ต่อมทอนซิลคืออะไร?
ต่อมทอนซิล (Tonsil) คือ ต่อมน้ำเหลืองคู่ ซ้าย ขวา ที่อยู่ในช่องคอ มีหน้าที่คอยดัก จับ ฆ่าเชื้อโรคต่างๆที่หลุดเข้าไปในช่องคอ เช่น เชื้อแบคทีเรีย
การผ่าตัดต่อมทอนซิลมีข้อบ่งชี้อย่างไร?
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อมทอนซิล คือ
- เจ็บคอบ่อย ต่อมทอนซิลมีการติดเชื้อเรื้อรัง กลืนอาหารจะเจ็บคอ บางครั้งมีกลิ่นปาก ไอบ่อย และมีต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโต การเจ็บคออาจเจ็บ 3 ครั้งใน 3 ปี 5 ครั้งใน 2 ปี หรือ 7 ครั้งใน 1 ปี เวลาเจ็บจะมีไข้สูง หนาวสั่นและปวดกระดูกทั้งตัว การเจ็บคอนี้ บางครั้งรบกวนต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ต้องหยุดเรียน หรือหยุดงานบ่อย
- ต่อมทอนซิลโตมาก ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้นอนกรน หยุดหายใจเป็นพักๆขณะนอนหลับ (โรคนอนหลับแล้วหยุด) นอกจากนั้น ต่อมที่โตมากอาจทำให้กลืนลำบาก หรือเด็กเกิดการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ รายเช่นนี้ ถ้าผ่าเอาต่อมออก อาการต่างๆจะหายไปได้ถึง 75%
- เนื้อเยื่อรอบๆต่อมทอนซิลเป็นหนอง เพราะการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล
- ต่อมทอนซิลโตข้างเดียว ซึ่งที่ต้องตัดออกเพราะอาจเป็นโรคมะเร็งต่อมทอนซิลข้างนั้นได้ จึงจำเป็นต้องตัดออก เพื่อนำทั้งต่อมมาเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
- มีอาการชักหลังจากเจ็บคอ ไข้สูง หรือเป็นต่อมที่พิสูจน์ได้ว่า เป็นแหล่งของเชื้อโรค ที่ก่อโรคให้ตนเอง หรือที่คอยแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น เช่น เชื้อเบตา ฮีโมลัยติกสเตรปโตคอคไค กรุ๊ป A (Beta hemolytic streptococci group A) หรือเชื้อ โรคคอตีบ
การผ่าตัดต่อมทอนซิลทำอย่างไร?
การผ่าตัดต่อมทอนซิล ให้การผ่าตัดผ่านทางช่องปาก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือได้หลายแบบ เช่น เลเซอร์ มีด กรรไกร สแนร์/บ่วงผ่าตัด (Snare) เข้าไปตัดเอาต่อมนี้ออกมา
วิธีผ่าตัดที่นิยมทำกันมากในสถาบันที่มีการอบรมแพทย์ประจำบ้าน หู คอ จมูก คือ สแนร์ (Tyding Tonsil Snare) เป็นเครื่องมือที่มีปลายเป็นวงลวด รูดได้ วงลวดนี้จะไปคล้องเอาต่อมทอนซิล แล้วรูดออกจากช่องคอ วิธีนี้จะไม่มีแผลใดๆที่เกิดจากภายนอก
การผ่าตัดอาจทำแบบวางยาสลบ หรือใช้ยาชาเฉพาะที่ก็ได้ ก่อนผ่าตัด แพทย์จะตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูจำนวนเม็ดเลือดขาว และการตรวจเลือดอื่นๆเพื่อดูความผิดปกติของการหยุดไหลของเลือด ต้องตรวจปัสสาวะ เพื่อดูความผิดปกติของไต นอกจากนั้นต้องถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด ซึ่งขบวนการตรวจเหล่านี้ใช้เวลาหลายชั่วโมง และผู้ป่วยต้องอดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเข้าห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันการสำลักเศษอาหารหรือน้ำเข้าไปในปอดขณะทำการผ่าตัด
หลังการผ่าตัดเจ็บคอมากไหม?
หลังการผ่าตัด ชั่วโมงแรกๆจะเจ็บมาก แต่แพทย์จะให้ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันแผลผ่าตัดติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งภายหลังกินยา อาการปวดแผลจะค่อยๆลดน้อยถอยลง และจะหายภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน ส่วนแผลผ่าตัดจะหายเป็นปกติภายในระยะเวลาประมาณ 30 วัน
หลังผ่าตัดเสียงพูดจะเปลี่ยนไปไหม?
