ทั่วไป
ทางการแพทย์ พบเชื้อดื้อยา หรือเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งคือ ดื้อต่อ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นยาใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง แต่ยังเป็นการดื้อยาที่ไม่รุนแรงมาก เพราะยังมียาตัวอื่นให้พอรักษาได้ผล แต่ที่กำลังหวั่นเกรงกันทั่วโลกขณะนี้ คือ การพบโรคที่เกิดจากแบคทีเรียสายพันธุ์ดื้อยาปฏิชีวนะทุกชนิด และปัจจุบันยังไม่มีตัวยารักษา ซึ่งสื่อมวลชนทั่วโลก เรียกแบคทีเรียกลุ่มนี้ว่า “ซูเปอร์บั๊ก” (Superbug) ดังนั้นเมื่อติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้ จึงมีอาการรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก
เชื้อซูเปอร์บั๊ก คือเชื้ออะไร?
โดยทั่วไป แบคทีเรียแบ่งเป็น 2 ชนิดตามการย้อมติดสีเคมี กล่าวคือ เมื่อย้อมติดสีเคมี ให้สีน้ำเงิน เรียกว่า แบคทีเรียชนิด แกรมบวก (Gram-positive bacteria) โดย แกรม เป็นชื่อ นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบการย้อมสีเคมีชนิดนี้ แต่แบคทีเรียอีกชนิด ย้อมไม่ติดสีเคมี เรียกว่า ชนิด แกรมลบ (Gram-negative bacteria) ซึ่งแบคทีเรียชนิดแกรมลบ มีความรุนแรงสูงกว่าชนิด แกรมบวก
เชื้อซูเปอร์บั๊กในขณะนี้ เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ที่กลายพันธ์เป็นเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะทุกชนิด ทั้งนี้เพราะแบคทีเรียสามารถสร้างพันธุกรรม (จีน หรือ ยีน หรือ Gene ต่อไปเรียกว่า จีน) ชนิดใหม่ หรือกลายพันธุ์ได้ง่ายกว่าเซลล์ของมนุษย์มาก โดยแบคทีเรียกลายพันธุ์นี้ สามารถสร้างน้ำย่อยทำลายยาปฏิชีวนะซึ่งใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดดื้อยาได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ยาปฏิชีวนะเหล่านั้นหมดประสิทธิภาพ
เนื่องจากเชื้อซูเปอร์บั๊ก พบครั้งแรก (เดือนธันวาคม 2552) ในเมือง นิวเดลฮี ประเทศอินเดีย (ผู้ติดเชื้อเป็นนักท่องเที่ยวชาวสวีเดน) น้ำย่อยชนิดทำลายประสิทธิภาพขอยาปฏิชีวนะฯ จึงได้ชื่อตามสถานที่พบเชื้อครั้งแรกว่า นิวเดลฮี เมทัลโล บีตา แลคตาเมส (New Delhi Metallo-beta-lactamase) หรือเรียกย่อว่า "เอ็น ดี เอ็ม-วัน" (NDM-1) โดยจีนสร้างน้ำย่อยชนิดนี้ มีชื่อว่า “Bla NDM-1 gene”
เชื้อซูเปอร์บั๊กที่พบในปัจจุบัน มีสองชนิด ได้แก่เชื้อ Escherichia coli ซึ่ง นิยมเรียกว่า เชื้อ อี โคไล (E. coli) และเชื้อ Klebsiella pneumoniae (เครบซีลลา นิวโมนิอี) แต่แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์คาดว่า แบคทีเรียทุกชนิดสามารถกลายพันธุ์ เป็นซูเปอร์บั๊กได้ทั้งนั้น
เชื้อ อี โคไล มักทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบทางเดินอาหาร (เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคไตอักเสบ และโรคท้องเสีย) ส่วนเชื้อ เครบซีลลา มักทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโรคดื้อยา แบคทีเรียทั้งสองชนิดนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามเข้ากระแสโลหิต (กระแสเลือด) และกระจายติดเชื้อได้ในทุกๆอวัยวะ
ติดเชื้อซูเปอร์บั๊กได้อย่างไร?
