กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)


2,370 ผู้ชม


บทนำ

ตา หรือ ดวงตา (Eye) เป็นอวัยวะมีหน้าที่รับรู้การมองเห็น เป็นอวัยวะคู่ ซ้ายขวา อยู่บนใบหน้า ส่วนที่มีหน้าที่ในการรับรู้การมองเห็นของตา เรียกว่า ลูกตา (Eye ball) จะอยู่ในกระดูกกะโหลกส่วนที่เรียกว่า เบ้าตา (Orbit)

ลูกตา ได้รับการปกป้องจาก เบ้าตา และจากหนังตา และมีน้ำตาซึ่งสร้างจากต่อมน้ำตา เป็นตัวช่วยให้ความชุ่มชื้นกับเนื้อเยื่อที่ปกคลุมส่วนนอกของลูกตา

บทความนี้ จะกล่าวถึง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา ในเรื่องของ หนังตา ระบบน้ำตา เยื่อตา/เยื่อบุตา และลูกตา

โดยเนื้อเยื่อของลูกตา คือ กระจกตา เปลือกลูกตา แก้วตา ผนังลูกตาชั้นกลาง จอตา และวุ้นตา

กายวิภาคและสรีรวิทยาของหนังตา

กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา

หนังตา

หนังตา (Eye lid) มีทั้งหนังตาบน และหนังตาล่าง ในคนทั่วไป เมื่อลืมตาจะมีความกว้างหรือช่องระหว่างหนังตาบนและล่าง (Palpebral fissue) โดยส่วนกว้างสุดประมาณ 8-11 มิลลิ เมตร (มม.) หนังตาบนจะขยับเคลื่อนได้มากกว่าหนังตาล่าง โดยหนังตาบนขยับได้ถึงประมาณ 15 มม.จากการใช้กล้ามเนื้อยกหนังตา (Levator muscle) หากใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากช่วยด้วยอีก หนังตาบนจะขยับได้เพิ่มอีกประมาณ 2 มม. เป็นประมาณ 17 มม.

หนังตาอาจแบ่งเป็นชั้นต่างๆ นับจากผิวหนังด้านนอกสุดไปจนถึงชั้นเยื่อเมือก/ชั้นเยื่อตา (Conjunctiva) ด้านในสุดได้ดังนี้

  1. ชั้นผิวหนัง
  2. ชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Subcutaneous tissue)
  3. ชั้นกล้ามเนื้อ (Orbicularis)
  4. ชั้นพังผืดกั้นเบ้าตา (Orbital septum)
  5. ชั้นแผ่นหนังตา (Tarsus)
  6. ชั้นเยื่อบุตา/ชั้นเยื่อตา (Conjuctiva) ซึ่งอยู่ในสุด เป็นชั้นที่สัมผัสกับลูกตา
  1. ชั้นผิวหนัง เป็นชั้นอยู่นอกสุด จะเป็นผิวหนังที่บางมาก ที่บริเวณริมขอบของหนังตา จะมีขนตา (Eyelash) เรียงตัว 2-3 แถว โดยหนังตาบนจะมีขนตาประมาณ 100 เส้น ขณะที่ขนตาล่างมีประมาณ 50 เส้น ขนตาจะร่วงและงอกใหม่ทุกๆ 3-5 เดือน ถ้าตัด ขนตาจะงอกใหม่ในประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าถอน ขนตาจะขึ้นใหม่ในประมาณ 2 เดือน บริเวณรากขนตาเป็นกระ เปาะ (Lash follicle) ซึ่งเป็นบริเวณที่หากมีการอักเสบติดเชื้อ จะเรียกว่า โรค/ภาวะตากุ้งยิง ชนิดเกิดภายนอก (External hordeolum)
  2. ชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Subcutaneous tissue) เป็นเนื้อเยื่อบริเวณขอบหนังตาใกล้ขนตา เป็นเนื้อเยื่อบางๆ ไม่มีไขมัน
  3. ชั้นกล้ามเนื้อ (Orbicularis) เป็นกล้ามเนื้อซึ่งใยกล้ามเนื้อเรียงเป็นรูปกระสวยจากหัวตาไปหางตา เวลาหดตัว จะทำให้หลับตา และจะหดตัวอย่างแรงเมื่อเราบีบตาแน่น

    บริเวณขอบขนตาชั้นนี้ สิ้นสุดเป็นแนวที่เรียก Gray line เป็นรอยต่อระหว่างผิวหนังกับเยื่อบุตา/เยื่อตา เรียกว่า Mucocutaneous junction เป็นรอยต่อที่จักษุแพทย์มักใช้เป็นหลักเพื่อแยกระหว่างชั้นผิวหนังกับชั้นเยื่อบุตา

  4. ชั้นพังผืดกั้นเบ้าตา (Orbital septum) ทำหน้าที่กั้นไม่ให้ไขมันจากเบ้าตา ปูดออกมาเมื่อมีการอักเสบของหนังตา ถ้าการอักเสบผ่านพังผืดนี้ไป การอักเสบจะลามไปยังเบ้าตา เข้าไปหลังลูกตา และเข้าสู่สมองได้

    ทั้งนี้ การอักเสบของหนังตาที่เกิดหน้าต่อพังผืดนี้ เรียกว่า Preseptal orbital cellulitis ซึ่งเป็นการอักเสบที่ไม่รุนแรง แต่ถ้าการอักเสบนี้ผ่านพังผืดนี้เข้าไปด้านหลัง เรียกว่า Orbital cellulitis จะเป็นการอักเสบที่รุนแรงเพราะจะลุกลามเข้าสมองได้

  5. ชั้นแผ่นหนังตา (Tarsus) เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีลักษณะหนา มีความแข็งคล้ายกระดูกอ่อน แต่ไม่ใช่กระดูกอ่อน ทำหน้าที่เป็นโครงร่างของหนังตา ทำให้หนังตาบนยกปิดเปิดได้ โดยแผ่นหนังตา Tarsus ของหนังตาบน มีความกว้างตรงกลางมากสุด คือประมาณ 10-12 มม. สำหรับ Tarsus ของหนังตาล่างจะเล็กกว่า โดยมีขนาดกว้างประมาณ 4 มม. มีความหนา 1 มม. เท่ากับหนังตาบน

    ภายในตัว Tarsus มีต่อมที่สำคัญ คือ ต่อม Meibomian gland ซึ่งทำหน้าที่สร้างน้ำตาชนิดมีไขมัน (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ แผ่นน้ำตา) เพื่อหล่อลื่นผิวดวงตา ต่อมนี้จะมีรูเปิดอยู่ที่ขอบหนังตา เห็นได้ชัดเป็นรูเปิดเล็กๆ ต่อมนี้มีจำนวนประมาณ 25 ต่อมที่หนังตาบน และประ มาณ 20 ต่อมที่หนังตาล่าง หากต่อมนี้อักเสบ จะเกิดโรค/ภาวะตากุ้งยิง ชนิดภายใน (Internal hordeolum)