หลังผ่าตัดสัปดาห์แรก เพดานอ่อนหรือผนังช่องคอจะบวมขึ้นมาก ทำให้หายใจลำบาก อึดอัด ดังนั้นการพูดหรือเปล่งเสียง อาจผิดไปจากเดิม แต่เมื่อแผลหายบวมแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
แต่อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้น คือ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการ วีพีไอ (VPI,Velopha ryngeal insufficiency) กล่าวคือ มีเสียงขึ้นจมูกหรือคล้ายเสียงรั่วออกจากจมูก ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการนี้ คือ ผู้ป่วย
- มักมีความผิดปกติของเพดาน เช่น เพดานโหว่
- มีโครงสร้างของศีรษะและใบหน้าผิดปกติ
- มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทใบหน้า
- หรือในผู้ป่วยปัญญาอ่อน
ซึ่งอาการ/ภาวะ VPI นี้ส่วนใหญ่เกิดชั่วคราว ส่วนน้อยต้องรักษาโดยการฝึกพูดหรือผ่าตัดรักษา
หลังการผ่าตัดต่อมทอนซิล ผู้ป่วยจะอ้วนไหม?
ทุกรายหลังผ่าตัดประมาณ 1-2 เดือน น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้เพราะอุปสรรคในลำคอได้ถูกขจัดไป ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ทำให้กินอาหารได้อร่อย และกินได้มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 3-7 ปี
หลังผ่าตัดแล้วร่างกายจะผิดปกติไหม?
การผิดปกติที่อาจพบได้หลังการผ่าตัดต่อมทอนซิล คือ
- น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น ดังกล่าวแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้
- เสียงพูดเปลี่ยนชั่วคราว ดังกล่าวแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้
- ยังคงมีอาการเจ็บคออยู่ เพียงแต่ว่าการเจ็บจะไม่รุนแรง ไม่มีไข้สูง ไม่มีปวดเมื่อยกระดูก และไม่มีหนาวสั่น นอกจากนั้นการเจ็บคอหลังผ่าตัดก็ไม่ขัดขวางต่อการกินอาหาร
ฝ้าขาวบริเวณแผลผ่าตัดเกิดจากการอักเสบติดเชื้อหรือไม่?
หลังผ่าตัด 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีแผลในผนังช่องคอทั้งสองข้างในตำแหน่งเดิมของต่อมทอนซิล เห็นได้เป็นฝ้าขาวๆคล้ายหนองที่อักเสบบริเวณแผล อันนี้เป็นการหายของแผลไม่ใช่เป็นการติดเชื้อ และฝ้านี้จะค่อยๆหายภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
หลังผ่าตัดต่อมทอนซิล ควรปฏิบัติดังนี้
- ผู้ป่วยจะเจ็บคอมาก ให้กินยาตามแพทย์แนะนำ อาจเอาน้ำแข็งห่อผ้าประคบข้างลำคอ (ด้านนอกของลำคอ แต่ตรงตำแหน่งที่เจ็บ) เพื่อลดบวมและเจ็บ
- อาหารที่กินควรเป็นอาหารอ่อน (ประเภทอาหารทางการแพทย์) กลืนง่าย รสจืด เช่น ข้าวต้ม และควรเป็นอาหารเย็น เช่น ไอศกรีมเยลลี นมเย็น งดสูบบุหรี่ เหล้า เบียร์ ของรสจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด และของกินที่แข็ง งดออกกำลังกายจนกว่าแพทย์จะอนุญาตเพื่อป้องกันเลือด ออกจากแผล หลีกเลี่ยงไม่ออกสังคมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- กลั้วคอบ่อยๆ และหลังอาหาร เครื่องดื่มทุกครั้ง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดอ่อน หรือตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- ไม่ขากเสลดหรือไอแรงๆ เพราะจะทำให้ไหมละลายที่เย็บหรือผูกไว้หลุด ทำให้มีเลือด ออกหลังผ่าตัด ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ให้รีบกลับมาโรงพยาบาลฉุกเฉินเพื่อพบแพทย์
- ในผู้ป่วยที่น้ำหนักตัวมาก/ อ้วน นอนกรน หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ (โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ) หลังผ่าตัดอาจต้องให้แพทย์ดูแลใกล้ชิด อาจต้องดูการนอน การหายใจตลอดจนใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะปลอดภัย
- พบแพทย์ตามนัดเพื่อดูแผล และรับทราบผลชิ้นเนื้อต่อมทอนซิล เพราะแพทย์ต้องตรวจชิ้นเนื้อต่อมทอนซิลร่วมด้วย (การตรวจทางพยาธิวิทยา)
การผ่าตัดต่อมทอนซิลอันตรายไหม?
