คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard contact lens) / คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft contact lens)


1,165 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ดวงตา  ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

เห็นภาพไม่ชัด 

ทั่วไป

ปัจจุบัน ผู้มีปัญหาเรื่องสายตา ทั้ง สายตาสั้น สายตายาว แล สายตาเอียง นิยมใช้ เลนส์สัมผัส (Contact lens หรือ คอนแทคเลนส์) แทนการใส่แว่นตากว้างขวางขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป คอนแทคเลนส์ แบ่งตามลักษณะของเลนส์ได้เป็น 2 ชนิด คือคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard หรือ Rigid lens) และคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft lens)

คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งมีข้อดี และมีข้อเสียอย่างไร?

ข้อดีของคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง คือ

  1. ทำให้สายตาเห็นดีกว่า ทั้งภาพคมชัด และภาพที่เห็นชัดสม่ำเสมอดี จึงเหมาะสำหรับคนมีอาชีพที่ต้องการภาพที่คมชัด เช่น สถาปนิก วิศวกร หรือ ช่างเขียนแบบ
  2. การหยิบจับเลนส์ง่ายกว่า เพราะเลนส์มีรูปร่างคงที่ การใส่และถอดทำได้ง่าย
  3. ราคาถูกกว่า
  4. สามารถขัดถูได้หากเป็นรอย
  5. การดูแลรักษาง่ายกว่า ค่าบำรุงรักษาถูกกว่า
  6. แก้สายตาเอียงได้ดีกว่า ผู้มี สายตาเอียง มาก ๆ จึงต้องใช้เลนส์แข็งสายตาถึงจะมองเห็นชัด แม้ว่าปัจจุบันจะมีเลนส์นิ่มที่แก้สายตาเอียงได้ แต่ก็แก้ได้ไม่ดีนัก
  7. มีอายุการใช้งานนาน อาจใช้ได้ถึง 5 ปี หรือนานกว่านั้น ในขณะที่เลนส์นิ่มโดยเฉลี่ยใช้ได้ 2 ปี

ข้อเสียของคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ได้แก่

  1. เลนส์แข็ง ออกซิเจนไม่สามารถซึมผ่านเลนส์ได้ ต้องอาศัยออกซิเจนเลี้ยง กระจกตา (ตาดำ) จากน้ำตา จึงมีโอกาสทำให้กระจกตาอักเสบจากภาวะขาดออกซิเจนได้ง่าย
  2. ก่อนใช้ต้องอาศัยเวลาปรับตัวนาน ต้องเริ่มใส่ทีละน้อยชั่วโมง และเพิ่มชั่วโมงมากขึ้น หากเลิกใส่ไปแล้วกลับมาใส่ใหม่ก็ต้องค่อยๆปรับใหม่
  3. ระคายเคืองมากกว่าเลนส์นิ่ม
  4. ไม่เหมาะสำหรับใช้ขณะเล่นกีฬา เพราะว่าเลนส์หลุดจากตาง่าย
  5. ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง อาชีพบางอย่าง เช่น ช่างเชื่อมเหล็ก กรรมกรก่อสร้าง หรือ ช่างซ่อมรถยนต์ เพราะเพิ่มการระคายเคืองตาได้มากขึ้น
  6. ไม่เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยกระพริบตา หรือคนที่ต้องอ่านหนังสือมาก เพราะตาจะแห้ง ก่อการระคายเคืองตามากขึ้น

เพื่อขจัดปัญหาข้อเสียของคอนแทคเลนส์แข็งทั่วไป ปัจจุบันคนหันมาใช้เลนส์ชนิดแข็งที่ออกซิเจนซึมผ่านดี ซึ่งเราเรียกกันว่า เลนส์ กึ่งแข็งกึ่งนิ่ม (Semi-hard lens) ซึ่งดีกว่าเลนส์แข็งธรรมดาตรงที่ ออกซิเจนซึมผ่านได้ และเลนส์ยังมีขนาดใหญ่กว่าเลนส์แข็งธรรมดา เพื่อให้เลนส์เกาะอยู่ที่ตาได้ดีขึ้น

คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มมีข้อดี และมีข้อเสียอย่างไร?

คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มมีข้อดีต่างๆ ดังนี้

  1. ผู้ใช้ ปรับสายตาเข้ากับเลนส์ได้รวดเร็ว โดยทั่วไปแค่ 10 นาที ผู้ใช้จะรู้สึกปกติดี แม้ว่าจะเป็นการใส่ครั้งแรก
  2. ผู้ใช้สบายตา
  3. ผู้ที่ทนต่อเลนส์แข็งไม่ได้ด้วยสาเหตุต่างๆ มักจะหันมาใช้เลนส์นิ่มได้
  4. นักกีฬาโดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระโดด และเคลื่อนไหวรุนแรง เช่น ตีเทนนิส ยิมนาสติก สามารถใช้เลนส์นิ่มโดยไม่หลุดจากตา ถ้าเป็นเลนส์แข็งจะหลุดจากตาได้ง่าย
  5. พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักร การใช้เลนส์นิ่มนอกจากเห็นชัดแล้ว เลนส์นิ่มอาจปกป้องดวงตาจากเศษเหล็กได้ดีกว่า
  6. การเกิดภาวะขาดออกซิเจนของกระจกตาพบได้น้อยกว่าชนิดแข็งเพราะว่าออกซิเจน ซึมผ่าตัวเลนส์ได้ดี
  7. เหมาะสำหรับใช้ในเด็กที่จำเป็นต้องใช้ คอนแทคเลนส์ เพราะสบายตา กว่า
  8. สามารถใส่ว่ายน้ำในสระได้ ขณะว่ายน้ำเลนส์ติดกับกระจกตาแน่น ไม่หลุดหาย ขณะว่ายน้ำ สายตายังเห็นชัดดีโดยไม่ต้องสวมแว่น
  9. สามารถใส่ๆถอดๆโดยไม่ต้องใช้เวลาปรับเข้ากับเลนส์ จึงเหมาะกับคนที่ไม่ใส่เลนส์ประจำ

ข้อเสียของคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ได้แก่

  1. โดยทั่วไป ไม่สามารถแก้สายตาเอียงได้ หากมีสายตาเอียงต้องสั่งเฉพาะชนิดที่แก้เอียงได้ด้วย ซึ่งราคาแพงกว่า อีกทั้งแก้สายตาเอียงได้ไม่ดีนัก
  2. ตาจะมองเห็นไม่ชัดนัก ทั้งนี้อาจเนื่องจากแก้ไขตาเอียงไม่ได้ดี เลนส์ที่ใส่อาจจะคับหรือหลวมเกินไป นอกจากนั้น ตัวเลนส์อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามบรรยากาศรอบตัว เช่น อากาศแห้ง หรือชื้น และการอยู่ในห้องปรับอากาศ อาจทำให้กำลังของเลนส์เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะผู้ที่มีตาแห้ง น้ำตาไม่เพียงพอเนื่องจากตัวเลนส์จะอมน้ำจึงทำให้น้ำตาแห้งลงอีก ถ้าน้ำตาไม่เพียงพออาจทำให้ความหนาของเลนส์เปลี่ยนแปลง เป็นผลให้กำลังของเลนส์เปลี่ยนไป ส่งผลถึงการมองเห็นภาพชัดด้วย
  3. อายุการใช้งานสั้น โดยเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี เนื้อเลนส์จะเสื่อมคุณภาพ อีกทั้งอาจมีคราบโปรตีนมาจับ แม้แต่สเปรย์ผมก็อาจทำให้เลนส์เป็นรอยและเสียการมองเห็นได้ง่าย
  4. ใช้ไปนานๆ จะมีคราบไขมัน และโปรตีน ไปจับกับเลนส์ ซึ่งทำให้ไม่สบายตา มองไม่ชัด หรืออาจก่อให้เกิดอาการแพ้คราบเหล่านั้น (กระจกตาอักเสบ) หรือ อาจเป็นสาเหตุเกิดการติดเชื้อของลูกตา
  5. การฆ่าเชื้อโรคเลนส์ก่อนใส่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง อาจทำโดยวิธีต้มหรือใช้สารเคมี ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของหมอตาและ/หรือ บริษัท ผู้ผลิต
  6. มีขบวนการใช้ค่อนข้างยุ่งยาก มีการใช้น้ำยาล้างทำความสะอาด แช่น้ำยาฆ่าเชื้อแล้วยังต้องมีวิธีขจัดคราบโปรตีนที่เกาะเนื้อเลนส์ด้วย ผู้ใช้ต้องพิถีพิถันดูแลความสะอาด หยิบจับเลนส์อย่างระมัดระวัง มิเช่นนั้นเลนส์อาจฉีกขาดเสียหายได้ง่าย
  7. มีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อในตา มากกว่าการใช้เลนส์แข็ง

มีขั้นตอนอย่างไรเมื่อใช้คอนแทคเลนส์?

