ความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาในผู้ป่วยสมองพิการ (Aphasia)


1,109 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

สมอง  ระบบประสาทวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ทั่วไป

ความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อะเฟเซีย (Aphasia)”อัมพาตซีกขวาในคนที่ถนัดมือขวา แต่เนื่องจากสมองส่วนที่เป็นศูนย์ กลางการพูดและภาษา (Speech and language center) อยู่ที่สมองซีกซ้ายซึ่งควบคุมการทำงานของอวัยวะซีกขวา ดังนั้นการกล่าวถึงสมองที่เกี่ยวข้องกับภาษาและการพูดจึงหมายถึงสมองซีกซ้ายในคนถนัดขวา เป็นความบกพร่องของการสื่อสารเนื่องจากการมีพยาธิสภาพของสมองที่ควบคุมการพูดและภาษา ความผิดปกติทางภาษาและการพูดมักเกิดร่วมกับโรค

ผู้ป่วยสมองพิการ อาจมีภาวะความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาร่วมด้วยได้ประมาณ 21-38% หรือ ถ้าอ้างอิงตามสำมะโนประชากรที่มีความบกพร่องทาง การพูดและทางภาษาจากสมองพิการในสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าภาวะความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการเกิดขึ้นในอัตราส่วนประมาณ 0.37% หรือประมาณ 1-2 คน ต่อประชากร 272 คน

สมองพิการมีสาเหตุจากอะไร?

สมองพิการเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดในสมองตีบตัน (Cerebral thrombosis) หลอดเลือดในสมองมีลิ่มเลือดอุดตัน (Cerebral embolism) หลอดเลือดในสมองแตก หรือการตกเลือดในสมอง (Cerebral hemorrhage) หรือสมองได้รับอุบัติเหตุ (Head injury) เช่น สมองได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือจากการกระทบกระเทือนจากผ่าตัดเอาเลือดคั่ง หรือเนื้องอกในสมองออก ฯลฯ

เมื่อไรควรพบแพทย์?

อาการสำคัญที่ต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ทันที คือ อาการปวดศีรษะรุนแรง กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ฟังไม่เข้าใจ ซึม อาจหมดสติ ซึ่งระดับความรู้สึกตัวและอาการ จะขึ้นกับความรุนแรงของสมองส่วนที่พิการ อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน

ส่วนเมื่อเคยพบแพทย์แล้ว ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ อาการต่างๆเลวลง หรืออาการพูด/ออกเสียงเลวลงกว่าเดิม

รักษาสมองพิการได้อย่างไร?

ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ช่วยให้โรคสมองพิการนี้หายเป็นปกติได้ มีการให้ยาเพื่อรักษาตามอาการและตามสาเหตุของโรค เช่น ให้ยาขยายหลอดเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยมีหลอดเลือดในสมองตีบตัน การให้ยาละลายลิ่มเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองมีลิ่มเลือดอุดตัน ทำการผ่าตัดเอาก้อนเลือดในสมองออกในกรณีผู้ป่วยมีหลอดเลือดสมองแตก มีการตกเลือดในสมอง หรือสมองได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น

การรักษาด้วยการฟื้นฟูบำบัดเป็นทีม (Team) สหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ การฝึกพูด กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด ฯลฯ รวมทั้งความตั้งใจของตัวผู้ป่วยเอง และบุค คลในครอบครัวเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นหลักในการช่วยฟื้นฟูด้านการพูด ความเข้าใจ การสื่อสารในครอบครัว และในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของกำลังแขน ขา ซึ่งการรักษาเพื่อการฟื้นฟู ควรรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ควรเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย หรือเดินทางไปรักษายังโรงพยาบาลไกลๆ เพราะการรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และวิธีรักษามักไม่แตกต่างกันมาก

ช่วยเหลือและส่งเสริมการสื่อสารสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการอย่างไร?

การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิ การ เบื้องต้นควรเข้าใจสภาพจิตใจผู้ป่วย เนื่องจากเคยพูดสื่อสารและทำงานได้อย่างดี แต่ต้องกลายมาเป็นภาระต่อครอบครัว และทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยต้องการเวลาในการปรับตัว และต้องการกำลังใจจากบุคคลใกล้ชิด ครอบครัวจึงควรปฏิบัติตัวและให้การช่วยเหลือผู้ป่วย ดังนี้

  1. ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาทั้งด้านความเข้าใจและการพูด ให้เน้นฝึกด้านความเข้าใจก่อน
  2. เรียกผู้ป่วยให้ฟังและสนใจก่อนสอนพูด กระตุ้นให้ผู้ป่วยทำอะไร หรือให้ตอบคำถามเสมอ
  3. ใช้ท่าทางและการพูดร่วมกันในการสื่อสารกับผู้ป่วย
  4. ใช้คำพูดง่ายๆ สั้นๆ ชัดเจน และมีรูปแบบเดียวกันในการสอนผู้ป่วยระยะแรก เช่น ชี้ตา ชี้หู ชี้ปาก เป็นต้น
  5. รอให้ผู้ป่วยตอบสนองก่อน ประมาณ 5 วินาที แล้วจึงบอกใบ้คำ ตอบ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการออกเสียงของผู้ป่วย
  6. ช่วยพูดซ้ำๆ ขยายคำพูดของผู้ป่วย ต่อเติมในกรณีที่ผู้ป่วยพูดไม่ชัด พูดสั้นเกินไป
  7. ควรฝึกพูดก่อนฝึกกายภาพบำบัด หรือกิจกรรมบำบัด
  8. ไม่ตกใจเมื่อผู้ป่วยพูดคำหยาบ
  9. กรณีที่ผู้ป่วยหัวเราะ หรือทำอะไรซ้ำๆ ซึ่งอาจเกิดจากการเหนื่อยล้า หรือ การฝึกมากเกินที่ผู้ป่วยจะรับได้ ให้ผู้ป่วยพักประมาณ 2-3 นาทีแล้วจึงฝึกต่อ
  10. เวลาในการฝึกพูดแต่ละครั้ง ประมาณ 20-30 นาที วันละประมาณ 3-4 ครั้ง

อนึ่ง ก่อนครอบครัวเริ่มทำการฝึกผู้ป่วย ควรต้องนำผู้ป่วยพบกับนักแก้ไขการพูด (Speech and language pathologist) เพื่อทำการประเมิน และวางแผนการฝึกพูด เพื่อรับโปรแกรมการฝึกพูดไปฝึกต่อที่บ้านได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วย และต้องนำผู้ป่วยไปติดตามการประเมินและการฝึกพูดเป็นระยะๆกับนักแก้ไขการพูดตามนัดเสมอ เพื่อปรับโปรแกรมการฝึกพูดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ประเภทของความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาในผู้ป่วยสมองพิการมีกี่ชนิด? มีแนวทางการฝึกพูดอย่างไร?

การรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการพูดและทางภาษาในผู้ป่วยสมองพิ การควรได้รับการตรวจประเมินทั้งจากแพทย์และนักแก้ไขการพูด เพื่อตรวจประเมินและวางแผนการรักษาร่วมกัน และการรับโปรแกรมไปฝึกต่อที่บ้านภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

ในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดของความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาแต่ละประเภท และแนวทางการช่วยเหลือด้านการฝึกพูดพอสังเขป ดังนี้ ความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาในผู้ป่วยสมองพิการมี 2 ชนิด คือ

  1. การพูดไม่ชัด (Neurological articulation disorders)
  2. ความบกพร่องทางภาษา หรือ อะเฟเซีย (Aphasia)
  1. การพูดไม่ชัด (Neurological articulation disorders)

    การพูดไม่ชัดมี 2 ชนิด คือ

    1. การพูดไม่ชัดจากความบกพร่องของกลไกประสาทที่ควบ คุมอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด (Dysarthria)

      ทำให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดอ่อนแรง เป็นอัมพาต หรือ เกร็ง โดยจะพูดไม่ชัดมากขึ้นถ้าพูดยาวๆ หรือนานๆ ผู้ป่วยอาจมีน้ำลายไหลที่มุมปากด้านใดด้านหนึ่งร่วมด้วย

      • การรักษา

        ควรรักษาที่สาเหตุ การฟื้นฟูสมรรถภาพการพูดเป็นการรัก ษาลำดับแรกๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงการตรวจประเมิน และการฝึกพูดที่ผู้ดูแลสามารถนำ ไปใช้กับผู้ป่วยและญาติที่มีปัญหาได้พอสังเขป ดังนี้

