การล้างไต การบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy)


1,312 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ไต  ระบบโรคไต 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

โรคไตเรื้อรัง 

บทนำ

โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease/CKD) เป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขโรคหนึ่ง ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา โรคไตเรื้อรัง แบ่งเป็น 5 ระยะตามระดับอัตราการกรองของไต หรือ อัตราการทำงานของไต (Estimated Glomerular filtration rate/eGFR))

  • ระยะที่ 1ไตมีพยาธิสภาพโดยที่ยังมีค่า eGFR มากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซีซี/ลูกบาศก์เซนติ เมตร (CC/Cubic centrimetre) ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร
  • ระยะที่ 2, 3, 4 เป็นระยะที่ไตมีพยาธิสภาพ โดยมีค่า eGFR น้อยกว่า 90, 60, 30 ซีซี ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73ตารางเมตร ตามลำดับ
  • และโรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 หรือโรคไตระยะสุดท้าย (End stage kidney disease) มีค่า eGFR น้อยกว่า 15 ซีซีต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร เป็นระยะที่จำเป็นต้องรักษาโดยการทดแทนไต (Renal replacement therapy หรือ Chronic renal replacement thera py/CRRT) ด้วยการล้างไต (Kidney dialysis หรือ Renal dialysis) หรือ การเปลี่ยนไต(การผ่า ตัดปลูกถ่ายไต/Kidney transplantation)

โดยโรคไตเรื้อรังระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการ ต่อมาเมื่อผู้ป่วยมีการเสื่อมของไตมากขึ้นโดยเฉพาะโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 หรือระยะที่ 5 จะมีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ได้แก่ โลหิตจาง/ซีด ภาวะความดันโลหิตสูง มีความผิดปกติของสมดุลน้ำและเกลือแร่ มีการคั่งของของเสีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวม มีภาวะน้ำท่วมปอด ปัสสาวะออกน้อยลง มีอาการอ่อนเพลีย หอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร ในบางรายอาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น อาการซึม หรืออาการชัก รวมทั้งผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงขึ้น

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อนจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งพบว่า เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

ในประเทศที่พัฒนาแล้วรวมทั้งเริ่มมีแนวโน้มในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยเช่นกัน สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการคัดกรองและประมาณเบื้องต้นในผู้ป่วยโรคไต (SEEK project:Screening and Early Evaluation of Kidney Disease Project) ในช่วงปีพ.ศ. 2551 และได้รายงานความชุกของโรคไตเรื้อรังทุกระยะดังนี้ (ตารางที่1)

ตารางที่ 1 ความชุกของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทย

เพศ ความชุกของโรคไตเรื้อรัง แบ่งตามระยะของโรค (%) รวม
ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 ระยะที่ 4 เป็นต้นไป
ชาย 2.6 5.9 6.9 0.9 16.3
หญิง 3.8 5.5 8.1 1.3 18.7
รวม 3.3 5.7 7.6 1.1 317.6
  8.9 8.6  

จากข้อมูลทางสถิติข้างต้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าปัจจุบันมีประชากรไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะที่ 3 เป็นต้นไป ประมาณ 5.5 ล้านคน โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายเกิดจาก โรคเบา หวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ และโรคนิ่วในไต

หลักสำคัญของการรักษาโรคไตเรื้อรังในระยะเบื้องต้นคือ การรักษาที่สาเหตุของโรคและให้การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต การรักษาจึงประกอบด้วยยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการบริโภคเกลือโซเดียมและโปรตีน การใช้ยาให้ถูกต้องและการออกกำลังกาย

เมื่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสื่อมของไตเข้าช่วงท้ายของโรคไตระยะที่ 4 หรือระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะที่เริ่มมีอาการแทรกซ้อนต่างๆดังที่กล่าวไปแล้ว แพทย์และพยาบาลจะให้คำแนะนำ และเตรียมความพร้อมสำหรับการบำบัดทดแทนไตเพื่อรักษาอาการแทรกซ้อนต่างๆ และเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การบำบัดทดแทนไตคืออะไร? มีกี่วิธี?

