ความหนาแน่นมวลกระดูก (BONE MINERAL DENSITY)


1,369 ผู้ชม


บทนำ

กระดูก (Bone) ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญได้แก่ กระดูกส่วนนอก ( Cortical bone) และกระดูกส่วนใน (Trabecular bone ) ปัญหาสำคัญหนึ่งในประชากรสูงวัย ได้แก่ ภาวะกระดูกหักซึ่งเกิดจากมวลของกระดูก (ความหนาแน่นมวลกระดูก/Bone mineral density ย่อว่า BMD) ส่วนนอกลดน้อยลง ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง กระดูกจึงไม่สามารถทนต่อแรงกระ ทำภายนอกได้ จึงทำให้กระดูกหักได้ง่าย และเกิดภาวะทุพลภาพขึ้น

ภาวะที่กระดูกง่ายต่อการหักนี้เรียกว่า ภาวะ/โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ตำแหน่งกระดูกที่หักได้บ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่กระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลัง

ปัจจุบันมีความตื่นตัวในเรื่องกระดูกพรุนอย่างมาก เนื่องจากภาวะนี้เป็นภาวะที่ป้องกันและชะลอความรุนแรงของโรคได้ในระดับหนึ่ง แพทย์ที่มีบทบาทในด้านการรักษานี้ ได้แก่

ซึ่งแต่ละกลุ่มจะดูแลผู้ป่วยต่างกลุ่มกัน และอาจมีมุมมองและเทคนิคในการดูแลผู้ป่วยต่างกันด้วย

การวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนเราใช้การวินิจฉัยด้วยรังสี (รังสีจากการตรวจโรค) เป็นหลัก ผู้ให้การวินิจฉัยจะเป็นรังสีแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์

เครื่องมือใช้ตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกมีชนิดใดบ้าง?

เครื่องมือสำหรับการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกมีหลายชนิด ได้แก่

  1. Radiogrammetry
  2. Single Photon Absorptiometry (SPA)
  3. Dual Photon Absorptiometry (DPA)
  4. Single Energy X-ray Absorptiometry (SXA)
  5. Dual Energy X-ray Absorptiometry (DEXA)
  6. Quantitative Computed Tomography (QCT)
  7. Quantitative Ultrasound

ขัอดี ข้อเสียของเครื่องมือแต่ละชนิดที่มีให้บริการในทางเวชปฏิบัติในประเทศไทยเป็นอย่างไร?

ขัอดี ข้อเสียของเครื่องมือแต่ละชนิดที่มีให้บริการในทางเวชปฏิบัติในประเทศไทย ได้แก่

  • DEXA เป็นเครื่องตรวจโดยใช้รังสีเอกซ์พลังงานต่ำ (รังสีจากการตรวจโรค)
    • มีข้อดีคือ ให้ความถูกต้องแม่นยำสูง ผู้รับการตรวจได้รับปริมาณรังสีน้อย สามารถใช้ตรวจกระดูกได้หลายส่วน รวมทั้งมวลกระดูกทั้งร่างกาย
    • ข้อเสียคือ มีข้อจำกัดในกรณีมีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมซึ่งพบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งค่าที่ตรวจได้จะมีความคลาดเคลื่อนสูง

    ทั้งนี้ ปริมาณรังสีที่ผู้รับการตรวจด้วยเครื่องมือชนิดนี้ ประมาณ 0.8-4.6 mSv/ millisievert ซึ่งต่ำกว่ารังสีที่ได้รับจากเอกเรย์ปอดมาก คือ ผู้รับการตรวจเอกซเรยปอดจะได้รับรังสีประมาณ 20 mSv