      • การตรวจประเมิน

        โครงสร้างและการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด

        • ตรวจดูความสมดุลของโครงสร้างอวัยวะในปาก ได้แก่ ลิ้น ริมฝี ปาก ฟัน เพดาน ขากรรไกร และเพดานอ่อน
        • ตรวจการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด ประเมินการเคลื่อนไหวอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดซ้ำๆ เร็ว ๆ ต่อเนื่องกัน จับเวลาว่า 15 วินาที ทำได้กี่ครั้ง แล้วเปรียบเทียบกับค่าคนปกติ
          เสียง ค่าปกติ
          อา-อู
          อู-อี
          อา-อี
          30-33 ครั้ง/15 วินาที
          เปอะ–เตอะ–เกอะ
          เพอะ–เทอะ-เคอะ
          26 ครั้ง/15 วินาที
          ส่ายลิ้นแตะมุมปากซ้าย–ขวา 24 ครั้ง/15วินาที
          ลัน ลัน ลัน ลัน ลา 15 ครั้ง/15 วินาที
        • ตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการพูด
          • ใช้ริมฝีปากคาบไม้กดลิ้นค้างไว้ 5 วินาที
          • ใช้ลิ้นต้านไม้กดลิ้นที่กดลงบนกลางลิ้นโดยลงน้ำหนักระดับปานกลาง
        • ตรวจการหายใจ และการออกเสียง
          • อัตราการหายใจ จำนวนครั้ง/นาที (ปกติ 18 ครั้ง/นาที)
          • การหายใจเข้าลึกที่สุดแล้วลากเสียงให้ยาวที่สุด (Maximum phonation time) ให้ได้ใกล้เคียงปกติ
          เสียง   ค่าปกติ (วินาที)  
            เด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย
          อา 10-13 15 17
          อู 10-13 17 20
          อี 10-13 17 20
      • การฝึกพูด

        • การออกกำลังกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการพูด
          • การฝึกกิจกรรมการเคลื่อนไหวอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด ซ้ำๆ เร็วๆ ชัดๆ จนเหนื่อย แล้วพัก 2-3 นาที/กิจกรรม และทำกิจกรรมใหม่ต่อ โดยพิจารณาความสามารถของผู้ป่วยเป็นเกณฑ์ กิจกรรมเหล่านี้ ได้แก่ การออกเสียง อา–อู อู–อี อา–อี ลัน ลัน ลัน ลา เปอะ-เตอะ-เกอะ เพอะ-เทอะ–เคอะ กระดกลิ้นซ้ำๆ
        • การฝึกพูดที่เรียงลำดับให้ชัดเจน ความสำคัญ คือการนับเลข
          • การท่องชื่อวันใน 1 สัปดาห์
          • การท่องชื่อ 12 เดือนใน 1 ปี
          • การท่องสูตรคูณ
          • การท่องพยัญชนะ ก–ฮ
          • การอ่านหนังสือออกเสียง
          • การถามตอบ
        • ในรายที่พูดเสียงเบา พูดประโยคสั้นๆแล้วเสียงหายไป ควรฝึกสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ แล้วลากเสียงสระยาวๆ อา อู อี โอ เอ แอ ออ เออ อือ สลับกัน
        • การฝึกพูดกับบุคคลใกล้ชิด คนในครอบครัว และคนในสังคม และควรนำผู้ป่วยเข้าสังคมตามปกติ ไปซื้อของเพื่อให้มีการฝึกพูด และพัฒนาการพูดในบริบทที่เป็นธรรมชาติ
    2. การพูดไม่ชัดแบบมีความบกพร่องของสมองที่ควบคุมโปรแกรมการพูด (Apraxia of speech: AOS)

      ซึ่งทำให้การเรียบเรียงลำดับตำ แหน่งอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดบกพร่อง ผู้ป่วยจะพูดไม่ชัดโดยไม่พบอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด การพูดไม่ชัดจะเกิดขึ้นในคำ หรือวลี หรือประโยคที่ตั้งใจจะพูด แต่ในบางครั้งจะพูดได้ชัดเมื่อไม่ตั้งใจจะพูด

      • การรักษา

        ควรรักษาที่สาเหตุ การฟื้นฟูสมรรถภาพการพูดเป็นการรัก ษาลำดับแรกๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงการตรวจประเมินและการฝึกพูดที่ผู้ดูแลสามารถนำ ไปใช้กับผู้ป่วยและญาติที่มีปัญหาได้พอสังเขปดังนี้

