การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจอีอีจี (Electroencephalography; EEG)


1,446 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

สมอง  ระบบประสาทวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

บทนำ

หลายคนคงสงสัยว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือเรียกย่อวา อีอีจี (Electroencephalo graphy หรือ EEG) คืออะไร และทำไมต้องตรวจ ผมขออธิบายสั้นๆเพื่อความเข้าใจอย่างง่าย ปกติการวินิจฉัยโรคของแพทย์ จะต้องประกอบด้วยการสอบถามอาการโดยละเอียดจากผู้ป่วยและญาติ การตรวจร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และการตรวจเลือด

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นการตรวจพิเศษเฉพาะทางประสาทวิทยาชนิดหนึ่งที่สามารถบอกตำแหน่งและความผิดปกติในการทำงานของสมองได้

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นการบันทึกสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากผลรวมของกระแสไฟ ฟ้าของกลุ่มเซลล์ในสมอง ผลการตรวจจะปรากฏเป็นรูปกราฟในจอภาพ ทั้งนี้โดยปกติสมองคนมีเซลล์ประสาทชนิดหนึ่งที่เรียกว่า นิวรอน (Neuron) จำนวนมากมายเป็นพันล้านเซลล์ เซลล์เหล่า นี้สามารถติดต่อถึงกันได้ โดยการขนส่งอนุภาคไฟฟ้าผ่านเยื่อเซลล์ เมื่อเซลล์ประสาทส่วนหนึ่งได้รับการกระตุ้นโดยสารเคมีที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) จะปล่อยอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าให้เดินไปตาเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ใยประสาท (Nerve fiber) ที่เชื่อมระหว่างเซลล์ประ สาท โดยกระแสไฟฟ้าปริมาณน้อยๆที่เกิดขึ้นนี้ จะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทให้ปล่อยประจุไฟฟ้าต่อไปเป็นทอดๆ ซึ่งสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า คลื่นสมอง หรือ คลื่นไฟฟ้าสมอง (Brain wave)

คลื่นสมอง จะมีลักษณะเคลื่อนไหวขึ้นและลง เหมือนคลื่นทั่วไป โดยใช้หน่วยการวัดเป็นรอบต่อนาที เมื่ออยู่ในภาวะปกติ คลื่นไฟฟ้าสมองก็เป็นปกติ แต่เมื่อเกิดความผิดปกติของสมอง เช่น ภาวะชัก ภาวะสับสน ความผิดปกตินั้นก็สามารถตรวจได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง

ลองติดตามรายละเอียดดูนะครับว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น มีข้อบ่งชี้อะไรบ้าง ตรวจอย่างไร มีอันตรายอะไรหรือไม่ ราคาแพงไหม

เมื่อไหร่จำเป็นต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง?

แพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ ข้อบ่งชี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง มีดังนี้