เชื้อซูเปอร์บั๊ก ซึ่งขณะนี้พบได้ทั่วโลกแล้ว โดยแหล่งระบาด คือ ประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ (แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การที่โรคแพร่ได้รวดเร็วทั่วโลก เกิดจากขีดความสามารถในการเดินทาง และการท่องเที่ยวของประชากรโลก) เป็นเชื้อติดต่อ และติดต่อได้ในคนทุกเพศ และในทุกวัย โดยติดต่อได้ทั้งจาก
- ทางปาก (ทางอาหาร/น้ำดื่ม)
- ทางการสัมผัส
- ทางบาดแผล (ทางบาดแผลที่สำคัญทางหนึ่ง คือ จากการผ่าตัด ซึ่งร่วมถึง การสัก การผ่าตัดศัลยกรรมความงามทุกชนิด และการผ่าตัดรักษาโรคต่างๆ )
- ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และ
- ทางการหายใจ (การไอ และการจาม)
ใครคือกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อซูเปอร์บั๊ก?
กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซูเปอร์บั๊ก นอกจากผู้ได้รับการผ่าตัดแล้ว ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยซึ่งมีภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคต่ำ หรือ ได้ยารักษากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือ ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และที่สำคัญที่สุด คือ
- ผู้ที่ใช้ ยาปฏิชีวนะ พร่ำเพรื่อ
มีอาการอย่างไรเมื่อติดเชื้อซูเปอร์บั๊ก?
อาการของโรคติดเชื้อซูเปอร์บั๊ก เช่นเดียวกับอาการจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียทั่วไป แต่อาการรุนแรงกว่ามาก ได้แก่
- มีไข้สูง หนาวสั่น
- คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน มึนงง
- ไอ มีเสมหะ
- ปัสสาวะ ปวด แสบ ขัด
- ปวดหัว ปวดหลัง
- ท้องเสีย ปวดท้อง
แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อซูเปอร์บั๊กได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อซูเปอร์บั๊กได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเดินทาง/ท่องเที่ยว การดื้อยาปฏิชีวนะ ต่างๆเมื่อได้รับการรักษา และการตรวจเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งต่างๆ
รักษาโรคจากติดเชื้อซูเปอร์บั๊กอย่างไร?
ปัจจุบัน (และคาดว่าอย่างน้อย อีก 2-3 ปีจึงจะคิดค้นยาซึ่งรักษาการติดเชื้อ ซูเปอร์บั๊กได้) ยังไม่มีตัวยาเฉพาะรักษาโรคติดเชื้อซูเปอร์บั๊ก ดังนั้น การรักษา จึงเป็นการรักษาที่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะ หลายๆตัวร่วม กัน นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาบรรเทาปวด และ ยาบรรเทาอาการไอ
การติดเชื้อซูเปอร์บั๊กรุนแรงมากไหม?
การติดเชื้อซูเปอร์บั๊ก เป็นการติดเชื้อรุนแรงมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ร่างกายได้รับ และสุขภาพก่อนการติดเชื้อด้วย ซึ่งระยะฟักตัว ของโรค (ระยะติดเชื้อ จนถึงเกิดอาการ) แตกต่างกันตามปริมาณเชื้อที่ร่างกายได้รับและสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็น ภายใน 1วัน หรือ อาจหลายๆวัน หรือ เป็นสัปดาห์ และถึงแม้ต้องใช้เวลารักษายาวนานในโรงพยาบาล เสียค่าดูแลรักษาสูงมาก แต่ผล ลัพธ์ยังคงเป็นอัตราเสียชีวิตที่สูง เมื่อได้รับเชื้อในปริมาณมาก หรือ เมื่อเป็นบุคคลที่มีสุขภาพอ่อนแอ
ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของเชื้อซูเปอร์บั๊กได้อย่างไร?