      • การตรวจประเมิน

        โครงสร้างและการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดให้ทำเช่นเดียวกับการตรวจประเมินการพูดไม่ชัดแบบที่มีความบกพร่องของกลไกของประสาทที่ควบคุมอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด

      • การฝึกพูด

        โดย

        • การฝึกกิจกรรมการเคลื่อนไหวอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด เช่น อ้าปาก ยิงฟัน ทำปากจู๋ เผยอปาก ฯลฯ
        • การฝึกกิจกรรมการออกเสียงสระในพยางค์ง่ายๆ เช่น อา อู อี โอ เอ แอ ออ เออ
        • ฝึกการออกเสียงสระรวมกับพยัญชนะ ที่ใช้ริมฝีปาก เช่น มอ ปอ พอ บอ เม เป เพ เบ ฯลฯ
        • ฝึกการออกเสียงสระรวมกับพยัญชนะต้นอื่นๆ เช่น ดา ตา ทา ชา จา กา คา งา ฯลฯ
        • ฝึกการออกเสียงสระรวมกับพยัญชนะ 2 พยางค์ที่มีพยัญชนะต้นเหมือนกัน เช่น อาอู อีเอ แอเออ ฯลฯ
        • ฝึกการออกเสียงสระรวมกับพยัญชนะ 2 พยางค์ที่มีพยัญชนะต้นต่างกัน เช่น มาอู อีเบ แปเพอ ฯลฯ
        • ฝึกการออกเสียงพูดคำที่มีความหมาย 1 2 3 พยางค์ วลี ประโยค ตามลำดับ เช่น มอมแมม แม่มา ปาบอล แม่ปาบอล พี่ทาปากแดง ฯลฯ
  2. ความบกพร่องทางภาษา หรืออะเฟเซีย (Aphasia)

    ความบกพร่องทางการพูดและทางภาษา หรืออะเฟเซีย มี 4 ประเภท คือ

    1. ความบกพร่องทางด้านความเข้าใจ (Sensory or Receptive aphasia) ผู้ป่วยมีปัญหาในการ ฟังคำพูดไม่เข้าใจ เป็นหลัก
    2. ความบกพร่องทางด้านการพูด (Motor or Expressive aphasia) ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการพูด การพูดไม่ชัด การพูดตาม เป็นปัญหาหลัก
    3. ความบกพร่องทั้งด้านความเข้าใจและการพูด (Global aphasia) ผู้ป่วยมีปัญหาทั้งด้านความเข้าใจและการพูด เป็นหลัก
    4. ความบกพร่องด้านนึกคำพูด (Amnesic aphasia) ผู้ป่วยมีปัญหาในคิดคำพูดลำบาก ใช้คำพูดอื่นแทนคำที่ต้องการพูด เช่น น้ำ แทนแก้วน้ำ เครื่องทำน้ำเย็น แทนตู้เย็น เป็นต้น
    • การประเมินปัญหาทางการพูดและทางภาษา

      • การประเมินภาษาด้านความเข้าใจ ทำตามลำดับ ดังนี้

        ทำได้ ทำไม่ได้ การพัฒนาภาษาด้านความเข้าใจ
            1 มีการตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน
            2 มีการสนใจต่อเสียงพูดเมื่อได้ยินเสียงพูด
            3 รู้จักชื่อตัวเองและมีการตอบสนองต่อคนที่คุ้นเคย เข้าใจคำห้าม “อย่า” “หยุด”
            4 สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น สวัสดี บ๊ายบาย ส่งจูบ ฯลฯ
            5 หยิบหรือชี้สิ่งของ สัตว์เลี้ยง บุคคลที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ทำตามคำสั่งง่ายได้ เช่น หยิบ หรือ ชี้เสื้อ รองเท้า ฯลฯ
            6 ชี้อวัยวะของร่างกายได้ถูกต้อง
            7 เข้าใจประโยค ปฏิบัติตามคำสั่งที่ซับซ้อน เช่น ทำตามคำสั่ง วางช้อนบนโต๊ะ หรือหยิบรูปภาพกริยาตามบอก
            8 รู้จักหน้าที่ของสิ่งของ คำกริยา คุณศัพท์ คำบุพบท และเรื่องเล่าง่ายๆ เช่น วิ่ง ล้างจาน เป็นต้น
            9 เข้าใจประโยคที่มี 2 ขั้นตอน เช่น ตบมือแล้วสวัสดี เอาช้อนไว้ใต้โต๊ะ
            10 เข้าใจประโยคที่มี 3 ขั้นตอน เช่น ไปห้องน้ำ หยิบแปรง นำมาให้แม่ ฯลฯ
      • การประเมินภาษาด้านการพูด ทำตามลำดับ ดังนี้