การบำบัดทดแทนไต เป็นกระบวนการการรักษาเพื่อทดแทนไตที่ไม่สามารถทำงานได้เองอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยให้มีการขจัดของเสียที่คั่งอยู่ในร่างกาย ขจัดน้ำส่วนเกินจากร่างกาย รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ต่างๆ และรักษาภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่เกิดจากภาวะไตวายเรื้อรัง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร

การบำบัดทดแทนไตมี 3 วิธี คือ

  1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
  2. การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis)
  3. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation)

คณะอนุกรรมการลงทะเบียนรักษาทดแทนไตของสมาคมโรคไต ได้รายงานข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทย ดังตารางที่ 2 และ 3

ตารางที่ 2 จำนวนผู้ป่วยรวมทั้งหมดที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในปี พ.ศ. 2551-2553

  ปี 2551 ปี 2552 ปี 2553
  จำนวนผู้ป่วยรวม จำนวนผู้ป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน จำนวนผู้ป่วยรวม จำนวนผู้ป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน จำนวนผู้ป่วยรวม จำนวนผู้ป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน
การฟอกเลือดด้วยไตเทียม 26,438 417.1 27,056 425.9 30,835 9482.6
การล้างไตทางช่องท้อง 2,760 43.5 5,133 80.8 6,829 106.9
การผ่าตัดปลูกถ่ายไต 2,298 36.3 2,923 46 3,181 49.8
รวม 31,496 496.9 35,112 552.8 40,845 639.3

ตารางที่ 3 จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในแต่ละปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2553

  ปี 2551 ปี 2552 ปี 2553
  จำนวนผู้ป่วยรวม จำนวนผู้ป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน จำนวนผู้ป่วยรวม จำนวนผู้ป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน จำนวนผู้ป่วยรวม จำนวนผู้ป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน
การฟอกเลือดด้วยไตเทียม 4,688 73.96 3,991 62.83 6,244 97.73
การล้างไตทางช่องท้อง 1,330 20.98 3,532 55.6 4,979 77.93
การผ่าตัดปลูกถ่ายไต 342 5.39 308 4.84 354 5.54
รวม 6,360 100.34 7,825 123.28 11,577 181.2

จากตารางที่ 2 และ 3 พบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังทั้งหมดที่เข้ารับการรักษาและมีชีวิตรอดทั่วประเทศไทยจนถึงวันสิ้นปี พ.ศ. 2553 พบว่ามีจำนวนผู้เข้ารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมากถึง 30,835 คน มีผู้ป่วยฟอกล้างช่องท้องถาวรจำนวน 6,829 คน และมีผู้ที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจำนวน 3,181 คน รวมทั้งสิ้นคิดเป็นสัดส่วนผู้รับการรักษาทั้งสามวิธีเท่ากับ 639.3 รายต่อประชากร 1 ล้านคน และหากดูจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาใหม่ในปี พ.ศ. 2553 ทั้งหมดพบว่ามีจำนวนทั้งสิ้นมากถึง 11,577 รายต่อปีคิดเป็น 181.20 รายต่อประชากร 1 ล้านคน และถึงแม้ว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 300 รายต่อปี แต่พบว่ามีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องปีละมากกว่า 4,000 ราย และมีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยไตเทียมปีละมากกว่า 6,000 ราย ทำให้มีผู้ป่วยรอรับบริจาคไตอีกเป็นจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตระหว่างการรอรับอวัยวะบริจาคไตอีกจำนวนไม่น้อย ดังนั้น ระหว่างรอรับบริจาคไต ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ควรได้รับการดูแลบำบัดทด แทนไตอย่างเหมาะสม เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตที่ยืนยาว ไม่เป็นภาระกับครอบครัวและคนรอบข้าง นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในแต่ละรายอย่างน้อยประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งทำให้รัฐบาลรวมทั้งญาติต้องรับภาระทั้งค่าใช้ จ่ายและการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก

การบำบัดทดแทนไตทั้ง 3 วิธี แตกต่างกันอย่างไร ?