  • QCT เทคนิคนี้ให้ความถูกต้องและแม่นยำสูงสุด สามารถแยกกระดูก ส่วนนอกและกระ ดูกส่วนในได้ชัดเจน ข้อเสียที่สำคัญคือผู้รับการตรวจจะได้รับปริมาณรังสีสูง คือประมาณ 25- 360 mSv
  • ULTRASOUND (อัลตราซาวด์) ข้อดีที่สำคัญคือ เป็นการตรวจที่ไม่ใช้รังสี ผู้รับการตรวจจึงไม่ได้รับรังสีเลย ทำให้เราสามารถพบเห็นการตรวจวิธีนี้ได้นอกสถานพยาบาล อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ให้ความถูกต้องแม่นยำที่ไม่สูงมากนัก และสามารถตรวจได้เฉพาะกระดูกส้นเท้า ซึ่งไม่ใช่จุดที่เสี่ยงต่อการหัก นอกจากนี้ผลตรวจที่ปกติ ไม่ได้เป็นตัวแทนของความหนาแน่นมวลกระดูกในกระดูกส่วนอื่นๆ จึงบอกค่าได้เฉพาะกระดูกชิ้นที่ตรวจเท่านั้น

ทั้งนี้ จาก ข้อดี ข้อเสีย ดังกล่าวข้างต้น ทำให้การตรวจด้วยเครื่อง/เทคนิค DEXA เป็นเทคนิคที่เหมาะสมที่สุด จึงเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย

การตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกตรวจที่กระดูกตำแหน่งใด?

ทั่วไป นิยมตรวจกระดูกที่มีโอกาสหักได้ง่ายจากภาวะ/โรคกระดูกพรุน 3 ตำแหน่ง ได้ แก่ กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine) กระดูกข้อสะโพก (Hip) และกระดูกปลายแขน (Forearm)

ค่าความหนาแน่นมวลกระดูกแต่ละตำแหน่ง แม้ว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน แต่ไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้ และในหลายกรณีที่ค่าเหล่านี้มีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นในการวินิจฉัยให้ได้ผลที่แน่นอน จึงจำเป็นต้องตรวจอย่างน้อยในกระดูกทั้ง 3 ตำแหน่งดังกล่าว

แปลผลการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกอย่างไร?

ค่าความหนาแน่นมวลกระดูกที่วัดได้ มีหน่วยเป็น มวล/ตารางพื้นที่กระดูก (gm/sq cm, กรัม/ตารางเซนติเมตร) จากค่านี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่ากระดูกบางหรือไม่ เราต้องนำค่านี้ไปเปรียบเทียบกับค่าปกติในกลุ่มคนที่อายุเท่ากัน เชื้อชาติเดียวกัน หรือเชื้อชาติที่ใกล้เคียงกัน (เรียกว่า ค่า Z) เช่น คนเอเชียด้วยกัน และคำนวณเป็นค่าความแปรผันทางสถิติที่เรียกว่า T- score (T) ซึ่งใช้เป็นค่าวินิจฉัยภาวะความหนาแน่นมวลกระดูก โดย

  • ค่า T score ที่มากกว่า -1 (ลบ 1) ถือว่าความหนาแน่นกระดูกปกติ
  • ค่า T score ที่อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 ถือว่า กระดูกบาง (Osteopenia)
  • ค่า T score ที่น้อยกว่า -2.5 คือ กระดูกพรุน (Osteoporosis)

อนึ่ง ในกรณีที่ต้องการตรวจซ้ำเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นมวลกระดูกไม่ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ ควรต้องได้รับการตรวจด้วยเดรื่องตรวจเดิม เนื่องจากเครื่องตรวจแต่ละเครื่อง จะมีความแปรผันในตัวเองที่ต่างกัน ทำให้ผลตรวจแตกต่างกันได้

ภาพที่ 1 แสดงตำแหน่งการตรวจความหนาแน่นของกระดูกของข้อสะโพก

ภาพที่ 2 แสดงค่าความหนาแน่นกระดูกในส่วนต่างๆของข้อสะโพก และค่าเปรียบเทียบทางสถิติ พบว่ามีภาวะกระดูกพรุนของคอกระดูกต้นขา (Femoral neck) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หักได้บ่อย

ภาพที่ 3 แสดงค่าความหนาแน่นกระดูกโดยรวมของข้อสะโพกเปรียบกันในช่วงอายุตั้งแต่ 20 ถึง 80 ปี พื้นที่สีเข้มด้านบนเป็นความหนาแน่นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 SD (standard deviation, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) พื้นที่สีจางด้านล่างเป็นความหนาแน่นที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2 SD

ผู้ใดสมควรได้รับการตรวจคัดกรองความหนาแน่นมวลกระดูก?

