การคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Contraception)


1,219 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

มดลูก  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ความหมาย

การคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception) หมายถึงการใช้ยาหรืออุปกรณ์ในภา วะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิด เช่น ถูกข่มขืน ลืมรับประทานยาคุมกำเนิด มีเพศสัมพันธ์โดยขาดการป้องกัน ถุงยางอนามัยชำรุด ฉีกขาดหรือหลุดขณะมีเพศสัมพันธ์ในบางแห่งอาจเรียกการคุมกำเนิดฉุกเฉินนี้ว่า Postcoital contracep tion หรือ Morning after pill

ขบวนการปฏิสนธิเป็นอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว หลังมีเพศสัมพันธ์ ตัวอสุจิจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน ในการแหวกว่ายจากในช่องคลอดผ่านปากมดลูกที่ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เข้าไปในโพรงมดลูกและว่ายขึ้นไปยังส่วนบนของโพรงมดลูก ซึ่งลึกประมาณ 7 เซนติเมตร เพื่อเข้าไปในท่อนำไข่ จนไปพบฟองไข่ที่ตกจากรังไข่เพียงฟองเดียวและถูกดูดเข้ามาทางปลายของท่อนำไข่ มารอพบตัวอสุจิบริเวณกลางท่อนำไข่ ท่อนำไข่จะมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร จะมีตัวอสุจิตัวที่แข็งแรงที่สุดเพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่เข้าไปปฏิสนธิกับฟองไข่ได้สำเร็จ อสุจิที่เหลือจะตายหมดตามธรรมชาติและถูกย่อยสลายไป

สำหรับรังไข่ จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น แต่เมื่อมีการตกไข่ไปแล้ว รังไข่จะสร้างฮอร์โมนชนิดที่สอง คือ โปรเจสเตโรน (Progeste rone) เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหยุดหนาตัวชึ้น ชะลอเพิ่มความหนา แต่เพิ่มความแน่น เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกจึงแน่นขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของหลอดเลือดและต่อมต่างๆ เพื่อเตรียมความอุดมสมบูรณ์ของการฝังตัวของตัวอ่อนต่อไป

ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว จะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากขึ้นเรื่อยๆ จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 เพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เพิ่มขนาด จนโตเต็มที่ เรียกว่า Blastocyst ซึ่งจะมีเซลล์ประมาณ 107-256 เซลล์ ขณะที่มีการแบ่งเซลล์เพิ่มขึ้น ท่อนำไข่ก็จะมีการเคลื่อน ไหวและใช้ขนเล็กๆ (Cilia) ของเซลล์เยื่อบุผนังท่อนำไข่ โบกช่วยให้ไข่ที่ถูกปฏิสนธิกลิ้งกลับเข้าไปในโพรงมดลูกอีกครั้ง เพื่อให้ Blastocyst ไปเกาะในผนังโพรงมดลูกและฝังตัวให้สำเร็จ ถ้าฝังตัวสำเร็จก็เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ถ้าฝังตัวไม่สำเร็จ Blastocyst ก็จะสลายไปตามธรรมชาติ และหลุดออกจากโพรงมดลูกพร้อมประจำเดือน

ระยะเวลาตั้งแต่ตัวอสุจิและฟองไข่เกิดการปฏิสนธิ และแบ่งเซลล์กลิ้งกลับมาจนฝังตัวสำ เร็จ เกิดการตั้งครรภ์ใช้เวลาประมาณ 6 วัน ดังนั้น การคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ จึงต้องป้องกันให้สำเร็จภายใน 5 วัน นับจากการปฏิสนธิ ก่อนที่จะเกิดการฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์สำ เร็จในวันที่ 6 หลังการปฏิสนธิ การกระทำใดๆเพื่อไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์หลังจากเกิดการฝังตัวสำเร็จแล้ว ไม่สามารถทำได้เพราะจะถือว่าเป็นการทำแท้ง ซึ่งผิดกฏหมายและจริยธรรมทางการแพทย์

กลไกของการป้องกันการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?