  • การปลูกถ่ายไต หรือ การเปลี่ยนไต

    การผ่าตัดทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย

    การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงอื่นๆไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิต และจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป/ตลอดชีวิตเช่นกัน หากขาดยากดภูมิต้านทาน ร่างกายจะต่อต้านไตที่ได้รับใหม่ ทำให้ไตใหม่นั้นเสีย และยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

    ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตถือเป็นการรักษาภาวะไตวายขั้นสุดท้ายที่ดีที่สุด แต่การรักษาวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และมีมากกว่าวิธีอื่น แต่ถ้าผลที่ได้รับดีกว่า ผู้ป่วยจะมีชีวิตใกล้เคียงคนปกติมากกว่าวิธีอื่น ผลการรักษาจะดีถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีโรคของระบบอื่นนอกเหนือจากโรคไต ไม่มีภาวะติดเชื้อ และอายุไม่มาก เป็นต้น ในการปลูกถ่ายไตแพทย์จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ ว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยด้วย มิฉะนั้นผลการรักษาจะไม่ดี และในบางครั้งอาจเสียชีวิตได้

    ผู้ป่วยโรคไตที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกถ่ายไต หรือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอรับการบริจาค ผู้ป่วยต้องบำบัดทดแทนไตไปตลอดชีวิต ซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการล้างไตทางช่องท้อง ทั้งสองวิธีไม่ทำให้หายจากโรคไตวาย แต่เป็นการทำงานแทนไตที่เสียไป คือ ล้างเอาน้ำและของเสียออกจากร่างกาย รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ต่างๆ ซึ่งเมื่อหยุดล้างไต น้ำและของเสียในเลือดก็จะสะสมขึ้นมาอีก ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการบวมอ่อนเพลีย หอบเหนื่อย มีภาวะน้ำท่วมปอด คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร ซึม สับสน หรืออาการชัก เป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จึงต้องล้างไตอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้มีชีวิตอยู่ได้เช่นคนทั่วไป

    คือ การนำไตของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย มิใช่การเปลี่ยนเอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นใส่เข้าไปแทนที่ในตำ แหน่งไตเดิม
  • การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า "การฟอกเลือด" เป็นการนำเลือดจากหลอดเลือด (ต้องมีการเตรียมหลอดเลือดไว้ล่วงหน้า) ออกจากร่างกาย ผ่านเข้ามาในตัวกรองของเสียที่เครื่องไตเทียม เพื่อดึงน้ำและของเสียออกจากร่างกาย เลือดที่ถูกกรองแล้วจะไหลกลับเข้าร่างกายทางหลอดเลือดอีกหลอดหนึ่ง วิธีการนำเลือดเข้า - ออกทางหลอดเลือดนี้คล้ายกับการให้เลือดหรือน้ำเกลือทางหลอดเลือด (มิใช่การผ่าตัดเอาเลือดออกมาล้าง) โดยทั่วไปทำครั้งละ 4-5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เนื่องจากการฟอกเลือดต้องทำที่ศูนย์ไตเทียมหรือโรงพยาบาล โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม ในปัจจุบันมีการฟอกเลือดที่บ้าน (Home hemodialysis) แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากเป็นภาระและใช้การลงทุนที่ค่อนข้างสูง
  • การล้างไตทางช่องท้อง วิธีนี้อาศัยเยื่อบุช่องท้องช่วยกรองของเสียออกจากร่างกาย โดยการใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องทางสายพลาสติกที่แพทย์ได้ทำผ่าตัดฝังไว้ในช่องท้อง ทิ้งน้ำ ยาไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้องแล้วทิ้งไป น้ำและของเสียในเลือดที่ซึมออกมาอยู่ในน้ำยาจะถูกกำจัดจากร่างกาย ผู้ป่วยและญาติสามารถเปลี่ยนน้ำ ยาได้เองที่บ้าน โดยทั่วไปจะทำการเปลี่ยนน้ำยาวันละ 4 ครั้ง ต้องทำต่อเนื่องทุกวัน ผู้ป่วยและญาติสามารถปรับเปลี่ยนการเปลี่ยนถุงน้ำยาให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยได้ โดยขณะที่มีน้ำยาในช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถทำงานและมีกิจกรรมได้ตามปกติ

ผู้ป่วยรายใดที่ควรเตรียมตัวเพื่อการบำบัดทดแทนไต? เมื่อไรควรเริ่มล้างไต?

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรได้รับคำแนะนำให้เตรียมตัวเพื่อการบำบัดทดแทนไต เมื่อเริ่มเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 (eGFR น้อยกว่า 30 ซีซี/นาที/ต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร) โดยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 ขึ้นไปและญาติ ควรได้รับความรู้เรื่องโรคไตเรื้อรังและการรักษาโดยการล้างไต การปลูกถ่ายไต และการรักษาแบบประคับประคอง รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่พึงได้จากรัฐบาล หรือหน่วยงานอื่นๆ

ควรพิจารณาเริ่มทำการล้างไต เมื่ออัตราการกรองของไต (eGFR) น้อยกว่า 10 ซีซี/นาที /พื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร หรืออาจพิจารณาเมื่ออัตราการกรองของไต (eGFR) 10-15 ซีซี/นาทีต่อ 1.73 ตารางเมตรและมีข้อบ่งชี้ทางคลินิก เช่น

ไม่ควรรอจนอัตราการกรองของไต (eGFR) น้อยกว่า 5 ซีซี/นาที/พื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร จึงเริ่มการรักษาบำบัดทางไตเนื่องจากการเริ่มล้างไตเมื่อผู้ป่วยมีอาการมากจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าการเริ่มล้างไตในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยกว่า

ควรล้างไตด้วยวิธีไหน?

การล้างไตในปัจจุบันมี 2 วิธีดังที่กล่าวไปแล้ว คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีล้างไต คือ

  • โรคประจำตัวของผู้ป่วย
  • มีข้อห้ามในการล้างไตในแต่ละวิธีหรือไม่
  • สิทธิการรักษา
  • ภาวะทางการเงินและสังคมของผู้ป่วย เป็นต้น

ถ้าผู้ป่วยไม่มีปัญหาโรคประจำตัวอื่นๆนอกจากโรคไตเรื้อรัง ไม่มีข้อห้ามของการล้างไตทั้ง 2 วิธี ไม่มีปัญหาด้านสภาวะการเงินและสังคม หรือมีสิทธิการรักษาที่สามารถรักษาได้ทั้ง 2 วิธี ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเลือกวิธีการล้างไตได้ทั้ง 2 วิธี

  • การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มี

    ข้อดี คือ ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องทำเอง และการฟอกเลือดแต่ละครั้งใช้เวลาไม่มาก นอกจาก นี้การฟอกเลือดสามารถแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการที่ของเสียคั่ง ภาวะเกลือแร่ผิดปกติ หรือภาวะน้ำท่วมปอดได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมาด้วยภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

    ข้อเสีย คือ ต้องมาโรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียมบ่อย อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีที่อยู่ห่างไกลหรือไม่สะดวกที่จะมาศูนย์ไตเทียม และ ไม่ได้มีการขจัดของเสียอยู่ตลอดเวลาอย่างการรักษาทางช่องท้อง ส่วนในผู้สูงอายุ หรือในโรคเบาหวาน ที่มีปัญหาเรื่องของหลอดเลือด ไม่สามารถทำหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดได้ ก็ไม่เหมาะสมกับการฟอกเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ และหลอดเลือดที่รุนแรง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมอาจจะทำให้สัญญาณชีพ (ชีพจร อัตราการหายใจ อุณหภูมิร่างกาย และความดันโลหิต) ไม่คงที่ (Hemodynamic instability) และ มีความดันโลหิตต่ำขณะฟอกเลือดได้