โดยทั่วไปหากผู้มีสายตาผิดปกติ อยากจะใช้ คอนแทคเลนส์ ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาก่อนว่าอยู่ในสภาวะเหมาะสมหรือไม่ ที่สำคัญคือ มีโรคตาอะไรประจำหรือไม่ เปลือกตาปกติดีหรือไม่ การกระพริบตาทำได้อย่างปกติหรือไม่ น้ำตามีพอเพียงหรือไม่ กระจกตาปกติดีหรือไม่

เมื่อสภาพตาดี ก็จะวัดดูว่าสายตาเป็นเท่าไร ภารกิจประจำวันเป็นอะไร มีความตั้งใจใส่ตลอด หรือใส่เป็นบางครั้ง

ปัจจัยเหล่านี้ หมอตาจะนำมาพิจารณาว่า ควรใช้เลนส์หรือไม่ และควรเลือกใช้เลนส์ชนิดไหน ต่อจากนั้น จึงทำการวัดความโค้งของกระจกตา เพื่อคำนวณหาขนาดของเลนส์ และกำลังของเลนส์ แล้วนำเลนส์ขนาดใกล้เคียงให้ผู้ป่วยทดลอง จนได้ขนาดของเลนส์เป็นที่พอใจ

ทั้งนี้ หมอตา และ/หรือ ผู้ประกอบเลนส์ จะแนะนำวิธีใช้ วิธีใส่และถอด ตลอดจนการดูแลรักษา รวมทั้งการทำความสะอาดเลนส์ และนัด ผู้ใช้เพื่อการตรวจเป็นระยะๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ใช้ ใช้เลนส์ได้อย่างปลอดภัย

ควรดูแลตนเองอย่างไร และควรพบจักษุแพทย์เมื่อไร เมื่อใช้คอนแทคเลนส์?

เนื่องจากเป็นวัสดุที่จำเป็นต้องนำมาวางอยู่หน้าบนกระจกตา จึงควรประกอบ คอนแทคเลนส์ จากผู้รู้ อย่าได้ซื้อใส่เองโดยไม่ได้รับการตรวจสภาพตา อีกทั้งต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด มีขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำความสะอาด ต้องมีขบวนการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งอาจทำได้โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือใช้ความร้อน อีกทั้งจะต้องมีวิธีขจัดคราบต่างๆ เช่น คราบโปรตีนที่จับในเนื้อเลนส์โดยเฉพาะเลนส์ชนิดนิ่ม

เมื่อใช้ คอนแทคเลนส์ ชนิดใดก็ตาม ควรต้องปฏิบัติตามหมอตา (จักษุแพทย์) ผู้ประกอบเลนส์ และบริษัทผู้ผลิตแนะนำอย่างเคร่งครัด ถูกต้อง แม้ละเลยเพียงเล็กน้อย อาจก่อผลเสียต่อลูกตาได้ เช่น การติดเชื้อของลูกตา และ/หรือ เกิดแผลต่อกระจกตา

หากมีอาการผิดปกติเมื่อใส่คอนแทคเลนส์ เช่น เจ็บตา ระคายเคือง ตาแดง ตาพร่ามัว ควรต้องถอดเลนส์ออกทันที และขณะมีการอักเสบบริเวณดวงตาก็ควรงดไม่ใส่เลนส์ชั่วคราว และรีบพบหมอตา เสมอ

สำหรับผู้ใช้ คอนแทคเลนส์ ไปนานๆ แม้ไม่มีอาการอะไรก็ควรได้รับการตรวจสภาพตาจากหมอตาเป็นระยะๆ หากพบว่า เริ่มมีอาการที่ไม่ดีเกิดขึ้น แพทย์จะได้ให้คำแนะนำรักษา ซึ่งบางรายอาจต้องงดใช้คอนแทคเลนส์ชั่วคราว หรือ อาจตลอดไป
ที่มา    https://haamor.com/th/คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง-คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม/

อัพเดทล่าสุด