ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด


1,204 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

เภสัชกรรม 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

บทนำ

ยา (drug, medicines, medication, medicament, pharmaceutical drug) เป็นสิ่งที่มีทั้งคุณ และโทษ การกินยา หรือ ใช้ยา ผู้ใช้จึงควรมีความรู้ หรือ ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา ซึ่งข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดที่ประชาชนควรรู้ และนำไปประยุกต์กับชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา คือ

  1. ดูวันหมดอายุของยา
  2. อ่านฉลากยา
  3. กินยาให้ถูกต้องตามฉลากยา
  4. กินยาให้ถูกวิธี
  5. ล้างมือ ก่อน และหลังกินยา
  6. กินยาให้หมดตามที่แพทย์ พยาบาล เภสัชกรแนะนำ
  7. เก็บยาให้ถูกวิธี
  8. หยิบยาในที่มีแสงสว่างพอเพียง
  9. ไม่กินยาหรือใช้ยาของผู้อื่น
  10. สังเกตอาการผิดปกติหลังกินยา
  11. ทิ้งยาที่ไม่ใช้แล้ว หรือที่หมดอายุ

ดูวันหมดอายุของยา

ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด

ดูวันหมดอายุของยา วันหมดอายุของยา หรือ ตัวย่อ คือ อีเอกพี (Exp, Expiration date) ถือเป็นตัวบ่งบอกคุณภาพของยาที่จะใช้ เมื่อยาหมดอายุ ตัวยาสำคัญที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยจะเสื่อมคุณภาพ และมีประสิทธิภาพในการรักษาลดลง นอกจากนี้ อาจก่อให้เกิดพิษ หรือ ผลข้างเคียงกับร่างกาย การระบุวันหมด อายุของบริษัทยา จะระบุวัน เดือน ปี ที่หมดอายุไว้บนแผงยา กล่อง ขวด และที่บรรจุยา โดยหลายบริษัทมักระบุเป็นปี ค.ศ. ซึ่งสามารถแปลง ค.ศ.เป็น พ.ศ.โดยนำเอาตัวเลข 543 เข้าไปบวกเพิ่มที่ปี ค.ศ.

ตัวอย่างวันหมดอายุบนฉลากยา

  • ตัวอย่างที่ 1 Exp 02 2014 
    02 หมายถึง เดือนกุมภาพันธ์ 
    2014 หมายถึง ปี ค.ศ. 2014 หรือ ปี พ.ศ. 2557 (2014+53)
  • ตัวอย่างที่ 2 ยาสิ้นอายุ 17/03/2013 
    17 หมายถึง วันที่ 17 ของเดือน 
    03 หมายถึง เดือนมีนาคม 
    2013 หมายถึง ปี ค.ศ. 2013 หรือ ปี พ.ศ. 2556 (2013+53)

อนึ่ง ยาหลายประเภทเมื่อเปิดใช้แล้ว อายุของยาอาจจะสั้นกว่าวันหมดอายุที่ระบุในฉลาก ไม่ว่าจะเป็น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาหยอดตา ยาผง ยาฉีด แต่เมื่อยังอยู่ภายใต้วันที่กำหนด ยังถือว่าสามารถใช้ยาได้โดยไม่เกิดผลข้างเคียงต่างจากปกติที่พึงมี

อย่างไรก็ตาม นอกจากต้องดูการกำหนดอายุการใช้ยาก่อนเปิด หรือหลังเปิดใช้ ยังต้องดูสภาพของยาเป็นองค์ประกอบด้วย ถึงแม้เพิ่งเปิดยาจากภาชนะบรรจุ หากสภาพยาเปลี่ยนไปจากมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิต เช่น

  • ยาเม็ด มีสีเปลี่ยนไป บวม หัก บิ่น ชื้น
  • ยาแคปซูล มีลักษณะบวม ชื้น
  • ยาน้ำ เกิดการตกตะกอน หรือมี สี กลิ่น เปลี่ยนไป
  • ยาน้ำแขวนตะกอน เกิดการจับตัวเป็นตะกอนแข็ง เขย่าแล้วไม่กระจายตัว
  • ยาผง มีลักษณะชื้น จับตัวเป็นก้อน
  • ยาครีม-ยาขี้ผึ้ง มีการแยกตัวแบ่งชั้น เยิ้มเหลวผิดปกติ

เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องสังเกต หากไม่แน่ใจในคุณภาพของยานั้น ให้ทิ้งไป หรือนำยาไปปรึกษากับเภสัชกร ซึ่งมีประจำตามร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีป้ายระบุชื่อเภสัชกรประจำ