จากข้อมูลของกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ใช้ OSTA (Osteoporosis self-assessment Toll for Asian index) ประเมินก่อนการตรวจด้วย DEXA โดยสูตรคือ 0.2 x ( น้ำหนัก – อายุ) ถ้าค่าดัชนีที่ได้น้อยกว่า – 4 จัดว่าเป็นผู้มีอัตราเสี่ยงสูงต่อกระดูกหักหรือต่อโรคกระดูกพรุน สมควรได้รับการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นกระดูกได้แก่ สตรีวัยหมดประจำเดือนทุกรายที่มีอัตราเสี่ยงสูง คือดัชนีดังกล่าวน้อยกว่า – 4 หรือ ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หรือเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เช่น สูบบุหรี่ และ/หรือมีคนกระดูกหักในครอบ ครัว เป็นต้น

เตรียมตัวอย่างไรสำหรับการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก?

ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวพิเศษใดๆทั้งสิ้น สามารถตรวจได้เลย เมื่อตรวจเสร็จก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ กลับบ้าน ทำงานได้เลย ไม่มีรังสีใดๆหลงเหลืออยู่ในตัว

มีขั้นตอนการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกอย่างไร?

การตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกด้วยเทคนิค DEXA ซึ่งเป็นการตรวจที่แพร่หลายที่สุด จะเริ่มด้วยการที่ผู้รับการตรวจจะเปลี่ยนเสื้อผ้าในชุดที่สบาย นำชิ้นส่วนโลหะออกจากร่างกาย (ในกรณีที่ผู้รับการตรวจใส่ข้อสะโพกเทียมจะได้รับการตรวจในข้อสะโพกฝั่งตรงข้าม หรือกรณีใส่เหล็กดามกระดูกสันหลัง ก็จะได้รับการตรวจในกระดูกสันหลังส่วนเอวที่ไม่มีเหล็กอยู่) จาก นั้นผู้รับการตรวจจะนอนบนเตียงตรวจ เจ้าหน้าที่จะจัดตำแหน่งร่างกายที่เหมาะสม แล้วเริ่มการตรวจด้วยการปล่อยรังสีเอกซ์(รังสีจากการตรวจโรค) พลังงานต่ำไปยังตำแหน่งที่ต้องการตรวจ ผู้รับการตรวจจะไม่รู้สึกผิดปกติใดๆทั้งสิ้น และจะใช้เวลาบนเตียงตรวจประมาณ 10-15 นาที หลังการตรวจไม่มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวพิเศษใดๆ

อนึ่ง การตรวจนี้ ไม่ควรตรวจในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากทารกในครรภ์จะได้รับรังสี (รังสีจากการตรวจโรค) โดยไม่จำเป็น และอาจเป็นสาเหตุให้ทารกพิการ หรือแท้งได้

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีภาวะกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีภาวะ/โรคกระดูกพรุน ได้แก่

  1. ปัจจัยด้านพันธุกรรม เช่น เพศหญิง รูปร่างบาง เชื้อชาติเอเชีย
  2. ปัจจัยด้านฮอร์โมนเพศหญิง เช่น การหมดประจำเดือนเร็ว หรือ วัยหมดประจำเดือน
  3. ปัจจัยด้านโภชนาการ เช่น การได้รับแคลเซียม และวิตามินดี น้อย บริโภคสุรา หรือสูบบุหรี่จัด
  4. ปัจจัยโรคทางอายุรกรรม เช่น โรคต่อมไร้ท่อ โรคเลือด การใช้ยาบางชนิดเป็นระยะยาว นาน เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น

ที่มา   https://haamor.com/th/ความหนาแน่นมวลกระดูก/

อัพเดทล่าสุด