ทั่วไป
เลนส์สัมผัส หรือ ในภาษาอังกฤษ คือ คอนแทคเลนส์ (Contact lens) แต่ปัจจุบันนิยมเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษมากกว่า ดังนั้นบทความนี้จึงขอใช้คำว่า คอนแทคเลนส์
คอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์ตาโตมีกี่ชนิด?
ชนิดของคอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์ตาโต อาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่
- Visibility colored contact lens เป็นสีอ่อนๆ ออกสีฟ้า หรือเขียวอ่อน เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็น หยิบจับคอนแทคเลนส์ได้ง่ายขึ้น แต่เดิมเมื่อไร้สี พอถอดออกจากตา แทบจะมองไม่เห็น อาจจะตกหล่น หรือหาย ยากแก่การหา หรือแม้แต่เวลาเก็บใส่ตลับ อาจวางบนขอบตลับโดยที่ไม่เห็น เมื่อปิดตลับเกิดการฉีกขาดเสียหายได้ จึงนำมาทำเป็นสีจางๆ เพื่อให้ผู้ใช้เห็นเลนส์ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสีจางมากจึงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนสีตาดำของผู้ใช้
- Enhanced colored contact lens เป็นการนำเม็ดสีย้อมเข้าไปในเนื้อเลนส์ให้เข้มกว่า เม็ดสีหนาแน่นกว่า จุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนสีของตาผู้ใช้ โดยให้เม็ดสีอยู่ในเนื้อคอนแทคเลนส์ เว้นช่องตรงกลางที่ตรงกับรูม่านตา (เพื่อการมองเห็น) และขอบรอบนอกของเลนส์ไว้ ทำให้คอนแทคเลนส์ชนิดนี้เปลี่ยนสีตา แต่ไม่เปลี่ยนขนาดตาดำ กล่าวคือคอนแทคเลนส์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าตาดำคนเราเล็กน้อย ตาดำคนเราขนาด 11-12 มิลลิเมตร (มม.) ขนาดคอนแทคเลนส์ประมาณ 14-15 มม.
- Opaque colored contact lens เป็นการเติมเม็ดสีที่เข้มขึ้นไปอีกให้เต็มเนื้อที่ของคอนแทคเลนส์โดยเว้นเฉพาะช่องตรงกลางที่ตรงกับรูม่านตาไว้ เนื่องจากขนาดของคอนแทคเลนส์โตกว่าตาดำ คอนแทคเลนส์ชนิดนี้จึงทำให้นอกจากเปลี่ยนสีตาแล้ว ยังทำให้ตาดำโตขึ้น จึงเป็นที่มาของคอนแทคเลนส์ตาโตนี่เอง
- Light filtering contact lens เป็นพัฒนาการของคอนแทคเลนส์ชนิดล่าสุด มักใช้ในกีฬา เพื่อการกรองแสงบางสีออกไป เพิ่มความชัดของวัตถุที่จะมอง เช่น นักกอล์ฟ ใช้สีอำพันในคอนแทคเลนส์เพื่อตัดสีครามของท้องฟ้าไกลๆ ทำให้เห็นลูกกอล์ฟเด่นชัดขึ้น
คอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์ตาโต มีข้อเสียอย่างไร?
ข้อเสียของคอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์ตาโต โดยทั่วไป เหมือนเช่นคนใช้ คอนแทคเลนส์ ไร้สีทั่วไป ย่อมมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะตาดำขาดออกซิเจน กระจกตาบวม ตาแห้ง ตาติดเชื้อ ฯลฯ ผู้ใช้คอนแทคเลนส์สีคอนแทคเลนส์ตาโต ก็มีโอกาสเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีข้อเสียเพิ่มเติมในบางอย่าง คือ
- ราคาแพงกว่า
- เนื่องจากมีเม็ดสีปนในเนื้อเลนส์ ออกซิเจนซึมผ่านได้น้อยกว่าเลนส์ไร้สี อีกทั้งเม็ดสีเป็นสิ่งแปลกปลอม อาจทำให้เกิดโทษจากการแพ้ในบางคนได้ (ตาแดง คัน ระคายเคือง)
- ด้วยเหตุที่มีเม็ดสีปนในเนื้อเลนส์ ผิวเลนส์อาจไม่เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเหตุให้เมือกโปรตีนที่มีอยู่ในน้ำตาเข้าไปฝังตัว ทำให้เลนส์เสื่อมเร็วขึ้น อีกทั้งเม็ดสีที่แทรกทำให้เลนส์หนากว่าปกติ ออกซิเจนซึมผ่านไปเลี้ยงกระจกตาได้น้อยลง กระจกตาจึงขาดออกซิเจน จึงเป็นแผลได้ง่ายขึ้น
- การดูแลรักษายากกว่าเลนส์ทั่วไป หากมีสิ่งสกปรกปนเปื้อน ซึ่งจะเห็นได้ง่ายในเลนส์ธรรมดา ทำให้ผู้ใช้สามารถเช็ดถู ล้างออกได้ แต่ถ้าเป็นเลนส์สีเข้มอาจมองไม่เห็น ทำความสะอาดได้ไม่ดี ก่อให้เกิดตาอักเสบได้ง่ายกว่า
- ในกระบวนการทำสี ต้องเว้นบริเวณตรงกลางเพื่อการมองเห็น อาจจะใหญ่หรือเล็กเกินไป เมื่อเวลากระพริบตา หรือกลอกตาไปมาจะมีการเคลื่อนที่ของคอนแทคเลนส์ไปด้วยได้ อาจทำให้บริเวณที่เป็นสีเข้มมาบังตา ทำให้ตามัวลงในบางครั้งได้
ควรทำอย่างไรเมื่อต้องการใช้คอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์ตาโต?
ด้วยเหตุที่มีโอกาสมีโรค หรือ ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวมากขึ้น หากอยากใช้คอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์ตาโต ควรต้องรับการตรวจตาอย่างละเอียดจากหมอตา (จักษุแพทย์) ดูความเหมาะสมเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยของดวงตาของท่านเอง
ต้องรู้จักรักษาความสะอาด และปฏิบัติตามแพทย์ เจ้าหน้าที่ประกอบเลนส์ และบริษัทผู้ผลิตเลนส์แนะนำ อย่างถูกต้องเคร่งครัด และไม่ใช้เลนส์ร่วมกับผู้อื่น นอกจากนั้น ควรต้องพบหมอตา ตามนัด สม่ำเสมอ และเมื่อมีอาการผิดปกติของลูกตาและ/หรือในการมองเห็น ต้องรีบพบหมอตาโดยเร็ว ก่อนนัด เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่ติดเชื้อได้ง่าย และอาจรุนแรง จนมีผลต่อการมองเห็นถาวรได้เมื่อปล่อยปละละเลย
ที่มา https://haamor.com/th/คอนแทคเลนส์สี-คอนแทคเลนส์ตาโต/