อ่านฉลากยา

อ่านฉลากยา ฉลากยา หรือเอกสารกำกับยาเป็นเอกสารที่ติดมากับภาชนะบรรจุ โดยระบุข้อมูลเชิงวิชาการ เช่น ส่วนประกอบของยา รูปแบบผลิตภัณฑ์ ข้อบ่งใช้ ขนาดและวิธีรับประทาน หรือวิธีการใช้ยา/วิธีกินยา ของ ผู้ใหญ่ เด็ก หรือระบุขนาดการใช้ตามอายุและน้ำหนัก นอกจากนี้ จะมีคำเตือนต่างๆ ในการใช้ยา รวมถึงข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ คุณสมบัติทางเภสัชศาสตร์ ปฏิกิริยากับยาอื่น ความเป็นพิษของยา สภาพการเก็บรักษา และขนาดบรรจุ เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้ใช้ยาทำความเข้าใจ และสามารถใช้ยาได้ถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเภสัชกรซึ่งประจำอยู่ตามร้านขายยาดังกล่าวแล้ว

ในกรณี ได้รับยาจากโรงพยาบาล ควรอ่านหน้าซองยา ถึงวิธีใช้ยา/กินยาให้เข้าใจรวมทั้งคำแนะนำอื่นๆที่เขียนไว้ ซึ่งปัจจุบันเภสัชกรหลายโรงพยาบาลมักเขียนคำแนะนำสำคัญ เช่น อาการแพ้ยา หรือ วันหมดอายุ ทั้งนี้ ข้อความต่างๆบนซองยา เมื่อไม่เข้าใจ ให้สอบถามให้เข้าใจจากเภสัชกรประจำห้องยา หรือ นำยากลับมาถามแพทย์ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยเสมอ

อนึ่ง ไม่ควรใช้ยา/กินยาทั้งๆที่ไม่เข้าใจสิ่งที่เขียนไว้ในฉลากยา หรือ บนซองยา หรือ เมื่อมีข้อสงสัย ควรต้องสอบถามแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกรให้เข้าใจก่อนเสมอ

กินยาให้ถูกต้องตามฉลากยา

ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายได้รับประสิทธิผลของยาได้เป็นอย่างดี ซึ่งวิธีกินยาโดยทั่วไป ได้แก่

    • กินยาก่อนอาหาร หมายถึง การกินยาในขณะที่ท้องว่างก่อนอาหารประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมงด้วยเหตุผล
      • เพื่อให้การดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็วไม่ถูกรบกวนจากอาหาร
      • เลี่ยงมิให้ยาถูกทำลายจากน้ำย่อย และกรดในกระเพาะอาหาร

      อนึ่ง หากกินอาหารไปแล้ว และลืมกินยาก่อนอาหาร ให้รอประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารถูกบีบไล่จากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้จนหมดแล้ว จึงกินยาก่อนอาหารตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

    • กินยาหลังอาหาร หรือ พร้อมอาหาร หมายถึง การกินยาหลังจากรับประทานอาหารทันที หรือ กินพร้อมอาหารด้วยเหตุผล
      • ยาหลายกลุ่มก่อให้เกิด การระคายเคืองในกระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้ ดังนั้นเพื่อลดอาการดังกล่าว จึงต้องกินยาหลังอาหาร หรือ กินพร้อมอาหารทันทีเพื่อให้อาหารเป็นตัวช่วยลดความเข็มข้นของยาต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร
      • ยาบางกลุ่ม ต้องละลายในไขมันที่มีอยู่ในอาหารที่รับประทานก่อน ร่างกายจึงจะดูดซึมยาได้ จึงต้องกินยานั้นพร้อมอาหาร เพื่อเพิ่มการดูดซึมยา

      อนึ่ง มียาหลายกลุ่ม ที่สามารถกินขณะท้องว่าง หรือ หลังอาหาร หรือ พร้อมอาหารก็ได้ และยังคงประสิทธิภาพทางการรักษาไม่แตกต่างกัน หากไม่แน่ ใจให้สอบถามจากเภสัชกรว่า ยาชนิดใดควรกินอย่างไร