        ทำได้ ทำไม่ได้ การพัฒนาภาษาด้านการพูด
            1 ส่งเสียงแบบปฏิกิริยาสะท้อน เช่น โอ้ โอ๊ย ฯลฯ
            2 ส่งเสียงเฉพาะเรียกคนใกล้ชิด
            3 พูดเสียงที่ไม่มีความหมายโต้ตอบกับผู้อื่น
            4 พูดตามคำเดี่ยวๆได้น้อยกว่า 10 คำ
            5 พูดบอกความต้องการง่ายๆ ได้ เช่น “เอา” “ไป” พูดคำนามได้ประมาณ10-20 คำ
            6 พูดเป็นวลี ประโยคยาว 2 พยางค์/คำ บอกชื่อสิ่งของและบอกหน้าที่ของสิ่งของได้ พูดคำศัพท์ได้ 50 คำ
            7 พูดเป็นวลี ประโยคยาว 3 พยางค์ พูดโดยใช้ คำนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำสรรพนามได้
            8 พูดเป็นวลี ประโยคยาว 4 พยางค์/คำ
            9 พูดเป็นประโยคได้ยาวประมาณ 5-6 คำ
            10 สามารถเล่าเรื่องที่คุ้นเคยได้เองสามารถพูดเปรียบ เทียบขนาดรูปร่างสิ่งต่างๆได้ เช่น ใหญ่กว่า ยาวกว่า เป็นต้น

        อนึ่ง ในการฝึกพูดนั้น เริ่มจากที่ง่ายๆที่สุดที่ผู้ป่วยทำได้บ้างทำไม่ได้บ้างก่อน แล้วเลื่อนระดับไปสอนงานที่ยากขึ้นตามลำดับ การประเมิน โดยพิจารณาระดับความ สามารถของผู้ป่วยเป็นเกณฑ์ เมื่อฝึกขั้นที่ 1 ได้แล้วให้ฝึกขั้นที่ 2 ต่อไปพร้อมๆกัน 2-3 ขั้นตอนได้

    • การฝึกพูด

      • ด้านความเข้าใจภาษาพูด
        • ฝึกให้ผู้ป่วยทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ยกมือขึ้น กำมือ ตบมือ โดยมีขั้นตอนดังนี้
          • พูดบอกสั้นๆ ทำให้ดู จับมือทำตามคำสั่งตามลำดับในกรณีที่ผู้ป่วยทำไม่ได้
          • ค่อยๆลดการบอกใบ้หรือการกระตุ้นลงให้เหลือพูดบอกอย่างเดียว
        • ฝึกชี้อวัยวะร่างกาย
        • ฝึกชี้สิ่งของในชีวิตประจำวัน
        • ฝึกชี้ สิ่งของ หรือรูปภาพสิ่งของ สัตว์ กริยาง่ายๆในชีวิตประจำ วัน
        • ฝึกฟังเรื่องเล่าที่มีภาพประกอบ 3 ภาพ 4 ภาพ และพัฒนาเป็นเรื่อง แล้วถามตอบ
      • ด้านการพูด
        • ฝึกให้เคลื่อนไหวอวัยวะในปาก เช่น ปากจู๋ ปากเหยียด อ้าปาก ยิง ฟัน เป็นต้น
        • ฝึกออกเสียงอัตโนมัติ เช่น ไอ กระแอม
        • ฝึกออกเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น อา อู ปาๆ วาๆ
        • ฝึกพูดตามคำง่ายๆในชีวิตประจำวัน เช่น หู ตา จมูก ปาก ฯลฯ แล้วฝึกให้ผู้ป่วยพูดเองตามลำดับหลังจากที่พูดตามแล้ว
        • ฝึกให้ผู้ป่วยบอกชื่อสิ่งของต่างๆในชีวิตประจำวันตามลำดับ
          • บอกชื่อสิ่งของ หรือรูปภาพสิ่งของ สัตว์
          • บอกชื่อกริยาอาการขณะที่ผู้ป่วยกำลังทำกิจกรรมนั้นๆ หรือมีบุคคลในครอบครัวกำลังทำอยู่ขณะนั้น และพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยพูดเป็นวลี หรือประโยค 2 พยางค์ 3 พยางค์ 4 พยางค์ ประโยคต่อเนื่องเมื่อผู้ป่วยมีความก้าวหน้าทางภาษาเพิ่มขึ้นตามลำดับ เช่น น้องอาบน้ำแทนอาบน้ำ คนกินข้าวแทนกินข้าว เป็นต้น
        • ฝึกผู้ป่วยถามตอบง่ายๆในชีวิตประจำวัน
        • ฝึกอ่านหนังสือ และถามตอบเกี่ยวกับเรื่องราวที่อ่าน
        • ฝึกเล่านิทานและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย

ความบกพร่องทางภาษามีความรุนแรงอย่างไร?

ความบกพร่องทางภาษามีความรุนแรง 3 ระดับ คือ ระดับรุนแรง ระดับปานกลาง และ ระดับน้อย

  • ระดับรุนแรง:

    วัตถุประสงค์ของการฝึกพูด:

    • ให้คำแนะนำ
    • ฝึกภาษาและการพูดง่ายๆในชีวิติประจำวัน
    • การสื่อสารทางเลือก เช่น การใช้รูปภาพ เครื่องช่วยพูด ฯลฯ
    • การสื่อสารด้านการทักทายทางสังคม
    ไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยตัวเอง เช่น ไม่มีเสียงพูด หรือมีเสียงพูดแต่พูดไม่ได้เลย หรือพูดได้ 1-2 คำ ฟังไม่เข้าใจเลย หรือเข้าใจเพียงคำพูดง่ายๆ 1-2 คำ เข้าใจภาษาท่าทางบ้าง
  • ระดับปานกลาง:

    วัตถุประสงค์ของการฝึกพูด:

    • ให้คำแนะนำ
    • ฝึกฟัง ฝึกพูด ฝึกอ่าน เขียนสะกดคำ
    • การสื่อสารในสังคม
    พูดไม่คล่อง ฟังเข้าใจเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวัน สามารถสื่อสารด้วยตัวเองได้บ้าง แต่คงแสดงความบกพร่องในการสื่อความหมายที่ชัดเจน เช่น พูดช้า พูดเฉพาะประโยคสั้นๆ พูดเฉพาะคำสำคัญของประโยค เหมือนภาษาโทรเลข หยุดพูดบ่อย นึกคิดคำพูดไม่ออก หยุดพูดเป็นช่วง เข้าใจคำพูด หรือเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวัน พูดโต้ตอบ หรือสื่อสารด้วยท่าทางได้ เข้าใจภาษาท่าทางได้ดี
  • ระดับน้อย:

    วัตถุประสงค์ของการฝึกพูด:

    • ให้คำแนะนำ
    • ฝึกฟัง ฝึกพูด ฝึกอ่าน เขียนสะกดคำ ทุกด้านเต็มที่เพื่อให้กลับไปสื่อสารในชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพอย่างเดิมได้
    • การแก้ไขการสื่อสารในสังคมและชีวิตประจำวันให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
    พูดไม่คล่องเล็กน้อย ฟังเข้าใจเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันได้ สามารถสื่อสารได้ด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ แต่คงแสดงความบกพร่องในการสื่อความหมายบางด้าน เช่น พูดช้า หยุดพูดเพราะนึกคิดคำพูดไม่ออก ใช้คำพูดบางคำไม่ถูกต้อง มีการใช้คำอื่นที่ใกล้เคียงพูดแทน พูดโต้ตอบ หรือสื่อสารด้วยท่าทางได้ เข้าใจภาษาได้ค่อนข้างดี

ความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการรักษาหายไหม?

การฝึกพูดได้ผลดี ถ้าหากได้รับการฝึกเต็มที่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง การฟื้นฟูสมรรถภาพของการพูดและภาษาจะได้ผลดี หากได้รับการฝึกอย่างเต็มที่อย่างต่อเนื่องจากนักแก้ไขการพูดในช่วง 1 ปีหลังมีความผิดปกติทางการพูดและทางภาษา โดยมีปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการพูดและทางภาษาจะได้ผลดีที่สุดภาย ใน 3 เดือนแรกหลังมีความผิดปกติ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการพูดและทางภาษาจะได้ผลดีรองลงมา ถ้าเริ่มฝึก 3-6 เดือนแรกหลังมีความผิดปกติ
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการพูดและทางภาษาจะได้ผลดีน้อยลงเมื่อฝึกพูดในระยะ 6-12 เดือนหลังมีความผิดปกติ
  • ความก้าวหน้าของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการพูดและทางภาษามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างน้อยเมื่อฝึกพูดหลังเกิดอาการ หลัง 1 ปี