  6. ชั้นเยื่อบุตา/ชั้นเยื่อตา (Conjuctiva) เป็นเนื้อเยื่อบางๆมี 2 ส่วน
    • ส่วนที่บุหนังตาด้านใน/เยื่อบุตาใต้หนังตา (ด้านที่นาบกับลูกตา เรียกว่า Palpe bral conjunctiva) มีเซลล์ที่เรียกว่า Goblet cell และมีต่อมน้ำตาขนาดเล็ก ทีเรียกว่า ต่อมน้ำตาเสริม (Accessory lacrimal gland) โดยช่วยกันสร้างน้ำตา

      จุดที่หนังตาบนจะมาจดกับหนังตาล่างด้านใน จะมีรูทางเดินน้ำตาเรียกว่า Punctum

    • ส่วนที่บุลูกตา (Bulbar conjunctiva) โดยด้านหัวตา จะมีตุ่มเนื้อเยื่อเรียกว่า Ca runcle ซึ่งเป็นส่วนที่จะเจริญเป็นหนังตาที่ 3 ในสัตว์ชั้นต่ำ (มีหน้าที่ปกป้องลูกตาและสร้างสารหล่อลื่นลูกตา) กล่าวคือ คนเรามี 2 หนังตา คือ บนและล่าง แต่ในสัตว์ชั้นต่ำมีหนังตาที่ 3 ซึ่งในคนจะหมดหน้าที่ เหลือเป็นตุ่มเล็กๆนี้ ตุ่มนี้อาจมีขนตาเส้นเล็กๆบางๆอยู่ด้วยคล้ายหนังตาบนและล่าง

อนึ่ง ในภาวะปกติ เมื่อตามองตรง

  • หนังตาบน ควรปิดตาดำลงมาประมาณ 1 มม. หากปิดลงมามากกว่านี้ เรียกว่า “ภาวะหนังตาตก (Ptosis)” หรือถ้าหนังตาบนไม่สามารถปิดตาดำได้ โดยเห็นตาขาวเหนือตาดำ เรียกว่า “ภาวะตาโปน (Exophthalmos)”
  • ขอบหนังตาล่าง ควรแตะขอบตาดำพอดี ไม่เห็นตาขาวด้านล่าง ถ้าเห็นอาจจะสงสัยภาวะตาโปนได้

ขอบหนังตา ทั้งบนและล่าง ต้องแนบชิดลูกตา ถ้าหนังตาแบะออก เรียกว่า “ภาวะขอบตาแบะ (Ectropion)” หรือถ้าขอบหนังตาม้วนเข้าใน จะ เรียกว่า “ภาวะขอบตาม้วนเข้า (Entropion)” ซึ่งภาวะนี้จะทำให้เกิดขนตาแยงตา/ขนตาเกเข้า (Trichiasis)

กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบน้ำตา

น้ำตา สร้างจากเซลล์/เนื้อเยื่อหลายชนิดขึ้นกับชนิดของน้ำ ดังกล่าวแล้ว คือ จากต่อม Meibomian gland ในหนังตา จาก Globlet cell และจากต่อมน้ำตาเสริมของเยื่อบุตา แต่น้ำตาส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยจะสร้างจากต่อมน้ำตาประธาน/ต่อมน้ำตาหลัก (Main lacrimal gland หรือ เรียกว่า Lacrimal gland) ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อพูดถึงต่อมน้ำตา จะหมายถึงต่อมนี้ ดังนั้นในที่ นี้ ระบบน้ำตา จึงจะหมายถึงต่อมน้ำตาประธาน ทางระบายน้ำตา และน้ำตา

  • ต่อมน้ำตาประธาน/ต่อมน้ำตาหลัก

    (Main lacrimal gland/Lacrimal gland)

    เป็นต่อมสร้างน้ำตาอยู่ใต้เบ้าตาบริเวณหางคิ้ว เป็นต่อมคู่ คือมีทั้งด้านซ้ายและด้านขวา มีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร โดยต่อมนี้ส่วนใหญ่จะซ่อนอยู่ใต้กระดูก จึงมองด้านหน้าไม่เห็น คลำก็ไม่ได้นอกจากมีพยาธิสภาพขนาดใหญ่ขึ้น จึงย้อยออกมาให้เห็นหรือคลำได้บริเวณหางคิ้ว

    ต่อมน้ำตานี้ สร้างน้ำตาชั้นเป็นสารน้ำ มีลักษณะใส เป็นต่อมที่สร้างน้ำตาในภาวะปกติที่เรารู้จัก คุ้นเคย ตลอดจนเกี่ยวกับอารมณ์เสียใจ ดีใจ โดยจะสร้างออกมามากกว่าน้ำตาชนิดอื่นๆมาก และสร้างโดยอัตโนมัติในบางโอกาส เช่น เมื่อมีผงเข้าตา ตาอักเสบ ส่วนต่อมสร้างน้ำตาอื่นๆ มักจะมีขนาดเล็กกว่ามาก และอยู่กระจายไปตาเนื้อเยื่อหนังตาดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ หนังตา

  • ทางระบายน้ำตา

    เริ่มจากรูทางเดินน้ำตา Punctum ซึ่งอยู่ด้านในของขอบหนังตาบนและล่าง มีขนาดเส้น ผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3 มม. ในชั้นแรก ท่อน้ำตาเล็กๆเหล่านี้จะตั้งฉากกับขอบหนังตา โดยท่อจะยาวประมาณ 2 มม. ต่อจากนั้นท่อจะเอียงขนานกับขอบหนังตาโดยจะมีขนาดยาวประ มาณ 8 มม. เรียกว่า Canaliculi และท่อนี้ จะเชื่อมต่อกับถุงน้ำตา (Lacrimal sac) ที่อยู่บริเวณหัวตาใต้กระดูกด้านข้างจมูก จากถุงน้ำตานี้ จะมีท่อนำน้ำตาซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น ลงสู่จมูก โดยเรียกว่า ท่อ Nasolacrimal duct ซึ่งยาวประมาณ 18 มม. กว้างประมาณ 5 มม. โดยเข้าสู่โพรงจมูกส่วนที่เรียกว่า Inferior meatus

    ท่อน้ำตาเล็กๆเหล่านี้ มีเส้นใยกล้ามเนื้อ Orbicularis คลุมอยู่ มีการหดตัวเวลาปิดตา และคลายตัวเวลาลืมตา ทำให้น้ำตาไหลเข้ารูทางเดินน้ำตา Punctum ไปตามระบบท่อลงสู่โพรงจมูก

    น้ำตาที่สร้างในภาวะปกติประมาณ 10-20% จะระเหยออกไปในขณะที่เราลืมตา ที่เหลืออาศัยการกระพริบตา (การหดของกล้ามเนื้อ Orbicularis) ทำให้น้ำตาไหลไปตามทางเดิน/ระ บบท่อดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ จนเราไม่รู้สึกว่ามีน้ำตาไหล

    อนึ่ง จะเห็นว่าทางเดิน/ทางระบาย/ระบบท่อน้ำตา เป็นท่อเล็กๆ บางส่วนอยู่ภายในกระดูก จึงอาจมีการติดขัด/อุดตันที่ตำแหน่งใดก็ได้ และเมื่อเกิดการติดขัด/อุดตัน จะส่งผลให้เกิดอาการน้ำตาไหล น้ำตาคลอตลอดเวลาได้ ซึ่งอาการน้ำตาไหล/น้ำตาคลอตลอดเวลา เป็นอาการที่จะนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/จักษุแพทย์ แพทย์จะต้องหาว่า อาการนี้ เกิดจาก มีน้ำตาสร้างมากไป หรือมีทางระบายน้ำตา/ท่อระบายต่างๆติดขัด อุดตัน ซึ่งถ้าเกิดจากท่อติดขัด อุดตัน ก็จะต้องหาว่า เกิดขึ้นในบริเวณใด เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมกับสาเหตุ

  • น้ำตา

    น้ำตา จะมีลักษณะเป็นแผ่นน้ำตา/ฟิล์มน้ำตา (Tear film) โดยฟิล์มน้ำตาที่ฉาบผิวลูกตามีอยู่ 3 ชั้น

    1. ชั้นไขมัน (Lipid layer) เป็นแผ่นน้ำตาชั้นนอกสุด ที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบหลัก โดยสร้างจากต่อมMeibomian gland ในหนังตา ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ หนังตา ซึ่งแผ่นน้ำตาชั้นนี้ อยู่ผิวหน้าสุดของฟิล์มน้ำตามีหน้าที่ ป้องกันการระเหยของน้ำตา เนื่องจากอยู่ผิวหน้าสุด จึงสัมผัสกับอากาศ นอกจากนั้น ยังทำหน้าที่ในการหักเหแสงช่วยการมองเห็น และมีแรงตึงผิว (Surface tension,แรงดึงดูดระหว่างของเหลว) ช่วยทำให้น้ำตาทั้งหมดฉาบทั่วผิวด้านหน้าลูกตา และยังช่วยปกป้องชั้นผิวหนังบริเวณขอบหนังตา โดยกันน้ำตาชั้นอื่นๆไม่ให้สัมผัสเปียกผิว หนังส่วนนี้โดยตรง
    2. ชั้นสารน้ำ (Aqueous layer) เป็นแผ่นน้ำตาชั้นที่ 2 สร้างจากต่อมน้ำตาเสริมและต่อมน้ำตาประธาน น้ำตาชั้นนี้มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และยังประกอบด้วย เกลือแร่ (Electro lyte) โปรตีน ตลอดจนสารต่างๆที่ได้มาจากเยื่อบุตา หรือแม้แต่จากกระจกตา รวมไปถึงสารภูมิต้านทาน Immunoglobulin และเอนไซม์ (Enzyme) ต่างๆที่ฆ่าเชื้อโรคได้ เช่น Lysozyme

      หน้าที่ของน้ำตาชั้นนี้ คือ ให้ออกซิเจนแก่กระจกตา ปรับระดับเกลือแร่ในน้ำตาให้เหมาะสม ชะล้างสิ่งสกปรกและขี้ตา ฆ่าเชื้อโรคด้วยเอนไซม์ต่างๆที่มีอยู่ ช่วยปรับผิวตาดำให้เรียบเมื่อตาดำมีแผลขรุขระเล็กน้อย ซึ่งทำให้การมองเห็นดีขึ้น ในน้ำตาชั้นนี้ยังมีสารอื่นๆอีกที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น Cytokine, Growth factor, Interleukin และสารเคมีอื่นๆ ซึ่งมีบทบาทช่วยการทำงานของเซลล์ผิวของกระจกตา (Corneal epithelium) และเซลล์ผิวของเยื่อบุตา (Conjunctival epithelium)

    3. ชั้นเมือก (Mucous layer) ซึ่งสร้างจาก Goblet cell ของหนังตาดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ หนังตา เป็นแผ่นน้ำตาชั้นในสุด เป็นชั้นที่แนบติดกับเซลล์ผิวของเยื่อบุตาและของกระจกตา โดยมีส่วนประกอบเป็นสารหลายชนิด เช่น Mucin (เมือกโปรตีน และเกลือแร่ โดยแผ่นน้ำตาชั้นนี้มีหน้าที่

    ความผิดปกติของฟิล์มน้ำตา

    ความผิดปกติของฟิล์มน้ำตา อาจเกิดได้จาก

    1. มีปริมาณ หรือ ส่วนประกอบผิดไป อาจเกิดจากขาดน้ำตาชั้นต่างๆชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือทุกชั้น เช่น โรคต่างๆของหนังตา เยื่อบุตา หรือของต่อมน้ำตาประธาน
    2. การกระจายของน้ำตาไม่ดี ในกรณีตาไม่ค่อยกระพริบ (เช่น ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป) หรือจากผิวกระจกตาไม่เรียบ ผิวกระจกตาไม่สม่ำเสมอ
    3. การแนบกันไม่ดีระหว่างหนังตากับลูกตา เช่น ภาวะหนังตาไม่ปิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 เป็นอัมพาต(Facial nerve palsy) หรือโรคอัมพาตเบลล์ เป็นต้น

กายวิภาคและสรีรวิทยาของเยื่อบุตา (Conjunctiva)

เยื่อบุตา/เยื่อตา (Conjunctiva) เป็นเนื้อเยื่อบางๆ แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนที่บุอยู่ใต้หนังตา เรียกว่า เยื่อบุตาใต้หนังตา (Palpebral conjunctiva) เป็นส่วนในสุดของหนังตา ดังได้กล่าวแล้วในเรื่อง หนังตา
  2. ส่วนที่คลุมตาขาว (Sclera) โดยเยื่อบุตาส่วนนี้ จะมาสิ้นสุดที่ใกล้ๆ บริเวณตาขาวต่อตาดำ (Limbus) เรียกว่า Bulbar conjunctiva
  3. รอยเชื่อมต่อระหว่าง 1 และ 2 เรียกว่าส่วนสมทบ หรือ Fornix เป็นรอยที่เยื่อบุตาพับลงมานาบอยู่กับตาขาว

หน้าที่/สรีรวิทยาของเยื่อบุตา

  1. ตัวเยื่อบุตา ทำหน้าที่เป็นเยื่อบุผิวของเนื้อเยื่ออื่นๆที่มันบุอยู่ (เช่น หนังตา และตาขาว ) เยื่อบุตามีเซลล์ Goblet cell ที่ทำหน้าที่สร้างน้ำตาชั้นเมือกปกป้องดวงตา
  2. เนื่องจากเป็นเนื้อเยื่อบุผิวที่บางจึงมีความยืดหยุ่นมาก ช่วยทำให้ลูกตาขยับไปมาได้สะดวก และทำให้ลูกตานาบอยู่กับหนังตา
  3. เพิ่มการหล่อลื่นลูกตา โดยเฉพาะเยื่อบุตาบริเวณใกล้ Limbus และทำให้เยื่อบุผิวกระจกตาเรียบ และทำงานได้ดี
  4. มีเซลล์ต่างๆที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันต้านทานเชื้อโรคต่อลูกตา (Mucosal immune defense system) เช่น Lymphocyte , Plasma cell และ Mast cell

