ตาย: ความตาย (Death)


819 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

หยุดหายใจ 

ความตายทางการแพทย์หมายความว่าอย่างไร?

ความตาย (Death) อาจมีความหมายได้ในหลายแง่มุม เช่น ความตายทาง การแพทย์ ความตายทางศาสนา ความตายทางร่างกาย ความตายในแง่กฎหมาย เป็นต้น แต่ความตายทางกายที่ถือกันว่าตายในทางการแพทย์นั้น มักจะต้องมีองค์ ประกอบอย่างน้อย 3 ประการ คือ

  1. คนคนนั้นต้องหยุดหายใจ
  2. หัวใจของคนคนนั้นต้องหยุดเต้น
  3. สมองของคนคนนั้นต้องหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง

จะทราบได้อย่างไรว่าคนคนหนึ่งได้ตายแล้ว?

สมมุติว่าท่านไปพบร่างของคนคนหนึ่งซึ่งดูภายนอกไม่มีการเคลื่อนไหว ดูน่าสงสัยว่าจะตาย เราสามารถดูสิ่งต่างๆเหล่านี้เพื่อตัดสินเบื้องต้นว่าเขาตายแล้วหรือยัง

ขั้นแรก คือ ดูว่าเขายังหายใจอยู่หรือไม่ ถ้าไม่หายใจก็น่าสงสัยว่าตาย แต่ก็ยังไม่แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคนบางคนหายใจเบามากจนเหมือนหยุดหายใจ

ขั้นต่อไป คือ ดูว่าหัวใจหยุดเต้นหรือยัง โดยคนทั่วไปสามารถจับชีพจรที่ข้อมือ ชีพจรที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ ชีพจรหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ ชีพจรหลอดเลือดแดงที่หลังเท้า ถ้าจับ หรือคลำไม่พบชีพจรในที่เหล่านี้ ก็น่าสงสัยว่าตาย แต่ในทางการแพทย์มักจะเชื่อถือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ ECG/อีซีจี หรือ Electrokardiogramm/ภาษาเยอรมัน หรือ EKG/อีเคจี) มากกว่าการจับชีพจรด้วยมือ ถ้าคลื่นไฟฟ้าหัวใจราบเรียบ ไม่มีคลื่นขึ้นลงตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ก็แสดงแน่นอนว่าหัวใจหยุดเต้นแล้วแน่นอน

การดูว่าหัวใจหยุดเต้นแล้วหรือไม่ อาจใช้วิธีการฟังเสียงหัวใจก็ได้ คนทั่ว ไปอาจใช้หูแนบที่หน้าอกด้านซ้ายโดยตรง หรือแพทย์อาจใช้หูฟังทางการแพทย์ที่เรียกว่า สะเตท (Stethoscope) ฟังที่ตำแหน่งหัวใจเหมือนที่เราเห็นเวลาหมอตรวจคนไข้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ยินเสียงหัวใจเต้นก็น่าสงสัยว่าตายแล้ว

ส่วนการตรวจการทำงานของสมองว่าหยุดแล้วหรือยังก็สามารถดูได้โดยสังเกตความรู้สึกตัวของคนคนนั้นว่า เขย่าตัว เรียกชื่อ เอาผ้าเย็นเช็ดตามหน้าแล้วรู้สึกตัวหรือไม่ ลองเอานิ้วเขี่ยขนตาแล้วหนังตากะพริบหรือไม่ ถ้าไม่กะพริบแสดงว่าหมดสติลึก หรือ โคม่า (Coma) หรือตายแล้ว ส่วนในทางการแพทย์นั้น ต้องใช้เครื่องมือตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่เรียก Electroencephalogram หรือ EEG (อีอีจี) เพราะสมองคนเราถ้ายังทำงานอยู่จะมีคลื่นไฟฟ้าให้เครื่องมือตรวจจับได้ แต่ถ้าตรวจแล้วไม่พบคลื่นสมองเลย แสดงว่าสมองหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง แสดงว่าตายแน่นอน

