บทนำ
การผ่าตัดเอาหัวใจเก่าออกใส่หัวใจใหม่ หรือการใส่หัวใจใหม่เพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งหัวใจ โดยไม่ต้องตัดหัวใจเก่าออก เรียกว่า การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หรือการปลูกถ่ายหัวใจ (Heart transplantation)
การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจครั้งแรกในโลกทำเมื่อปี คศ. 1967 (พ.ศ.2510) โดย นายแพทย์คริสเตียน เบอร์นาด (Christiaan Barnard) ณ เมืองเคปทาวน์ ประเทศ แอฟริกาใต้ ในปี คศ.2007 (พ.ศ.2550) มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในโลกทั้งหมด 3,500 ราย ในขณะที่มีหัวใจวายระยะสุดท้ายรอการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจำนวน 800,000 ราย จึงมีความพยายาม พัฒนาการใช้หัวใจเทียม หรือหัวใจจากสัตว์มาใช้แทน แต่ก็ยังช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ในระยะสั้น
เมื่อไหร่จะผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ?
แพทย์จะพิจารณาการรักษาผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เมื่อ
- ป่วยด้วยภาวะหัวใจวาย (ภาวะหัวใจล้มเหลว) ระยะสุดท้าย กล่าวคือความ สามารถในการบีบตัวของหัวใจลดเหลือน้อยกว่า 25% ของภาวะปกติ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 54% ของผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทั้งหมด
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 45% ของผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทั้งหมด
- ผู้ป่วยหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีลักษณะโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1% ของผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจทั้งหมด
ข้อห้ามในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจคืออะไร?
ผู้ป่วยที่มีข้อห้ามไม่สามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้ คือ
- ผู้ป่วยมีปัญหา โรคไต โรคปอด หรือ โรคตับร่วมด้วย
- เป็นโรคเบาหวานชนิดต้องรับการรักษาด้วยอินซูลิน ร่วมกับโรคของอวัยวะอื่นที่เกิดเนื่องจากโรคเบาหวาน เช่น โรคไตเรื้อรัง
- มีโรคเจ็บป่วยอื่นๆที่รุนแรง และเป็นสาเหตุถึงเสียชีวิตได้ เช่น โรคมะเร็ง
- มีโรคหลอดเลือดตีบตันของลำคอและขา
- มีความดันสูงในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงปอด
- มีการติดเชื้อรุนแรงในร่างกาย เช่น ติดเชื้อเอชไอวี
- มีก้อนเลือดอุดตันในหลอดเลือดต่างๆชนิดเฉียบพลัน
- อายุมากกว่า 65 ปี
- มีปัญหาทางจิตใจ ไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล หรือติด ตามการรักษาต่อเนื่องได้
การเตรียมการก่อนผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัดหัวใจ ส่วนใหญ่จะเหนื่อยมากแม้ขณะนอนนิ่งๆอยู่บนเตียง บางรายจึงต้องช่วยการทำงานของหัวใจด้วยเครื่องมือช่วยการทำงานหัวใจชนิดต่างๆ เช่น เครื่องคุมจัง หวะการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) หรือให้ยาช่วยการบีบตัวของหัวใจ
ทั้งนี้ผู้ป่วยและญาติจะได้รับการชี้แจงถึงขั้นตอนการรักษาโดยละเอียด ตรวจการทำงานของอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น ไต ปอดตับ เป็นต้น
ทีมเจ้าหน้าที่ เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิค และอื่นๆ จะช่วยกันเตรียมหัวใจจากผู้บริจาค ในประเทศไทยจะมีหน่วยรับบริจาคอวัยวะของสภากาชาดไทย สร้างเครือข่ายโรง พยาบาลทั่วประเทศ เพื่อจัดหาหัวใจ จากผู้ป่วยที่สมองตายและญาติยินดีบริจาคหัวใจ หากมีการขนย้ายหัวใจจากโรงพยาบาลที่บริจาคไกลๆ จำเป็นจะต้องใช้เวลาเดินทางให้สั้นที่สุด เพื่อ ให้ได้หัวใจที่ยังมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มอัตรารอดของผู้ป่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งหัวใจที่ได้รับบริจาค ควรได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนภายในระยะเวลาไม่ควรเกิน 4 ชั่วโมงนับจากผู้บริจาคหัวใจเสียชีวิต
หัวใจบริจาคที่ดีควรเป็นอย่างไร?
หัวใจที่ดี เมื่อได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตรารอดได้สูงขึ้น ซึ่งจะมีคุณสมบัติดังนี้
- ผู้บริจาคมีอายุน้อยกว่า 65 ปี
- หัวใจบริจาคต้องทำงานปกติ ไม่มีการชอกช้ำ
- ไม่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ผู้บริจาคมีเลือดกรุ๊ปเดียวกับผู้รับบริจาค
- ขนาดหัวใจของผู้ให้กับผู้รับ ใกล้เคียงกัน
การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทำอย่างไร?
วิธีผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่นิยม คือ ตัดหัวใจของผู้ป่วยออกโดยเหลือเพียงบางส่วนของหัวใจห้องบนซ้าย (หัวใจ:กายวิภาคและสรีรวิทยา) แล้วใส่หัวใจของผู้บริจาคเข้าไปแทนที่ แล้วมีการเย็บต่อห้องหัวใจและหลอดเลือดหัวใจบริจาคเข้ากับหลอดเลือดผู้ป่วย
การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ อีกวิธี ซึ่งไม่เป็นที่นิยม คือ เพิ่มหัวใจของผู้บริจาคเข้าไปในผู้รับบริจาคอีกดวงหนึ่งโดยไม่ต้องตัดหัวใจเดิมออก
ผลสำเร็จการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นอย่างไร?
อัตรารอดชีวิตในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ 1 ปี ประมาณ 81.8% ที่ 5 ปีประมาณ 69.8%
หากผู้ป่วยมีโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงความดันเลือดสูง โรคอ้วน อัตราอยู่รอดก็จะต่ำลง
หากผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในศูนย์การแพทย์ที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เกินปีละ 15 รายขึ้นไป อัตรารอดจะดีกว่า
แพทย์ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจอย่างไร?
การดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เช่นเดียวกับการผ่าตัดหัวใจชนิดอื่นๆ ซึ่งได้แก่
- ผู้ป่วยได้รับการรักษาดูแลในห้องไอซียู (ICU,Intensive care unit คือ ห้องดูแลผู้ ป่วยวิกฤติ) ประมาณ 1-7 วัน
- จัดห้องพักฟื้นผู้ป่วยแยกเฉพาะในห้องปราศจากเชื้อ
- ให้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทาน เพื่อป้องกันร่างกายผู้ป่วยปฏิเสธหัวใจใหม่ตั้งแต่หลังผ่าตัด และตลอดไป
- เมื่อผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลจนปลอดภัยแล้ว แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน ซึ่งแพทย์จะนัดผู้ป่วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาตามนัด เพื่อ ตรวจร่างกาย ตรวจปฏิกิริยาปฏิเสธหัวใจใหม่ ตรวจการติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อไวรัสบางชนิด และการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งในระยะติดตามผลการผ่าตัดนี้ บางครั้งจำเป็นต้องใส่สายสวนเข้าในหัวใจ เพื่อตัดกล้ามเนื้อหัวใจมาตรวจหาการปฏิเสธหัวใจใหม่ของร่าง กายดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้การนัดมาตรวจ ในระยะแรก อาจทุกสัปดาห์ จากนั้นค่อยๆห่างออกเรื่อยๆ ขึ้นกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย
- ในการตรวจติดตามผลผ่าตัดนี้ แพทย์จะนัดตรวจผู้ป่วยตลอดชีวิตของผู้ป่วย และจะมีการสวนหัวใจศึกษาหลอดเลือดหัวใจใหม่ ปีละ1 ครั้ง
อนึ่ง ในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป และจะกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายในประมาณ 3-6 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับ สุขภาพดั้งเดิมก่อนผ่าตัดของผู้ป่วย และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนจากผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมีอะไรได้บ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ที่อาจพบได้ คือ
- ปัญหาพบบ่อย คือ เลือดออกหลังผ่าตัดตามรอยเย็บแผล
- ปัญหารีบด่วนถัดมา คือ ร่างกายผู้ป่วยปฏิเสธการรับหัวใจใหม่ (Graft rejection)
- การติดเชื้อรุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยต้องได้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานเพื่อไม่ให้ร่าง กายปฏิเสธหัวใจใหม่
- การเกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ปัญหานี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจใหม่ อีกครั้ง
อาการจากร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่มีอะไรบ้าง? สามารถป้องกันได้หรือไม่? อย่างไร?
อาการจากร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ คือ หายใจตื้น ถี่ มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่สัมพันธ์กับอาหารที่กิน และ ปัสสาวะออกน้อย
การลดโอกาสเกิดภาวะร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ โดยการเลือกหัวใจที่เข้ากับผู้ป่วยได้ดี ทั้งกรุ๊ปเลือด และเนื้อเยื่อ
นอกจากนั้น คือ หลังผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานอย่างเคร่งครัด ห้ามลืมกินยา กินยาตรงเวลา และมาพบแพทย์ตามนัดโดยเฉพาะ 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด ซึ่งหากแพทย์สงสัยว่า อาจมีการปฏิเสธหัวใจใหม่ จะมีการสวนหัวใจเพื่อตัดชิ้นเนื้อจากหัวใจเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หากพบว่าเริ่มมีปฏิกิริยาร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ แพทย์สามารถปรับการให้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานใหม่ เพื่อการรักษาอาการนี้แต่เนิ่นๆได้
ควรดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ?