อนึ่ง หากหลับตาจะเกิดช่องที่ล้อมด้วย เยื่อบุตาใต้หนังตา Fornix เยื่อบุตาบริเวณตาขาว กระจกตา โดยเป็นช่องปิด เรียกว่า Conjunctiva sac ซึ่งในคนปกติ ช่องนี้มีปริมาตรประมาณ 30 ไมโครลิตร (Microlitre) และช่องนี้มี แผ่นน้ำตา (Tear film) ฉาบอยู่คิดเป็นปริมาตรประมาณ 10 ไมโครลิตร ดังนั้น ช่องว่างที่เหลืออยู่ จึงมีขนาดปริมาตรประมาณ 20 ไมโครลิตร ดังนั้นหากจะหยอดยาเข้าตา ช่องนี้จึงสามารถจุน้ำยาได้อีกไม่เกิน 20 ไมโครลิตร ถ้าตากระ พริบด้วยแล้ว ก็จะเหลือปริมาตรยาที่หยอดได้เพียงประมาณ 10 ไมโครลิตร ทั้งนี้ยาหยอดตาทั่ว ไปปากขวดยาออกแบบให้ยา 1 หยดมีปริมาตรขนาด 25 – 50 ไมโครลิตร ดังนั้นการหยอดยา 1 หยด ก็เกินพอ ไม่จำเป็นต้องหยอดมากเกินไปให้ล้นออกมา

กายวิภาคและสรีรวิทยาของลูกตา (Eye ball)

  • ลูกตา (Eye ball)

    ลูกตา ของคนเรามีรูปร่างเป็นทรงกลม โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 มิลลิเมตร (มม.) โดย ประมาณ โดยผู้สายตาสั้นมาก เส้นผ่าศูนย์กลางอาจยาวกว่านี้ หรือผู้ที่มีสายตายาว เส้นผ่าศูนย์กลางอาจสั้นกว่านี้ ทั้งนี้ลูกตา มีปริมาตรประมาณ 6.5 มิลลิลิตร (มล.) มีน้ำหนักประมาณ 7.5 กรัม เมื่อแรกเกิดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16-17 มม. พออายุ 3 ขวบ จะเพิ่มเป็นประ มาณ 22.5-23 มม. และจะมีขนาดเท่าผู้ใหญ่ คือ 24 มม. เมื่ออายุประมาณ 13 ปี

    บางคนเปรียบเทียบลูกตาคล้ายลูกปิงปอง (ขนาดประมาณ 2/3 ของลูกปิงปอง) แต่ลูกตาไม่กลมเท่ากันทุกส่วนเหมือนปิงปอง (Spherical shape) กล่าวคือ ลูกตามีความโค้งทุกส่วนไม่เท่ากัน (Aspherical shape)

    ลูกตา วางอยู่ในช่องกระดูกของกะโหลก (Skull) ที่เรียกว่า เบ้าตา (Orbit) ส่วนหลังสุดของลูกตาเป็นขั้ว/จานประสาทตา(Optic disc) ซึ่งต่อเนื่องไปเป็นเส้นประสาทตา หรือเส้นประสาทสมองเส้นที่ 2 (Optic nerve หรือ Cranial nerve II ย่อว่า CNII) โดยเข้าสู่สมองบริเวณท้ายทอย (Occipital lobe) ซึ่งเป็นสมองส่วนรับรู้การมองเห็น

    ลูกตาคนเราแบ่งออกเป็น 3 ชั้น

    1. ชั้นนอกสุด เป็นส่วนของกระจกตา/ตาดำ (Cornea) ที่อยู่ด้านหน้า และตาขาว/เปลือกลูกตา (Sclera) อยู่ถัดตาดำออกมาและรวมไปถึงส่วนด้านหลังลูกตา โดยความโค้งของกระจกตาและของตาขาวไม่เท่ากันกระจกตาเป็นเหมือนรูปโคมปิดอยู่ข้างหน้า

      ลูกตาชั้นนอกสุดนี้ ถือว่าเป็นชั้นปกป้องเนื้อเยื่อที่สำคัญภายในลูกตา ทั้งนี้รอยต่อระหว่าง กระจกตาและตาขาวเรียกว่า Limbus

      ภายในลูกตา ในตำแหน่ง Limbus เป็นเนื้อเยื่อที่กรองสารน้ำในลูกตา (Aqueous humor /humour) ให้ไหลออกจากลูกตา เพื่อคงความสมดุลของสารน้ำในลูกตา ซึ่งเนื้อเยื่อส่วนนี้เรียกว่า Trabecular meshwork

    2. ชั้นกลาง/ผนังลูกตาชั้นกลาง เป็นชั้นที่มีหลอดเลือดและมักจะมีสารให้สี (Pigment) อันเป็นเหตุให้ตาคนเรามีสีต่างๆกันในแต่ละเชื้อชาติ รวมเรียกเนื้อเยื่อชิ้นนี้ว่า Uvea หรือ Uveal tract ซึ่งเนื้อเยื่อชั้นกลางนี้ประกอบด้วย Iris (ม่านตาเนื้อเยื่อ Ciliary body ซึ่งอยู่ส่วนหน้า และเนื้อเยื่อ Choroid ที่อยู่ส่วนหลังซึ่งเป็นชั้นที่มีหลอดเลือดมาก เป็นชั้นนำอาหารมาเลี้ยงส่วนต่างๆของลูกตาผ่านทางหลอดเลือด
    3. ชั้นในสุด เป็นชั้นของระบบประสาทที่ทำหน้าที่ในการมองเห็น บุอยู่ชั้นในสุดของลูกตา คือ ชั้นจอตา หรือจอประสาทตา (Retina) ซึ่งมีเฉพาะด้านหลัง จากบริเวณเนื้อเยื่อ Ciliary body ไปจนสุดที่ขั้ว/จานประสาทตา(Optic disc)

    อนึ่ง ภายในลูกตา ยังมีน้ำ/ของเหลวที่หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อภายในลูกตา ซึ่งของเหลวที่อยู่ทางส่วนหน้า เรียกว่า สารน้ำในลูกตา (Aqueous humor/humour) เป็นน้ำ/ของเหลวใส ส่วนน้ำ/ของเหลวส่วนหลังของลูกตาเป็นน้ำ/ของเหลวที่หนืดกว่าในส่วนหน้า คล้ายไข่ขาว เรียกว่า วุ้นตา (Vitreous humor/humour) และหลังม่านตายังมีเนื้อเยื่อที่เรียกว่า แก้วตา (Lens) ซึ่งห้อยอยู่ได้ด้วยเนื้อเยื่อยึดแก้วตา (Lens zonule) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อCiliary body

    ม่านตา และ แก้วตา จะแบ่งลูกตาออกเป็นช่องๆ ได้แก่

    1. ช่องที่อยู่หน้าสุด เรียกว่า ช่องด้านหน้าในลูกตา (Anterior chamber) เป็นช่องที่ล้อมด้วย กระจกตา ม่านตาและรูม่านตา
    2. ช่องถัดไป เรียกว่า Posterior chamber เป็นช่องล้อมด้วย ม่านตา เนื้อเยื่อ Ciliary body และแก้วตา
    3. ช่องหลังสุด ขนาดใหญ่สุด อยู่หลังสุด เป็นที่อยู่ของวุ้นตา เรียกว่า Vitreous chamber
  • กระจกตา (Cornea)

    กระจกตา อยู่ด้านหน้าสุดของลูกตา เป็นรูปโคม มีสัดส่วนเป็น 1/6 ของวงชั้นนอกสุดของลูกตา เป็นเนื้อเยื่อใส ไม่มีสี มักจะเรียกกันว่า ตาดำ ที่จริงเป็นส่วนใส ไม่มีสี ที่เห็นดำเพราะเป็นสีของม่านตาที่อยู่ลึกลงไป

    กระจกตาเป็นเสมือนฝาปิดคล้ายๆแผ่นพลาสติก/กระจกหน้าปัดนาฬิกา มีลักษณะเป็นรูปโคม คล้ายกระทะ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 11.5 มม. แนวตั้งสั้นกว่าแนวนอนเล็กน้อย มีความหนาตรงกลางประมาณ 0.5-0.6 มม. (500-600 ไมครอน/Micron) ส่วนข้างๆหนาประมาณ 0.6-0.8 มม. บริเวณตรงกลางด้านหน้ามีรัศมีความโค้งประมาณ 7.8 มม. ตรงกลางด้านหลัง รัศมีความโค้งประมาณ 6.5 มม.