ในทางการแพทย์ถือการตายของสมองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะบางคนสมองตายแล้วทั้งๆที่หัวใจยังเต้นอยู่ ก็ยังสามารถเรียกว่าตายแล้วได้ เช่น คนที่ได้ รับอุบัติเหตุรุนแรงที่สมองและศีรษะจนสมองตายแต่หัวใจยังเต้นอยู่ และยังหายใจได้โดยใช้เครื่องช่วยหายใจ (Respirator) เป็นต้น

นอกจากนั้น การดูว่าคนตายแล้วหรือไม่ ยังสามารถดูลักษณะอื่นๆของร่าง กายได้ด้วย เช่น ตัวอุ่น หรือตัวเย็น ถ้าตัวเย็นชืดแล้ว แสดงว่าน่าจะตายแล้ว สีของมือและเท้าก็พอดูได้ เช่น ถ้ามือเท้าแดงดี ก็น่าจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าสีของร่างกายเขียวคล้ำ แสดงว่าน่าจะตายแล้ว ยิ่งถ้าสีเขียวคล้ำไปอยู่ทางด้านหลังมากกว่าด้าน หน้า (ในกรณีที่นอนหงายตาย) แสดงว่าน่าจะตายมาหลายชั่วโมงแล้ว ลักษณะเช่นนี้ทางการแพทย์เรียกว่า Livor mortis

อีกอย่างคือความอ่อนแข็งของร่างกาย คือ คนปกติร่างกายจะอ่อนนุ่ม แขนขาเหยียดงอได้ แต่ถ้าตัวแข็งแล้ว แขนขางอเหยียดไม่ได้ แสดงว่าตายมาหลายชั่วโมงแล้วเช่นกัน ลักษณะตัวแข็งหลังตายนี้ทางการแพทย์เรียกว่า Rigor mortis

ดังนั้นการจะตัดสินว่า คนคนหนึ่งตายแล้วหรือยัง ต้องอาศัยลักษณะหลัก ฐานหลายๆอย่างมาประกอบกันจึงจะชัดเจนแน่นอน

ในทางการแพทย์เวลาคนไข้ตายที่ตึกผู้ป่วย เขาจะรอเวลาไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าตายแน่นอนก่อนจะเข็นไปเก็บที่ห้องเก็บศพ

หลังตายแล้วร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายภายหลังการตายนั้น จะมีดังต่อไปนี้ คือ

  • ตัวจะแข็ง (Rigor mortis)
  • ตัวจะเย็นชืด
  • ตัวจะเขียวคล้ำและเลือดดำตกไปทางด้านหลัง (Livor mortis)
  • ต่อจากนั้นจะตามมาด้วยการเน่า (Autolysis) ซึ่งการเน่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากสารเคมีในเซลล์ที่เรียกว่า Lysozyme ย่อยสลายเซลล์ของตัว เองที่ตายแล้ว อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการย่อยสลายด้วยเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีอยู่แล้วในร่างกายของมนุษย์ตามธรรมชาติ เช่น ในลำไส้ ตามผิวหนัง ในปาก ในลำคอ รวมทั้งแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อม จะทำการย่อยสลายเนื้อเยื่อทุกชนิดทำให้เกิดก๊าซในร่างกาย ร่างกายจะบวมพองอืด และมีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง ซึ่งการเน่านี้จะสามารถทำให้เกิดช้าลงได้ด้วยวิธีการ 2 อย่าง คือ
    1. การเอาศพไปแช่ตู้เย็นเหมือนกับที่เราแช่อาหารไม่ให้บูดเสีย ความเย็นจะยับยั้งการทำงานของแบคทีเรียและหยุดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียได้
    2. อีกวิธีคือ การฉีดน้ำยากันเน่า ซึ่งน้ำยาที่เราใช้ คือ น้ำยาฟอร์มาลิน (Formalin หรือ Formaldehyde) โดยวิธีการฉีด คือ ฉีดโดยใช้เครื่องปั๊มน้ำยาเข้าไปในหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอและขาหนีบ จนน้ำยาซึมซ่านไปทั่วร่างกาย ซึ่งจะหยุดการเน่าของเซลล์/เนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้เป็นเวลานาน ศพที่ฉีดน้ำยาฟอร์มาลินแล้ว จับดูเนื้อจะแข็งมากกว่าปกติ เพราะมีน้ำยาเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนังจำนวนมาก และถ้าเราสังเกตดูศพที่ฉีดยาแล้ว จะมีสำลีอุดอยู่ที่รูจมูกทั้งสองข้างเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยาไหลล้นออกมาทางจมูกนั่นเอง

ในปัจจุบันคนทั่วไปนิยมฉีดยาศพมากกว่าไม่ฉีด เพราะจะทำให้ศพคงสภาพได้ดีกว่า และไม่ส่งกลิ่นเหม็นในกรณีที่ต้องทำพิธีศพหลายๆวัน

การตายตามกฎหมายไทยหมายความว่าอย่างไร?

การตายตามกฎหมายไทยมี 2 ชนิด คือ การตายตามธรรมชาติ และการตายโดยผลของกฎหมาย

  • การตายตามธรรมชาติหมายถึง การหยุดทำงานของระบบร่างกาย 3 ระบบได้แก่ แกนสมองของระบบประสาทกลางต้องหยุดทำงาน ระบบไหลเวียนโลหิต (เลือด) หยุดทำงาน ได้แก่ หัวใจหยุดเต้น และระบบหายใจ ได้แก่ ปอด ต้องหยุดหายใจ ซึ่งหมายความว่าคนคนนั้นไม่สามารถหายใจด้วยตนเองได้
  • การตายโดยผลของกฎหมาย ได้แก่ บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคน”สาบสูญ” โดยมากคนๆนั้น ต้องสูญหายไปโดยไม่มีผู้ใดพบเห็นอย่างน้อย 5 ปี และญาติทำการร้องขอต่อศาล ให้ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งมีสภาพเท่ากับคนที่ตายไปแล้วนั่นเอง ทำให้ทายาทสามารถรับมรดกของผู้ที่ศาลสั่งให้ตายทางกฎหมายนี้ได้

สาเหตุการตายที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?

จากข้อมูลสถิติการตายของกระทรวงสาธารณสุขปีพุทธศักราช 2552 แจ้งว่าสาเหตุการตายของคนไทยตามอันดับ เกิดจาก

  1. โรคมะเร็งและเนื้องอก
  2. อุบัติเหตุและสารพิษ
  3. โรคหัวใจ
  4. โรคความดันเลือดสูง และโรคหลอดเลือดสมอง
  5. โรคปอดทุกชนิด
  6. โรคไตและไตพิการ
  7. โรคตับและตับอ่อน และ
  8. การฆ่าตัวตายและถูกฆ่าตาย ซึ่งส่วนมากถ้าดูแยกเป็นราย บุคคลจะพบว่า บางครั้งสาเหตุการตายอาจจะมีโรคของหลายๆระบบอวัยวะร่วมกันซึ่งส่งเสริมให้เกิดการตายได้

การวินิจฉัยการตายมีข้อผิดพลาดได้ไหม? เพราะอะไร?

เราอาจจะเคยได้ข่าวจากสื่อต่างๆว่า มีการตายแล้วฟื้น หรือลุกขึ้นมาจากโลงศพในขณะที่สวดศพ ในแง่หนึ่งเราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของปาฏิหาริย์ แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นที่น่าสงสัยว่า คนนั้นอาจจะยังไม่ตาย แต่ได้รับการวินิจฉัยว่าตายก็ได้

การวินิจฉัยการตายอาจมีการผิดพลาดได้ ถึงแม้จะไม่มีสถิติยืนยันแน่นอน โดยมากน่าจะเป็นการวินิจฉัยโดยใช้การตรวจภายนอก เช่น การจับชีพจร ซึ่งคนบางคนหัวใจเต้นช้ามากจนดูคล้ายหยุดเต้น หรือดูการหายใจ ซึ่งอาจจะช้ามากจนดูคล้ายหยุดหายใจได้ แต่ถ้าใช้เครื่องมือประกอบ เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ตรวจร่วมด้วยน่าจะมีความผิดพลาดน้อยมากๆ

ทำไมต้องผ่าชันสูตรศพ? มีข้อบ่งชี้อย่างไร?