กลไกป้องกันการตั้งครรภ์ จะโดยการเปลี่ยนหรือขัดขวางขั้นตอนต่างๆของการปฏิสนธิ เช่น

  • ยับยั้งหรือชะลอการตกไข่
  • ขัดขวางการเดินทางของอสุจิและของไข่เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิสนธิ
  • เปลี่ยนคุณภาพของเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อไม่ให้ไข่ฝังตัวสำเร็จ
  • ควบคุมรังไข่ไม่ให้สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ทำให้ขัดขวางการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูก

การคุมกำเนิดฉุกเฉินต่างจากการยุติการตั้งครรภ์ไหม?

การคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์วิธีหนึ่ง ใช้ก่อนที่จะเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ส่วนการยุติการตั้งครรภ์ เป็นวิธีการที่ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงหรือการทำแท้ง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การแท้งบุตร ในเว็บ haamor.com) ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ที่ไม่สมควรให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้

วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินมีอะไรบ้าง?

วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินมีหลายวิธี ได้แก่

  1. Yuzpe regimen โดยใช้ยาฮอร์โมนผสมระหว่าง ยาฮอร์โมน Ethinyl estradiol และ ยาฮอร์โมน Levonorgestrel คล้ายยาเม็ดคุมกำเนิดแต่ปริมาณตัวยาสูงกว่า
  2. ยาLevonorgestrel เพียงชนิดเดียว เป็นยาฮอร์โมนโปรเจสเตโรนที่มีขนาดสูง ชื่อทาง การค้าที่รู้จักกันดีคือ Postinor
  3. Mifepristone (RU-486) มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ไม่มีจำหน่ายในบ้านเราและในสหรัฐอเมริกา มีใช้ในบางประเทศเท่านั้น
  4. ห่วงทองแดงคุมกำเนิด (Copper intrauterine contraception หรือ Copper IUD) (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การใส่ห่วงคุมกำเนิด ในเว็บ haamor.com)

วิธีอื่นนอกเหนือจากนี้ ไม่มีใช้ในบ้านเรา เนื่องจากผลการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ บางวิธียังอยู่ในขั้นทดลองอยู่ สำหรับ 2 วิธีหลัง คือ Copper IUD และ RU-486 มีประ สิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีที่สุดเกือบ 100% ในบางรายงานไม่พบการตั้งครรภ์ในผู้ใช้ Copper IUD เลย (ได้ผล 100%) และสามารถใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัม พันธ์นานถึง 5 วัน (120 ชั่วโมง)

วิธีที่มีประสิทธิภาพรองลงมาคือยา Postinor และ Yuzpe regimen ตามลำดับ 2 วิธีหลังจะมีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ได้นานถึง 5 วัน เช่นกัน แต่พบว่าประ สิทธิภาพจะดีที่สุดในช่วง 72 ชั่วโมงแรก หรือ 3 วันแรกหลังมีเพศสัมพันธ์

Yuzpe regimen

ในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) Yuzpe ได้ทดลองใช้ฮอร์โมนในยาเม็ดคุมกำเนิดคือ 100 ไมโครกรัมของ Etinyl estradiol และ 0.5 มิลลิกรัมของ Levonorgestrel ทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง พบว่าสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ หลังจากมีเพศสัมพันธ์นาน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน ได้มีผู้ทำการศึกษาต่อมาพบว่า ยาสูตร (Regimen) นี้ได้ผลดี โดยเฉพาะถ้าทานยายิ่งเร็วยิ่งป้องกันได้ดีขึ้น และสามารถป้องกันได้นานถึง 120 ชั่วโมงหรือ 5 วัน โดยพบว่าโอกาสตั้งครรภ์หลังจากใช้ยาสูตรนี้ ในวันที่ 1, 2 และ 3 จะเท่ากับ 0.4%, 1.2% และ 2.7% ตามลำดับ

ปัจจุบัน Yuzpe regimen ไม่เป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกา เพราะมีวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพดี กว่า แต่สำหรับในเมืองไทย วิธีนี้ก็ยังใช้กันแพร่หลายอยู่ โดยแพทย์จะดัดแปลงขนาดของยาให้ใกล้เคียงกับ Yuzpe regimen โดยใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีวางจำหน่ายทั่วไป ชนิดที่มีปริมาณ Ethinyl estradiol สูง ซึ่งมักเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีราคาถูก มีปริมาณ Ethinyl estradiol ระหว่าง 30-50 ไมโครกรัม นำมาใช้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด (แพทย์บางท่านแนะนำให้ใช้ครั้งละ 3 เม็ด แต่จะคลื่นไส้มาก) รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ก็สามารถได้ผลในการป้อง กันการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับ Yuzpe regimen

Levonorgestrel (Postinor)

เป็นฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสเตโรนที่ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับ Yuzpe regimen คือช่วยชะลอการตกไข่ ทำให้มูกปากมดลูกข้นขึ้นจนตัวอสุจิผ่านยาก ช่วยให้กล้ามเนื้อท่อนำไข่เคลื่อนไหวช้าลง ทำให้ตัวอ่อนมาฝังตัวในโพรงมดลูกช้าลง และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกแห้ง ไม่เหมาะต่อการเกาะและฝังตัวของตัวอ่อน สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีกว่า Yuzpe regimen โดยมีโอ กาสตั้งครรภ์ประมาณ 2 % ในบ้านเรารู้จักยาคุมฉุกเฉินตัวนี้ในชื่อ Postinor ซึ่งจะมี Levonor gestrel ขนาด 0.75 มิลลิกรัม 2เม็ด รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง

สำหรับในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร จะใช้ Levonorgestrel ขนาด 1.5 มิลลิ กรัม รับประทาน 1 เม็ดครั้งเดียว ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่าได้ผลในการป้องกันการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับชนิดที่แบ่งเป็น 2 เม็ด แต่ผู้ใช้จะสะดวกกว่าเพราะรับประทานเพียงครั้งเดียว ในกรณีที่แบ่งเป็น 2 เม็ด สามารถรับประทานห่างกัน 24 ชั่วโมง โดยที่มีประสิทธิภาพดีเช่นเดิม แต่จะสะดวกกว่ามากในกรณีที่รับประทานเม็ดแรกในช่วงบ่าย

ห่วงทองแดงคุมกำเนิด (Copper IUD)

เป็นวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ถ้าใช้ภายใน 120 ชั่วโมง หรือ 5 วัน หลัง จากมีเพศสัมพันธ์ จะมีโอกาสตั้งครรภ์ไม่เกิน 0.2% บางรายงานพบว่าป้องกันได้ถึง 100% โดย Copper IUD จะไปกระตุ้นให้ท่อนำไข่มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น ทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนมาถึงโพรงมดลูกเร็วขึ้น ก่อนที่จะแบ่งตัวถึงระยะ Blastocyst นอกจากนี้ ห่วงคุมกำเนิดที่มีลวดทอง แดงพันรอบก้านห่วงอยู่ จะปล่อยประจุทองแดงไปเคลือบผิวของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีคุณ สมบัติไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การใส่ห่วงคุมกำเนิด ในเว็บ haamor.com)

ยาในกลุ่มต้านฮอร์โมนโปรเจสติน หรือ ฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Antiproges tins)

คือ ยา Mifepristone หรือ RU-486 มีคุณสมบัติในการต่อต้านฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ทำให้ชะลอการตกไข่และป้องกันการฝังตัว โดยเปลี่ยนคุณสมบัติของเยื่อบุโพรงมดลูกให้ไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน เนื่องจากขาดฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ทำให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงถึง 99-100% ยาตัวนี้ไม่มีจำหน่ายทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทย มีจำหน่ายเพียงบางประเทศเท่านั้น เช่น ประเทศฝรั่งเศส ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในบ้านเรา

ข้อดีของวิธีต่างๆมีอะไรบ้าง?

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยใช้ฮอร์โมน (Yuzpe regimen และ Postinor) สามารถหาได้ง่าย ยามีวางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ราคาถูก สามารถใช้ได้รวดเร็วด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพบแพทย์

สำหรับ Copper IUD สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีมากเกือบ 100% รวมทั้งป้องกันการตั้งครรภ์ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 5 ปี ถ้าไม่เอาห่วงออก

ข้อเสียของวิธีต่างๆมีอะไรบ้าง?

วิธีที่ใช้ฮอร์โมนอาจจะมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยา เช่น ปวดศีรษะ เลือดออกกระปริบกระปรอยทางช่องคลอด คัดตึงเต้านม โดยเฉพาะอาการคลื่นไส้อาเจียนพบได้บ่อยใน Yuzpe regimen ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมน Ethinyl estradiol สำหรับ Copper IUD นอกจากมีราคาแพงแล้วยังไม่สามารถใช้เองได้ ต้องไปให้แพทย์ใส่ให้ที่โรงพยาบาลหรือที่คลินิกเท่านั้น หลังใส่อาจมีอาการปวดท้องน้อย ส่วนใหญ่มักมีอาการเล็กน้อยในช่วงแรกๆ และจะหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษา

ต้องตรวจร่างกายก่อนคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือไม่?

ถึงแม้จะมีข้อห้ามหลายประการสำหรับการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด แต่สำหรับในภาวะฉุก เฉินเช่นนี้ สามารถใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน (Yuzpe regimen และ Postinor) ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจร่างกายหรือเจาะตรวจเลือดใดๆทั้งสิ้น เพราะความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์มีน้ำ หนักมากกว่าความเสี่ยงจากการรับประทานยาเพียงครั้งเดียว แม้แต่การตรวจทดสอบการตั้ง ครรภ์ก็ไม่จำเป็น เพราะฮอร์โมนที่ใช้ไม่ทำให้เกิดการแท้งหรือความพิการในทารก แต่ถ้าสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ เช่น ขาดประจำเดือน หรือมีอาการคล้ายการตั้งครรภ์ก็อาจตรวจทดสอบก่อนได้ ถ้าหากตั้งครรภ์อยู่จะได้ไม่ต้องรับประทานยา สำหรับในรายที่มีประวัติถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำ เป็นต้องตรวจร่างกาย บันทึกบาดแผลตามขั้นตอน เพื่อเป็นหลักฐานทางนิติเวชต่อไป

ในรายที่จะใส่ Copper IUD จำเป็นต้องพบแพทย์และตรวจยืนยันว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ เพราะห่วงคุมกำเนิดที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกอาจทำให้เกิดผลเสียต่อการตั้งครรภ์ เช่น เกิดการแท้งบุตรได้

มีข้อห้ามการคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือไม่?

สำหรับวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดฮอร์โมน สามารถใช้ได้แม้ว่าผู้ใช้จะมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการใช้ฮอร์โมน เช่น โรคหัวใจโรคลิ่มเลือดอุดตัน (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำโรคไมเกรน หรือโรคตับ เพราะการใช้ยาเพียงครั้งเดียว ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าความเสี่ยงที่จะปล่อยให้ตั้งครรภ์ ส่วนผู้ที่จะใส่ห่วงทองแดงคุมกำเนิด ควรได้รับการตรวจภาย ใน เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะการตั้งครรภ์ เนื้องอกมดลูก และการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเสีย ก่อน ถ้าตรวจพบภาวะเหล่านี้ก็ไม่สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดได้

หลังป้องกันแล้วจะร่วมเพศซ้ำได้หรือไม่?

สำหรับผู้ที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดสามารถร่วมเพศซ้ำได้ตามต้องการ ตราบเท่าที่ยังไม่ถอดห่วงคุมกำเนิดออก ส่วนผู้ที่ใช้วิธีป้องกันด้วยฮอร์โมน ถ้าร่วมเพศในระหว่างที่รับประทานยาอยู่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหลังจากรับประทานยาครบแล้วมาร่วมเพศใหม่ ก็จำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มอีก 1 ครั้ง โดยทั่วไปหลังใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแล้ว ควรคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดอื่นต่อเนื่องไป เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัยชาย ไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดที่ทำให้ประจำ เดือนไม่มา เช่น ยาฉีดคุมกำเนิดหรือยาคุมกำเนิดชนิดฝัง เพราะจะได้ทราบว่าหลังจากป้องกันแล้วเกิดการตั้งครรภ์หรือไม่

ผลข้างเคียงจากยาและจากวิธีอื่นมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ได้กล่าวไว้ในข้อเสียของวิธีต่างๆแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอะไร อาการจะหายไปได้เอง เนื่องจากเป็นการใช้ยาในระยะสั้นๆ

หลังใช้ยาหรือใช้วิธีอื่นแล้วถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอดควรทำอย่างไร? จะแยกจากตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

ถ้าใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ยังไม่ต้องรีบร้อน รอจนเลือดหยุดเองภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเลือดออกมากหรือไม่ยอมหยุดก็สามารถรักษาด้วยยาฮอร์โมน ง่ายที่สุด คือทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดแผงต่อเนื่องไปเลยจนหมดแผง ในกรณีที่ใส่ห่วงคุมกำ เนิดแล้วเลือดออกผิดปกติ ก็ควรให้แพทย์ช่วยถอดห่วงออก ถ้าเลือดออกหลังใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉินในสัปดาห์แรก ไม่น่าจะใช่สาเหตุจากการตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีเลือดออกหลังใช้การคุมกำ เนิดฉุกเฉินไปแล้ว 3-4 สัปดาห์ ร่วมกับอาการคล้ายการตั้งครรภ์ เช่น คัดตึงเต้านม คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ หรือปวดท้องน้อย ซึ่งไม่สามารถแยกได้ชัดเจนระหว่างประจำเดือนหรือการตั้งครรภ์ ก็ควรซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาตรวจปัสสาวะดู

ถ้ารับประทานยาแล้วคลื่นไส้อาเจียนยาออกมาจะทำอย่างไร?

อาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาฮอร์โมนพบได้บ่อยครั้ง ดังนั้น ก่อนรับประทานยาชนิดฮอร์ โมน จึงควรป้องกันด้วยการรับประทานยาแก้คลื่นไส้ เช่น Plasil ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด ล่วง หน้า 1 ชั่วโมง ก่อนรับประทานยาคุมฉุกเฉิน จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ลงมาก

แต่ถ้าไม่ได้รับประทานยากันคลื่นไส้ไว้ก่อน แล้วเกิดอาเจียนเอายาออกมา -ถ้าเป็น Postinor อาเจียนออกภายใน 2 ชั่วโมง ก็รับประทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน แล้วรับประ ทานยา Postinor แบบเดิมใหม่อีกครั้ง -ถ้าเป็น Yuzpe regimen อาเจียนยาออกมาภายใน 1 ชั่วโมง ก็ให้รับประทานยาแก้คลื่นไส้แล้วรับประทานยาซ้ำใหม่ หรือจะเปลี่ยนเป็น Postinor ซึ่งคลื่นไส้อาเจียนน้อยกว่าแทนก็ได้

ในกรณีที่รับประทานยาฮอร์โมนทั้ง 2 แบบ ไม่ได้จริงๆ และไม่สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดได้ มีบางรายงานแนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนเหน็บทางช่องคลอดแทน ก็สามารถป้องกันการตั้ง ครรภ์ได้เช่นกัน แต่ขนาดของยาที่ใช้ยังไม่แน่นอน ขอแนะนำให้ใช้วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้ายเท่านั้น

ประจำเดือนจะมาเมื่อไร?

โดยปกติประจำเดือนจะมาเร็วหรือช้ากว่ากำหนดเดิมประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าหลังจากใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแล้วประจำเดือนยังไม่มาภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือมีเลือดออกกระปริบกระปรอยทางช่องคลอด หรือมีอาการปวดท้องน้อย ควรตรวจทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้าพบว่าตั้งครรภ์ต้องรีบไปพบสูตินรีแพทย์ทันที เพื่อตรวจดูว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก) เพื่อวางแนวทางการดูแลรักษาต่อไป

หลังใช้ยาและวิธีต่างๆ จะใช้ซ้ำได้อีกเมื่อไร? ควรใช้ซ้ำหรือไม่?

หลังใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแล้ว ถ้ามีเพศสัมพันธ์ใหม่ก็สามารถใช้ยาซ้ำได้เรื่อยๆทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่โดยทั่วไป แนะนำให้คุมกำเนิดในระยะยาวควบคู่ต่อเนื่องกันไปเลย เช่น ทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดแผงในกรณีที่จะมีเพศสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ สำหรับกรณีที่ใช้การคุมกำ เนิดฉุกเฉินด้วยการใส่ห่วงทองแดงคุมกำเนิด ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม เพราะห่วงคุมกำเนิดชนิดนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในโพรงมดลูกจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานถึง 5 ปี

หลังใช้วิธีต่างๆ จะตั้งครรภ์ได้อีกเมื่อไร?

สำหรับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน หลังจากมีประจำเดือนมาครั้งแรกก็สามารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้เลย ส่วนห่วงทองแดงคุมกำเนิด ถ้าต้องการที่จะตั้งครรภ์ก็ไปให้แพทย์ถอดห่วงออก และสา มารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้ทันที

ถ้าเกิดตั้งครรภ์หลังใช้วิธีต่างๆไม่ได้ผล ทารกในครรภ์จะเป็นอย่างไร? มีอันตรายต่อทา รกในครรภ์ไหม?

สำหรับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน จะไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ ไม่ทำให้เกิดการแท้งบุตร หรือความผิดปกติใดๆต่อทารกในครรภ์ แต่ในกรณีของห่วงทองแดงคุมกำเนิด ถ้าเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อถอดห่วงคุมกำเนิดด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการแท้ง หรือตัวห่วงอาจไประคายเคืองหรือทิ่มแทงถุงน้ำคร่ำจนเกิดภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดได้ ในกรณีที่แพทย์ไม่สามารถถอดห่วงคุมกำเนิดได้สำเร็จ อาจเกิดจากปลายสายห่วงเลื่อนเข้าไปในโพรงมดลูกจนมองไม่เห็น ห่วงจะหลุดออกมาพร้อมทารกในขณะที่แท้งหรือคลอดถ้าการตั้งครรภ์สามารถดำเนินต่อไปตามปกติจนครรภ์ครบกำหนด

ถ้าอยากตั้งครรภ์หลังใช้วิธีการต่างๆ ควรทำอย่างไร? ต้องรออีกนานเท่าไร?

การคุมกำเนิดฉุกเฉินทุกวิธีเมื่อยุติการใช้ ประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติและสามารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติต่อไป แต่ถ้าปล่อยให้ตั้งครรภ์นาน 1 ปี แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ทั้งๆที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิด ก็ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการมีบุตรยากต่อไป

สรุปแนวทางปฏิบัติในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน

เมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะในช่วงใดของรอบเดือนแล้วไม่แน่ใจว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าภายใน 3 วันแรก ให้รับประทานยา Levonorgestrel (7.5 มิลลิกรัม) หรือยา Postinor 2 เม็ด ทันที หรือจะแบ่งเป็นครั้งละ 1 เม็ดห่างกัน 12-24 ชั่วโมงตามความสะดวกในการรับประทาน

ถ้าหา Postinor ไม่ได้ ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนสูง (ชนิดราคาถูก) 2 เม็ด 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

ถ้าล่วงเลยมาถึงวันที่ 4 หรือ 5 รีบไปพบสูติแพทย์ เพื่อปรึกษาขอใส่ห่วงทองแดงคุมกำ เนิด หลังจากนั้น ถ้าประจำเดือนไม่มาภายใน 3-4 สัปดาห์ รีบตรวจทดสอบการตั้งครรภ์ทันที
ที่มา   https://haamor.com/th/การคุมกำเนิดฉุกเฉิน/

อัพเดทล่าสุด