    กระจกตา มีกำลังหักเหของแสงถึงประมาณ +43 D/Diopter/ไดออปเตอร์ (อวัยวะในการรวมแสง/หักเหแสงประกอบด้วยกระจกตา และแก้วตา) ส่วนแก้วตามีกำลังหักเหประมาณ +17D รวมแล้วเป็นกำลังหักเหแสง +60D โดยประมาณ

    • หน้าที่ ของกระจกตา คือ
      1. ปกป้องส่วนต่างๆภายในลูกตา
      2. เป็นตัวหลักทำให้เกิดการหักเหของแสงเพื่อเกิดการมองเห็น มีกำลังหักเหแสงถึงประมาณ +43 D
      3. เป็นทางผ่านของยารักษาที่เราใช้หยอดตาให้ซึมเข้าไปภายในลูกตา เพื่อรักษาความผิดปกติภายในลูกตา
    • กระจกตามีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ได้แก่
      1. ไม่มีหลอดเลือด (Avascular) ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้กระจกตาใสอยู่เสมอ (ถ้าขุ่น จะทำให้ตามัว) ส่วนข้อเสียคือ ถ้ามีการอักเสบติดเชื้อ การหายของแผลยากกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆ เพราะไม่มีหลอดเลือดนำเม็ดเลือดขาวมาช่วยขจัดเชื้อโรค
      2. มีความใสอยู่เสมอ เนื่องจากการเรียงตัวของเนื้อเยื่อกระจกตาเป็นไปอย่างสม่ำ เสมอเป็นระเบียบ
      3. ตัวกระจกตาจะอยู่ในภาวะแห้ง (Dehydrate) ถ้าอยู่ในภาวะอุ้มน้ำ กระจกตาจะบวมทำให้ตามัวลง
      4. มีปลายประสาทมาเลี้ยงกระจกตา มากกว่าในเนื้อเยื่ออื่นๆในร่างกาย กระจกตาจึงไวต่อความรู้สึก การสัมผัส ความร้อน สารเคมี และ/หรือผง แม้ขนาดเล็กนิดเดียวเมื่อกระทบกระจกตา จะส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดเคืองตาอย่างมาก

    กระจกตาแบ่งเป็น 5 ชั้น คือ

    1. เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium)
    2. Bowman’s membrane
    3. เนื้อเยื่อโครง (Stroma)
    4. Descemet’s membrane
    5. เนื้อเยื่อบุโพรง (Endothelium)
    • เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) เป็นชั้นผิวนอกสุด แนบอยู่กับชั้น Mucous ของฟิล์มน้ำตา มีความหนาประมาณ 10% ของกระจกตา และเนื่องจากอยู่ผิวหน้าสุด จึงมีโอกาสได้ รับอันตรายสูง แต่มีข้อดีที่งอกใหม่ เจริญทดแทนได้เร็ว (Easy regenerate and fast growing ) ดังนั้นผู้ที่มีผิวกระจกตาถลอกที่เกิดจากชั้นนี้ หลุดลอกจึงมักจะหายเป็นปกติได้ง่าย
    • Bowman’s membrane ประกอบด้วยสาร Collagen ชนิดที่เรียงตัวไม่เป็นระเบียบ ไม่มีเซลล์ ทนต่อการติดเชื้อ และต่อสารต่างๆ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ไม่สามารถเกิดใหม่ได้ เชื่อว่าสารนี้สร้างจากชั้น Stroma
    • เนื้อเยื่อโครง (Stroma) เป็น 90% ของเนื้อเยื่อกระจกตา ประกอบด้วย Colla gen ชนิดที่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ มี Keratocyte (เซลล์สร้าง Collagen และสารที่ช่วยการหักเหของแสง) และมีสารต่างๆที่เป็นส่วนประกอบที่เรียกว่า Ground substance เช่น สารโปร ตีนต่างๆ (เช่น Mucoprotein และ Glycol protein) แต่ประมาณ 75-80% เป็นน้ำ
    • Descemet’s membrane เป็นชั้นบางๆที่มีแต่ Collagen ไม่มีเซลล์ เชื่อว่าเกิดจากชั้น Endothelium ในเด็กจะมีความหนาประมาณ 10-12 ไมครอน (Micron) เมื่อเป็นผู้ ใหญ่จะมีความหนาประมาณ 40 ไมครอน เป็นชั้นที่ทนต่อสารต่างๆและต่อเชื้อโรค และสามารถเกิดใหม่ได้หากได้รับบาดเจ็บ เสียหาย
    • เนื้อเยื่อบุโพรง (Endothelium) เป็นชั้นในสุด ที่ประกอบด้วยเซลล์ชั้นเดียว มีความบางที่สุด แรกเกิดมีจำนวนประมาณ 6,000 เซลล์ต่อตารางมิลลิเมตร และจะค่อยๆ ลดลงตามอายุ โดยลดจำนวนลงประมาณ 0.6% ต่อปี ในผู้ใหญ่จะมีประมาณ 3,000 เซลล์ต่อตารางมิลลิเมตร

    เมื่อได้รับอันตรายจนเซลล์ตายไป จะไม่มีเซลล์เกิดใหม่ จำนวนเซลล์จะลดลงเมื่อ ได้รับภยันตรายจากอุบัติเหตุ จากการผ่าตัด จากการติดเชื้อ และจากอายุที่มากขึ้น เนื้อเยื่อชั้นนี้มีหน้าที่สูบน้ำ (Pump) ออกจากกระจกตา ทำให้กระจกตาแห้ง คงความใสอยู่ได้ หากเซลล์เหลือน้อยกว่า 500 เซลล์ต่อตารางมิลลิเมตร กระจกตาจะบวม ทำให้กระจกตาฝ้ามัวลง

    เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวกระจกตา ล้อมอยู่ในน้ำ โดยส่วนหน้าเป็นฟิล์มน้ำตา ส่วนหลังเป็น สารน้ำในลูกตา แต่ตัวกระจกตาไม่บวมน้ำ อยู่ในภาวะแห้ง (Dehydrate) ก็ด้วยอาศัยการทำงานของ Endothelium นี้เอง ถ้าจำนวนเซลล์ในชั้นนี้ลดลง จากที่มีการทำลายของ Endothelium หรือมีแรงดันจากสารน้ำ Aqueous มากกว่าปกติ (ในผู้ป่วยโรคต้อหินเฉียบพลัน) กระจกตาจะบวม