การผ่าชันสูตรศพมีความจำเป็นต้องทำในกรณีต่อไปนี้ คือ

  1. ต้องทำทุกรายที่เป็นการตายผิดธรรมชาติ เช่น ถูกฆ่าตาย ฆ่าตัวตาย ตายจากอุบัติเหตุ ตายนอกบ้าน หรือในบ้านโดยไม่ทราบสาเหตุ และการตายที่เกี่ยวข้องกับคดีความ เป็นต้น
  2. การตายตามธรรมชาติในโรงพยาบาลที่แพทย์ผู้รักษาร้องขอเพื่อการศึกษาและญาติที่เกี่ยวข้องอนุญาต
  3. ญาติผู้เกี่ยวข้องร้องขอต่อศาลให้มีการชันสูตรศพ ซึ่งโดยมากจะเกี่ยวข้องกับคดีความ เป็นต้น

เมื่อเสียชีวิตในโรงพยาบาล แพทย์มีขั้นตอนดูแลศพอย่างไร?

เมื่อเสียชีวิตในโรงพยาบาล แพทย์จะเก็บศพไว้ที่หอผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง และตรวจซ้ำอีกจนแน่ใจว่าตายจริง จึงจะนำไปเก็บในตู้เย็นที่ห้องเก็บศพ ส่วนการฉีดน้ำยาฟอร์มาลินกันเน่านั้น โดยมากจะเป็นไปตามความต้องการของญาติซึ่งทางโรงพยาบาลมักจะมีบริการให้

เมื่อมีคนเสียชีวิตที่บ้าน ควรทำอย่างไร?

เมื่อมีคนเสียชีวิตที่บ้าน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ไปแจ้งที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่รับผิดชอบของบ้านที่มีผู้เสียชีวิตพร้อมด้วยบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตาย (ถ้ามีทะเบียนบ้านตัวจริง ควรนำไปด้วย) แจ้งความกับตำรวจ จาก นั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะติดต่อแพทย์นิติเวชวิทยาเพื่อร่วมกันมาทำการตรวจศพที่บ้าน และเมื่อไม่ต้องมีการผ่าชันสูตรศพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะออกใบรับแจ้งการตายให้ จากนั้นให้รีบนำใบแจ้งตายจากตำรวจนั้นไปที่สำนักงานเขตหรือที่ทำการอำเภอเพื่อแจ้งตาย พร้อมบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้ตาย และเจ้าหน้า ที่เขตจะออกใบมรณะบัตรให้ เราจึงจะสามารถนำใบมรณะบัตรนี้ไปที่วัด หรือสุสานเพื่อนำศพเข้าทำพิธีทางศาสนาได้

เมื่อมีการพบศพควรทำอย่างไร?

เมื่อมีการพบศพ เบื้องต้นควรแจ้งสถานีตำรวจที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อให้เจ้าหน้า ที่มาตรวจที่เกิดเหตุและสภาพแวดล้อม ณ ที่ตายผู้พบศพไม่ควรเคลื่อนย้ายศพเอง เพราะอาจทำให้หลักฐานที่เกี่ยวกับการตายเปลี่ยนแปลงได้ การตายนอกสถานที่ทุกราย ต้องได้รับการผ่าชันสูตรศพทางกฎหมาย และทางนิติเวชวิทยา
ที่มา   https://haamor.com/th/ตาย/

อัพเดทล่าสุด