อนึ่ง นักแก้ไขการพูดจะฝึกให้ผู้ป่วยมีการสื่อสารด้วยการพูดและ/หรือเลือกวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมตามความสามารถและศักยภาพของผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาทางการพูดและทางภาษาควรได้รับการฟื้นฟูเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ทันทีที่สุขภาพของผู้ป่วยดีพอ ผู้ป่วยยิ่งมีความบกพร่องของสมองปริมาณน้อยเท่า ไรยิ่งมีโอกาสฟื้นตัวจากโรคได้มากและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการ?

การดูแลตนเองเป็นกระบวนการที่บุคคลสามารถกระทำกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพให้เหมาะสมกับตนเอง โดยมีการเรียนรู้และการสนับสนุนจากสังคม วัฒนธรรม ที่เป็นสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้นทั้งในวิชาชีพและนอกวิชาชีพ

ทางด้านสุขภาพ การดูแลตนเองที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเป็นหนทางที่นำไปสู่การมีสุขภาพดี จากการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพในการดูแลตนเองมีความ สัมพันธ์โดยตรงกับการดำรงชีวิตอย่างอิสระและคุณภาพชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่ง เสริมให้ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการ มีความมั่น ใจ และมีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมที่ช่วยเหลือตนเอง สามารถช่วยตนเองได้มากที่ สุดเท่าที่จะทำได้ตามศักยภาพของผู้ป่วยแต่ละคน เพราะเมื่อผู้ป่วยสามารถดูแลตน เอง และทำอะไรด้วยตัวเองได้มากเท่าไร ก็จะช่วยให้ลดความเก็บกดซึมเศร้าได้มากเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวให้สอดคล้องกับความบกพร่องของสมรรถนะที่เป็นอยู่ และส่งเสริมให้เกิดความผาสุก

ดังนั้นความสำคัญอันดับหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการโดยเฉพาะผู้ที่มีการอ่อนแรง หรืออัมพาตของร่างกายร่วมด้วย คือ การป้องกันโรคแทรกซ้อน และไม่ให้เกิดอาการผิดปกติกับส่วนต่างๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น ในการดูแลผู้ป่วยจากภาวะสมองพิการ ผู้ป่วยจึงต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และญาติ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