  • การล้างไตทางช่องท้อง มี

    ข้อดี คือ มีการขจัดของเสียตลอดเวลา เนื่องจากผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องทุกวัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพที่รุนแรงและรวดเร็วเหมือนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรง และช่วยชะลอการสูญเสียการทำงานของไตที่เหลืออยู่ (Residual renal function) ได้ดีกว่า ผู้ป่วยและญาติสามารถทำเองได้ที่บ้าน และไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติ และในกรณีเกิดภัยพิบัติ การล้างไตทางช่องท้องก็จะมีความคล่องตัวมากกว่า

    ข้อเสีย คือ หากไม่ระมัดระวังความสะอาดให้ดีโดยเฉพาะในการเปลี่ยนถุงน้ำยาจะเกิดการติดเชื้อที่บริเวณที่ใส่สายหรือติดเชื้อในช่องท้องได้ (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับผู้ป่วยตัวใหญ่ ผู้ป่วยที่ไม่เหลือการทำงานของไตเดิมเลย และข้อจำกัดอีกหลายประการของการล้างไตทางช่องท้องคือ ผู้ป่วยที่เคยมีการผ่าตัดแล้วเกิดพังผืดในหน้าท้อง/ช่องท้องอย่างมาก ผู้ที่เคยมีประวัติการผ่าตัดลำไส้ทะลุ ผู้ป่วยที่กำลังมีภาวะติดเชื้อในช่องท้องก่อนที่จะใส่สายล้างไตที่ท้อง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของผนังหน้าท้องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จะไม่สามารถล้างไตทางช่องท้องได้

นอกจากนี้สิทธิการรักษายังมีผลต่อการตัดสินใจในการล้างไต โดยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรก และเบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวน ถ้าผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ไม่ได้มีข้อห้ามในการล้างไตทางช่องท้องและต้องการฟอกเลือดต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดเองทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยสิทธิประ กันสังคมและผู้ป่วยสิทธิเบิกกรมบัญชีกลางสามารถเลือกได้ทั้งการฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้อง โดยเบิกค่าใช้จ่ายในการล้างไตได้ตามสิทธิ

แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรจะวางแผนการล้างไตโดยปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการดูแลที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

มีค่าใช้จ่ายของการบำบัดทดแทนไตอย่างไร?

ค่าใช้จ่ายของการบำบัดทดแทนไต ขึ้นกับประเภทของการบำบัดทดแทนไต และสิทธิการรักษาของผู้ป่วย โดยได้สรุปสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาโดยการบำบัดทดแทนไตดังนี้