  • กินยาตามเวลาที่ระบุ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการรักษาของยาชนิดนั้นๆ จึงต้องกำหนดเวลากินยาที่ชัดเจน เช่น
    • ยาระบายบางกลุ่มให้กินก่อนนอน เพื่อให้ผลออกฤทธิ์ระบายในช่วงเช้า
    • ยากลุ่มฮอร์โมนโดยเฉพาะกลุ่มยาคุมกำเนิด ต้องกินให้ตรงเวลา และควรเป็นเวลาเดียวกันในวันถัดๆไป ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับปริมาณยาในร่างกายให้มีความคงที่และสม่ำเสมออยู่ตลอด
 

กินยาให้ถูกวิธี

วิธีกินยา มีดังนี้ คือ

    • ยาเม็ดและยาแคปซูล โดยปกติสามารถกลืนพร้อมน้ำสะอาด 1-2 แก้วก็เพียงพอ ยังมียาเม็ดที่บำรุงกระดูกผสมร่วมกับวิตามินบางชนิด ที่ต้องละลายน้ำก่อนแล้วจึงดื่มสารละลายของยา หากกลืนเป็นเม็ดตรงๆ จะก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะมาก และส่งผลเสียกับร่างกาย เราเรียกยาเม็ดกลุ่มนี้ว่า ยาเม็ดชนิดเม็ดฟู่ ยาเม็ดบางกลุ่มต้องเคี้ยวก่อนกลืนเพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้ดี เช่น ยาลดอาการท้องอืดเฟ้อ ยาลดกรด ยาถ่ายพยาธิบางชนิด
      • มียาเม็ดบางชนิดที่ค่อยๆออกฤทธิ์ โดยจะปลดปล่อยยาออกมาทีละน้อยๆในกระเพาะ-ลำไส้ ต้องกลืนพร้อมน้ำเท่านั้นห้ามเคี้ยวโดยเด็ดขาด ด้วยการเคี้ยวจะทำให้มีการปลดปล่อยยามากเกินไปจนอาจเกิดอันตรายกับร่างกายตาม มา ดังนั้นเมื่อแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ไม่ได้ระบุให้เคี้ยวยา จึงไม่ควรเคี้ยวยา
      • บางครั้งเราต้องทำการหักแบ่งครึ่งยาเม็ดก่อนรับประทาน ด้วยไม่มีขนาดรับประทานที่พอดีกับการรักษาโรค การหักยาเม็ดด้วยมือ อาจทำให้การคลาดเคลื่อนของขนาดยามีมาก และส่งผลไม่ดีนักสำหรับการรักษา หากมีความจำเป็นต้องแบ่งครึ่งยาเม็ด ขอแนะนำให้ใช้ เครื่องตัดเม็ดยา ซึ่งมีขาย หรือ สอบ ถามได้ตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการแบ่งครึ่งยาเม็ดไม่สมควรกระทำ หรือตัดสินใจลดขนาดรับประทานด้วยตนเอง นอกจากได้รับคำแนะนำที่ถูก ต้องจากแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร เท่านั้น

  • ยาน้ำ โดยปกติถ้าเป็นยาน้ำเชื่อม ให้ใช้ช้อนตวงยา ถ้วยตวงยา หรือหลอดดูดยาที่มีขีดบอกปริมาตรอย่างชัดเจน ไม่ควรใช้วิธียกจิบ เพราะอาจได้รับยาน้อย หรือมากเกินไป ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิผล หรือได้รับผลข้างเคียงจากการกินยาเกินขนาด สำหรับยาน้ำแขวนตะกอนต้องเขย่าขวดทุกครั้งก่อนกินยาเพื่อ ให้ตัวยากระจายตัวก่อนกินยา เราสามารถสอบถามการตวง และวิธีกินยาน้ำได้อย่างถูกต้องจากแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร
 

ล้างมือ ก่อน และหลังกินยาเสมอ

มือ เป็นอวัยวะที่ใช้หยิบจับสิ่งของมากมาย จึงมีโอกาสปนเปื้อน หรือสัมผัสกับสิ่งสกปรก เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ฝุ่นละออง ฯลฯ หากรับประทานสิ่งเหล่านี้เข้าไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น ท้องเสีย มีการติดเชื้อร่วมด้วย เพื่อมิให้สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ติดไปกับยาที่จะรับประทาน เราควรต้องล้างมือก่อนกินยาทุกครั้ง หลังกินยาเราควรฝึกนิสัยในการล้างมือเช่นกัน ด้วยยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะจะใช้กับผู้ที่มีอาการติดเชื้อจากเชื้อโรคชนิดต่างๆ หากมือของผู้ป่วยสัมผัสกับปากซึ่งเป็นบริเวณที่อาจมีจำนวนเชื้อโรคอยู่มาก หากไม่ทำการล้างมือก็อาจจะมีการกระจายของเชื้อโรคจากมือผู้ป่วยไปยังคนรอบข้าง ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและของคนข้างเคียง เราควรฝึกนิสัยในการล้างมือก่อน และหลังกินยาทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ

กินยาให้หมดตามที่แพทย์ พยาบาล เภสัชกรแนะนำ ถึงแม้จะรู้สึกว่าหายแล้ว

ยังมีอาการโรคหลายอย่างที่ต้องได้รับยาจนครบตามคำแนะนำของแพทย์ ถึง แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว เช่น ยาปฏิชีวนะ ต้องกินจนหมดเพื่อป้องกันมิให้มีการดื้อยาของเชื้อโรคชนิดนั้นๆ (เชื้อดื้อยา) หรือยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ เหล่านี้ต้องกินยาเป็นประจำหรือต้องกินตลอดชีวิต เพื่อคงสภาพความสมดุลและทำให้ร่างกายทำ งานได้อย่างปกติ

เก็บยาให้ถูกวิธี

เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และคงคุณภาพในการรักษาของยาชนิดต่างๆ ควรถือหลักปฏิบัติในการเก็บยา ดังนี้

  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่กำลังเรียนรู้ และอยู่ในวัยซุกซน มักมีธรรมชาติในการหยิบของเข้าปาก หากเป็นยาซึ่งถือเป็นเคมีภัณฑ์ที่สามารถก่ออันตราย และอาจเกิดผลเสียถึงกับชีวิตหากช่วยเหลือไม่ทัน ถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ปกครอง พี่เลี้ยง ผู้ใหญ่ภายในบ้าน ต้องดูแลและไม่วางยาในพื้นที่ที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย เช่น พื้นบ้าน บันได โต๊ะอาหาร เก้าอี้ เป็นต้น
  • ควรเก็บแยกยาให้เป็นสัดส่วน การมีตู้เก็บยาประจำบ้านจะทำให้สะดวก ปลอดภัยในการจัดเก็บโดยแบ่งกลุ่ม ยารับประทาน ยาใช้ภายนอก ได้อย่างชัดเจน การติดตั้งตู้ยาควรอยู่ในบริเวณที่เด็กเล็กเอื้อมไม่ถึง ไม่ถูกแสงแดด ห่างจากความ ชื้นและอุณหภูมิไม่สูงเกินข้อกำหนดในการเก็บยา ซึ่งยาหลายชนิดในปัจจุบันจะระบุสถานภาพในการจัดเก็บมาให้ โดยทั่วไปยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาน้ำแขวนตะกอน ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาหยอดตา ยาผง มักจะระบุให้จัดเก็บภายใต้อุณหภูมิ 25-30 °C (องศาเซลเซียส) หรือยาบางชนิดต้องเก็บภายในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2-8 °C เช่น วัคซีนต่างๆ ยาผงที่เป็นยาปฏิชีวนะหลังละลายน้ำแล้วหลายตำรับต้องเก็บในตู้เย็น และยาหยอดตาหลังเปิดใช้ให้เก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็งและมีอายุการใช้ไม่เกิน 1 เดือน
  • เก็บยาในซองยา หรือในผลิตภัณฑ์ที่บรรจุยาเสมอ อย่าแยกเก็บโดยไม่มีซองยา หรือ ฉลากยากำกับ เพื่อกินยาได้อย่างถูกวิธี รู้ว่ากำลังกินยาชนิดใด นอก จากนั้น ผลิตภัณฑ์ที่บรรจุยา ยังช่วยรักษาคุณสมบัติของยาไม่ให้หมดอายุเร็วกว่ากำหนด
  • ยาที่ต้องกินครึ่งเม็ด ไม่ควรแบ่งยาเก็บไว้นานเกินกว่า 24 ชั่วโมง เพราะเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมสภาพได้
 

หยิบยาในที่มีแสงสว่างพอเพียง

เพื่อให้เห็นยาชัดเจน ดูให้แน่ใจว่าเป็นยาที่ถูกต้อง ก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการกินยาผิดชนิด ผิดขนาด ผิดเวลา ผิดบุคคล จึงควรต้องอ่านรายละเอียดบนฉลากยาอย่างระมัดระวัง ไม่ควรใช้ความเคยชินหรือ รูปร่าง สีสัน ของยาเป็นแค่ตัวบ่งบอกในการรับประทาน