  1. ผู้ป่วยมีการอ่อนแรงหรืออัมพาตของร่างกาย ผู้ป่วยจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาจากทีมฟื้นฟูสหสาขาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
    • พยาบาลจะทำการพยาบาลที่ส่งเสริมการรักษาของแพทย์ และป้องกันภาวะ แทรกซ้อนต่างๆ เช่น เปลี่ยนท่าทางทุกสองชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ การส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพ และการช่วยเหลือต้วเอง ฯลฯ
    • นักแก้ไขการพูด จะทำการฝึกพูดเพื่อให้ผู้ป่วยสื่อสารด้วยการพูด หรือสื่อ สารด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งได้ รวมถึงการช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง และยากต่อการกลืนอาหาร สามารถกลืนอาหารได้เอง
    • นักกายภาพบำบัด จะทำการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกาย และทำกิจกรรมต่างๆได้ เพื่อป้องกันการหดตัวของกล้ามเนื้อ และของข้อต่อร่วมกับความไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเป็นอาการที่จะเกิดขึ้นหลังการเป็นอัมพาต
    • นักกิจกรรมบำบัด จะฝึกให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ โดยให้ทำกิจกรรมเบาๆ การสูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัส (Sensory loss) ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถรู้สึกได้ถึง ความร้อน ความเย็น ความเจ็บปวด ในส่วนของร่างกายที่เป็นอัมพาต จึงอาจทำให้ตัวเองบาดเจ็บโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการแนะนำให้ใส่ใจกับอวัยวะส่วนที่เป็นอัมพาตนั้น
    • จิตแพทย์และนักจิตวิทยา ช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวต่อความวุ่นวาย และสับสนทางอารมณ์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความสับสน สูญเสียความทรงจำ และคิดอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นจึงสำคัญมากที่ครอบครัวจะมีความเข้าใจ แสดงความใส่ใจ และให้การช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
    • ผู้ป่วยควรตั้งใจ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดูแลรักษาจากทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยพยายามปรับตัวให้เข้ากับความบกพร่องที่มีอยู่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
  2. ผู้ป่วยควรหมั่นฝึกทำการบ้าน และฝึกทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการช่วย เหลือตัวเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยฝึกการทำกิจกรรมที่ต้องการความละเอียดและต้องการสมาธิมากก่อน หลังจากนั้นจึงฝึกกิจกรรมที่ต้องการความละเอียดและต้องการสมาธิน้อย เช่น ฝึกพูด ฝึกฟัง ก่อนฝึกกายภาพบำบัด หรือกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น
  3. ผู้ป่วยควรดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดี และติดตามการรักษาจากแพทย์และทีมสุขภาพอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
  4. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดปัญหาเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอีก (Recurrent stroke) เช่น การขาดการติดตามการรักษา รับ ประทานยาไม่ต่อเนื่อง การมีภาวะเสี่ยงอื่นๆ เช่น โรคอ้วน การสูบหรี่
  5. ผู้ป่วยควรพยายามเข้าสังคม และอยู่ในสังคมที่มีการสื่อสารเพื่อฝึกฝนและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ และเข้ากับความบกพร่องทางการพูดและทางภาษาที่มีอยู่ ไม่ควรหดหู่อยู่กับบ้านและไม่เข้าสังคม
  6. ผู้ป่วยต้องพยายามทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้ได้ด้วยตนเองมากที่ สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ ฯลฯ หากทำเองไม่ได้ญาติควรช่วยเหลือตามศักยภาพของผู้ป่วยให้น้อยที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ฝึกฝนการใช้อวัยวะร่างกายได้เองอย่างอิสระ
  7. ผู้ป่วยต้องหาโอกาสฝึกฝนด้านความเข้าใจและการพูดด้วยตนเอง หรือมีญาติช่วยเหลือในบางสถานการณ์ เช่น การไปเลือกซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ (หากเดินเองไม่ได้เนื่องจากแขนขาอ่อนแรงให้นั่งรถเข็น) โดยชี้ หรือหยิบสินค้าในชีวิตประจำวันที่ต้องการซื้อตามคำบอกของญาติ หรือผู้ดูแล ในกรณีที่ต้องการฝึกด้านความเข้าใจ ควรชี้ หรือหยิบสินค้าในชีวิตประจำวันที่ต้องการ แล้วบอกชื่อสินค้านั้นๆทีละอย่างก่อนหยิบใส่ตะกร้าเพื่อฝึกพูด
  8. ผู้ป่วยควรรับโปรแกรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน และติดตามการฝึกพูดจากนักแก้ไขการพูดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วง 1 ปี แรกหลังเกิดความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการ

ป้องกันภาวะเสี่ยงต่อสมองพิการและความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการได้อย่างไร?

การป้องกันภาวะเสี่ยงต่อสมองพิการ และความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาจากสมองพิการ ให้ปฏิบัติดังนี้

  1. งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารที่มีไขมันมาก ลดน้ำหนัก (ถ้าเป็นโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน)
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้หลอดเลือดแข็งตัวเร็ว
  3. การตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และรับคำปรึกษาเกี่ยวกับดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันภาวะสมองพิการ
  4. หากเป็นโรคที่มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองพิการ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ฯลฯ ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง
  5. หากเคยมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรืออัมพาตชั่วคราว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับประทานยาป้องกันภาวะสมองพิการ
  6. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดเป็นระยะเวลานาน

สรุป

การหลีกเลี่ยงภาวะสมองพิการ คือ การป้องกันไม่ให้มีความผิดปกติทางการพูดและทางภาษา โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆให้น้อยที่สุด และรับการตรวจสุขภาพจากแพทย์อยู่เสมอ การตรวจพบและการรักษาแต่เนิ่นๆจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีภาวะสมองพิการได้ หากเกิดสมองพิการและมีความผิดปกติทางการพูดและทางภาษาขึ้นแล้ว ผู้ป่วยและญาติควรร่วมมือกับสหสาขาวิชาชีพในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยทุกด้านอย่างเต็มที่ ต่อเนื่องและสม่ำเสมอโดยเฉพาะภายในระยะเวลา 1 ปีแรกหลังเกิดปัญหา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา   https://haamor.com/th/ความผิดปกติทางการพูด/

อัพเดทล่าสุด