ไตไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้
- การขาดเลือดของไต เช่น จากภาวะเลือดออกรุนแรงของอวัยวะต่างๆ เช่น จากอุบัติเหตุ จากภาวะขาดน้ำรุนแรง เช่น กินยาขับน้ำ หรือท้องเสียรุนแรง จากภาวะหัวใจล้มเหลว จากความดันโลหิตต่ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) การแพ้ยา แพ้อาหาร จากภาวะตับวาย จากภาวะช็อก และจากภาวะเลือดข้นผิดปกติ เช่น โรคมีเม็ดเลือดแดงสูง
- โรคของเซลล์ไตโดยตรง เช่น จากการอักเสบรุนแรงของเซลล์ไตในโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง การได้รับสารพิษบางชนิด ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือการกินยาเกินขนาด เช่น ยา พาราเซตามอล (Paracetamol) การติดเชื้อรุนแรงของไต หรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ลุกลามเข้าไต และรวมถึงภาวะร่างกายต้านไตใหม่จากการปลูกถ่ายไต (Graft rejection)
- การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น จากโรค นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และจากการอุดตันของท่อปัสสาวะ เช่น จาก โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ลุกลามเข้าท่อปัสสาวะ เป็นต้น
- ไตวายเรื้อรัง สาเหตุของไตวายเรื้อรัง คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และจากโรคทางพันธุกรรมของไตที่พบได้น้อย เช่น โรคมีถุงน้ำมากมายในไต(Polycystic kidney disease)
ไตวายมีอาการอย่างไร?
อาการของไตวาย เกิดจากการมีของเสียคั่งในเลือด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเสียจากการใช้พลังงานของร่างกาย โดยเฉพาะสารยูเรีย (Urea สารประกอบอินทรีย์เคมีในกลุ่มของไนโตรเจน ซึ่งมักเป็นสารปลายทางจากการใช้พลังงานจากโปรตีน) ดังนั้นจึงเรียกภาวะมีของเสียคั่งนี้ว่า ยูรีเมีย หรือ ยูเรเมีย (Uremia) ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ
- คลื่นไส้ อาจอาเจียน เบื่ออาหาร ผอมลง/น้ำหนักลด
- นอนไม่หลับ
- ผิวหนังดำคล้ำ จากของเสียเป็นสาเหตุให้เกิดสารให้สีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง
- ท้องเสีย
- อาจปัสสาวะบ่อย โดยปริมาณปัสสาวะในแต่ละครั้งอาจมากโดยสีปัสสาวะจะใสใกล้สีของน้ำ หรืออาจปัสสาวะน้อยครั้งมาก หรือไม่มีปัสสาวะ และแต่ละครั้งปริ มาณปัสสาวะจะน้อยมาก โดยสีปัสสาวะจะเข้มมากขึ้น
- คันตามเนื้อตัว จากของเสียที่คั่งก่อการระคายเคืองต่อผิวหนัง
- เป็นตะคริวบ่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย (หายใจลำบาก)
- บวมตามตัว โดยเฉพาะรอบดวงตา ขาและเท้า
- ซีด และอาการจากภาวะซีด เช่น เหนื่อยง่าย วิงเวียน เป็นลมง่าย ขาดสมาธิ
- เลือดออกตามอวัยวะต่างๆได้ง่าย มีจ้ำห้อเลือดตามเนื้อตัว
- อาจมีปวดหลัง หรือปวดเอวในตำแหน่งของไตทั้ง 2 ข้าง
- ความดันโลหิตต่ำ
- มีโปรตีนปนในปัสสาวะ และอาจปัสสาวะเป็นเลือด
- สับสน อาจชัก
- โคมา และเสียชีวิตในที่สุด
แพทย์วินิจฉัยไตวายได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะไตวายได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน การกินยาต่างๆ การใช้ยาสมุนไพร อาชีพ ถิ่นที่อยู่อาศัย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ดูการทำงานของ ไต ตับ และโดยเฉพาะดูค่าสารยูเรีย การตรวจปัสสาวะ และอาจมีการตรวจต่างๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพไตด้วยอัลตราซาวด์ หรือการตัดชิ้นเนื้อจากไตเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาไตวายอย่างไร?