  การผ่าตัดปลูกถ่ายไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง
ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ใช้สิทธิกับรพ.ที่เข้าร่วม)
  • ก่อนผ่าตัด เหมาจ่ายกับรพ. ที่เข้าร่วม
  • ช่วงผ่าตัด เหมาจ่ายกับรพ.ที่เข้าร่วม
  • หลังผ่าตัด ได้ไม่เกินเดือนละ ปีที่ 1 เดือน 1-6 30,000 บาท เดือน 7-12 25,000 บาท ปีที่ 2 20,000 บาท ปีที่ 3 15,000 บาท
  • ก่อน 1 ต.ค. 51 ถือเป็นผู้ป่วยฟอกเลือดรายเก่าได้ ค่าฟอกเลือด1,500 บาทต่อครั้ง (ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมจ่าย) ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เริ่มตั้งแต่ 1 ตค.2555
  • หลัง 1 ต.ค. 51 ให้สิทธิ์เฉพาะการล้างไตทางช่องท้องเท่านั้น (ยกเว้นผู้ป่วยที่มีข้อห้ามของ การล้างไตทางช่องท้อง)
ผู้ป่วยรายใหม่ทำการล้างไตทางช่องท้องทุกราย ได้ค่าล้างไตทางช่องท้องไม่ เกิน 15,000 บาทต่อเดือน
สำนักงานประกัน สังคม (ใช้สิทธิกับรพ.ที่เข้าร่วม)
  • ก่อนผ่าตัด ได้ไม่เกิน 30,000 บาท
  • ช่วงผ่าตัด ได้ไม่เกิน 230,000 บาท
  • หลังผ่าตัด ได้ไม่เกินเดือนละ ปีที่ 1 เดือน 1-6 30,000 บาท เดือน 7-12 20,000 บาท ปีที่ 2 15,000 บาท ปีที่ 3 10,000 บาท (ผู้ป่วยร่วมจ่ายส่วนเกิน)
  • เป็นผู้ประกันตนก่อนล้างไต ได้ ค่าฟอกเลือด 1,500 บาทต่อครั้ง (ผู้ป่วยร่วมจ่ายส่วนเกินจากนี้ ถ้ามี) ไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ล้างไตก่อนเป็นผู้ประกันตน ได้ ค่าฟอกเลือด 1,000 บาทต่อครั้ง (ผู้ป่วยร่วมจ่ายส่วนเกิน) ไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ได้ค่าล้างไตทางช่องท้อง ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อเดือน
กรมบัญชีกลาง (สิทธิข้าราชการ) เบิกราชการได้ในรพ. รัฐ
  • เบิกราชการได้ในรพ.ราชการ
  • ส่งตัวฟอกเลือดศูนย์ไตเทียมเอกชน ได้ค่าฟอกเลือดไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้ง (ผู้ป่วยร่วมจ่ายส่วน เกินจากนี้ ถ้ามี) ไม่ จำกัดจำนวนครั้ง
เบิกราชการได้ในรพ. รัฐ

ผู้ป่วยล้างไตจะมีอายุได้นานเท่าไหร่ ?

จากการศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ในปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตมีชีวิตยืนยาวขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป ตัวอย่างเช่น ในประชากรทั่วไปที่มีอายุ 49 ปี จะมีอายุขัยเฉลี่ยอีก 33 ปี แต่ในผู้ป่วยล้างไตที่มีอายุ 49 ปี จะมีอายุขัยเฉลี่ยอีกเพียง 7 ปี นอกจากนี้ ผู้ป่วยล้างไตที่อายุมากขึ้น จะมีอายุขัยที่เหลืออยู่น้อยกว่าผู้ป่วยล้างไตที่มีอายุน้อย โดยในผู้ป่วยล้างไตที่อายุประมาณ 40 ปี จะมีอายุขัยเฉลี่ยที่เหลืออยู่ประมาณ 8 ปี ในขณะที่ผู้ป่วยล้างไตที่อายุประมาณ 60 ปี จะมีอายุ ขัยเฉลี่ยที่เหลืออยู่ประมาณ 4.5 ปี หากเปรียบเทียบกับโรคมะเร็งซึ่งมีความร้ายแรงในความรู้สึกของคนทั่วไป พบว่า โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมีความรุนแรงมากกว่าโรคมะเร็ง โดยผู้ป่วยชายและหญิงที่อายุมากกว่า 64 ปี ที่เริ่มล้างไต มีอัตราการเสียชีวิตที่ 5 ปีสูงกว่าผู้ป่วยชายที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก และผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่

สาเหตุของการเสียชีวิตในผู้ป่วยล้างไตส่วนใหญ่ เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 40-50% ของสาเหตุของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 20-40 เท่า ในทุกกลุ่มอายุ เพศ เชื้อชาติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสาเหตุและชนิดของโรคที่ทำให้เกิดไตวาย

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆได้อีก เช่น โรคติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงต่างๆจากการล้างไต และจากการทำหัตถการต่างๆที่เกี่ยวกับการล้างไต เป็นต้น ผู้ ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแม้ว่าจะได้รับการล้างไตแล้วก็ต้องติดตามดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ พยาบาล ตลอดชีวิต
ที่มา   https://haamor.com/th/การล้างไต/

อัพเดทล่าสุด