ไม่กินยาหรือใช้ยาของใครถึงแม้มีอาการคล้ายกัน

ทั้งนี้ ด้วยอาการของโรคหลายชนิด อาจมีอาการคล้ายคลึงกันแต่มีต้นเหตุแตกต่างกัน การใช้ยาในการรักษาจึงต้องระบุการใช้ได้อย่างถูกต้องโดยให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย จะเป็นการปลอดภัย เช่น การให้ยาแอสไพรินกับผู้ป่วยที่มีไข้จากโรคไข้เลือดออกกลับจะเป็นผลเสียกับผู้ป่วย เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดในร่างกายทำงานได้น้อยลงและเป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะเลือดออกภายในร่างกายมากขึ้น หรือเกิดการแพ้ยาแอสไพรินได้ หรือยาบางชนิดถึงแม้จะใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกันก็ตาม บางคนไม่แพ้ยาดังกล่าวในขณะที่ยาตัวเดียวกันก่อให้เกิดการแพ้ยากับอีกคนหนึ่ง

ในกรณีของยาหยอดตายิ่งไม่ควรใช้ร่วมกัน ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อของดวงตาจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยเฉพาะการใช้ยาหยอดตาผิดประเภทในบางโรคของดวงตาอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงตามมาจนเกิดสภาวะพิการทางสายตาได้

สังเกตอาการผิดปกติหลังกินยาเสมอ

ยาหลายชนิดอาจก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์หรือการแพ้ยา ซึ่งแม้แต่แพทย์เองก็ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ใครจะแพ้ยา ดังนั้นเมื่อกินยา/ใช้ยา จึงควรต้องสังเกตอาการหลังการกิน/ใช้ยาเสมอ หากมีอาการผิดปกติหลังการกินยา/ใช้ยา เช่น เวียนศีรษะตามัว คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นขึ้นตามร่างกาย หายใจไม่ออก ให้หยุดยา และควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว หรือ ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

อนึ่ง หากทราบว่าเราแพ้ยาชนิดใด ควรจดบันทึกชื่อยาที่แพ้และพกติดตัวไว้ทุกครั้ง ให้แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ก่อนเข้าทำการรักษาในสถานพยาบาล และร้านยา ก็จะเป็นการป้องกันและสร้างความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น

ทิ้งยาที่ไม่ใช้แล้ว หรือ ที่หมดอายุ

ยาที่ไม่ใช้แล้ว ไม่ควรเก็บไว้ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้หยิบกินยาผิดพลาดได้ ส่วนยาหมดอายุ ไม่ควรเก็บไว้ เพราะเมื่อนำ มาบริโภค อาจก่อผลข้างเคียงจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

วิธีทิ้งยา สำหรับยากินและยาใช้ภายนอก เมื่อหมดอายุหรือเสื่อมสภาพ ห้ามทิ้งยาลงในรางน้ำสาธารณะ คูคลอง แม่น้ำ หรือฝังดิน ด้วยยาหลายชนิดอาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์และก่อให้เกิดมลพิษต่อสภาวะแวดล้อม

  • สำหรับประชาชนทั่วไปหากจะทิ้งยาที่ไม่ใช้แล้ว หรือยาหมดอายุ ควรทำลายรูปลักษณะเดิมของยามิให้ผู้อื่นนำไปใช้ต่อได้อีก เช่น ยาเม็ด ยาแคป ซูลใช้วิธีบดทำให้แตกหัก ยาน้ำให้ทำลายฉลากหรือพ่นสีเพื่อไม่ให้อยู่ในสภาพที่จะนำไปใช้ต่อได้ ยาครีม-ยาขี้ผึ้งให้บีบออกจากหลอดให้หมด และทั้งหมดนี้ต้องถูกบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิทซึ่งสามารถป้องกันมิให้ยาดังกล่าวกระจายออกไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ นำภาชนะที่บรรจุยาหมดอายุหรือยาที่ไม่ใช้แล้วส่งมอบให้กับรถเก็บขยะของเทศบาลโดยมีฉลากหรือป้ายระบุเป็นยาหมดอายุติดอยู่บนภาชนะให้เห็นอย่างเด่นชัด
  • สำหรับสถานพยาบาลต่างๆ ยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพ จะถูกบรรจุใส่ภาชนะที่คัดแยกไว้อย่างชัดเจน และนำส่งองค์กรที่รับไปทำลายอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ที่มา   https://haamor.com/th/ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด/

อัพเดทล่าสุด