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดต่อมทอนซิลที่อาจพบได้ คือ การมีเลือดออกจากแผลผ่าตัดมาก ซึ่งพบได้ประมาณ 2-4%
อัตราเสียชีวิตจากผ่าตัดต่อมทอนซิล พบได้ประมาณ 1 ใน 25,000 ราย โดยสาเหตุของการเสียชีวิต คือ เลือดออกจากแผลไม่หยุด ภาวะหายใจล้มเหลว และจากแผลติดเชื้อ และประ มาณ 1 ใน 40,000 ราย เสียชีวิตจากผลข้างเคียงจากการดมยาสลบ
สรุป ผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อมทอนซิล อาจมีได้ ดังนี้
- แพ้ยาสลบ ถ้าแพ้เล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปวดศีรษะ ถ้าเป็นมาก อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และมีภาวะหายใจล้มเหลว
- เลือดออกมาก ต้องหยุดเลือดในห้องผ่าตัด ถ้าออกมากจนซีด อาจต้องให้เลือด แต่ถ้าหลังผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ ยังมีเลือดออก ควรต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยปกติหลังผ่าตัดใหม่ๆภายใน 24 ชั่วโมง อาจมีน้ำลายปนเลือด ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติ
- ภาวะขาดน้ำ เพราะกิน/ดื่มไม่ได้ จากการเจ็บ/ปวดที่แผลผ่าตัดนานมากกว่าปกติ (ปกติภายใน 1-2 วันหลังผ่าตัด) และการหายของแผลช้ากว่ากำหนด
- เสียงเปลี่ยนชั่วคราวและอาจรู้สึกหายใจไม่เหมือนเดิม แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน มีน้อยมากที่เสียงเปลี่ยนถาวร และต้องแก้ไขโดยผ่าตัด
- หลังผ่าตัด อาจแก้ไขไม่สำเร็จในภาวะนอนกรน หรือการหยุดหายใจเป็นพักๆขณะนอนหลับ (โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ)
- การเจ็บคออาจไม่หาย อาจเกิดโรคแทรกซ้อนไซนัสอักเสบ และ/หรือหูอักเสบ (หูติดเชื้อ) อาจต้องรักษาต่อเนื่องไปอีก
- บวมที่บริเวณแผลผ่าตัด หรือบริเวณเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น ที่ลิ้น สาเหตุอาจเกิดจากติดเชื้อในช่องปาก อาจพบหนองในลำคอ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น การรักษา คือการให้ยาปฏิชีวนะ
- บริเวณโพรงหลังจมูกตีบตัน (Nasopharyngeal stenosis) มักเกิดในเด็กที่มีการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) ร่วมด้วย แต่พบผลข้างเคียงนี้ได้น้อย
หลังผ่าตัด เมื่อไรต้องรีบพบแพทย์ก่อนนัด?
ต้องรีบพบแพทย์ทันที/ฉุกเฉิน เมื่อมีเลือดออกต่อเนื่องนานกว่า 1 ชั่วโมง มีไข้สูง และมีการบวมในคอเพิ่มขึ้นจนมีปัญหาต่อการหายใจ ซึ่งแพทย์อาจหยุดเลือดโดย
- ใช้เครื่องดูดหรือปากคีบหยิบเอาก้อนเลือดที่แข็งตัว (Blood clot) บริเวณแผลผ่าตัดออก และใช้ผ้าก๊อซกดไว้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล
- ถ้าวิธีดังกล่าวไม่สำเร็จ อาจต้องนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด ฉีดยาชาหรือวางยาสลบแล้วเย็บผูกหลอดเลือดที่เป็นต้นเหตุ
การรักษาอาการไข้สูง คือ การให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจจำเป็นต้องเป็นยาฉีด ส่วนการรักษาอาการคอบวม คือ การให้ยาลดบวม และให้ยาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบวม
อยู่ในโรงพยาบาลนานกี่วัน?
โดยทั่วไป ผู้ป่วยผ่าตัดต่อมทอนซิลจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1 วัน ถ้าผู้ป่วยฟื้นคืนสภาพของร่างกายดี เช่น เดินได้เป็นปกติ กินได้ ไม่มีเลือดออก แพทย์ก็แนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้
ที่มา https://haamor.com/th/การผ่าตัดต่อมทอนซิล/