  • ตาขาว (Sclera)

    ตาขาว หรือ เปลือกลูกตา เป็นส่วนต่อจากกระจกตาไปด้านหลัง ประกอบด้วยสาร Colla gen ชนิดที่เรียงตัวกันอย่างไม่เป็นระเบียบ จึงเป็นฝ้าขาวไม่ใสอย่างกระจกตา เป็นส่วนห่อหุ้มเนื้อเยื่อภายในลูกตา และเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อนอกลูกตาที่อยู่ในเบ้าตา (Extraocular mus cle) ที่มีหน้าที่กลอก หรือเคลื่อนไหวลูกตา

    • Limbus เป็นบริเวณรอยต่อของกระจกตาและตาขาว จากกระจกตาที่ใสเปลี่ยนมาเป็นตาขาวที่ขุ่น Limbus เป็นบริเวณกว้างประมาณ 10-15 มม. เป็นบริเวณสำคัญ เพราะเป็นจุด หมายที่หมอตา/จักษุแพทย์ใช้เป็นจุดอ้างอิงในการตรวจรักษา โดยอิงจุดนี้เป็นหลัก ตลอดจนเป็นบริเวณที่จักษุแพทย์ใช้กรีดมีด เพื่อเข้าสู่ภายในลูกตาเมื่อต้องการผ่าตัด อีกทั้งเป็นบริเวณที่กรอง สารน้ำในลูกตา ออกไปแลกเปลี่ยนกับเลือดในหลอดเลือด เป็นที่ซึ่งก่อให้เกิดมุมตา(Chamber angle) ที่ใช้ในการบอกชนิดของโรคต้อหิน กล่าวคือ มุมตา เป็นการทำมุมระหว่างกระจกตาและ ม่านตาซึ่งทำมุมได้ตั้งแต่ 10°-40° โดยประมาณ ถ้ามุมนี้เป็น 10° แสดงว่าเป็นมุมที่แคบมาก แพทย์มักใช้คำว่า แคบเป็น Grade 1 ถ้ามุมนี้ประมาณ 20° เป็นมุมที่ค่อนข้างแคบเป็น Grade 2 ถ้ามุมนี้ 30° เป็น Grade 3 เป็นมุมค่อนข้างกว้าง ถ้ามุมนี้ 40° เป็นมุมที่กว้างมากเป็น Grade 4 โดยที่ถ้ามุมเป็น Grade 1 และ 2 แสดงว่ามีแนวโน้มเป็นต้อหินชนิดมุมแคบหรือมุมปิด (Closed-angle glaucoma/โรคต้อหินเฉียบพลัน) ถ้าเป็น Grade 3 และ 4 จัดว่าเป็นต้อหินชนิดมุมเปิด (Open-angle glaucoma/โรคต้อหินเรื้อรัง)

      Limbus ประกอบด้วยเนื้อเยื่อจากด้านนอกสุดไปด้านในสุด ได้แก่

      นอกจากนั้น ภายหลังการตรวจด้วย Gonioscope แพทย์จะระบุว่า มุมตานี้อยู่ใน Grade ใด เป็น 1,2,3 หรือ 4 ถ้ามีความดันลูกตาสูง แล้วตรวจพบมุมนี้เป็น Grade 3 หรือ 4 ถือว่าเป็นต้อหินมุมเปิด ถ้ามุมนี้เป็น 0° หรือ เป็น Grade 1,2 ถือว่าเป็นมุมปิด ถ้าความดันตายังปกติดี แต่พบมุมเป็น Grade 1 หรือ 2 บ่งว่ามีแนวโน้มที่อาจเป็นต้อหินมุมปิด

      เป็นบริเวณกรองสารน้ำในลูกตาออกจากลูกตา ซึ่งชั้นในสุดของ Limbus ยังประ กอบด้วยเนื้อเยื่อต่างๆอีกหลายชนิดโดยเนื้อเยื่อเหล่านี้ซ่อนอยู่บริเวณมุมของ Chamber angle ที่มองตรงๆจะไม่เห็น แพทย์ต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Gonioscope เพื่อตรวจเนื้อเยื่อเหล่านี้
  • แก้วตา (Lens)

    ในสมัยโบราณ คนเราเข้าใจว่าแก้วตา เป็นส่วนรับรู้การเห็น เป็นส่วนสำคัญที่สุด และคาดว่ามันจะอยู่ตรงกลางลูกตา จนปัจจุบัน จึงทราบว่า แก้วตาอยู่ในลูกตาก็จริงแต่ค่อนมาข้างหน้า และไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุด เป็นส่วนช่วยให้เกิดการรวมแสงคล้ายเลนส์นูนในแว่นตาทั่วๆไป ที่มีกำลังหักเหของแสงประมาณ +17D แต่มีข้อดีกว่าเลนส์แว่นตาทั่วไปที่สามารถเพิ่มกำลังหักเหเป็น +18 ถึง +27D ได้ในวัยเด็กเพื่อโฟกัสภาพที่ระยะใกล้ได้

    ที่ถูก จอตาต่างหาก ที่เป็นส่วนสำคัญในการรับรู้การเห็น ด้วยเหตุที่แก้วตาเป็นอุปกรณ์ในการรวมแสงคล้ายเลนส์แว่นตาจึงสามารถเอาออกแล้วเอาเลนส์แว่นตาที่มนุษย์สร้างขึ้น มาใส่ทดแทนได้ ดังที่ทำกันในการผ่าตัดเอาแก้วตาออกแล้วฝังแก้วตาเทียมไปแทนที่ ก็สามารถทำให้การมองเห็นกลับคืนดังเดิมได้

    แก้วตา เป็นวัสดุใสคล้ายจานบิน หรือลูกสะบ้าที่นูนทั้งข้างหน้าและข้างหลัง (Biconvex) วางอยู่หลังม่านตาด้วยสายโยงแก้วตา (Lens zonule) ที่เป็นเส้นใยบางๆ ยึดแก้วตาให้ติดกับเนื้อเยื่อ Ciliary body ตัวแก้วตาจะกั้นช่อง Posterior chamber ออกจากช่อง Vitreous chamber

    แก้วตา เป็นอวัยวะที่ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง ไม่มีเส้นประสาทมากำกับและมีชีวิตอยู่ได้โดยได้อาหารจาก สารน้ำในลูกตาและจาก วุ้นตา แรกเกิดแก้วตาจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6.4 ม.ม. มีความหนาประมาณ 3.5 มม. น้ำหนักประมาณ 60 มก. ตัวเนื้อเยื่อแก้วตา จะมีการสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ จนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 มม. หนาประมาณ 5 มม. และน้ำหนักประมาณ 255 มก.เมื่ออายุ 80 ปี ความโค้งหน้าและโค้งหลัง ตลอดจนดัชนีการหักเหของแสงอาจเปลี่ยนตามอายุ ผู้สูงอายุ สายตาอาจเปลี่ยนแปลงจากการเปลี่ยนแปลงของแก้ว ตา ผู้สูงอายุที่แก้วตาเริ่มขุ่น/เริ่มเป็นโรคต้อกระจก อาจก่อให้เกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราว (Secondary myopia) ได้

    หากพิจารณาส่วนประกอบต่างๆ แก้วตาจะประกอบด้วย

    1. ถุงหุ้ม (Capsule) เป็นเยื่อบางหุ้มแก้วตา เชื่อว่าสร้างมาจากเนื้อเยื่อบุผิวแก้วตา (Lens epithelium) โดยส่วนหน้าจะหนากว่าส่วนหลังและค่อนข้างยืดหยุ่น (ส่วนหน้าหนาประ มาณ 14 ไมครอน ส่วนหลังประมาณ 4 ไมครอน)
    2. Lens zonule เป็นเนื้อเยื่อโยงแก้วตาให้ติดกับเนื้อเยื่อ Ciliary body ถ้าเนื้อเยื่อนี้ขาด จะทำให้แก้วตาเคลื่อนไปจากที่เดิม (Lens dislocation) ได้
    3. เนื้อเยื่อบุผิวแก้วตา (Lens epithelium) เป็นเซลล์ชั้นเดียวอยู่เฉพาะผิวหน้าของแก้วตา เป็นเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตแบ่งตัวให้มีมากขึ้นได้เพื่อสร้างเป็นเนื้อเลนส์ (Lens fibre ) มากขึ้นตามอายุ เป็นเหตุให้ขนาดของแก้วตาใหญ่ขึ้นเมื่อคนเราอายุมากขึ้น
    4. Nucleus and Cortex เป็นใจกลางของแก้วตาที่จะถูกเบียดให้อัดแน่นขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้แก้วตาที่เดิมไม่มีสี จะออกสีเหลืองเป็นต้อกระจก (แก้วตาขุ่น) เมื่ออายุมากขึ้น
    • หน้าที่ของแก้วตา
      1. ทำหน้าที่ช่วยกับกระจกตา ในการหักเหแสงจากวัตถุ ให้มาโฟกัส (Focus) ที่จอตา ทำให้เกิดการมองเห็น
      2. ช่วยให้ตาสามารถเพ่งให้เห็นวัตถุใกล้ๆได้ (Accommodation) โดยการเพิ่มกำลังหักเหมากขึ้น ซึ่งความสามารถนี้จะลดลงตามอายุ จนอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป จะมองเห็นวัตถุที่ระยะ 30-40 ซ.ม. (ระยะที่ใช้อ่านหนังสือ) ไม่ได้ชัด เกิดเป็นภาวะสายตาผู้สูงอายุ (Presbyo pia)
      3. ตัวแก้วตาเอง มีคุณสมบัติรักษาตัวเองให้คงความใส เพื่อการมองเห็น
  • ผนังลูกตาชั้นกลาง (Uvea/Uveal tract)

    ผนังลูกตาชั้นกลาง ประกอบด้วย ม่านตา (Iris) ซึ่งอยู่ส่วนหน้าสุด เนื้อเยื่อ Ciliary body อยู่ตรงกลาง และเนื้อเยื่อChoroid ซึ่งอยู่ส่วนหลังสุด

  • จอตา (Retina)

    คำว่า ส่วนก้นของตา (Fundus) หมายถึง ส่วนหลังสุดของลูกตาที่เห็นได้ด้วยการใช้กล้องส่องตรวจในลูกตา(Ophthalmoscope) ซึ่งกล้องนี้ เป็นเครื่องมือที่ส่องผ่านรูม่านตา ผ่านแก้วตา ผ่านวุ้นตา ไปยังส่วนหลังสุดของลูกตาโดยส่วนที่เห็นได้จากกล้องนี้ คือ

    • Optic disc (ขั้ว/จานประสาทตา)
    • จอตา
    • หลอดเลือดของจอตา
    • ส่วนของจอตาบริเวณที่ห่างจากขั้วประสาทตาไปทางด้านข้าง (Temporal) ที่เรียกว่า จุดภาพชัด ( Macula) ที่มีขนาดประ มาณ 5-6 มม. บริเวณนี้จะมีสารสีเหลือง (Xanthophyl) หนาแน่นทำให้มีสีเหลืองตรงใจกลางสุดของ Macula คือ รอยบุ๋ม/เว้าที่เรียกว่า Fovea ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการมองเห็น เป็นรอยเว้าลงไป ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง ทั้งนี้จอตาบริเวณขอบๆรอบนอกจะไปสิ้นสุดที่บริเวณเนื้อเยื่อ Ciliary body ซึ่งเรียกส่วนที่สิ้นสุดนี้ว่า Ora serrate

    ในการตรวจดูจอตา จะต้องใช้เครื่อง/กล้อง Ophthalmoscope แต่ถ้ารูม่านตาเล็กจะเห็นเพียง Optic disc , Macula และหลอดเลือดของจอตาส่วนด้านหลัง ส่วนจอตาที่อยู่ด้านหน้าบริเวณ Ora serrata จะมองเห็นได้เฉพาะในภาวะที่รูม่านตาขยาย การตรวจจอตาที่ละเอียดจึงจำเป็นต้องขยายม่านตา/รูม่านตาช่วยด้วยการหยอดยาขยายรูม่านตา

    จอตาเป็นอวัยวะที่เป็นแผ่นบางๆ ใส ไม่มีสี แต่ที่มองผ่านกล้อง Ophthalmoscope เห็นเป็นสีแดง เกิดจากแสงสะท้อนผ่านหลอดเลือดในชั้นเนื้อเยื่อ Choroid

    อาจแบ่ง จอตา ออกเป็นชั้นต่างๆจากด้านในไปด้านนอกได้ดังนี้

    1. Internal limiting membrane จะติดกับ vitreous
    2. Nerve fibre layer
    3. Ganglion all layer
    4. Inner plexiform layer
    5. Middle limiting membrane
    6. Inner nuclear layer
    7. Outer plexiform layer
    8. Outer nuclear layer (Nuclei of rod and cone)
    9. External limiting membrane
    10. Rod and cone outer segment
    11. Retinal pigment epithelium (RPE)

    อนึ่ง ชั้นที่ 1-10 เรียกว่า จอตาส่วนใน (Sensory retina) มีหน้าที่เกี่ยวกับการมอง เห็น/รับรู้การเห็น

    ชั้นที่ 11 เรียกว่า จอตาส่วนนอก (Outer retina) หรือเรียกย่อว่าชั้น RPE ประกอบด้วยเซลล์ชั้นเดียวรูปหกเหลี่ยมมีอยู่ประมาณ 4-6 ล้านในตาแต่ละข้าง โดยพบว่าอัตราส่วนของ RPE ต่อเซลล์รับรู้การเห็น (ในชั้นที่ 1-10) เป็นประมาณ 1:45 โดยจอตาส่วนนอกมีหน้าที่

    1. ปกป้องจอตาส่วนใน (Sensory retina) เพื่อไม่ให้ของเสียจากหลอดเลือดในเนื้อเยื่อ Choroid เข้าสู่จอตาส่วนใน
    2. สูบ/Pump สารน้ำ เพื่อให้เซลล์ชั้น RPE นี้ ยึดเกาะกับชั้นจอตาส่วนใน
    3. สร้างสาร Mucopolysuccharide เพื่อยึดตัวเองให้ติดกับชั้นจอตาส่วนใน ตลอดจนแลกเปลี่ยนสารที่ใช้แล้วกับเลือดในหลอดเลือดในชั้นเนื้อเยื่อ Choroid
    4. เป็นทางผ่านของสารต่างๆ จากเนื้อเยื่อ Choroid ไปสู่จอตาส่วนใน
    5. เป็นที่สังเคราะห์เพื่อการนำวิตามิน-เอมาใช้ (Vitamin A metabolism)
    6. ยึดจับ ส่วนนอกของเซลล์เพื่อการมองเห็น Rod และ Cone ที่อาจหลุดลอกในขบวนการทำงานต่างๆ
    7. ดูด ซับ พลังงานแสงที่มากระทบตา ตลอดจนตัดแสงกระจาย เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด
    8. เชื่อว่ามีบทบาทในการทำลาย สารอนุมูลอิสระ ที่ทำลายจอตา
    • ชั้นจอตาส่วนใน (Sensory retina) คือ จอตาตั้งแต่ชั้นที่ 1-10 ประกอบด้วย
      1. เซลล์ประสาท ได้แก่
        • เซลล์ที่รับรู้การเห็นที่เรียกว่า Rod และ Cone โดยประมาณว่ามี Rod อยู่ 120 ล้านเซลล์ และ Cone 6 ล้านเซลล์ในลูกตาแต่ละข้างหนึ่ง
        • เซลล์ที่เรียกว่า Bipolar cell มีหน้าที่รับส่งสัญญาณภาพระหว่างเซลล์รับรู้การมองเห็นกับ Ganglion cell
        • และ Ganglion cell มีหน้าที่รับสัญญาณภาพจากเซลล์รับรู้การมองเห็นผ่านทาง Bipolar cell แล้วนำสัญญาณเข้าสู่สมองส่วนต่างๆเพื่อการแปลให้เรามองเห็นภาพ
      2. Glial tissue เนื้อเยื่อชั้นนี้ประกอบไปด้วย เซลล์ 3 ชนิด ได้แก่ Muller cells, Astro cyte, และ Microgliaเซลล์เหล่านี้เป็นเนื้อเยื่อโยงใยระหว่างเซลล์ประสาทของจอตาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการมองเห็น
      3. หลอดเลือด ได้แก่ หลอดเลือด Central retinal artery ซึ่งเลี้ยงจอตาส่วนใน ส่วนจอตาส่วนนอกได้เลือดมาจากเนื้อเยื่อชั้น Choroid

    เมื่อเซลล์รับรู้การเห็น Rod (ในเวลาแสงสลัว) และ Cone (ในที่สว่าง) ส่งสัญญาณไปยัง Bipolar cell จะส่งต่อไปยัง Ganglion cell ไปจนถึง ชั้น Nerve fibre layer (ชั้นเส้นประสาทย่อยที่รับสัญญาณการมองเห็น) เส้นประสาทเหล่านี้จะรวมกันเป็นขั้ว/จานประสาทตา (Optic disc) และรับรวบรวมสัญญาณทั้งหมดส่งต่อไปตามประสาทตา (Optic nerve) ด้านหลังลูกตา ซึ่งคือเส้นประสาทที่อยู่ต่อจากขั้วประสาทตา และจะเข้าสูสมองส่วนรับรู้การเห็น เพื่อการแปลเป็นภาพให้เรามองเห็นต่อไป

    สรีรวิทยาไฟฟ้า (Electrophysiology) ของจอตา/หรือหน้าที่ของจอตา คือ การเปลี่ยนแปลงสัญญาณแสงที่ได้รับให้เป็นคลื่นไฟฟ้า กล่าวคือเมื่อมีแสงกระตุ้นจอตา จะมีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณไฟฟ้าออกจากเซลล์ต่างๆในจอตา ทั้งจากเซลล์รับรู้การเห็น (Rod และ Cone) , RPE, Muller cells ตลอดจนเซลล์อื่นๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ชั้นจอตาส่วนใน

    จากกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เราสามารถศึกษาถึงความผิดปกติของเซลล์ในจอตาได้ละเอียดยิ่งขึ้น ได้แก่ การตรวจที่เรียกว่า Electroretinogram (ERG) เป็นการตรวจการทำงานของ Rod และ Cone, Bipolar cell, และ Muller cell นอกจากนี้ยังมีการตรวจที่เรียกว่า Electrooculogram (EOG) เป็นการตรวจเซลล์ชั้น RPE และการตรวจที่เรียกว่า Visual evoked potential (VEP) เป็นการตรวจการทำงานของประสาทตา (Optic nerve)

  • วุ้นตา (Vitreous humor)

    ช่อง Vitreous cavity มีขนาดเป็น 4/5 ในปริมาตรของลูกตา ในช่องเป็นสารน้ำ เรียกว่า วุ้นตา (Vitreous humor) เป็นแหล่งอาหารแก่ แก้วตา เนื้อเยื่อ Ciliary body และจอตา มีปริมาตรประมาณ 4 มิลลิลิตร ใสไม่มีสี หนืดกว่าน้ำ 2 เท่า

    วุ้นตามีส่วนประกอบเป็นส่วนของน้ำประมาณ 98% ที่เหลือเป็นสารหลายชนิด เช่น Colla gen, Hyaluronan และโปรตีนโดยหน้าที่ของ วุ้นตา คือ เพื่อทรงลูกตาให้มีรูปร่างคงที่ ตลอด จนเป็นแหล่งอาหารแก่ แก้วตาเนื้อเยื่อ Ciliary body และจอตา

    ปกติ วุ้นตา จะมีลักษณะเหนียวหนืด แต่จะค่อยๆเสื่อม โดยเปลี่ยนเป็นน้ำใสเมื่ออายุมากขึ้น เมื่ออายุ 80 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งของ วุ้นตา จะเสื่อมกลายเป็นน้ำใส ในผู้ป่วยสายตาสั้น วุ้นตาจะเริ่มเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป การเสื่อมของ วุ้นตา จะทำให้บริเวณที่มันเคยยึดเกาะกับจอตาที่ค่อนข้างแน่น หลุดลอกออกไป จนในบางคน อาจนำไปสู่ภาวะจอตาหลุดลอกได้

    ในผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ที่มีขนาดลูกตายาวมากกว่า 26 มม. (คนปกติ ลูกตายาวประมาณ 24 มม.) สาร Collagen และ สาร Hyaluronan ใน วุ้นตา จะมีน้อยกว่าคนปกติ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงความหนืดของ วุ้นตา วุ้นตาจึงเสื่อมได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

    มีการศึกษาหลายๆการศึกษา สนับสนุนว่า วุ้นตา อาจมีส่วนช่วย ต่อต้านการเกิดหลอดเลือดใหม่ซึ่งผิดปกติ (Angiogenesis) ที่พบในผู้ป่วย โรคเบาหวานขึ้นตา ที่ส่งผลให้เกิดการทำลายจอตา (Diabetic retinopathy) ซึ่ง วุ้นตาที่มีประสิทธิภาพ อาจช่วยรักษาให้ผู้ป่วยโรคนี้ มีการมองเห็นที่ดีขึ้นได้ แต่ยังคงต้องมีการศึกษาในเรื่องนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
    ที่มา   https://haamor.com/th/กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา/

อัพเดทล่าสุด