ดังกล่าวแล้วว่า ผลการรักษาโรคติดเชื้อซูเปอร์บั๊ก มีโอกาสเสียชีวิตสูง ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุม เชื้อซูเปอร์บั๊ก คือ การป้องกันการติดเชื้อซูเปอร์บั๊ก การป้องกันไม่ให้เชื้อซูเปอร์บั๊กระบาดแพร่กระจาย และการป้องกันเชื้อแบคทีเรียอื่นๆกลายพันธุ์ ซึ่งได้แก่ การรู้จักใช้ยาปฏิชีวนะ การรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และการรู้จักดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย
- การรู้จักใช้ยาปฏิชีวนะ
- ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ไม่กินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ กินเฉพาะที่แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรแนะนำ ควรต้องเข้าใจว่า ยาปฏิชีวนะรักษาเฉพาะโรคติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่ใช่ทุกโรค รักษาหายด้วยยาปฏิชีวนะ ถึงแม้จะมีไข้ก็ตาม ทั้งนี้เพราะอาการไข้ เกิดได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือ เชื้อโปรตัวซัว (เชื้อแต่ละชนิดมีตัวยารักษาต่างกัน) ดังนั้น เมื่อมีไข้ หรือ มีอาการผิดปกติและไม่ดีขึ้นด้วยการดูแลตนเองในเบื้องต้น (เช่น การพักผ่อน การกินยาลดไข้) ควรพบแพทย์เสมอ ภายใน 2 วัน เมื่อเป็นคนสูงอายุ เด็กเล็ก หรือ มีสุขภาพไม่แข็งแรง/มีโรคประจำตัว และอาจรอถึง 3วัน เมื่อเป็นคนสุขภาพแข็งแรง
- กินยาปฏิชีวนะให้ถูกต้อง ถูกวิธีตามแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร/เอกสารกำกับยา แนะนำ เช่น กินก่อนอาหาร 15-30 นาที หรือ กินหลังอาหาร 30 นาที
- เมื่อแพ้ยา (ยาปฏิชีวนะ มีผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น การขึ้นผื่น หรือท้องเสีย ถ้ารุนแรง อาจแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก) อย่าเปลี่ยนยาเอง แต่ควรรีบพบแพทย์ พร้อมตัวอย่างยา เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
- กินยาให้ครบตามแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรแนะนำ อย่าหยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น
- อย่าแบ่งยาของตนเองให้คนอื่น หรือ แนะนำผู้อื่น ถึงแม้อาการคล้ายกัน เพราะบ่อยครั้งไม่ใช่โรคชนิดเดียวกัน
- การรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ในชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมทั้งในการเดินทาง/ท่องเที่ยว และ/หรือ ไปต่างประเทศสำหรับคนทุกวัย ซึ่งแนะนำโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลด/ป้องกันโอกาสติดเชื้อ และลด/ป้องกันโอกาสแพร่ระบาดของเชื้อต่างๆ รวมทั้งซูเปอร์บั๊ก
- การดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย เพื่อลดโอกาสดื้อยาปฏิชีวนะ และเพื่อลดการระบาดแพร่กระจายของเชื้อต่างๆ รวมทั้งซูเปอร์บั๊ก ได้แก่
- เมื่อเป็นโรคติดต่อ ควรหยุดพักอยู่กับบ้าน (เมื่อไม่ได้รักษาอยู่โรงพยาบาล) จนกว่าโรคจะหาย หรือ พ้นระยะติดต่อ ซึ่งแพทย์/พยาบาลจะเป็นผู้แนะนำ
- ไอ/จามต้องปิดปาก โดยใช้ต้นแขน เพราะการใช้มือปิด เชื้อโรคจะติดที่มือ ซึ่งเชื้อจะแพร่กระจายได้ง่าย
- ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อเป็นโรคทางเดินหายใจ จนกว่าหายจากโรค
- ทิ้งขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่งให้เป็นที่เป็นทาง และถูกหลักอนามัย (แยกใส่ถุงมีฝาปิด)
- ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่บ่อยๆ และทุกครั้งก่อนการกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส และควรรักษาความสะอาด สิ่งของ เครื่องใช้ และอื่นๆที่เป็นสิ่งต้องใช้ร่วมกัน เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู โทรศัพท์บ้าน หรือที่ทำงาน
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งช้อน และแก้วน้ำ
- หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด และ สถานที่ที่ใช้ร่วมกัน (เช่นสระว่ายน้ำ หรือ สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า) และการเดินทาง เมื่อไม่จำเป็น โดยเฉพาะช่วงมีการระบาดของโรคต่างๆ
- ลดการเยี่ยมเยียนผู้ป่วย ซึ่งไม่จำเป็น
- ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง และต้องกินยาถูกต้องครบถ้วนตามแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกรแนะนำ ไม่หยุดยาเอง
ที่มา https://haamor.com/th/เชื้อดื้อยา/