แนวทางการรักษาไตวาย คือ การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ
- การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย คือ การล้างไต ซึ่งอาจเป็นการล้างไตผ่านทางหน้าท้อง หรือการฟอกไตโดยการฟอกเลือด ทั้งนี้ขึ้นกับขีดความสามารถของแต่ละโรงพยาบาล
- การรักษาสาเหตุ จะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ เช่น การรักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเมื่อสาเหตุคือโรคออโตอิมมูน การรักษาภาวะขาดน้ำเมื่อสาเหตุเกิดจากภาวะขาดน้ำ หรือการให้เลือดเมื่อสาเหตุเกิดจากการเสียเลือดรุนแรง เป็นต้น
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ การให้ยาบรรเทาอาการคัน และ การทำกายภาพบำบัดกรณีเป็นตะคริวบ่อย หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
ไตวายรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ไตวายเป็นภาวะรุนแรง ถ้าไม่สามารถกำจัดของเสียในร่างกายออกได้ทันท่วงที มักเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตเสมอ
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของภาวะไตวายขึ้นกับ สาเหตุ ถ้าเป็นไตวายเฉียบพลันซึ่งได้รับการล้างไตทันทวงที่ ไตมักกลับเป็นปกติได้ แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดไตวายได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุด้วย ถ้าสาเหตุรุนแรง หรือได้รับการล้างไตล่าช้า อาจเสียชีวิตได้ หรืออาจเกิดเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือเป็นไตวายเรื้อรังได้
ส่วนไตวายเรื้อรัง อาการมักไม่หาย แต่การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น
ผลข้างเคียงจากไตวาย คือ อาจกลายเป็นโรคไตเรื้อรัง ของเสียที่คั่งอยู่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และของสมอง ทำให้มีอาการผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ และอาการทางสมอง เช่น สับสน ชัก โรคความดันโลหิตสูง และมีเลือดออกได้ง่ายในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เพราะขาดฮอร์โมนจากไตที่ช่วยสร้างสร้างเม็ดเลือดจากไขกระดูก
เมื่อไตวายควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้ออาการ ควรรีบพบแพทย์เสมอ ซึ่งในช่วงที่มีอาการไตวาย การรักษาจะเป็นการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงอยู่ในการดูแลรักษาจากแพทย์และพยาบาล แต่เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวควรต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้อง และเคร่งครัด ซึ่งโดยทั่วไป คือ
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ ที่สำคัญ คือ ระมัดระวังการกินยาต่างๆ อาหาร สมุนไพรต่างๆ เห็ดแปลกๆ
- จำกัด น้ำดื่มและประเภทอาหาร ตามที่แพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด โดย เฉพาะ อาหารเค็ม (เกลือโซเดียม/เกลือแกง) และเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง (เนื้อ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา
- ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายตามควรกับสุขภาพ สม่ำเสมอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพราะผู้ป่วยไตวาย มักติดเชื้อได้ง่าย และเมื่อติดเชื้อมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่ออาการต่างๆเลวลง
ป้องกันไตวายอย่างไร?
การป้องกันไตวาย คือการหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ
- ไม่กินยาพร่ำเพื่อ ถ้าจะซื้อยากินเองต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
- ระมัดระวังการใช้สมุนไพร หรือการกินเห็ดที่ไม่รู้จัก
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน
- ระมัดระวังอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียเลือดรุนแรง
- ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ เพื่อคัดกรองการทำงานของไตในการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี และเมื่อพบความผิดปกติ ต้องรีบพบแพทย์
ที่มา https://haamor.com/th/ไตวาย/