  1. เพื่อการวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก รวมทั้งติดตามผลของการรักษา และอาจบอกชนิดของการชักได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคลมชักกว่า 40% มีผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่ปกติ เนื่อง จากพยาธิสภาพเกิดจากสมองส่วนลึก หรือกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น มีความแรงน้อยเกินกว่าที่เครื่องจะสามารถบันทึกได้ ดังนั้นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจึงไม่สามารถใช้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยโรคลมชักได้ทั้งหมด แต่มีประโยชน์อย่างมากในการสืบค้น เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคลมชัก และช่วยแยกชนิดของโรคลมชัก เพื่อช่วยในการเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และช่วยวาง แผนในการหยุดยากันชักในผู้ป่วยโรคลมชัก
  2. ช่วยวินิจฉัยแยกโรคระหว่าง โรคลมชักกับการแกล้งชัก หรืออาการชักปลอม (Non-epileptic seizures) ผู้ป่วยโรคลมชักที่หมดสติไปจะพบคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติเสมอ เช่น ช้าหรือลดลง หรือมีคลื่นที่มีลักษณะเร็วและแหลมสูง เรียกว่า Spike หรือ Sharp wave แต่ทั่วๆไป หากผู้ป่วยแกล้งชัก จะตรวจไม่พบคลื่นไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการชักทั้งตัวหรือผู้ป่วยหมดสติไปหลังการชักก็ตา
  3. ช่วยในการวินิจฉัยโรคทางสมองและบอกตำแหน่งของพยาธิสภาพในสมอง เช่น เนื้องอกสมอง ฝีในสมอง โรคติดเชื้อของระบบประสาท ได้แก่ สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เลือดออกในสมอง โรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิดที่เกิดจากการขาดเลือด (Cerebral infarction) หรือชนิดที่เกิดจากหลอดเลือดแตก (Intracerebral hemorrhage) ถ้ามีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้กับผิวสมอง ทำให้เกิดคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติได้
  4. บอกระดับการตื่นของสมอง ในผู้ป่วยที่มีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วยวินิจฉัยผู้ ป่วยที่ซึมลง สับสน หรือหมดสติ (โคม่า) และสงสัยว่าผู้ป่วยนั้นมีอาการชักที่ไม่มีการเกร็งกระ ตุก (Non-convulsive seizure)
  5. ช่วยแพทย์วินิจฉัยภาวะสมองตาย (Brain death) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยร่วม กับลักษณะทางคลินิกอย่างอื่น
  6. เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าของการนอนหลับ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคที่เกี่ยว ข้องกับการหลับ เช่นโรคง่วงหลับ (Narcolepsy)
  7. ช่วยแยกผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชว่า มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของจิตใจ หรือเกิดจากพยาธิสภาพในสมองหรือโรคลมชัก เนื่องจากบางครั้งผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของสมองหรือโรคลมชัก อาจแสดงอาการหรือพฤติกรรมคล้ายกับผู้ป่วยทางจิตเวชได้ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับบาด เจ็บที่ศีรษะ หรือมีเนื้องอกของสมอง อาจแสดงอาการประสาทหลอนหรืออาการหลงผิด หรือผู้ ป่วยโรคลมชักในขณะชัก อาจมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวแปลกๆ อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ซึ่งอา การดังกล่าว คล้ายอาการทางจิตเวชมาก ทำให้การสอบถามประวัติและการตรวจร่างกายไม่สามารถแยกสาเหตุได้ชัดเจน การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองสามารถแยกสาเหตุดังกล่าวได้ กล่าวคือ ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของสมองหรือมีโรคลมชัก มักตรวจพบคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติ เช่น ตรวจพบคลื่นช้า (Slow wave) ในส่วนของสมองที่มีเนื้องอก หรือตรวจพบคลื่นชักในกรณีผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก เป็นต้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวช ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของจิตใจ มักจะพบคลื่นไฟฟ้าสมองปกติ

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำอีกครั้งว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแล้วไม่พบความผิดปกติ ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยไม่เป็นโรคลมชัก

น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังคืออะไร?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง จะทำโดยใช้ขั้วไฟฟ้าวางบนหนังศีรษะ (Scalp electrodes) ซึ่งมีขั้นตอนการตรวจดังนี้

  1. ให้ผู้ป่วยนอนราบบนเตียง
  2. เจ้าหน้าที่ทำการวัดศีรษะ เพื่อหาตำแหน่งสำหรับวางขั้วไฟฟ้าบนหนังศีรษะในตำ แหน่งต่างๆกัน ซึ่งตำแหน่งที่วางเป็นไปตามมาตรฐานสากล
  3. เจ้าหน้าที่เตรียมและทำความสะอาดหนังศีรษะบริเวณที่จะวางขั้วไฟฟ้าด้วยน้ำยาสำ หรับทำความสะอาดผิวหนังโดยเฉพาะ
  4. วางขั้วไฟฟ้าบนหนังศีรษะในแต่ละตำแหน่งจนครบตามวิธีมาตรฐานสากล โดยใช้ครีมทาหนังศีรษะ (ชนิดที่สามารถนำคลื่นไฟฟ้าสมองได้) ในตำแหน่งที่วางขั้วไฟฟ้า และตรวจ สอบแรงต้านทานไฟฟ้าของขั้วไฟฟ้าในแต่ละตำแหน่ง โดยแรงต้านทานไฟฟ้าต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  5. หลังจากนั้น เปิดเครื่องตรวจ ทำการบันทึกภาพคลื่นไฟฟ้าสมองบนกระดาษกราฟ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการบันทึกภาพคลื่นไฟฟ้าสมอง โดยใช้เวลาการตรวจประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง

ระหว่างการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง มีการทำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง?

วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง แบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ดังนี้

  1. การบันทึก (การตรวจ) ขณะผู้ป่วยตื่น ระหว่างบันทึก ผู้ป่วยควรนอนนิ่งๆ ไม่ควรพูดคุย เพราะจะทำให้เกิดศักย์ไฟฟ้ารบกวนคลื่นไฟฟ้าสมองได้ ในระหว่างการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น จะมีขั้นตอนที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อนำมาใช้ประ กอบในการแปลคลื่นไฟฟ้าสมอง ได้แก่
        การลืม
    ตา
        และการหลับ
    ตา
         (Eye close and eye open) เจ้าหน้าที่จะบอกให้ผู้ป่วยลืม
    ตา
        และหลับ
    ตา
      เป็นช่วงๆ ตลอดระยะเวลาการบันทึก
  2. การหายใจแรงลึก (Hyperventilation) ให้ผู้ป่วยหายใจแรงลึกและรวดเร็ว ติดต่อกันเป็นเวลา 3 นาที การหายใจแรงลึกและรวดเร็วที่ถูกต้อง จะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง ซึ่งจะก่อให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง เกิดภาวะสมองขาดเลือดและขาดออกซิเจน ซึ่งกรณีที่สมองมีความผิดปกติจะก่อให้เกิดคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติตามมา หรืออาจจะก่อให้เกิดอาการชักตามมาได้ นอกจากนี้ ในขณะที่ทำการหายใจแรงลึก ยังอาจมีอาการที่เป็นผลข้างเคียง เช่น มึนงง (วิงเวียน) ชั่วขณะ หรืออาจมีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งจะหายเองภายใน 2-3 นาที

    อนึ่ง ในการตรวจ ทุกๆคนไม่จำเป็นต้องตรวจช่วงหายใจแรงลึกทุกคน เพราะบางกรณี/บางคน ก็มีข้อห้ามหรือไม่จำเป็นต้องทำ เพราะจะทำให้อาการของโรคต่างๆที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือมีอาการจากผลข้างเคียงดังกล่าวแล้วที่รุนแรง ซึ่งข้อห้ามในการตรวจช่วงหายใจแรงลึก มีดัง นี้

    1. ถ้า EEG มีความผิดปกติมากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติมากขึ้น
    2. มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะเป็นรุนแรงขึ้น (Rebound phenomenon)
    3. มีประวัติของอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดขึ้นภาย ใน 2 สัปดาห์ก่อนตรวจ
    4. ภายหลังการผ่าตัดสมอง (Craniectomy)
    5. ปวดศีรษะไมเกรนที่มีภาวะแทรกซ้อน (Complicated migraine) เช่น มีอาการอ่อนแรงของแขนข้างใดข้างหนึ่ง หรือการเคลื่อนไหวลูกตาผิดปกติ (Opthalmoplegic migraine)
    6. ความดันโลหิตสูงรุนแรง หรือ Hypertensive encephalopathy
    7. มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) ใน 4 สัปดาห์ ก่อนการตรวจ
    8. มีภาวะหัวใจวาย
    9. มีภาวการณ์เต้นของหัวใจช้าผิดปกติ (Heart block)
    10. โรคปอด
    11. อายุมากกว่า 60 ปี
  3. การกระตุ้นด้วยแสงไฟ (Photic stimulations) การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น จะมีการกระตุ้นด้วยแสงไฟที่เปิดและปิดเป็นจังหวะด้วยความถี่ที่แตกต่างกัน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมอง ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคลมชักได้
  • การบันทึกขณะที่ผู้ป่วยหลับ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองระหว่างที่ผู้ป่วยนอนหลับสามารถช่วยวินิจฉัยโรคลมชักได้ โดยเฉพาะโรคลมชักที่เกิดเฉพาะในเวลาหลับ หรือกรณีที่อา การชักบางอย่างที่เกิดมีอาการตอนตื่น แต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งของการเกิดคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติได้ หรือในกรณีที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคลมชัก แต่ตรวจไม่พบความผิดปกติในขณะตื่น ทั้งนี้เนื่องจากในบางกรณี คลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติจะแสดงออกเฉพาะในช่วงที่หลับเท่านั้น หรือในกรณีที่พบความผิดปกติในช่วงตื่นนั้น แต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งของความผิดปกติได้ ต่อเมื่อทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในช่วงหลับ ตำแหน่งของความผิดปกติจะชัดเจนขึ้น

ก่อนตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

การเตรียมตัวสำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้นไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องอดน้ำ อดอาหาร ไม่มีการใช้ยาแก้ปวด หรือการฉีดยาร่วมด้วย เป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล โดยมีการเตรียมตัว ดังนี้

  • ผู้ป่วยควรรับประทานยากันชักตามปกติ ห้ามหยุดยากันชัก ก่อนมาตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ยกเว้นเป็นการแนะนำจากแพทย์ผู้ให้การตรวจ
  • เช้าวันนัดตรวจ ต้องสระผมด้วยแชมพูและล้างผมให้สะอาด ห้ามใช้ครีมนวดผม ควรปล่อยให้ผมแห้งก่อนมาถึงห้องตรวจ ไม่ควรใส่น้ำมันแต่งผม เจลแต่งผม หรือฉีดสเปรย์ เนื่อง จากการตรวจต้องมีการวางขั้วไฟฟ้าบนหนังศีรษะผู้ป่วยในตำแหน่งต่างๆ หากหนังศีรษะสกปรกหรือมันมาก จะทำให้แรงต้านทานไฟฟ้าระหว่างขั้วไฟฟ้าบนหนังศีรษะกับหนังศีรษะมีแรงต้าน ทานสูง ซึ่งจะมีผลต่อการบันทึกภาพคลื่นไฟฟ้าสมองได้
  • ผู้ป่วยควรอดนอนหรือนอนให้ดึกที่สุดในวันก่อนมาตรวจ โดยให้นอนประมาณ 4 ชั่ว โมง เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องหลับระหว่างการตรวจ เพื่อหาชนิดของความผิดปกติของคลื่นไฟ ฟ้าสมอง เช่น โรคลมชักที่เกิดเฉพาะในเวลาหลับ หรือในกรณีที่มีอาการชักเกิดขึ้นตอนตื่น หรือในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชักแต่ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไม่พบความผิดปกติในขณะตื่น ดังนั้นระหว่างเดินทางไม่ควรงีบหลับ ขณะตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจะให้ผู้ป่วยหลับเองโดยธรรม ชาติ การให้ยานอนหลับจะให้เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
  • รับประทานอาหารได้ตามปกติก่อนตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ไม่ควรงดอาหารเนื่องจาก อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติจากภาวะน้ำตาลต่ำกว่าปกติ

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองใช้เวลานานเท่าไหร่?

ระยะเวลาการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง

การตรวจมีความเสี่ยงหรือไม่?

โดยปกติแล้วการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเป็นวิธีการตรวจที่ทำได้ง่ายและสะดวก ไม่มีความเสี่ยงหรืออันตรายใดๆ ไม่มีความเจ็บปวด แต่ในระหว่างการบันทึกจะมีขั้นตอนที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมองดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ขั้นตอนการตรวจที่ทำเพิ่มเติม เช่น การหายใจแรงลึก การกระตุ้นด้วยแสงไฟกระพริบ ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอา การชักได้ และขณะที่ผู้ป่วยหายใจแรงลึก อาจจะมีอาการชาที่ปลายมือและ/หรือที่ปลายเท้า อาจจะมีเสียงดังในหูหรือมีตาพร่าได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปและกลับสู่ภาวะปกติ ภายใน 2-3 นาที

ดูแลตนเองหลังการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองอย่างไร?

หลังการตรวจ แนะนำผู้ป่วยให้ใช้น้ำอุ่นในการสระผม (แชมพู ใช้ได้ตามปกติ) เนื่องจากครีมที่ใช้ติดขั้วไฟฟ้ามีความเหนียว แต่ไม่ต้องมีการดูแลอะไรเป็นพิเศษ รวมทั้งในเรื่องต่างๆ เช่น อาหาร น้ำดื่ม และการออกกำลังกาย

จำเป็นต้องมาพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

หลังการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง แพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยมาฟังผลการตรวจ หากผู้ป่วยมีอา การชักถี่มากขึ้น ก็สามารถมาพบแพทย์ก่อนนัดได้ แต่ทั้งนี้ อาการไม่ได้เกิดจากการตรวจ แต่เป็นอาการของโรคที่อาจเกิดจากการควบคุมโรคยังไม่ดีพอ

ค่าตรวจแพงหรือไม่?

ราคาค่าตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่โรงพยาบาลของรัฐบาลประมาณ 1,800–2,500 บาท ซึ่งอยู่ในสิทธิ์การรักษาทั้งสามกองทุนครับ คือท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย ส่วนโรงพยาบาลเอก ชน ราคาค่าตรวจจะสูงกว่านี้

สรุป

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นการตรวจที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีอันตราย ตรวจได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ไม่มีการฉีดยา หรือกินยาแก้ปวด และไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล

เมื่อท่านทราบรายละเอียดดีแล้ว ผมหวังว่าท่านคงตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองด้วยความสบายใจ โชคดีครับ
ที่มา   https://haamor.com/th/การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง/

อัพเดทล่าสุด