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ที่สำคัญ คือ
- ปรับวิถีชีวิตให้เหมาะสม ได้แก่ การรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ให้ครบถ้วนทุกวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ และรู้จักบริหารความเครียด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ หรืออยู่ชุมชนแออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- รับประทานยากดภูมิคุ้มกันต้านทานให้ตรงเวลา สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา มียาติดตัวตลอด เวลา
- มีเพศสัมพันธ์ได้แต่ไม่ควรตั้งครรภ์
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เป็นพิเศษ เพราะจะติดเชื้อง่าย เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
- ควรตรวจสุขภาพฟันและช่องปากกับทันตแพทย์ทุก 3 เดือน เพราะช่องปากและฟันเป็นแหล่งเชื้อโรคสำคัญ
- หากมีอาการติดเชื้อในร่างกาย เช่น ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย/ หายใจลำบาก มีแผลมีหนอง ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
มีข้อห้ามอะไรบ้างหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ?
ข้อห้ามหลังการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ได้แก่
- ห้ามลืมกินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามสัมผัสสัตว์เพราะมีโอกาสติดเชื้อง่าย
- ห้ามเข้าไปในชุมชนแออัด เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
- ห้ามใช้สิ่งเสพติด
ควรกินหรือไม่ควรกินอะไรบ้างหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ?
ในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร และการบริโภค ที่สำคัญ คือ
- ไม่ควรกินอาหารไขมันสูง เพราะเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ไม่ควรกินอาหารรสเค็ม เพราะเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง
- กินอาหารบำรุงกระดูก เช่น นม ปลาตัวเล็ก เป็นต้น
- ไม่ควรกินอาหารหวาน เพราะเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน
- เลิกสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อยากดภูมิคุ้มกันต้านทาน
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า เพราะกาเฟอีนมีผลต่อการเต้นของหัวใจ
หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?
หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดอย่างใกล้ชิด
การฟื้นตัวระยะแรก ผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ถ้าฟื้นตัวเร็ว หลังผ่าตัดได้ 3 เดือน ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมีบุตรได้หรือไม่?
หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจสำหรับผู้ชายสามารถมีบุตรได้ แต่สำหรับผู้หญิง ไม่สมควร เนื่อง จากมีความเสี่ยงทั้งแม่และลูก กล่าวคือ แม่มีโอกาสหัวใจทำงานไม่ปกติ หากคลอดบุตรแม่จะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว และลูกมีโอกาสหัวใจพิการแต่กำเนิดกว่าประมาณ 10%
หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจะกลับมาเป็นโรคหัวใจอีกหรือไม่?
หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ มีโอกาสกลับมาเป็นโรคหัวใจอีกครั้งได้เนื่องจาก หัวใจใหม่มัก จะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตามมา ซึ่งถ้าเป็นมาก จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจใหม่อีกครั้ง
เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์ก่อนวันนัด?
ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด หรือรีบด่วนฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ
- สงสัยเกิดผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน เช่น ร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ โดยมีอาการดัง กล่าวไปแล้วในหัวข้อ อาการจากร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ หรือมีการติดเชื้อในร่างกาย เช่น โรคหวัด มีแผล เป็นหนอง เป็นต้น
- มีก้อนผิดปกติตามผิวหนัง และ/หรือร่างกาย เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันต้านทาน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง โรคมะเร็งช่องปาก หรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
- มีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ เหนื่อยง่ายมากขึ้น มีไข้ เหนื่อย หายใจหอบ/ หายใจลำบาก ไอมีเสมหะ
สรุป
การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นวิธีรักษาโรคหัวใจระยะสุดท้ายวิธีหนึ่ง การผ่าตัดไม่ยุ่งยาก ปัญหาหลักคือ หาหัวใจบริจาคได้ไม่พอกับความต้องการ
หลังผ่าตัด ผู้ป่วยต้องติดตามการรักษาโดยใกล้ชิดเพราะต้องให้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานตลอดชีวิตเพื่อไม่ให้ร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ ซึ่งยากดภูมิคุ้มกันต้านทานเป็นยาที่มีผลข้างเคียงมาก (เช่น ปัญหาต่อไต ต่อตับ และต่อความดันโลหิต เป็นต้น) จำเป็นต้องตรวจติดตามโดยใกล้ชิดสม่ำเสมอ
การวิจัยเพื่อหาแนวทางรักษาโดยใช้ หัวใจเทียม หรือหัวใจจากสัตว์บางชนิด เป็นอนาคตที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังดำเนินการพัฒนาอยู่
ที่มา https://haamor.com/th/การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ/