การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทจากเคมีบำบัดเกิดได้อย่างไร?
ยาเคมีบำบัด อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเสียหายต่อเซลล์ระบบประสาทได้ โดยเฉพาะประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) ที่กำกับดูแลแขน ขา ดังนั้นเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด จึงอาจมีผลข้างเคียงจากการบาดเจ็บของประสาทต่างๆได้ เช่น ประสาทส่วนปลาย หรือ ประสาทหู ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นกับชนิด และปริมาณ (Dose) ของยาเคมีบำบัด เช่น ยาเคมีบำบัดในกลุ่ม Taxanes และ Platinum
ส่วนใหญ่ของอาการมักเกิดตั้งแต่ได้รับยาในครั้งแรก แต่อาการจะไม่รุนแรง อาการจะค่อยๆรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับยาในครั้งต่อๆไปตามปริมาณของยาที่สะสมสูงขึ้น
อาการทางระบบประสาทเหล่านี้ อาจจะดีขึ้นได้ภายหลังครบยาเคมีบำบัดแล้วประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่บางอาการอาจคงอยู่ตลอดไป เช่น ผลต่อประสาทหูของยาในกลุ่ม Platinum ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีการได้ยินลดลงตลอดไป
เคมีบำบัดก่ออาการทางระบบประสาทอย่างไร?
อาการทางระบบประสาทที่อาจพบได้จากการได้รับยาเคมีบำบัด คือ
- อาการคล้ายเป็นเหน็บที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า
- อาการชาปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้ารู้สึกน้อยลง
- มือ/นิ้วทำงานซับซ้อนไม่ได้ เช่น ติดกระดุม
- รู้สึกมือ เท้าเย็นง่าย เย็นกว่าปกติ
- มือสั่น ตัวสั่น โดยไม่ได้เกิดจากอาการไข้ หรือ รู้สึกหนาว
- แขน ขา อ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อย ล้า เป็นตะคริวบ่อย
- การทรงตัวผิดปกติ ช้ากว่าปกติ
- การได้ยินลดลง
- ท้องผูก มีอาการแสบร้อนกลางอก/กรดไหลย้อน
- เวียนศีรษะ (Dizziness)
- หลงลืมง่าย
ป้องกันอาการทางระบบประสาทจากเคมีบำบัดอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันอาการทางระบบประสาทจากยาเคมีบำบัด
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการทางระบบประสาทจากเคมีบำบัด? ควรพบแพทย์เมื่อ ไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีอาการทางระบบประสาทจากยาเคมีบำบัด คือ
- ปรึกษาแพทย์ พยาบาลทางเคมีบำบัด และปฏิบัติตามคำแนะนำ
- เข้าใจ และยอมรับ เพื่อการปรับตัว และเพื่อการดูแลตนเอง
- บอกเล่าอาการกับครอบครัว คนดูแล เพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
- ระมัดระวังในการลุก นั่ง ยืน เดิน ใช้ราวเกาะ อาจต้องใช้ไม้เท้าช่วย
- ระมัดระวังการใช้ของมีคมต่างๆ
- ควรสวมรองเท้าเสมอรวมทั้งในบ้าน เป็นรองเท้าหัวปิด ไม่คับ อ่อนนุ่ม เพื่อป้องกันแผลที่เท้าเกิดโดยไม่รู้ตัว
- สวมถุงมือในการทำงานสกปรกเสมอเช่น ล้างจาน ทำสวน
- กายภาพบำบัดตามแพทย์แนะนำ พยายามนวด เคลื่อนไหว และออกกำลัง นิ้ว มือ เท้า แขน ขา สม่ำเสมอ บ่อยๆ
- ดูแลตนเองเรื่องท้องผูก
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลให้อาการมากขึ้น โดยเฉพาะการทรงตัว
- สังเกตแผลต่างๆที่มือ เท้า เสมอ เพื่อการดูแลรักษา ป้องกันการติดเชื้อ เพราะอา การชาจะส่งผลให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว
- ควรพบแพทย์ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือ เมื่อกังวลในอาการ
ที่มา https://haamor.com/th/การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทจากยาเคมีบำบัด/